เส้นทางสายไหมเป็นที่รู้จักในฐานะเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทะเลของจีนเมื่อกว่า 2 พันปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นอดีตอันเจริญรุ่งเรืองของจีนที่สามารถเชื่อมตัวเองและโลกตะวันออกไปยังโลกตะวันตกทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
เส้นทางสายไหม ถูกฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 หลังนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวถึงการพลิกฟื้นยุทธศาสตร์การค้าตามแนวเส้นทางสายไหมครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2013 ระหว่างเยือนคาซัคสถาน และในเดือนต่อมาระหว่างเดินทางเยือนอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ประกาศว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือหนึ่งในเขตสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งจีนพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียน
สำหรับมณฑลหูหนาน เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์บนเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
มณฑลหูหนาน หรือชื่อย่อว่า"เซียง" ตั้งอยู่ภาคกลางตอนล่างของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรทั้งหมดประมาณ 67 ล้านคน และมีพื้นที่ 211,800 ตารางกิโลเมตร เมืองฉางซาเป็นเมืองเอกของมณฑลนี้
มณฑลหูหนานมีความมั่งคั่ง มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีวัฒนธรรม และธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งยังเป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญหลายท่าน รวมถึงประธาน เหมา เจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผ้าปัก "เซียงซิ่ว" เป็นผ้าปักที่มีชื่อเสียงติดหนึ่งในสี่ของประเทศจีน มีต้นกำเนิดมาจากมณฑลหูหนาน สังเกตได้จากชื่อเรียก "เซียง" เป็นชื่อย่อของมณฑลหูหนาน ส่วน "ซิ่ว" แปลว่า การปักผ้า ผ้าปักเซียงซิ่วมีประวัติยาวนานกว่า 2,000 ปี และได้รับเลือกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุในปีค.ศ. 2006 ผ้าปักเซียงซิ่วขึ้นชื่อในการปักรูปสัตว์ เช่น เสือ สิงโต แมว โดยลายปักที่ออกมาจะมีความประณีต
ละเอียดลออ ละม้ายคล้ายธรรมชาติอย่างยิ่ง เอกลักษณ์ของผ้าปักเซียงซิ่ว คือการใช้ภาพวาดจีนเป็นแม่แบบ ใช้เข็มแทนพู่กัน ใช้ผ้าไหมแทนกระดาษ ใช้เส้นไหมแทนสีต่างๆ โดยสีที่นิยมใช้ ได้แก่ สีเทาเข้ม เทาอ่อน สีขาวและสีดำ เพื่อเปรียบเทียบความมืดกับความสว่างและยังทำให้ภาพมีมิติมากขึ้นด้วย
นอกจากผ้าปักเซียงซิ่วแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชาดำที่ขึ้นชื่อของหูหนาน เครื่องเคลือบดินเผาฉางซา สินค้าส่งออกขึ้นชื่อ เช่น เครื่องเงินชาวแม้วเมืองเฟิ่งหวง และเสื้อผ้าชนเผ่าถู่เจียทางภาคตะวันตกของหูหนาน
ปัจจุบันนี้ มณฑลหูหนาน เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญระดับโลกของจีนหลายแห่ง เช่น บริษัทซูมไลออน ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรและยานยนต์ที่ใช้เพื่อการก่อสร้าง การเกษตร และการคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในจีน โรงงานของบริษัทรถจักรไฟฟ้าจูโจว และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
นายจาง เหวินสง หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลหูหนานกล่าวกับสื่อมวลชนว่า กลุ่มประเทศอาเซียนถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของหูหนาน ปัจจุบันนี้บริษัทรถจักรไฟฟ้าจูโจวได้เปิดสาขาบริษัทในมาเลเซีย มณฑลหูหนานมีแผนจะกระชับความร่วมมือด้านต่างๆ กับอาเซียนให้แนบแน่นยิ่งขึ้นในอนาคต
ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญของมณฑลหูหนาน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่รวมไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน จากสถิติ ตั้งแต่ต้นปี 2015 พบว่า ชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวยังมณฑลหูหนานเป็นอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้ และไทยก็เป็นตัวเลือกอันดับ 1 ในการท่องเที่ยวของชาวหูหนาน ปัจจุบัน มีสายการบินบินตรงระหว่างไทยและมณฑลหูหนาน
ถึงแม้หูหนานตั้งอยู่ภาคกลางของจีน ไม่ติดทะเล แต่ก็กลายเป็นแหล่งยอดนิยมในการลงทุนของต่างประเทศ สาเหตุที่หูหนานเป็นแหล่งยอดนิยมในการลงทุนของต่างประเทศ เนื่องจาก GDP ของหูหนานมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ติด 10 อันดับมณฑลที่มี GDP สูงของจีนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 ปี ปีที่แล้ว มูลค่าการค้าต่างประเทศของมณฑลหูหนานขยายตัวสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีนค่อนข้างมาก
ในด้านการคมนาคม หูหนานมีระบบคมนาคมที่ดีทั้งทางอากาศ รถไฟ และทางบก ทางด่วนของหูหนานมีระยะทางถึง 7,000 กม. นอกจากนี้ รถไฟความเร็วสูง "เซี่ยงไฮ้ – คุนหมิง" และ "ปักกิ่ง – เซินเจิ้น" วิ่งผ่านนครฉางซา เมืองจูโจว และเมืองเซียงถานของหูหนาน สามารถขนส่งผู้โดยสารปีละกว่า 30 ล้านคน นอกจากนี้ สนามบินหวางฮัวในเมืองฉางซายังเป็นสนามบินในภาคกลางของจีนที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด นอกจากนี้ทรัพยากรบุคคลเป็นจุดเด่นของหูหนาน เนื่องจากหูหนานมีนักวิชาการระดับชาติกว่า 50 คน มีผู้ชำนาญการพิเศษด้านเทคโนโลยีในสาขาต่างๆกว่า 4 ล้านคน ปัจจุบัน มีนิคมอุตสาหกรรมระดับมณฑล 79 แห่ง และเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติ 14 แห่ง ซึ่งครอบคลุมสาขาเครื่องจักร การแปรรูปอาหาร เหล็กกล้า โลหะสี อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ในบรรดาบริษัทที่ติด 500 อันดับของโลก มี 128 บริษัทที่ลงทุนในหูหนาน