ตั่วเหล่าเอี๊ย: เทพนักรบและหมาโจ้ว: เทวีผู้พิทักษ์แห่งท้องทะเล
  2014-09-26 21:23:20  cri

คนจีนในไทยกับการไหว้เจ้าเป็นของคู่กัน และเมื่อเวลาผ่านไปไม่ใช่แต่เฉพาะลูกหลานจีนเท่านั้น คนไทยก็หันมานิยมและศรัทธาในเทพเจ้าต่างๆของจีนรวมถึงขยันกราบไหว้ไม่แพ้ชาวจีนต้นตำรับเลยทีเดียว

"รูปร่างหน้าตา อิทธิฤทธิ์ ชื่อเสียงเรียงนามของเทพเจ้าจะขึ้นอยู่กับท้องถิ่นและวัฒนธรรมนั้นๆ เมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เทพเจ้าและหน้าที่ของเทพเจ้าก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น สังคมป่า เทพเจ้าก็จะอยู่ตามป่าเขา ขอบเขตที่อยู่จะกว้างขวางไม่เจาะจง มาที่สังคมเกษตรกรรม - ที่ดินทำกินเป็นเรื่องสำคัญ เทพเจ้าก็จะมาอยู่ที่ไร่นา มีชื่อและอิทธิฤทธิ์เพื่อปกปักรักษานา พอถึงสังคมทุนนิยม- เทพเจ้าก็จะสนับสนุนเรื่องการทำมาค้าขาย ร่ำรวยเงินทอง โชคลาภต่างๆ"

"คนจีนที่อยู่ในไทยจะมีความเชื่อในเทพเจ้าค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์และลงรายละเอียด ซึ่งความเข้าใจหรือตำนานเนื้อเรื่องอาจจะไม่ตรงกับที่จีนแผ่นดินใหญ่ ตัวอย่างเช่น ฮั่นเหวินกง ที่ชาวฮากกาหรือจีนแคะในไทยนับถือมากนั้น หากไปตามดูที่เมืองจีนในเขตเหมยโจวที่มีชุมชนชาวจีนแคะหนาแน่น จะพบว่าศาลเจ้าฮั่นเหวินกงได้ยากมาก นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าคนจีนในไทยไม่ว่าจะอยู่กันคนละภาคคนละจังหวัด แต่ความรู้และความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าจะ"สามัคคี"หรือคล้ายคลึงกันมากเลยทีเดียว"

"เมื่อมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน ความต้องการกราบไหว้เทพเจ้าที่ตนเองศรัทธายังคงมีอยู่แต่มีอุปสรรคเรื่องการเดินทาง จึงมีการสร้างศาลขึ้นมาใหม่ในชุมชนที่ย้ายมาอยู่ ชาวจีนเชื่อว่าถ้าต้องการตั้งศาลขึ้นมาใหม่ เราสามารถนำขี้เถ้าจากกระถางธูปของศาลเจ้านั้นๆมา เทียบเท่าได้กับอัญเชิญความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าองค์นั้นมาสู่ศาลใหม่ด้วย"

( ส่วนหนึ่งจากปาฐกถาเกียรติยศโดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ ที่งานสัมมนาว่าด้วยเทพเจ้าจีน จัดโดยภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 12 กันยายนที่ผ่านมา)

วันนี้ ขอแนะนำเทพเจ้าสององค์ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่อาจจะยังไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมา องค์แรกได้แก่ ตั่วเหล่าเอี๊ย (เหี่ยงบู๊หรือศาลเจ้าพ่อเสือ) และองค์ที่สองเป็นเทพเจ้าผู้หญิงที่โด่งดังสำหรับคนเดินเรือ – หมาโจ้ว: เทวีผู้พิทักษ์ท้องทะเล

ตั่วเหล่าเอี๊ย (真武)

ศ.ดร.สรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับตำนานของตั่วเหล่าเอี๊ยในไทยไว้ว่า ตั่วเหล่าเอี๊ยไม่ได้มีรูปร่างหรือมีพาหนะเป็นเสือแต่อย่างใด เหตุผลที่คนไทยนิยมเรียกว่าเจ้าพ่อเสือ เนื่องจากสมัยร. 5 มีศาลแห่งหนึ่งอยู่บริเวณนั้น ต่อมามีผู้ต้องการจะรื้อศาลและโดนเสือคาบไปกิน ชาวบ้านเชื่อกันว่าเสือนั้นเป็นบริวารของเจ้าพ่อ จึงเรียกติดปากกันต่อมาว่า "ศาลเจ้าพ่อเสือ"

