กาสะลองส่องจีน(ปฐมบท) ตอนที่ 1.1:การแลกเปลี่ยน ชีวิต ธุรกิจ:แนน จิรนันท์ อมรประดิษฐ์กุล
  2014-11-07 14:19:12  cri

"...ตอนไปเป็นล่าม มันจะมีช่วงที่แปลไม่ออก ก็ต้องหาคำอื่นมาแทน พอกลับถึงบ้านเรารู้สึกว่า ทำไมตัวเองถึงโง่มากขนาดนั้น... หลายปัญหาที่เจอ เราให้เวลาจมดิ่งกับมันได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าจุดประสงค์เราคืออะไร ให้เวลาตัวเองท้อ เป็นอิสระ งี่เง่า ผ่อนคลาย พักได้ ขี้เกียจได้ แต่เราย้อนกลับมายืนอีกทีให้ได้ละกัน"

จากเด็กต่างจังหวัดที่ถูกตีกรอบด้วยครอบครัวคนจีน จนทุกวันนี้กลายมาเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล จากความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งการแลกเปลี่ยนสู่ความฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ..แนน จิรนันท์ อมรประดิษฐ์กุล

แนะนำตัวเองสักเล็กน้อย ?

ชื่อ แนน จิรนันท์ อมรประดิษฐ์กุล ตอนนี้เรียนปริญญาโท ปี 2 คณะธุรกิจระหว่างประเทศ ได้ทุนของรัฐบาลจีน CSC ค่ะ เล่าเรื่องชีวิตการเรียนให้ฟังหน่อย ?

ตอนเด็ก ๆ ก็เรียนโรงเรียนวัดเนี่ยแหละ ภาษาจีนไม่เคยอยู่ในสมองเลย แต่ด้วยความที่เป็นลูกคนจีนแล้วที่บ้านไม่มีใครเป็นภาษาจีนสักคน เขาก็บอกเอาไอ้นี่ไปเป็นภาษาจีนละกัน ก็เหมือนลูกคนจีนคนอื่น ๆ แหละ เขาสั่งเราก็ทำ สุดท้ายก็ต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำที่สอนภาษาจีน ความจริงบ้านกับโรงเรียนคือใกล้กันมาก แต่พ่อดันบังคับให้ไปอยู่หอพัก เพื่อเวลาเรียนจะได้เรียนตั้งแต่เช้า กลางวัน เย็น เราทุ่มเทไปตอนนั้นเยอะมาก มาดูตอนนี้ก็รู้สึกว่า เออ มันมีค่านะ ทำไปได้ยังไง ถ้าเป็นทุกวันนี้ให้ขยันก็คงไม่ขนาดนั้น (หัวเราะ) จากนั้นมาเราก็ค่อย ๆ รู้ภาษาจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจารย์ให้ทำอะไร เราก็ทำหมด อย่างแบบทุก ๆ ปีสมาคมเชื้อสายจีนเขาก็จะจัดงานที่โรงเรียน เช่น ตระกูลแซ่โจว แซ่เตีย อะไรพวกนี้ เราก็ได้เป็นพิธีกร ทำเสร็จก็ได้เงิน ได้เงินแล้วก็มีความสุข ดูมีหน้ามีตา หรือบางงานเป็นตัวแทนของโรงเรียนก็ได้ลงหนังสือพิมพ์อีก มีแต่ได้กับได้ไม่มีอะไรเสีย ตอนแรก ๆ ที่เราเข้ามา อย่างที่บอกเราไม่ได้รักภาษาจีน พอเข้าไปเรียนแล้วรู้สึกว่าตัวเองอ่อนว่ะ เลยใช้วิธีว่า อาจารย์พูดมาดิ เราจะจดเป็นไทยทุกคำ พยายามฟังว่าอาจารย์เว้นวรรคตรงไหนใช้เสียงอย่างไร จำทุกอย่างจริง ๆ จนถึงวันหนึ่งอาจารย์สั่งให้อ่าน เราก็อ่านตามอาจารย์ ปรากฎอาจารย์ตกใจ ว่าไปเรียนมาจากไหน เฮ้ยเธอพูดดีนะ เราก็ยิ้มในใจ ก็จากครูไหมคะ

