เดินออกจากทะเลไผ่ก็เจอกับแยกวัดใจครับ เจ้าหน้าที่ถามเราว่าจะเลือกทางไหน หนึ่งคือไปขึ้นรถบัสเพื่อนั่งไปถึงยอดดอยเลย หรือสอง จะเดินไปใช้เวลา 40 นาที ผมก็แบ่งรับแบ่งสู่อยู่พักหนึ่ง แต่แล้วก็เห็นผู้อำนวยการศูนย์ข่าวอาเซียน นายใหญ่สุดที่เลือกช้อยส์หลัง ผมก็กลืนน้ำลายและร้องเพลงบอกตัวเองว่า...ฉันต้องไม่ตาย ฉันต้องคงหายใ
แต่ไม่ตายก็จวนแล้วล่ะครับ มองจากที่ยืนอยู่ไปบนเขาที่มีซุ้มจีนให้นั่งพักเป็นจุด ๆ ก็ว่าไม่น่าจะมีบันไดเยอะขนาดนี้ เพลงใกล้แค่ไหนคือใกล้ยังดังวนเวียนอยู่ในหัวผมต่อเนื่อง นับลูกแกะ นับขั้นบันไดจนเลิกนับไปแล้วครับ แต่มั่นใจว่าเกิน 1,500 ขั้นแน่ ๆ อารมณ์ที่ว่าขึ้นไปจะละเมียดละไมถ่ายรูปวิวพาโนรามานี่ดับสูญ คือขอแค่ให้หัวกับตัวไปถึงที่จอดรถบนยอดนั่นก็เป็นพอ
แม้จะงอนเจ้าบันได แต่พอถึงยอดแล้วความเหนื่อยล้าก็พลันมลายหายเป็นปลิดทิ้ง ภาพวิวของภูเขาน้อยใหญ่ทอดไกลสุดลูกหูลูกตา มือที่เอื้อมไปราวกับว่าได้จับปุยเมฆนั้นไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้จริง ๆ ในใจผมนึกขอบคุณใครก็ตามที่เห็นประโยชน์ของพื้นที่แห่งนี้มากกว่าเป็นได้เพียงแค่ที่เพาะเลี้ยงไผ่
คุณไต้บอกกับผมอีกว่าอุทยานหยุนเชี่ยงจู๋ไห่ได้สร้างโอกาสการมีงานทำให้ชาวบ้านแล้วกว่า 1,200 คน เพิ่มรายต่อหัวเฉลี่ยกว่า 80-120 หยวนต่อวัน และหลังจัดสร้างสถานที่ท่องเที่ยวภายในอุทยานแล้วเสร็จครบ 4 แห่ง คาดว่าจะทำให้ 8,600 คน ใน 4,000 ครัวเรือน จากกว่า 23 หมู่บ้านพ้นจากความยากลำบาก
หากคุณผู้อ่านจำได้ว่าตอนก่อน ๆ ผมพูดถึงรอยยิ้มจากหัวใจที่หมู่บ้านโถ่วเล่อ พูดถึงการเปิดใจยอมรับและเชื่อมั่นในกันและกันของชาวบ้านจนอุทยานหยุนเชี่ยงจู๋ไห่มีตัวตนขึ้นมาได้ แต่ว่าอะไร? คือสิ่งที่ขับเคลื่อนจิตใจของพวกเขาให้รู้จักเป็นผู้ฟังที่ดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยเช่นนี้ได้ ติดตามกันต่อสัปดาห์หน้านะครับ