เรื่องเล่าการเล่นว่าวของชาวปักกิ่งในอดีต (ตอนที่ 2-2)
  2017-05-02 12:05:41  cri

สีสันสดใสบนตัวปลาดุก ยิ่งดูเสมือนปลาดุกตัวยักษ์กำลังว่ายน้ำกลางฟ้าได้อย่างสมจริงมาก เป็นภาพที่น่าทึ่งและสร้างความเพลิดเพลินกับแฟนคลับนักเล่นว่าวและผู้ชมทั้งหลาย

เนื่องจากปลาดุก 2 ตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่ารถเมล์ในปัจจุบัน ผู้คนที่สัญจรไปมาตามบริเวณประตูเฉียนเหมิน หรือประตูเสวียนอู่เหมินนั้น แม้จะอยู่ห่างจากหอนาฬิกาซื่อเมี่ยนจงราว 2 กิโลเมตร ก็สามารถเห็นว่าวปลาดุกคู่นี้ได้ แต่หากไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ตัวจริงก็คงไม่ทราบว่า ขณะที่ว่าวยักษ์ลอยกลางท้องฟ้านี้ ต้องมีผู้ชายอย่างน้อย 4 คนร่วมกันใช้แรงดึงควบคุมอยู่ข้างล่างอย่างสุดกำลัง ดังนั้น ในวันที่มีลมแรงมาก จึงไม่มีใครกล้าเล่นว่าวปลาดุกยักษ์คู่นี้เพราะควบคุมยากมาก

ตามประเพณีนิยมของชาวปักกิ่งในอดีต เทศกาลเชงเม้งตามปฏิทินจันทรคติของจีนซึ่งตรงกับวันที่ 4 หรือ 5 เดือนเมษายนของทุกปีนั้น ถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูกาลเล่นว่าวในแต่ละปี เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่า "ฟ้างฮุ่ยชี่(ขับความอัปมงคล)" ของชาวบ้านในสมัยโบราณ เมื่อถึงวันเชงเม้งคนจีนจะต้องทำความสะอาดสุสานญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและบูชาเซ่นไหว้บรรพชนอย่างจริงจัง เสร็จแล้วนิยมยกทั้งครอบครัวออกไปท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสกลิ่นไอของฤดูใบไม้ผลิ ถ้าบ้านไหนมีว่าวก็จะเอาไปเล่นกลางทุ่ง

แล้วการเล่นว่าวเกี่ยวข้องกับการขับความอัปมงคลอย่างไร? ชาวบ้านเชื่อว่า ว่าวที่ชักหลังช่วงเทศกาลเชงเม้งสามารถนำพาสิ่งไม่ดีที่สะสมมาทั้งปีไปปล่อยทิ้งได้ พอตัวว่าวขึ้นสูงมากตามแรงลมแล้ว คนชักก็จะตัดเชือกให้ขาดออกเพื่อปล่อยให้ว่าวหลุดลอยหายไปกลางท้องฟ้า เป็นสัญลักษณ์ว่า โรคภัยไข้เจ็บและความอัปมงคลถูกปล่อยทิ้งหายไปหมด ดังนั้น หากใครจะเล่นว่าวหลังเทศกาลเชงเม้งก็อาจจะรับสิ่งชั่วร้ายที่คนอื่นปล่อยทิ้งไปกลับมาอีกครั้ง จึงทำให้ไม่มีใครเล่นว่าวหลังจากนี้แล้ว จะรอไปจนกว่าฤดูใบไม้ผลิปีหน้าจะมาถึง

ประเพณีเก่าอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าว่าวตกลงไปในลานบ้านของคนอื่น ก็จะถูกคนในบ้านฉีกทิ้งไป เพราะชาวจีนมีความเชื่อว่า ว่าวที่ตกจากท้องฟ้าเป็นสิ่งอัปมงคล เมื่อเห็นตกอยู่ในลานบ้านต้องรีบฉีกทิ้ง ไม่ปล่อยโอกาสให้สิ่งชั่วร้ายเข้าบ้าน แต่ในกรณีที่เจ้าของว่าวเป็นเพื่อนบ้านที่รู้จักกันดี และเมื่อเขารีบมาเคาะประตูขอว่าวที่เพิ่งหล่นลงมาคืนนั้น เจ้าของบ้านก็จะเจาะรูหนึ่งบนตัวว่าว เป็นวิธีการทำลายความอัปมงคล

แต่ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ได้หมดไปแล้ว ชาวบ้านจึงนิยมเล่นว่าวหลังเทศกาลเชงเม้ง เพราะมีสภาพอากาศและแรงลมที่อำนวยกว่ามาก ปัจจุบันถ้ามีลมแรงพอสมควร คนจีนเล่นว่าวได้ตลอด 4 ฤดูกาล

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040