สำหรับที่เมืองจีน ตำนานเล่าว่าตั่วเหล่าเอี๊ยเคยมีชีวิตอยู่จริง โดยบำเพ็ญเพียรแบบเต๋าเมื่อสำเร็จก็ไปช่วยเหลือมนุษย์

ชาวจีนนับถือตั่วเหล่าเอี๊ยมาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปีแล้ว เริ่มแรกเรียกเทพองค์นี้ว่า ซวนอู่ (玄武) และเปลี่ยนเป็นเจินอู่ (真武) ในเวลาต่อมา ตั่วเหล่าเอี๊ยรุ่งเรืองที่สุดในช่วงสมัยราชวงศ์หมิง เป็นเทพพิทักษ์ความมั่นคงของประเทศจีน มีอิทธิฤทธิ์รักษาโรค ผีปีศาจจะกลัวมาก ความนิยมเริ่มมาแผ่วลงในช่วงปลายราชวงศ์หมิง เนื่องจากมีตำนานซีโหยวจี้ (西游记)หรือไซอิ๋ว ทำให้ชาวจีนส่วนหนึ่งจึงเริ่มนิยมนับถือพุทธและเทพเจ้าในความเชื่อแบบพุทธ เช่น พระยูไล, เจ้าแม่กวนอิม ฯลฯ

ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า ตั่วเหล่าเอี๊ยถือว่าเป็นเทพที่มีฤทธิ์สูงสุดจึงถูกขนานนามว่า ตั่ว (大 จีนกลางอ่านว่า ต้า-แปลว่าใหญ่) หลักฐานและภาพวาดแสดงให้เห็นว่าบ้านของตั่วเหล่าเอี๊ยอยู่ที่อู่ตังซาน (武当山) เดิมชื่อไท่เหอซาน คนไทยรู้จักกันดีในนาม "เขาบู๊ตึ๊ง" ตั้งอยู่ในมณฑลหูเป่ยของประเทศจีน

ที่รูปเคารพของตั่วเหล่าเอี๊ย จะมีสัตว์สองชนิดที่นิยมพบคือ เต่าและงู นอกจากนี้ในมือท่านจะถือดาบปราบมาร 7ดาว3ภพ ตั่วเหล่าเอี๊ยมีอีกฉายาหนึ่งว่าเป็น Dark Worrior หรือนักรบแห่งความมืด ประจำอยู่ทิศเหนือ / ธาตุน้ำ/ สีดำ

สำหรับในกทม. ศาลตั่วเหล่าเอี๊ยที่มีชื่อเสียงคนนิยมไปเคารพสักการะ เช่น ศาลเจ้าพ่อเสือพระนครที่เสาชิงช้า คนจีนในไทยนิยมไหว้ท่านเพราะเชื่อว่าจะช่วยเรื่องร่ำรวยโชคลาภ โดยเฉพาะในวันปีใหม่จะมีคนไปเฝ้ารอไหว้ มีความเชื่อว่าใครเป็นคนแรกที่ปักธูปในวันปีใหม่จะเฟื่องฟูร่ำรวยมากที่สุด

หมาโจ้ว (妈祖)

ชื่อของเทพหมาโจ้ว (หรือ 妈祖 - หมาจู่ในภาษาจีนกลาง) อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับคนไทยนัก หมาโจ้วเป็นเทพที่มีถิ่นกำเนิดในแถบฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) มีชื่อเสียงด้านคุ้มครองคนเดินทะเล สำหรับในไทย หากพูดถึง "เจ้าแม่ทับทิม" คงมีคนร้องอ๋อขึ้นมาบ้าง แต่ก็จะตามมาด้วยคำถามต่อว่าพูดถึงเจ้าแม่องค์ไหนอย่างไร เพราะเจ้าแม่ทับทิมในไทยมีรูปร่างลักษณะที่หลากหลาย (เหตุเนื่องมาจากการเรียกแบบเหมารวม) ต้องพูดรายละเอียดเจาะจงว่ากำลังพูดถึงองค์ไหนอยู่

อ.ธนัสถ์ สุวัฒนมหาตม์ ผู้บรรยายเรื่อง"หมาโจ้ว: เทวีแห่งท้องทะเล"ให้ความกระจ่างไว้ว่า "หมาโจ้ว" เป็นภาษาถิ่นของฮกเกี้ยน หากต้องการแปลเป็นไทยควรเรียกว่า "แม่ย่า" หรือ"แม่ย่านาง" จะตรงกับความหมายมากที่สุด สำหรับเจ้าแม่ทับทิมนั้น คนไทยเรียกเทพเจ้าของจีนหลายองค์ว่าเจ้าแม่ทับทิม ไม่ว่าจะเป็นหมาโจ้วหรือเทียนโหวเซี้ยบ้อ, จุยบวยเซี่ยเนี้ย (ที่เชิงสะพานซังฮี้), เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แม้กระทั่งปึงเถ่าม่า นำความสับสนมาให้แก่ทั้งผู้เรียกและผู้ฟัง โดยอาจารย์ธนัสถ์ได้แนะนำวิธีแยกแยะว่าองค์ใดคือหมาโจ้วไว้ดังนี้

