ความประทับใจของผู้นำชุมชนไทยที่เข้าร่วมการอบรมผู้นำชุมชนอาเซียน+3 เรื่องการแก้ปัญหาความยากจนที่เมืองหนานหนิง(1)
  2016-02-11 15:08:20  cri

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลชนบทและผู้นำชุมชนในชนบทของจีนกับประเทศอาเซียนครั้งที่ 3 ที่เมืองหนานหนิง เมืองเอกเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี เจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้นำชุมชนในชนบท ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากจีน ไทย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน ตลอดจนผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยการอบรมวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาชุมชนของประเทศต่างๆ การวิเคราะห์การวางแผนพัฒนาชุมชน การแบ่งกลุ่มอภิปราย และการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ชนบท

นางสาวปัณฑารีย์ โชรัมย์ เป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ประสานงานกับผู้เข้าร่วมโครงการของไทย 3 ท่าน ความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ คือ ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศจีน รวมทั้งได้ฟังประเทศอื่นๆ ของอาเซียนมาแลกเปลี่ยนว่าประเทศเขาแก้ปัญหาความยากจนยังไงบ้าง และสามารถนำไปปรับใช้กับงานที่ทำอยู่ เพราะว่ากรมการพัฒนาชุมชนก็มีหน้าที่ในการลดปัญหาความยากจนด้วย ก็สามารถนำไปวางนโยบายได้ เรียนรู้จากประเทศอื่นมาเป็นยังไง จากการได้มาดูงาน ได้มาลงในพื้นที่ ก็จะเห็นความร่วมมือของภาคเอกชน มหาวิทยาลัยที่เข้ามาทำการวิจัยร่วมกับบริษัทเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้เห็นว่า การสร้างงานสร้างรายได้ของประเทศจีนในรูปแบบสมัยใหม่เป็นยังไง ก็สามารถนำไปเป็นบทเรียนปรับใช้ได้ในอนาคตต่อไป

นางณภัทร จาตุรัส เลขานุการศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า การที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาเซียน+3 ถือว่าโชคดี เป็นตัวแทนคนไทยและตัวแทนชาวบ้านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แม้จะไม่เข้าใจทุกภาษา แต่มองสายตาของทุกคน รู้สึกมีความมุ่งมั่นเพื่อชาติเพื่อบ้านเมือง เพื่อชุมชนของตัวเอง ได้รับประโยชน์มาก และบันทึกไว้หมด เก็บไว้หมด จะเอาไปประยุกต์ใช้ แต่ละประเทศมีภูมิสังคม วิถีชีวิตและจุดเด่นจุดด้อยไม่เหมือนกัน แต่ก็เอามาปรับใช้ได้ กลับไปจะนำไปใช้กับเครือข่ายของตัวเอง และจะไปขยายและบอกกล่าว บางทีสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ ถ้าร่วมมือร่วมใจกันอาจจะทำได้ และการไปศึกษาวิธีการปลูกกล้วยอินทรีย์ ถ่ายรูปไว้เยอะมาก เพราะลูกเรียนจบด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยเกษตร เขาบอกว่าการไปจีนครั้งนี้เป็นโอกาสอันดี อย่านึกถึงแต่ชุมชนตัวเอง ให้นึกถึงว่าตัวเองเป็นตัวแทนของชาติไทย พื้นที่ของตัวเองอาจจะปลูกไม่ได้ แต่จังหวัดอื่นอาจจะปลูกได้ มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่จีนควรเอาสิ่งที่เรียนรู้มาไปใช้ประโยชน์ และต้องขอขอบคุณชาติเจ้าภาพที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นมาเรียนรู้ เห็นโดยตรงว่าทำได้หรือไม่ได้ สามารถรู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ยอมรับว่าจีนล้ำหน้าไปเยอะ แต่วัฒนธรรมประเพณีของไทยไม่ได้ด้อยกว่าใคร ถ้าเอาจุดเด่นของเขามาเสริมมาอุดรู้รั่วของไทย คิดว่าวันข้างหน้าไทยก็คงก้าวทัน

