"สถานีดาวเทียมจุฬาภรณ์" ความร่วมมือเทคโนโลยีอวกาศระหว่างไทย-จีน
  2015-06-08 20:10:56  cri

เทคโนโลยีทางด้านอวกาศอาจจะฟังแล้วเป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบัน ชีวิตมนุษย์เราสะดวกสบาย ปลอดภัยและได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านนี้อย่างคาดไม่ถึง ถ้าย้อนไปสมัยหลายสิบปีก่อน เมื่อเอ่ยถึงชาติที่มีความก้าวหน้าด้านอวกาศก็คงหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาและรัสเซีย แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าไทยกับจีนก็มีการร่วมมือกันตั้งศูนย์วิจัยเพื่อการนำเอาความรู้และข้อมูลด้านดาวเทียมไปศึกษาและต่อยอดในด้านต่างๆ ศูนย์นี้มีชื่อว่า "สถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์" ·(CSRS) ตั้งอยู่ที่ชั้น 9 ตึก 9 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยทางทีมข่าว CRI ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร. มงคล รักษาพัชรวงศ์ ผู้อำนวยการสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์มาช่วยให้ข้อมูลแนะนำศูนย์ฯและรายละเอียดอื่นๆที่น่าสนใจ

จานรับสัญญาณดาวเทียมขนาดใหญ่ที่อยู่บนตึก 9 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์นี้ รับสัญญาณจากดาวเทียมสัญชาติจีน ซึ่งที่จีนเรียกดาวเทียมสองดวงนี้ว่า HJ-1A และ HJ-1B โคจรรอบโลก จากขั้วโลกเหนือมายังขั้วโลกใต้ ส่งสัญญาณแบบ wireless ลงมา สถานีรับสัญญาณบนโลกของดาวเทียมสองดวงนี้มี 4 แห่ง โดย 3 แห่งอยู่ในประเทศจีนและอีกหนึ่งแห่งอยู่ที่ประเทศไทยนี่เอง ดาวเทียมสองดวงนี้มีอายุประมาณ 5 ปี ·แม้ว่าถ้านับมาถึงปัจจุบันอายุจะเกินนั้นมาแล้วแต่ยังสามารถใช้งานได้ดี อย่างไรก็ตาม จีนได้มีการยิงดาวเทียมชุดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 6 ดวง ซึ่งมีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นไปอีก ส่วนไทยจะมีโอกาสได้ใช้งานดาวเทียมชุดใหม่นี้หรือไม่ ก็ต้องติดตามข่าวคราวกันต่อไป

อุปกรณ์ถ่ายภาพที่ติดไว้บนดาวเทียมทั้งสองดวง มี 3 แบบ ได้แก่ CCD, HSI และ IRMS ถ่ายภาพด้วยมุมถี่และกว้าง 700 กิโลเมตร ความสามารถเด่นๆ เช่น ติดตามการสะท้อนแสงของพืช จับคลื่นความร้อนดูเรื่องไฟป่าและภัยแล้ง อธิบายง่ายๆว่าเหมาะสมกับการใช้งานเรื่องการเกษตรหรือทรัพยากรธรรมชาติ อุทกภัยเป็นหลัก แต่ไม่เหมาะกับการนำมาใช้งานดูบุคคล บ้านเรือน หรือรถยนต์ เพราะหากวัตถุมีขนาดเล็กกว่า 30 เมตรจะเห็นเป็นแค่จุดเล็กๆจุดเดียว

"สถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์"เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 มีภารกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่

1. รับสัญญาณตรงทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง

จานรับสัญญาณจะทำงานต่อเมื่อมีแสงอาทิตย์เท่านั้น ช่วงเวลาการรับสัญญาณจะอยู่ระหว่าง 9-12 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่แสงแดดตกกระทบผิวโลกได้ดีที่สุด

2. ประมวลผล ทำเป็นภาพถ่ายดาวเทียม

การประมวลผลและนำภาพถ่ายขึ้นเว็บไซต์ใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงก็สามารถนำภาพขึ้นเว็บได้แล้ว (ผู้สนใจดูได้ที่เว็บไซต์: http://csrs.ku.ac.th/ )

3. จัดเก็บข้อมูล เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับระบบจัดเก็บข้อมูลและโปรแกรมต่างๆในเว็บไซต์ ทางไทยเป็นผู้พัฒนาด้วยตนเอง

ซึ่งหากมีผู้สนใจดาว์นโหลดภาพถ่ายดาวเทียม ภาพจะถูกตัดและลดขนาดให้เหลือเพียง 300 Mb ต่อรูป

