สำนักข่าวซินหวารายงานว่า เมื่อปี 2013 จีนเสนอเค้าโครงของยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ปี 2014 ได้จัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม และมีการลงนามในสัญญาก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนสาธารณูปโภคเอเชีย ปี 2015 นี้ การพัฒนา"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"ได้เข้าสู่ขั้นตอนปฏิบัติการอย่างแท้จริง หลายคนอาจยังสงสัยว่า ยุทธศาสตร์ เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนจะสร้างโอกาสอะไรให้กับประเทศและเขตแคว้นในบริเวณนี้บ้าง
ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องระบุว่า ขณะนี้ ตลาดของจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก ปริมาณการสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่อันดับแรกของโลก มีอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงจำนวนมากขึ้น มีประสบการณ์ในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานมากมาย และการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จีนสามารถที่จะสร้างโอกาสใหม่แห่งการพัฒนาให้กับประเทศในบริเวณนี้ อีกทั้งยังจะร่วมรับมือความเสี่ยงกับประเทศต่างๆ ในบริเวณ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" มีจำนวนกว่า 60 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหม่และประเทศกำลังพัฒนา และส่วนใหญ่อยู่ในยุคที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต ดังนั้น การดำเนินความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กันจึงมีอนาคตอย่างกว้างขวาง