สัมภาษณ์พิเศษ: คุยกับวิกรม ตอนที่1:คาราวานสู่ทางเหนือของเอเชีย
  2017-06-30 21:29:10  cri

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังผละจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ชั้นบนสุดของอาคารกรมดิษฐ์อันเป็นที่ตั้งของที่ทำงานของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ – นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนผู้รักการผจญภัยยังชุ่มฉ่ำร่มรื่นไปด้วยร่มเงาจากต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ และที่นี่ คุณวิกรมต้อนรับเราด้วยท่าทีที่ยิ้มแย้มอบอุ่น เต็มใจถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประสบการณ์ของชีวิต

หลายคนอาจจะเคยได้เห็นคุณวิกรมในรายการทีวี บางคนอาจเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ท่องเที่ยว เมื่อโลกได้เชื่อมเข้าใกล้กันขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความสัมพันธ์ในอดีตอย่างเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลได้ถูกฟื้นฟู เราไปฟังความตั้งใจและประสบการณ์จากการเดินทางด้วยรถผ่านขึ้นไปทางเอเชียตอนเหนือ ซึ่งรวมทั้งประเทศจีน มองโกเลีย คาซัคสถาน ฯลฯ จากคุณวิกรมไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

ผู้สื่อข่าว CRI: ทราบมาว่าท่านมีประสบการณ์ในการเดินทางจัดคาราวานอยากให้เล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้น

คุณวิกรม: ผมได้เดินทางไปทางตอนเหนือของเอเชียเนื่องจากเราเป็นคนเอเชียใช้เวลาตั้งแต่ปี 2011-2013 ปีแรกก็เดินทางอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงและก็ปีที่สองเดินทางเข้าไปสู่มองโกลเลีย ปีที่สามเดินทางไปสู่ไซบีเรีย

สามปีรวมทั้งหมดเดินทางไปประมาณ 100,000 กิโลเมตร เท่ากับเส้นรอบวงของโลกสองรอบ อยู่ในประเทศจีนรวมกันสามปีน่าจะรวมกันได้ประมาณ 6-7 เดือนของทั้งสามปี

การเดินทางเนี่ย เรารู้สึกว่าเราเป็นคนเอเชีย (ตอน) ใต้ เราควรจะต้องเข้าใจทวีปนี้โดยเฉพาะตอนเหนือของเอเชียว่าเขามีวัฒนธรรม พัฒนาและก็ข้อสำคัญที่สุดคือเรื่องของคนท้องถิ่น เพราะปกติเราไปโดยเครื่องบิน เราก็จะออกจากสนามบินไปสู่สนามบินหนึ่ง แล้วก็ไปสู่โรงแรมหนึ่งแล้วก็งานประชุมหนึ่งแล้วก็กลับ มันไม่ลึกซึ้ง เราอยากจะไปเที่ยวดูคนท้องถิ่น ฉะนั้นการขับรถไปผ่านไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร เวียดนาม และก็มณฑลต่างๆของจีน ชายฝั่งทะเลก็ดีหรืออะไรพวกนี้ เราวิ่งผ่านแต่ละเมืองแต่ละหมู่บ้านและตอนเย็นๆก็ไปนอนอยู่ตามแห่งต่างๆที่จะเป็นพวกชาวบ้านทั่วๆไป ทำให้เราได้เข้าใจเราได้รู้จัก

ผมเขียนหนังสือได้มาทั้งหมดสองเล่มสำหรับการเดินทาง ทุกวันเราก็มีออกทีวี ผมก็ออกทีวีช่องสามมาทั้งหมดพันกว่าตอนก็พูดถึงเรื่องที่เราไปแต่ละแห่งแต่ละเมือง ว่าเราได้เห็นอะไร เรารู้สึกอะไรกับเพื่อนบ้านเรา ที่หนึ่งที่เพื่อนบ้านเราที่ติดเราที่สุด ก็คืออาเซียนเพื่อนบ้านที่ไกลออกไปหน่อยก็คือจีน ไกลออกไปหน่อยก็คือ รัสเซีย คาซัคสถาน หรืออะไรพวกนี้

มันก็ให้ความรู้สึกว่าในความเป็นคนเอเชีย เรามีความรู้สึกว่าคนเอเชีย 1.มีวัฒนธรรมตั้งห้าหกพันปี 2.มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และมีโอกาสของทางด้านเราควรจะไปทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การที่เราจะทำธุรกิจ จะร่วมลงทุนจะร่วมไม้ร่วมมือเรามีความรู้สึกว่าคนเอเชียของเราการร่วมไม้ร่วมมือห่างมากมีช่องว่าง ฉะนั้นผมเองก็อยากจะเป็นเหมือนสะพานที่จะเข้าใจว่าผมได้พบอะไรและก็จะเอาสิ่งที่เราเข้าใจมุมมอง ในมุมมองของคนไทยมาขยายความมาทำให้คนไทยเข้าใจและอีกอย่างทีวีของเรามันก็ไปได้ทั้งอาเซียน และก็ไปได้อีกทั่วโลก เราอยากให้คนที่ดูรายกายทีวีโดยเฉพาะช่องสามมันมีคนดูเยอะมาก เราก็เลยอยากจะเอาความคิดตรงนี้ไปถ่ายทอดในทีวี

ในขณะเดียวกันหนังสือ ผมก็มีหนังสือที่เขียนด้วย หนังสือพิมพ์ไปสักล้านกว่าเล่มทั้งที่เราเดินทางนะ และผมก็พูดในรายการด้วยและก็เขียนในคอลัมน์ต่างๆ ฉะนั้นผมเชื่อว่าการเดินทางของผมทำให้คนในภูมิภาคนี้เข้าใจคนเอเชียเหมือนกันนะจากมุมมองของคนในเอเชีย (ทาง) ใต้และเผอิญเขาก็ให้ผมไปเป็นทูตของกระทรวงต่างประเทศ ไปเป็นทูตเขาเรียกว่า good will and friendship ทูตสัมพันธไมตรี ฉะนั้นไปแต่ละเมืองรัฐบาลก็มีจัดสัมมนาให้ผมไปพูดให้กับทาง BOI ให้กับทางการท่องเที่ยว ให้กับทางกระทรวงการเกษตรและก็ให้กับกระทรวงต่างประเทศ ฉะนั้นก็เลยถือว่าเป็นสิ่งที่ดีผมได้ไปทำในสิ่งที่เรียกว่า ทำให้เรารู้จัก ให้เราเข้าใจคนจีน ให้เราเข้าใจคนในอาเซียน ทั้งเพื่อนบ้านเรา แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือคนมองโกเลีย คนรัสเซีย คนคาซัคสถาน ผมว่าทำให้เราปรับตัวได้ไปสู่การร่วมมือทางการค้ากับคนในเอเชียได้อย่างง่ายมากขึ้น

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ภาพ: พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040