"นิทรรศการอักษรศิลป์พระอาจารย์ซิงหยุน"
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง
"นิทรรศการอักษรศิลป์พระอาจารย์ซิงหยุน" จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 1 มีนาคมถึงวันที่ 15 เมษายนนี้ เป็นนิทรรศการที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมจำนวนมาก โดยให้ความรู้ คติเตือนใจแก่ชาวโลก
พระอาจารย์ซิงหยุน (星云大师) เกิดที่เมืองหยางโจว (เจียงตู) มณฑลเจียงซูเมื่อปี 1927 ปีนี้อายุ 90 ปีแล้ว เป็นผู้นำสงฆ์ในพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงระดับโลก พระอาจารย์อพยพไปอยู่ที่ไต้หวันเมื่อต้นปี 1949 จากนั้นได้ก่อตั้งสำนักโฝกวางซาน (佛光山) ที่เมืองเกาสง (高雄) เมื่อปี 1967 และเป็นนักเขียนอักษรศิลป์จีนสไตล์ "อีปี่จื้อ" ( "一笔字", One-Stroke Calligraphy) หรือ "การเขียนรวดเดียวจบ" อักษรศิลป์ของพระอาจารย์เผยแพร่อย่างกว้างขวางทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน กระทั่งทุกมุมโลกที่มีแสงพุทธฉายสว่าง
พระอาจารย์ซิงหยุนกับแขกผู้มีเกียรติที่ร่วมพิธีเปิดงาน
เดินชมนิทรรศการ
เหตุใดจึงมี "อีปี่จื้อ" หรือ "การเขียนรวดเดียวจบ" คนจำนวนไม่น้อยอยากรู้อยากทราบ ความเป็นมาคือ ช่วง 20 ปีมานี้ เนื่องจากพระอาจารย์ซิงหยุนเป็นโรคเบาหวาน เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ส่งผลต่อสายตา แถมยังมือสั่น เวลาเขียนหนังสือ จำต้องเขียนครั้งเดียวให้จบ หากเขียนไม่จบ ขีดที่ 2 จะต่ออย่างไรก็ต่อไม่ได้แล้ว เนื่องจากตัวหนังสือแต่ละตัวล้วนเขียนรวดเดียวเสร็จ จึงเรียกว่า "อีปี่จื้อ" หรือ "การเขียนรวดเดียวจบ" ความเป็นมานี้หาชมได้จากสารคดีเรื่อง "อีปี่จื้อ" ที่ฉายในห้องจัดแสดงได้
อย่างไรก็ตาม พระอาจารย์ซินหยุนระบุว่า "กรุณาอย่ามองที่ตัวหนังสือของอาตมา กรุณามองที่หัวใจของอาตมา เพราะอาตมายังมีจิตเมตตาบ้าง พอที่จะให้โยมมองเห็นได้"
นายหลี่ว์ จังเซิน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน
มอบหนังสือรับรองว่าพิพิธภัณฑ์ได้รับสิ่งของบริจาค
จากพระอาจารย์ซิงหยุน
นายหลี่ว์ จังเซิน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนระบุในพิธีเปิดงานนิทรรศการว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่จัดแสดงผลงานอักษรศิลป์ของพระอาจารย์ซิงหยุนที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ต่อจากที่เคยจัดมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนปี 2013 ผลงานของพระอาจารย์นำมาซึ่งความปีติ ความรื่นเริงหรรษา และสติปัญญาแก่ผู้ชม จึงขอขอบคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง
มุมหนึ่งในงานนิทรรศการอักษรศิลป์พระอาจารย์ซิงหยุน
นิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงผลงานการเขียนอักษรศิลป์ของพระอาจารย์ซิงหยุนรุ่นล่าสุดกว่า 200 ชิ้น เป็นคติเตือนใจ หลักธรรมคำสอน บทกลอน โคลงคู่ สั้นบ้าง ยาวบ้าง ซึ่งล้วนมีค่าทั้งนั้น พร้อมมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย แต่ละชิ้นล้วนให้ความรู้และแนวทางการใช้ชีวิต
(IN/LING)