ความเป็นมาของเส้นทางสายไหม ตอนที่ 2 (1)
  2015-08-25 14:26:51  cri

ปีค.ศ.2014 ผู้นำจีนเสนอข้อริเริ่มเรื่องพัฒนาเส้นทางสายไหม ที่จะเป็นการเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆเข้าด้วยกัน รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุน และการไปมาหาสู่ระหว่างกันของประชาชนประเทศต่างๆ ทั่วโลก วันนี้ เราขอเสนอความเป็นมาของเส้นทางสายไหมในสมัยโบราณ ต่อจากครั้งที่แล้ว

ในสมัยโบราณ ผ้าไหมจีนส่งไปยังประเทศตะวันตกโดยผ่านเส้นทางไหน ? นี่เป็นคำถามที่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการทั้งจีนและต่าง ประเทศอย่างมาก เมื่อปี ค.ศ. 1877 หนังสือเรื่อง "จีน" โดยนาย เฟอร์ดินานด์ ฟอน ริชท์โธเฟน (FERDINAND VON RICHTHOFEN) นักภูมิศาสตร์เยอรมนีระบุไว้ว่า เส้นทางสายไหมเกิดขึ้นระหว่าง 114 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึงปี ค.ศ. 127 เส้นทางนี้เชื่อมดินแดนตะวันตกของจีนกับลุ่มแม่น้ำอามุดาเรีย ( Amu Darya) ลุ่มแม่น้ำเซียร์ ดาเรีย (Syr Darya)ในเอเชียกลาง และอินเดีย กล่าวอีกนัยหนึ่ง นาย เฟอร์ดินานด์ ฟอน ริชท์โธเฟนถือดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันตกของจีน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางในการปฏิบัติภารกิจการทูตของนายจัง เชียน ขุนนางชั้นผู้ใหญ่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหม เมื่อปีค.ศ. 1910 นายอัลเบิร์ท เฮอร์มันน์ (Albert Herrmann) นักวิชาการเยอรมนีเขียนหนังสือ "เส้นทางสายไหมโบราณที่เชื่อมจีนกับซีเรีย" ว่า เส้นทางสายไหมคงทอดยาวไปถึงประเทศซีเรียที่อยู่ห่างไกลจากจีน เพราะในสมัยโบราณ ซีเรียเป็นตลาดผ้าไหมสำคัญของจีน และจีนส่งผ้าไหมไปยังซีเรียผ่านเส้นทางบกเป็นหลัก

นักโบราณคดีส่วนใหญ่เห็นว่า เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางการค้าที่มีระยะทางยาวไกล และมีประวัติมาช้านาน เป็นเส้นทางที่เชื่อมเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา โดยผ่านจีน อัฟกานิสถาน อินเดีย ลุ่มแม่น้ำอามุ ดาเรีย ( Amu Darya) ลุ่มแม่น้ำเซียร์ ดาเรีย (Syr Darya) อิหร่าน อิรัค ซีเรีย และตุรกี ฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ท้ายสุดไปถึงจักรวรรดิโรมัน ผู้ที่ใช้เส้นทางนี้มีทั้งพ่อค้า นักท่องเที่ยว และผู้นับถือศาสนาที่จะเดินทางจากประเทศตะวันตกไปยังประเทศตะวันออกกลาง ในยุคสมัยที่เกิดภัยสงคราม ทหารและผู้ลี้ภัยก็เคยใช้เส้นทางนี้เช่นกัน ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ในสมัยโบราณ เส้นทางสายไหมเคยเป็นเส้นทางเชื่อมตะวันออกกับตะวันตกที่มีความสำคัญมาก ทำให้ประชาชนตะวันออกกับตะวันตกมีโอกาสทำการค้าขาย แลกเปลี่ยนกันในด้านต่างๆ และมีความเข้าใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุเหล่านี้ เส้นทางสายไหมจึงนับเป็นมรดกอันล้ำค่าร่วมกันของทุกประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

จากข้อมูลประวัติศาสตร์จีน ถึงแม้ก่อนสมัยราชวงศ์ฮั่น เส้นทางที่เชื่อมประเทศตะวันออกกับประเทศตะวันตกก็ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่การใช้เส้นทางนี้มีอุปสรรคมาก เพราะประเทศและชนเผ่าต่างงๆ ตามเส้นทางสายไหมสู้รบกันไปสู้รบกันมาบ่อย การใช้เส้นทางนี้ยังต้องขึ้นเขาลงห้วยเป็นจำนวนมาก และมีระยะทางยาวไกล

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น เศรษฐกิจจีนพัฒนาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวฮั่นเริ่มอพยพจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือไปยังพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้ของจีน เช่น ลุ่มแม่น้ำฉางเจียง ลุ่มแม่น้ำจูเจียง แต่ไม่มีการอพยพไปยังพื้นที่ที่อยู่ทางเหนือของกำแพงเมืองจีน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยราชวงศ์ฉิน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชนเผ่าซงหนู (xiongnu) ชนเผ่าล่าสัตว์ที่มีความแข็งแกร่งอาศัยอยู่ สมัยนั้น ชนเผ่าซงหนู่ลงใต้ก่อกวน และรุกรานพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของราชวงศ์ฮั่นอย่างต่อเนื่อง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040