การอนุรักษ์ผ้าไหมจีนและผ้าไหมไทย(2)
  2016-06-21 15:30:31  cri

ในงานเสวนา ผู้เชี่ยวชาญผ้าไหมจีนได้กล่าวถึงความพยายามในการอนุรักษ์ผ้าไหมซ่งจิ่น ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง และผ้าไหมหยูนจิ่นของจีน รวมทั้งโครงการอบรมผู้สืบทอดวัฒนธรรมวิถีชนของจีน ซึ่งตอนนี้เน้นให้เป็นการอบรมกลุ่มผู้สืบทอด เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงมรดกวัฒนธรรมวิถีชนได้มากขึ้น และทำให้การอนุรักษ์ได้รับประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับผู้เชี่ยวชาญทางฝ่ายไทยก็ได้กล่าวถึงการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยของพระบรมวงศานุวงศ์และการบุกเบิกตลาดของผ้าไหมไทยในตลาดโลก ซึ่งรองศาสตรจารย์ ดร.สิทธิชัย สมานชาติ อาจารย์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้บรรยายถึงวิวัฒนาการของผ้าไหมแพรวาของไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถอย่างมาก ทางมูลนิธีฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเส้นไหม สารย้อมสี และการอบรมช่างฝีมือในชนบทของไทย ทุกวันนี้ ผ้าไหมแพรวามีการพัฒนาทั้งด้านสีให้มีความหลากหลายสีมากขึ้น และมีการออกแบบที่ทันสมัยมากขึ้น เส้นที่ใช้ในการทอผ้าแพรวาก็พัฒนาจากเส้นฝ้ายและเส้นไหมที่ผสมผสานกันเป็นเส้นไหมร้อยเปอร์เซ็นต์ สินค้าผ้าแพรวาที่ผลิตขึ้นนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวต่างชาติด้วย สรุปแล้วคือสินค้าผ้าแพรวาได้ผสมสานความทันสมัยในตัวเมืองและความดั้งเดิมด้านเทคนิคการทอผ้าอย่างกลมกลืน และเนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสนับสนุนการพัฒนาผ้าไหมแพรวาด้วย ทำให้สินค้าผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในตลาดโลก

ส่วนนางชุติมา ดำสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด (JIM THOMPSON) ได้บรรยายถึงประวัติความเป็นมาของบริษัท JIM THOMPSON และการบุกเบิกตลาดโลกของบริษัทฯ โดยเฉพาะได้บรรยายถึงโครงการที่ทาง JIM THOMPSON ร่วมมือดำเนินกับมหาวิทยาลัย 8 แห่งของไทย โดยคัดเลือกนักศึกษาวิชาเอกการออกแบบใน 8 มหาวิทยาลัยนี้จัดเป็น 11 ทีมงาน นักศึกษาเหล่านี้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานบริษัท JIM THOMPSON และใช้เส้นไหมของบริษัทฯ ในการออกแบบ ผลงานการออกแบบจะได้รับการชี้แนะจากทางบริษัทฯ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เมื่อผลงานการออกแบบผ่านแล้ว นักศึกษาจึงมีโอกาสเข้าร่วมทีมงานช่างฝีมือ พวกเขาจะอยู่กับช่างฝีมือในชนบทภาคอีสานของไทย กินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน และทำงานด้วยกัน ทีแรก หลายคนเห็นว่า การออกแบบของนักศึกษาจะซับซ้อนเกินกว่าจะทอได้ แต่สุดท้ายก็ยืนยันว่า ทำได้สำเร็จ ผ้าที่ทอออกนั้นได้จัดแสดงที่ JIM THOMPSON FARM ลิขสิทธิ์การออกแบบจะเป็นของทีมงาน และเมื่อนักศึกษาเรียนจบ ก็ไม่ต้องเข้าทำงานที่ JIM THOMPSON โครงการนี้ทำให้ทั้งนักศึกษาและช่างฝีมือในชนบทได้รับผลประโยชน์ เพราะนักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนรู้จากตำราในการออกแบบจริง รู้จักกับสารย้อมสีธรรมชาติแท้ ทางช่างฝีมือก็มีโอกาสเรียนรู้การผสมสีสันต่างๆ ให้เข้ากัน ซึ่งเป็นความรู้ใหม่สำหรับพวกเขา

งานเสวนาครั้งนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหมจีนและไทยมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมวิถีชนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในด้านการอนุรักษ์ผ้าไหมจีนและผ้าไหมไทย หวังว่าแวดวงผ้าไหมจีนและไทยจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแบบนี้มากขึ้น และนำผลการเสวนาไปปฏิบัติใช้ในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ เพื่อรักษาความดั้งเดิมและความงดงามของวัฒนธรรมทั้งสองประเทศไว้ตลอดไป

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040