แบงก์กรุงเทพจัดเสวนานุกรมครั้งที่ 6 "สายสัมพันธ์วัฒนธรรมจีน-ไทยฯ"
  2015-11-16 19:42:18  cri

กรุงเทพฯ –ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนานุกรมความรู้ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ "สายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมจีน-ไทย: ความอุดมสมบูรณ์ของมรดกทางวัฒนธรรมและความมั่งคั่งในอดีต" เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ สีลม โดยมีนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับและเปิดงาน และได้รับเกียรติจากนายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยมากล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยมีเนื้อหาสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

งานเสวนานุกรมความรู้ที่จัดโดยธนาคารกรุงเทพนั้นนับว่าเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของประชาชนระหว่างสองประเทศ-ไทยและจีน ถึงแม้ปีนี้จะเป็นปีครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนแต่ระยะเวลาในการไปมาหาสู่ของทั้งสองประเทศยืนยาวกว่านั้นมาก ประโยคที่ว่า "จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน" หรือ "จงไท่อี้เจียชิน" (中泰一家亲) กลายเป็นประโยคที่ติดปากอย่างกว้างขวางในไทยและจีน สำหรับหัวข้อเสวนาในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม มีสองคำหลักที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมของสองประเทศเข้าด้วยกันคือประเพณีและการพัฒนา

ความสัมพันธ์ของไทยและจีนนั้นเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ช่วงอยุธยาเริ่มมีการส่งนักเรียนเข้ามาแลกเปลี่ยน การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนเข้ามาในไทย และได้มีการหลอมรวมและผสมผสานวัฒนธรรมในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาษา ละคร ดนตรี ภาพวาด ตึกรามบ้านช่อง วรรณกรรมของจีนโดยเฉพาะเรื่อง "3 ก๊ก" และ "ไซอิ๋ว" ก็เป็นที่นิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก อันจะเห็นได้จากการถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว คนไทยทั่วไปก็คุ้นเคยกับวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ตั้งแต่ปีค.ศ. 1975 เป็นต้นมา ไทยและจีนได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ได้มีการพัฒนาและลึกซึ้งขึ้นในทุกด้าน ทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในทั้งสองประเทศไม่น้อยกว่า 500 รายการ ปีนี้นับเป็นปีที่ 11 แล้วสำหรับกิจกรรมตรุษจีนที่สองประเทศร่วมมือกันจัดในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 2004 เป็นต้นมา วัฒนธรรมของไทยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร มวยไทย ฯลฯ ล้วนได้รับความนิยมในประเทศจีน ชาวจีนประทับใจในความงดงามของธรรมชาติ, อาหารอร่อยๆ, ศิลปะความเป็นไทยรวมทั้งนิสัยคนไทยที่น่ารักอบอุ่น จำนวนนักเรียนแลกเปลี่ยนของไทยที่ไปเรียนที่จีนก็มีจำนวนมากกว่า 20,000 คนเป็นรองแค่ประเทศเกาหลีและสหรัฐอเมริกา ส่วนนักเรียนจีนที่มาเรียนที่ไทยก็มีจำนวนกว่า 20,000 คนและนับเป็นอันดับหนึ่งของนักเรียนต่างชาติในไทย ทุกวันนี้มีสถาบันการศึกษาในไทยมากกว่า 1,000 แห่งที่มีการเปิดสอนภาษาจีน มีชาวไทยเกือบหนึ่งล้านคนที่เรียนภาษาจีน

การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของไทยและจีนยังมีอยู่ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ประชาชนหรือราชวงศ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงเสด็จไปเยือนยังประเทศจีนมากถึง 38 ครั้งอีกทั้งยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาของประเทศจีน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารีทรงกู่เจิงในการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน" เพื่อกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน

จวงจื่อ –ปราชญ์ชื่อดังของจีนกล่าวไว้ว่า "เชื้อเพลิง (เช่นเทียน) นั้นมีวันหมด แต่ทว่าเปลวไฟนั้นไม่มีวันสิ้นสุด" การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของไทยและจีนนั้น เป็นดั่งเปลวไฟที่ไม่มีวันสิ้นสุดสืบทอดต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน สำหรับความสัมพันธ์ของสองประเทศนั้น มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้จะมีโครงการความร่วมมือหลายอย่างเกิดขึ้น แต่โครงการขนาดใหญ่นั้นยังถือว่ามีน้อยอยู่, การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในรูปแบบปัจจุบันซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตในขณะนี้ของทั้งสองประเทศก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand ที่มาถ่ายทำที่ประเทศไทยก็ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวและการรับรู้วิถีชีวิตของชาวไทยในยุคปัจจุบัน, สนับสนุนกิจกรรมที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนการร่วมมือของทั้งสองประเทศ เช่น งานวันตรุษจีน, การขยายการแลกเปลี่ยนในภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การท่องเที่ยวและการศึกษา หรือการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลซึ่งเป็นหนึ่งในความคิดที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเสนอเมื่อปี 2013

หลังจากนั้นเป็นการเสวนาแบ่งปันประสบการณ์ที่น่าสนใจ โดยเน้นเป็นพิเศษในเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาของคนยุคก่อน หรือความคิดและทัศนคติของคนไทยและคนจีนในอดีต เรื่องเหล่านี้ได้ส่งผลและมีอิทธิพลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ของคนทั้งสองประเทศจนถึงปัจจุบัน โดยงานนี้ได้นายจาง จิ่วหวน อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, ศาสตราจารย์ฟู่ เจิงโหย่ว ศาสตราจารย์คณะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่งและที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายธงชัย ชาสวัสดิ์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และรองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์และที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้นายสุวัชชัย ทรงวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการระหว่างการเสวนา

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040