เคล็ดลับอะไรที่ทำให้เก่งภาษาจีนเร็วขึ้น ? ตามตรงเลยนะ การฟังเพลงเนี่ยแหละโคตรครบเลย ตั้งแต่อ่านเนื้อเพลง ท่อนสั้น ๆ เราก็ได้แล้ว ได้อะไร ได้ทั้งอ่าน ฟัง ได้ร้อง พูด เราฟังเพลงของ Jay Chou / F4 ฟังแล้วก็ร้องตาม สมัยนั้นยังเป็นเทป มันก็กรอกลับไปมาได้ ทำให้ได้เปิดดิกไปในตัว ความเป็นจริงแล้วเราอาจจะไม่ได้ใช้ศัพท์นั้น แต่เราก็ได้รู้ ที่สำคัญคือมันไม่เครียด พยายามตักตวงสิ่งที่เราเสียไป ไหน ๆ เขาได้เงินเราจากการซื้อเทป เราก็ได้ฝึกภาษาจีนจากเขา แฟร์ ๆ

แล้วมาเรียนต่อที่จีนได้อย่างไร ?

หลังจากเรียนจบชั้นม.6 เราก็ยื่นสมัครสอบเหมือนเด็กนักเรียนทั่วไป เราได้ทุนจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ไปเรียนซัมเมอร์เรียบร้อยครบ 3 เดือน แต่ยังไม่ได้สอบที่บ้านก็บอกว่า ลองดูพวกจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ด้วยสิ เราก็สอบไป สมัยนั้นเป็น O-net-Anet ปรากฎว่าสอบได้ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สุดท้ายก็ยกเลิกทุนที่หัวเฉียว ปรากฏเปิดเทอมที่ธรรมศาสตร์ไปได้ 2 เดือน อาจารย์จากโรงเรียนเก่าโทรมาบอกว่ามีทุนไปเรียนต่อที่จีนนะ สนใจไหม ฟรีหมด แต่มีเวลาแค่ 1 อาทิตย์ในการตามเรื่องให้หมดทั้งเขียนรับรอง ตรวจสุขภาพ ถ้าทันก็ส่งมา ไอ้เราก็รีบเพราะถ้าได้คือ "มันฟรีทุกอย่าง" ส่วนคณะที่เลือกก็มีเยอะมาก เราก็ส่งไปโดยไม่ลังเลเลย คือถ้าได้ก็ดี ตอนนั้นเลือกเรียนคณะภาษาและวัฒนธรรมไป เพราะอันอื่นดูไม่ใช่เรา ใช้วิธีตัดช้อยส์ อันที่ไม่ใช่น้อยที่สุดก็คงใช่สำหรับเราที่สุดแล้วมั้งก็เลยเลือก ถึงท้ายที่สุดถ้าจะไม่ได้ ก็ได้อยู่ธรรมศาสตร์ต่อ ชิว ๆ ปรากฎว่าได้ ก็เลยดรอปที่ธรรมศาสตร์ไว้อีก กลัวว่าเดี๋ยวเรียนแล้วไม่ไหวก็กลับมาซบไหล่ธรรมศาสตร์อีกครั้ง สุดท้ายมันรอด เลยได้มาอยู่ที่จีน เพื่อนก็แซวกันว่า แกนี่ไปกันที่ชาวบ้านตั้ง 2 ที่ (หัวเราะ)

ต้องปรับตัวเยอะไหม พอมาถึง?

