สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนจัดสัมมนาวิเคราะห์กลยุทธ์ "ทองคำ-เงินหยวนโกอินเตอร์"
  2016-05-27 21:30:08  cri

กรุงเทพฯ – หลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ผลักดันจนสามารถทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศรับ "สกุลเงินหยวน" ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงินสำรองของ IMF ซึ่งเดิมมีเพียงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร ปอนด์สเตอร์ลิงและเงินเยน นี่ถือเป็นก้าวสำคัญของจีนที่จะปรับตัวเข้าไปอยู่ในระบบการเงินสากล และเป็นสัญลักษณ์ว่าจีนสามารถบรรลุความคืบหน้าในการปฏิรูปในด้านต่างๆ และที่สำคัญถือเป็นชัยชนะของจีนในการทำให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกประเทศหนึ่ง

นอกจากนี้จีนยังได้มีการผลักดันให้ยอมรับการกำหนด "ราคาทองคำ" ด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งล่าสุดจีนได้มีการเปิดตัวราคามาตรฐานทองคำเป็นสกุลเงินหยวนในตลาดซร่างไห่เป็นที่แห่งแรก

สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนเกาะติดประเด็นร้อนด้วยการจัดงานเสวนาโต๊ะกลม "วิเคราะห์เศรษฐกิจจีนผ่านกลยุทธ์ 'เงินหยวน-ทองคำ'โก อินเตอร์ผลต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย"โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องประชุมวิทยาลัย ICSC อาคาร 4 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเปิดเสวนาโดยดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และคุณชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

งานนี้อัดแน่นไปด้วยสาระความรู้ เพราะวิทยากรที่ให้เกียรติมาร่วมงานในครั้งนี้ ได้แก่ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, คุณฐานิศร์ ศาสตราวาหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ปริวรรตเงินตราต่างประเทศ บริหารเงินและตลาดทุน ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)และ คุณบุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ออสสิริส โดยมีคุณภูวนารถ ณ สงขลา อุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนเป็นผู้ดำเนินรายการ

การทำให้หยวนเป็นสกุลเงินหลักของโลกและยอมรับการกำหนดราคาทองคำด้วยสกุลเงินหยวน ทั้ง 2 กลยุทธ์สำคัญนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า จีนทำเพื่ออะไร จะได้ประโยชน์ในด้านใดบ้าง โดยเฉพาะผลดีที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของจีน ที่ถูกมองว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว รวมทั้งปรากฏการณ์จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศไทย

อาจารย์เกียรติอนันต์ให้ความเห็นว่าการที่เงินหยวนสามารถฝ่าฟันเข้าเป็นไปอยู่ในตะกร้าเงินสำรองของ IMFได้นั้น ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ควรเป็นกรณีศึกษาเพราะเมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าจีนไม่ได้โดนมาตรการโลกกดดันเลย แต่เป็นจีนเองที่เลือกที่จะทำประเทศให้เข้มแข็งก่อน และเป็นการก้าวเข้ามาอย่างมั่นคง ดังจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะมีข่าวในด้านดีหรือลบเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หยวนยังคงสามารถรักษาโมเมนตัมหรือเสถียรภาพได้ดี สำหรับการเติบโตที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วและชะลอตัวในช่วงนี้เป็นไปตามกลไกปกติ เมื่อตัวเลขการเติบโตลดเหลือเป็นเลขหลักเดียว รัฐบาลก็ต้องปล่อยให้คนในประเทศมามีส่วนร่วมมากขึ้น

สำหรับผลกระทบที่ไทยจะได้รับ แน่นอนว่าเมื่ออุตสาหกรรมการเงินของจีนเติบโตมากขึ้น จะมาพร้อมโอกาสสำหรับนักลงทุนและผู้ทำธุรกิจ ความสัมพันธ์ของจีนและไทยจะเป็นไปในแบบ "เศรษฐกิจโรบินฮู้ด" (RobinHood Economy) คือการได้ประโยชน์ร่วมกัน การแข็งแกร่งขึ้นของเศรษฐกิจจีนจะทำให้ไทยได้อานิสงค์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบมาใช้เงิน เที่ยว เรียน ลงทุน ฯลฯ ไทยเองก็ควรจะมีการเตรียมพร้อมที่จะสร้างนักการเมืองหรือนักธุรกิจที่มีดีเอ็นเอที่เข้าใจจีนและวัฒนธรรมความเป็นคนจีนเพื่อที่จะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างดีด้วยเช่นกัน

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040