นักเขียน 6 ชาติ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ จีน (ยูนนาน) และไทย ร่วมรับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง สัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและมิตรภาพทางวรรณกรรมในภูมิภาค
  2017-08-29 14:56:10  cri

เมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2560 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย "พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร" รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและมอบโล่รางวัล "วรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA)"

รางวัลนี้เป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับคนวรรณกรรมในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง จัดขึ้นโดยกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยความริเริ่มของสมาคมนักเขียนแห่งเวียดนาม มีสมาชิกแรกเริ่มประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมนักเขียนเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ต่อมาได้มีอีก ๓ ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ เมียนมา จีน (ยูนนาน) และไทย

สำหรับนักเขียนที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในปีนี้ได้แก่ "ฮุน คิม ฮวง" และ "ตราน เนือง" จากเวียดนาม "ดาลีวัน ศิตพระไช" และ "แก้วบุนทัน แก้วประกาศิต" จากลาว "เขียว โกศล" และ "แสง จันเฮง" จากกัมพูชา "ขิ่น ยู สเว" และ "ดอว์ มีนต์ มีนต์ คู" จากเมียนมา "หลิว หยูหง" และ "หน่า จาง หยวน" จากจีน (ยูนนาน) "เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์" และ "วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง" จากไทย ซึ่งทุกคนได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ "การเขียนในยุคมนุษย์สร้างสรรค์และทำลายสิ่งแวดล้อม" และ "มนุษยทัศน์ในกระแสวัฒนธรรมสำนึก" อีกด้วย

นางกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้พิจารณาร่วมกันในทั้ง 6 ประเทศ คือนักเขียนต้องทำงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปะ ให้เกียรติแก่มนุษยชาติ มีความรักความศรัทธาในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชนกับโลก

นางกนกวลีกล่าวอีกด้วยว่า "หวังว่ารางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA)นี้ จะช่วยกระตุ้นให้นักอ่านสนใจงานวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างก็จะสะท้อนภาพและเรื่องราวของแต่ละประเทศลุ่มแม่น้ำโขงผ่านงานวรรณกรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความร่วมมือ ความเข้าใจ และมิตรภาพระหว่างประเทศอีกด้วย"

ด้านนายฟาน เหวิน ตัวแทนจากสมาคมนักเขียนจีน (ยูนนาน) กล่าวสุนทรพจน์ว่า "เราควรจะให้คุณค่ากับยุคแห่งวัฒนธรรมที่หลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยเหตุผลว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เราผู้กระตือรือร้นทางวรรณกรรมมีพื้นที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เราคงจะต้องขอบคุณนักเขียนในลุ่มแม่น้ำโขง เพราะผลงานของคนเหล่านี้ทำให้ผู้คนในภูมิภาคนี้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมและอารยธรรมที่แตกต่าง..."

ส่วน หลิว หยูหง (Liu Yuhong) กล่าวในสุนทรพจน์ว่า "เราต่างอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งโลกกว้างใบเดียวกัน และเราต่างมองหาความสุขและสวัสดิภาพเหมือนกัน แม้จะมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมต่างกัน เราเขียนเกี่ยวกับชีวิตจริงรอบตัว สำรวจความซับซ้อนของธรรมชาติมนุษย์ บรรยายเรื่องความปลาบปลื้ม อารมณ์โกธร ความเศร้า และความสุข และเรานำเสนอภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และหายนะที่หลากหลายในสังคม เราให้ความสำคัญกับธรรมชาติ มนุษย์และชีวิตทางสังคม และค้นพบความไม่จริงแท้ ความเลวร้ายและความอัปลักษณ์ ดังนั้นเราจึงไม่ควรลืมชื่นชมความจริง ความดี และความงดงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและแบ่งปันกันได้ในหมู่มวลมนุษย์"

#นึกถึงจีนนึกถึงซีอาร์ไอ #chinaface

-------------------------------------------------------

คำบรรยายใต้ภาพ

1. พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง

2. ผู้แทนจากสมาคมนักเขียนทั้ง 6 ประเทศสมาชิก

3. นางกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

4. นายฟาน เหวิน ตัวแทนจากสมาคมนักเขียนจีน (ยูนนาน)

5. หลิว หยูหง นักเขียนสาวจีนผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040