เรื่องค่าเงินนี่ทุกคนคงเป็น ยิ่งเรายิ่งเป็น (หัวเราะ) เวลาเราใช้เงินเราจะคิดแบบคูณห้าตลอด แบบกินกาแฟแก้วนึงจะรู้สึกว่ามันแพงจังวะ แต่หลัง ๆ พอเข้าใจแล้วว่า มันก็เป็นแบบนี้แหละ ถ้าจะกินอย่างนี้ก็ควรจะลดอย่างหนึ่ง อย่างเมื่อก่อนเกี๊ยวเข่งนึงขึ้นราคาจากสี่เป็นหกหยวน คือถามว่ามันขึ้นเร็วไหม ก็ไม่เร็วนะ แต่ถ้าอยู่ในไทยนี่โดนด่าละ ถ้าเราเรียนละอยู่นิ่ง ๆ รับเงินจากทุนมันก็ได้ แต่ชีวิตเราควรจะมีอะไรมากกว่านั้น เราเลือกรู้จักคน เลือกคบคน หรืออย่างเข้าผับหรือไปในสถานที่ที่ไม่เคยไป เราก็ต้องเอาเงินไปลองบ้าง บาลานซ์มันให้ได้ แล้วจะได้อะไรอีกเยอะ

จะใช้เงินแต่ละที คิดละเอียดขนาดนี้ มีวิธีการใช้จ่ายอย่างไร?

เราทำบัตรเครดิต 4 ใบ ใครฟังอาจจะตลกนะ คืออย่างนี้ บัตรนึงเราเอาไว้ใช้กินข้าว ซื้อของส่วนตัว อีกใบไว้สำหรับ Taobao (เว็บไซต์สำหรับซื้อขายสินค้าระบบออนไลน์) โดยเฉพาะ เพราะเคยได้ยินว่าเวลาตัดเงินมันตัดผ่านเน็ต เลยไม่น่าไว้ใจไม่อยากมีปัญหา อีกบัตรหนึ่งเป็นบัตรเงินเข้าออกของทุนการศึกษา อันนี้เข้าออกตามใจผู้ให้ทุนรู้สึกไม่มั่นคง ฉันควบคุมมันไม่ได้ ส่วนบัตรสุดท้ายบัตรนี่ไว้เก็บเงินเย็น เวลาไปทำงานล่ามงานอีเว้นท์จะตุนใส่บัตรนี้ เลยมีเงินเยอะสุดและเป็นบัตรที่ไม่อยากไปแตะที่สุดเหมือนกัน

นิสัยประหลาดของเราอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการใช้จ่ายคือ เราจะเป็นพวกโรคจิตที่จะชอบฝากเงินยังไงให้มีเลขศูนย์ๆ เต็ม ๆ ไว้ข้างหลัง คือถ้าเรามีเศษเราจะกดยังไงก็ได้ให้ไม่มีเศษ จะได้ดูเยอะ ๆ หรือเวลาฝากเงิน สมมุติในบัญชีลงท้ายด้วย 3 จะฝากเงินที่ลงท้ายด้วยเลย 7 เราชอบเติมให้มันเต็ม แล้วจะคิดในใจเสมอว่าอย่าไปยุ่งกะมัน มันเต็มอยู่

ยกกรณีศึกษาตัวเอง ที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้อ่านให้ฟังหน่อย เรื่องอะไรก็ได้?

เอาเป็นตอนเรียนป.ตรีแล้วกัน ตอนนั้นมีโอกาสได้ไปรู้จักพี่คนหนึ่งซึ่งเราไปช่วยเขายกของเข้าบ้าน เชื่อไหมจากจุดเล็ก ๆ แค่นั้นทำให้คน ๆ หนึ่งตัดสินใจเลือกที่จะคบเราเป็นเพื่อนคู่คิดและรับเราเข้าไปทำงานด้วยได้เลย พี่เขามาบอกที่หลังว่าแนนรู้ไหม วันนั้นตอนแนนยกของขึ้นบันได แนนออกแรงเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรก พี่รู้เลยว่าแนนเป็นคนที่เต็มใจช่วยเหลือคนอื่น และเอาจริงเอาจังมาก ๆ ตอนเราได้ยินก็อึ้งไปเหมือนกัน (หัวเราะ) ห๊ะ..แค่เนี้ย? หลังจากนั้นเราก็ได้มาทำงานกับพี่เขาที่เซี่ยงไฮ้ในระยะสั้น ๆ เป็นการขายไอศกรีมผลไม้ไทย ซึ่งมีขายที่จีน ออสเตรเลีย ไทย ยี่ห้อนี้เอาจริง ๆ แล้วไม่ค่อยมีคนรู้จัก คือเขากะจะใช้กลยุทธ์ตีตลาดต่างประเทศก่อนแล้วค่อยเข้ามาดังที่ไทย

