เทศกาลชีซีไม่ใช่แค่เทศกาลแห่งความรักของจีน
  2016-08-09 17:38:47  cri

เทศกาลชีซีของจีน ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ถูกจัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติรายการแรกของจีน ปัจจุบันได้รับการยอมรับจากหนุ่มสาวจีนว่า เป็นเทศกาลแห่งความรัก เนื่องจากมีตำนานเล่ากันว่า เป็นวันที่หนุ่มเลี้ยงวัว (หนิวหลาง) กับสาวทอผ้า (จือหนี่ว์) พบกันปีละครั้ง แต่ทราบไหมว่า ในสมัยโบราณ เทศกาลแห่งความรักของจีนเป็นอีกวันหนึ่ง ขณะที่เทศกาลชีซีจะเน้นความหมายอย่างอื่นมากกว่า

เทศกาลชีซีเดิมมีชื่อว่า เทศกาลฉีเฉี่ยว หมายความว่า ขอความฉลาดและความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อย เป็นเทศกาลเก่าแก่ของจีน ที่แพร่หลายไปยังญี่ปุ่น คาบสมุทรเกาหลี และเวียดนาม เป็นต้น เริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งห่างจากปัจจุบันกว่า 2,000 ปีแล้ว

หากค้นจากบันทึกสมัยโบราณของจีนจะพบว่า ประเพณีของเทศกาลชีซีมีประวัติศาสตร์นานกว่านี้อีก ซึ่งนานประมาณ 3,000-4,000 ปีแล้ว เทศกาลชีซีเดิมมาจากการเคารพบูชาธรรมชาติ ในสมัยนั้น ผู้คนก็เริ่มมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับดาราศาสตร์ และการทอผ้าแล้ว โดยเห็นว่า ในทิศตะวันออก ตะวันตก เหนือ และใต้ ต่างมีดาว 7 ดวงที่ชี้บอกทิศทาง รวมทั้งหมด 28 ดวง ภาษาจีนเรียกว่า 28 ซิ่ว ซึ่งรวมถึงกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ในทิศเหนือด้วย นอกจากนี้ ยังมีบันทึกเกี่ยวกับดาว "เชียนหนิว" และดาว "จือหนี่ว์" ซึ่งต่างเป็นที่มาของตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวและสาวทอผ้าในภายหลัง

ในสมัยโบราณ ประเพณีที่สำคัญที่สุดในวันชีซีก็คือ ไหว้ดาวจือหนี่ว์ หรือดาวสาวทอผ้า ซึ่งเป็นกิจกรรมของบรรดาหญิงสาว เพื่อรำลึก "จือหนี่ว์" หรือที่เรียกกันในอีกชื่อว่า "น้องเจ็ด" ซึ่งได้รับการนับถือให้เป็นเทพแห่งการเย็บปักถักร้อย ตามประเพณีแล้ว ผู้หญิงจะพากันจัดพิธีบูชาด้วยกัน โดยตั้งโต๊ะใต้แสงพระจันทร์ วางของบูชาต่างๆ เช่น ชา เหล้า ผลไม้ ของแห้ง และมัดช่อดอกไม้สดด้วยด้ายสีแดง พร้อมตั้งกระถางธูปด้วย หญิงสาวที่ร่วมพิธีต้องกินเจล่วงหน้าเป็น 1 วัน พออาบน้ำเสร็จแล้ว จะมาจุดธูปเซ่นไหว้ตามลำดับ เพื่ออธิษฐานขอพรให้งานเย็บปักถักร้อยของตนมีความประณีตสวยงามยิ่งๆ ขึ้น และได้พบคู่ครองที่ดีด้วย

ปัจจุบัน เทศกาลชีซีของจีนขึ้นชื่อว่าเป็นเทศกาลแห่งความรักของหนุ่มสาวจีนในปัจจุบัน แต่ในสมัยโบราณ ความหมายของเทศกาลชีซีไม่ได้เน้นความรักมากนัก หากมีความหมายเพื่อเซ่นไหว้เทพธิดา "จือหนี่ว์" เทพแห่งการเย็บปักถักร้อยในหมู่ผู้หญิงมากกว่า

นอกจากเซ่นไหว้บูชาเทพธิดาจือหนี่ว์แล้ว ท้องที่ต่างๆ และสมัยต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของจีนยังมีกิจกรรมฉลองต่างกันด้วย ซึ่งที่ขึ้นชื่อที่สุดก็คือการแข่งการร้อยด้ายเข้ารูเข็ม โดยผู้ที่เสร็จช้าต้องให้ของขวัญผู้ชนะ นอกจากนี้ยังมีการจับแมงมุมมาใส่กล่อง เพื่อแข่งว่าแมงมุมใครจะชักใยได้ถี่กว่ากัน

ในสมัยราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ยังมีประเพณีดูเงาของเข็มในวันชีซี โดยนำน้ำสะอาดจากแม่น้ำและน้ำจากบ่อ มาเทใส่อ่างในคืนวนขึ้น 6 ค่ำเดือน 7 ตั้งทิ้งไว้นอกบ้านจนถึงบ่ายวันขึ้น 7 ค่ำเดือน 7 แล้ววางเข็มเหนือผิวน้ำเพื่อดูเงาที่ก้นอ่าง หากไม่ใช่รูปตรงแบบเข็ม ก็ถือว่า คนวางได้รับพรจากเทพธิดาจือหนี่ว์

เนื่องจากเทศกาลชีซีมีความหมายดั้งเดิมตามข้างต้น จึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของจีนเห็นว่า เทศกาลชีซีเป็นเทศกาลสำหรับหญิงสาวมากกว่า ส่วนเทศกาลแห่งความรัก น่าจะเป็นวันอื่น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีนอีกท่านเห็นว่า จากตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวและสาวทอผ้า จะเห็นได้ว่าเทศกาลชีซีเป็นวันที่แสดงความปรารถนาดีอวยพรให้คู่ภรรยาสามีได้ครองรักหวานชื่นกัน ไม่เกี่ยวข้องกับความรักระหว่างคู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงาน จึงไม่เหมาะสมที่จัดเป็นเทศกาลแห่งความรักของจีน

เมื่อเทียบแล้ว เทศกาล "ซ่างซื่อ" หรือวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 จะเหมาะเป็นวันแห่งความรักมากกว่า ในสมัยโบราณ สตรีจีนไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ มีแต่ในเทศกาลโคมไฟ และเทศกาลซ่างซื่อ ถึงจะได้รับอนุญาตให้ไปเที่ยวนอกบ้าน ได้พบกับหนุ่มคนรัก

เทศกาลซ่างซื่อ เป็นเทศกาลแห่งการเที่ยวนอกบ้านเพื่อชมทิวทัศน์ฤดูใบไม้ผลิ ไม่ว่ากษัตริย์หรือชาวบ้าน ต่างก็จะหยุดทำงาน เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ อาบน้ำเพื่อเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ แล้วเดินทางไปเที่ยวชมทิวทัศน์กัน ส่วนหนุ่มๆ สาวๆ ที่ยังไม่มีคู่ครอง ก็จะไปพบและทำความรู้จักกันตามริมฝั่งแม่น้ำ เสมือนกับงานนัดบอดในปัจจุบัน ถือเป็นเทศกาลแห่งความรักในสมัยโบราณของจีนจริงๆ

อันที่จริง สำหรับคู่รักที่รักกันจริงแล้ว ทุกวันล้วนเป็นวันแห่งความรัก อย่างไรก็ตาม หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจในวัฒนธรรมจีนมากขึ้น

Yim/Ldan

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040