4. วิจัยประยุกต์และเผยแพร่องค์ความรู้แก่สังคม

รูปภาพที่ได้จากการถ่ายโดยดาวเทียม ต้องนำมาทำเป็นข้อมูลดาวเทียมมาตรฐานอัตราส่วน 1:100,000 เพราะว่าภาพที่รับมาโดยตรงมีการผิดเพี้ยน อธิบายแบบง่ายคล้ายกับการที่เราเอาเลนส์ตาปลาหรือฟิชอายไปถ่ายภาพ รูปภาพที่ออกมาจะมีการบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง จึงต้องมีการปรับแก้ให้ถูกต้องตามหลักภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ในขั้นตอนการแปรข้อมูล จำเป็นต้องมีการลงพื้นที่ประกอบด้วยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์นี้ เน้นการวิจัยและส่งเสริมพัฒนาคนเป็นหลัก ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมในลักษณะนี้ มีหลายประเทศนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มหาศาล เช่น อเมริกานำข้อมูลไปจัดโซนนิ่ง (Zoning) ทางการเกษตร จัดการเรื่องทรัพยากรน้ำ, โลจิสติกส์, ผลผลิต รวมทั้งภาษี หรือแม้กระทั่งประเทศที่มีขนาดใหญ่และประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนเองก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบถึงผลผลิตการเกษตรเพื่อไปวางแผนการพัฒนาประเทศ ดูแลป้องกันวิกฤตขาดแคลนอาหารและวางแผนส่งออกเมื่อมีผลผลิตเกินความต้องการ ซึ่งหากประเทศไทยมีการจัดการที่ดีพอหรือมีการเก็บข้อมูลแบบบูรณาการ เราก็สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักของประเทศได้ โดยเบื้องต้นเราจะมีข้อมูลว่าครัวเรือนไหน ทำอะไร ปลูกอยู่เท่าไหร่ และต้องสนับสนุนหรือชดเชยเท่าไรหากจำเป็น

สำหรับกิจกรรมที่มีประโยชน์และน่าสนใจที่อยากจะแนะนำให้กับทุกท่าน โดยเฉพาะในวัยนักเรียนนักศึกษา คือห้องเรียนออนไลน์หรือ E- Learning ซึ่งมีบทเรียนหลายหลาก ออกมาแบบมาให้เหมาะสมสำหรับน้องๆม.ต้นและม.ปลายขึ้นไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศ เพียงแค่ล็อคอินเข้ามา เรียนรู้บทเรียนเกี่ยวกับการแปรข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมโดยจะเริ่มตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงระดับที่ยากขึ้น ระหว่างบทจะมีการทดสอบความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนด้วยเป็นระยะๆ นอกจากนี้ หากมีเวลาไม่เพียงพอ ก็สามารถล็อคออฟออกมาแล้วกลับไปเรียนต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังมีการให้บริการดาว์นโหลดภาพถ่ายดาวเทียมได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยงานภาครัฐและการศึกษา ซึ่งข้อมูลภาพถ่ายก็อัพเดทมากๆ โดยภาพจะปรากฏในฐานข้อมูลพร้อมสำหรับการดาว์นโหลดหลังจากเก็บภาพแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งอาจารย์ นักเรียนหรือผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดการให้บริการต่างๆได้ที่เว็บไซต์ http://csrs.ku.ac.th/

เงินทุนที่ใช้ในการดำเนินการมาจากความช่วยเหลือของรัฐบาลทั้งสองประเทศเป็นหลัก ส่วนด้านความร่วมมือกับทางเอกชนนั้นยังมีอยู่ค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากทางสถานีฯมีการตกลงกันกับรัฐบาลจีนในเรื่องการให้ใช้ภาพถ่ายแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับองค์กรรัฐและหน่วยงานการศึกษาเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเน้นความร่วมมือกับภาครัฐเป็นหลัก

สำหรับแผนการในอนาคต สถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์วางแผนจะร่วมมือกับหน่วยงานวิทยาศาสตร์หลายแห่งรวมทั้งแบบสัญจรเพื่อไปจัดนิทรรศการแบบ interactive ให้ความรู้แก่นักเรียนและผู้สนใจตามจังหวัดต่างๆ โดยทางรศ. ดร. มงคล รักษาพัชรวงศ์ ผู้อำนวยการสถานีฯ ได้กล่าวไว้ว่า ข้อมูลเหล่านี้ หากไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดก็ไม่ต่างอะไรกับขยะ ตอนนี้เรามีภาพและข้อมูลอยู่จำนวนมาก แต่ยังขาดบุคลากรที่มาแปรข้อมูลและนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งก็หวังว่านักเรียนไทยจะมีโอกาสที่ดี มีความกล้าที่จะฝันและสนใจมาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้มากขึ้น ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ทางสถานีฯก็ได้มีการเซ็นต์สัญญากับทาง CRESDA (China Centre for Resources Satellite Data and Application – 中国资源卫星应用中心) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการวิจัยด้านข้อมูลดาวเทียมจากประเทศจีนเพื่อที่จะต่อยอดความร่วมมือและการวิจัยร่วมกัน โดยเงินทุนในโครงการจะเป็นการออกแบบครึ่งๆระหว่างไทยกับจีน ทางสถานีฯคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี เพราะว่านอกจากจะช่วยยกระดับเรื่องการศึกษาในเมืองไทยแล้วยังสามารถสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ให้แก่ประเทศได้อีกด้วย หวังว่าการสนับสนุนและความร่วมมือจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การวิจัยและการเผยแพร่ความรู้เหล่านี้เข้าถึงเยาวชนและเป็นประโยชน์แก่อนาคตของชาติต่อไป

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040