1. ให้ดูที่ชื่อจีนเป็นหลัก (เพราะหากดูชื่อไทยก็จะเรียกเจ้าแม่ทับทิมเหมือนกันหมด) เทพหมาโจ้ว จะใช้ชื่อจีนว่า 天后圣母, 妈祖, 天妃, 天后 เป็นต้น

2. ดูที่การแต่งกาย: หากเป็นเทพหมาโจ้วจะสวมมงกุฎคล้ายจักรพรรดิจีน มีเครื่องประดับทางยาวห้อยลงมาด้านหน้า

3. ดูบริวาร: บริวารของหมาโจ้ว คือ หูทิพย์และตาทิพย์

4. ดูว่าเป็นศาลของจีนกลุ่มใด: หากเป็นจีนฮกเกี้ยนก็เป็นเทพหมาโจ้ว แต่ถ้าเป็นจีนไหหลำ (ไห่หนาน) ก็จะเป็นจุยบวยเซี่ยเนี้ย (水尾圣娘) เป็นต้น

ตำนานจีนเล่าว่าเทพหมาโจ้วมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เป็นลูกคนที่ 7 ในตระกูลหลิน ได้ชื่อว่าหลินโม่ว (林默) เพราะเกิดมาไม่ร้องเลย เป็นคนมีญานวิเศษทายดินฟ้าอากาศแม่นยำ เรียกลมเรียกฝน ชอบช่วยเหลือคนเดือดร้อนทางทะเล ความเชื่อเรื่องเทพหมาโจ้วได้แพร่เข้าสู่ราชสำนัก จักรพรรดิ์หลายองค์พระราชทานตำแหน่งให้จากคนธรรมดาเลื่อนมาจนกลายเป็นมเหสีแห่งสวรรค์ (天后เทียนโฮ่ว)แม้กระทั่งเจิ้งเหอนักเดินเรือผู้โด่งดังยังต้องไหว้หมาโจ้ว ก่อนออกเดินทาง โดย 1 ปีจะทำการไหว้ใหญ่สองครั้ง นอกจากนี้เสียนเฟิงฮ่องเต้ – 咸丰帝(สวามีของซูสีไทเฮา慈禧太后) ยังได้พระราชทานชื่อให้เทพหมาโจ้วมีความยาวถึง 64 ตัวอักษรเพื่อเป็นการยกย่องอีกด้วย

ปัจจุบันความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเทพหมาโจ้วนอกจากปกป้องคุ้มภัยทางทะเลแล้ว ยังมีเรื่องการให้บุตร ว่ากันว่าที่เกาลูนมีสถานที่เป็นห้องนอนของหมาโจ้ว ผู้ที่มีบุตรยากนิยมไปลูบเตียงมังกรเพื่อจะได้สมปรารถนา ผู้สนใจต้องจองคิวยืดยาวและเตรียมตัวอย่างดีเพราะหนึ่งปีจะเปิดแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

สำหรับสังคมไทย ในนิราศกวางตุ้งที่แต่งเมื่อสมัยกรุงธนบุรีมีการกล่าวถึงหมาโจ้ว โดยเรียกว่า "พระหมาจอ" (บางตำราเรียกหมาจ่อ) หมายถึงเทพผู้คุ้มครองเรือ

ก่อนหน้าที่จะมีเทพหมาโจ้ว คนจีนจะนับถือพญาเล่งอ๋องหรือพญามังกร (龙王) เป็นเทพคุ้มครองทางทะเล (ซึ่งตอนนี้ในจีนจะหาศาลเจ้าเล่งอ๋องได้ค่อนข้างยากแล้ว) สำหรับคนที่เคยอ่านไซอิ๋วหรือ西游记 ก็ยังพบว่าเทพทางทะเลยังคงเป็นเล่งอ๋อง เหตุเนื่องจากไซอิ๋วถูกแต่งในสมัยถัง ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีตำนานเทพหมาโจ้ว เรียกได้ว่าความรู้เรื่องเหล่านี้สามารถไปประยุกต์ใช้ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ ยุคสมัยและเข้าใจวิถีชีวิตของคนในสมัยก่อนได้ดียิ่งขึ้น

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040