โดยส่วนตัวเราเรามองว่าอาจจะยากไปหน่อยถ้าทำวิธีนี้ เพราะคนจีนที่เดินผ่านร้านก็มักจะถามว่ามีขายที่ไทยด้วยเหรอ ตอนเนี่ยแหละที่เจออุปสรรคเยอะมาก ๆ มาทุกวัน เช่นว่าการขนส่งไอศกรีม กว่าจะเอาออกจากด่านก็ยากมาก การทำให้เป็นที่รู้จักก็ยากขึ้นไปอีก เราอยู่กับมันไปสักพักก็นั่งมองมันแล้วคิดว่าจะขายยังไงกับไอศกรีมที่มีราคาเท่ากับฮาเก้นดาส เรานั่งมอง กินมัน และต้องทำอย่างไรให้รักมันก่อน

ถามว่าย้อนกลับมาคิด จะซื้อไหม ก็คงไม่ ความจริงไอศกรีมธรรมดาเหมือนน้ำผลไม้ปั่นอัดแข็ง เขาก็ทำออกมาดีในระดับนึงเลยนะ เป็นทุเรียนน้อยหน่า กล้วย แต่พอเด็ก ๆ เข้าบูธมาถามว่ามีรสชอคโกแลตไหม ก็ไปไม่ถูก เราก็ต้องพยายามสร้างเรื่องราวขึ้นมา พูดจาหว่านล้อมให้เขาซื้อให้ได้ ยิ่งช่วงแรก ๆ ขายไม่ดีเพราะรู้สึกตัวเองก็ไม่รัก จนพอรู้สึกว่ารัก ก็มีคนมาด่าทำไมถึงแพง เราก็ต้องมาอธิบายยืดยาวอีกว่าลองคิดดูนะว่าการขนไอศกรีมมาที่นี่ ที่เก็บความเย็นมันตั้งเท่าไหร่ กว่าจะมาถึงที่นี่ ผลไม้ที่นี่จีนก็ปลูกไมได้ จึงเป็นเหตุผลที่คุณต้องซื้อ ถ้าคนมีเงินหน่อยก็ซื้อเขาเข้าใจ ซื้อทีก็ซื้อเยอะไปเลย ส่วนบางคนไม่เข้าใจก็บ่นแพงแล้วเดินออก ช่วงไปทำคงเป็นช่วงที่มันแย่ที่สุดด้วยแหละ (หัวเราะ) คนเยอะเพราะหน้าร้อน คนจะกินไอศกรีมตอนร้อนที่สุด แต่ก็เป็นช่วงที่ละลายที่สุดเหมือนกัน ไหนจะไฟดับอีก ไอศกรีมละลายเสียหายไปเท่าไหร่ ต้องหาคิดวิธีการแก้ตลอด ปัญหามันละเอียดอ่อนมากเพราะมันคือไอศกรีม รักที่จะทำอะไรเป็นส่วนสำคัญที่ใหญ่มาก เหมือนภาษาจีน ถ้าเราอยู่กับมันได้เราต้องรักมันก่อน เรารู้จักคนบางคน เขามาเรียนเพื่อผ่านไปที สิ่งที่เขาได้คือเขาจะได้ภาษา แต่ความเป็นจีนหรืออะไรที่มันอยู่ลึกเข้าไปในตัวหนังสือ มันจะไม่ได้ สมมติภาษาจีนเรียงมาสี่ตัว ความหมายมันลึกซึ้งกว่าคนที่เรียนไปที ไม่ว่าทำอะไรพยายามทำให้ตัวเองรักมันก่อน แล้วมันจะมีกำลังใจ

โปรดติดตามตอนต่อไป (เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้-ความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งการแลกเปลี่ยน-วิธีเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนมีของ-อยากบอกคนไทยที่กำลังจะมาทำธุรกิจในจีนว่า..)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040