นายเกษมชัย แสงสว่าง ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ที่เรียกสั้นๆ ว่าอ.ช. จากหมู่บ้านหนองกระโดนมน ต.หนองโพธิ์ อ. หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ตำแหน่งรองประธานเครือข่ายผู้นำอาสาสมัคร อาสาพัฒนาชุมชน จ.สุพรรณบุรีกล่าวว่า ต้องขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย โดยผ่านไปยังกรมการพัฒนาชุมชนที่เปิดโอกาสให้ได้เข้ามาเรียนรู้กับประเทศจีน และขอบคุณรัฐบบาลจีนที่มีโครงการดีๆ อย่างนี้ ที่นำเอาอาเซียน+3 เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน จากการติดตามข่าวสารอาเซียน+3 ตั้งแต่แรก คิดว่าทำยังจะได้มีโอกาสมาเรียนรู้และนำไปขยายผล เพราะที่บ้านตัวเองเป็นศูนย์เรียนรู้ และเชื่อมโยงกับศูนย์เรียนรู้อีกหลายๆ ศูนย์เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของคนไทยที่มีขบวนการผลิตในเรื่องของการเกษตร การเรียนรู้การพัฒนาของจีน ที่ให้ผู้นำชุมชนและผู้นำทางการเกษตรไปเรียนรู้ก่อน เสร็จแล้วมีการวางแผนและลงมาปฏิบัติจริง รัฐบาลกับบริษัทเสริมหนุนในเรื่องของการจัดพื้นที่ให้ และปฏิบัติจริง ถือว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรอย่างมาก ถ้าประเทศไทยมีการส่งเสริมอย่างนี้ คิดว่าก็จะไม่ด้อยเหมือนกัน อีกเรื่องหนึ่งคือการเรียนรู้กับต่างประเทศ ในระหว่างที่ 10 ประเทศนำเสนอแลกเปลี่ยนกัน ตัวเองน่าจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจภาษายากมาก พยายามฟังจากเพื่อนร่วมเดินทางมา ฟังจากล่ามบ้าง ได้เรียนรู้จากอากัปกิริยาในการนำเสนอบ้าง ได้ความรู้ค่อนข้างมาก เห็นปัญหาของประเทศต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และเห็นในสิ่งที่เขามีการพัฒนากัน ความรู้เหล่านี้สามารถเอาไปปรับใช้ได้ มีการนำเสนอแลกเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ตัวเองมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการทำแผนชุมชน รูปแบบคล้ายๆ กับจีน ต่างกันที่ว่ารัฐไม่ได้ส่งเสริมเหมือนจีน ถือได้ว่าเราเดินทางถูกแล้ว แต่ที่จะเพิ่มคือควรเพิ่มการเชื่อมประสานกับภาครัฐ ทำให้ภาครัฐส่งเสริมสนับหนุนอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ต้นแบบ มีตัวอย่าง จะได้กระจายและขยายผลอย่างรวดเร็ว เพราะ ณ ขณะนี้ รัฐกำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจหลายๆ ด้าน ถ้ามีการเขย่งก้าวกระโดดและทำต้นแบบอย่างนี้ คิดว่าหนทางของประเทศไทยไปรอดอย่างแน่นอน การเรียนรู้ครั้งนี้ ได้มีโอกาสประสานกับทางภาครัฐ จะนำไปเป็นหลักสูตรอบรมผู้ที่ทำงานในท้องถิ่น ศูนย์เรียนรู้ที่เป็นเครือข่ายกันและเกษตรกร มีโอกาสที่จะไปขยายผลจำนวนมาก รวมทั้งเรื่องการเกษตรที่เห็นคือเรื่องกล้วย แต่ไม่ใช่เรื่องกล้วยเลย ทำเรื่องไหนก็แล้วแต่ ให้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วทำอย่างจริงจัง ก็สามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ วันนี้ได้มาอยู่ที่สถานที่แห่งนี้ ได้มาดูสวนกล้วย ดูวิธีการวางแผน การศึกษาวิจัยและการนำไปปฏิบัติ ประทับใจมาก ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก และจะนำไปสู่การปฏิบัติจริงของตัวเอง ขอบคุณทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040