สีสันวัฒนธรรมจีนสัญจร: ปักกิ่ง-ซานซี
  2017-08-31 21:04:16  cri

ตอนที่ 1 อารามเมฆขาว

การบรรยายพิเศษวัฒนธรรมจีน "สีสันวัฒนธรรมจีนสัญจร: ปักกิ่ง-ซานซี"ครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากการเดินทางท่องเที่ยวประเทศจีนปักกิ่ง-ซานซีของกลุ่มนักวิชาการด้านจีนศึกษา ระหว่างการท่องเที่ยวได้พบเห็นข้อมูลและเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจจึงนำมาแบ่งปัน การบรรยายแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก คือ อารามเมฆขาวที่กล่าวถึงศาสนาเต๋าในประเทศจีน, กลับผิงเหยา-การแสดงของท้องถิ่นที่สื่อความหมายออกมาทางศิลปะแนวโมเดิร์น และบ้านตระกูลฉางที่เล่าถึงความน่าสนใจของตระกูลใหญ่ในท้องถิ่นและความเป็น "พ่อค้า" ของชาวซานซี

บรรยากาศในห้องบรรยายฯ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังทุกเพศทุกวัย

 

อารามเมฆขาว: สักการสถานศาสนาเต๋าสำคัญที่สุดในจีน

ชาวไทยคุ้นเคยกับความเป็น "เต๋า" จากเหล่าตัวละครนักพรตเต๋าในนิยายหรือหนังจีนกำลังภายใน ชื่อของ "อารามเมฆขาว" "สำนักช่วนจินก่า" หรือ "คูชู่กี" ถูกกล่าวถึงในนิยายจีนอมตะอย่างมังกรหยก แต่ความเป็นนิยายนั้นย่อมมีการแต่งเติมเสริมเพิ่มอรรถรสเพื่อความบันเทิง บางเรื่องก็ห่างไกลไปจากความเป็นจริงมาก จนคนแทบลืมความจริงไปแล้วว่า อารามเมฆขาวหรือไป๋อวิ๋นกวน (白云观) ที่แท้แล้วเป็นสักการสถานสำคัญของศาสนาเต๋าสำคัญที่สุดในประเทศจีน ตั้งอยู่ ณ กรุงปักกิ่ง นอกจากมีสถานะเป็นวัดแล้ว อารามเมฆขาวยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ

อารามเมฆขาว ณ กรุงปักกิ่ง

ชิวฉางชุน – บุคคลสำคัญของศาสนาเต๋าในจีน

ชิวฉางชุน (邱长春) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ชิวชู่จี เป็นนักพรตเต๋านิกายฉวนเจิน (全真) ผู้ก่อตั้งสำนักหลงเหมิน เป็นบุคคลที่ทำให้เจงกิสข่านประทับใจถึงกับสถาปนาศาสนาเต๋าเป็นศาสนาประจำชาติ และสั่งให้ชิวฉางชุนมาประจำอยู่ที่อารามเมฆขาวนี้ ฉะนั้นในสมัยราชวงศ์หยวนศาสนาเต๋าจึงรุ่งเรืองมาก

ชิวฉางชุน ผู้ก่อตั้งสำนักหลงเหมินที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

ภาพจาก: http://bit.ly/2x2Rx43

อารามเมฆขาวแต่ก่อนเป็นวัดพุทธ

สิ่งที่น่าสนใจคือชิวฉางชุนสามารถเปลี่ยนอารามเมฆขาวให้กลายเป็นวัดเต๋าได้อย่างไร

มีเรื่องราวเล่าว่าชิวฉางชุนได้วัดนี้มาจากการชนะพนัน โดยเขาทำนายว่าโอรสของฮ่องเต้จะเป็นชาย แต่พระที่เป็นเจ้าอาวาส(เดิม) ซึ่งเป็นพุทธนิกายเซนคำนวนแล้วว่าจะได้เป็นผู้หญิง เจ้าอาวาสรูปนี้เดิมทีก็ไม่ได้นับถือชิวฉางชุนเท่าไรนักจึงท้าพนันกับนักพรตชิวโดยมั่นใจว่าตนเองต้องเป็นฝ่ายชนะ ชิวฉางชุนวางเดิมพันด้วยศีรษะของตนหากเขาทำนายพลาด แต่หากชิวฉางชุนชนะเจ้าอาวาสต้องยกวัดนี้ให้

ในความเป็นจริงแล้ว ชิวฉางชุนทราบว่าฮองเฮาจะต้องประสูติพระธิดา แต่ด้วยความต้องการชนะจึงหาทางทำให้กลายเป็นพระโอรสให้ได้ พอใกล้วันประสูติชิวฉางชุนจึงขึ้นสวรรค์ไปหาเทพให้ส่งนางฟ้ามาช่วย วางแผนว่าพอวันประสูติจะเสกน้ำเต้าให้เป็นพระธิดา แล้วให้นางฟ้าเอาพระธิดาจากน้ำเต้าไปสลับกับโอรสของสนมอีกคนของฮ่องเต้ที่จะประสูติในเวลาใกล้ๆ กัน พอถึงเวลาสำคัญนางฟ้าก็ช่วยให้อุบายของชิวฉางชุนสำเร็จ ฮ่องเต้ดีใจมากที่ได้พระโอรสและมีความนับถือในตัวชิวฉางชุนมากขึ้น ด้านฮองเฮากับพระเจ้าอาวาสถึงกับตื่นตะลึงไปเลยเนื่องจากตอนประสูติก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นพระธิดา แต่พอฮ่องเต้และขุนนางผู้ใหญ่เสด็จมาดู เปิดผ้าออกกลับกลายเป็นพระโอรสตรงตามที่ชิวฉางชุนทำนายไว้

อภินิหารของชิวฉางชุน

ชิวฉางชุนได้บำเพ็ญเพียรอย่างยากลำบากถึง 12 ปี จึงสำเร็จเป็นเซียน เขาเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ 7 คนของหลี่เต็งเคี้ยงที่สำเร็จเป็นคนสุดท้ายแต่มีชื่อเสียงและเก่งที่สุด (ผู้ที่สนใจอ่านเพิ่มเติม สามารถค้นได้จากหนังสือ "ประวัติเจ็ดอริยะเจ้า") อภินิหารครั้งแรกของชิวฉางชุนเกิดขึ้นที่เมืองเล่งจิว มณฑลซานตง เมืองนี้แห้งแล้งมา 2 ปี เจ้าเมืองต้องปิดประกาศเชิญผู้มีความสามารถมาเป็นวีรบุรุษช่วยฟื้นสภาพเมือง ชิวฉางชุนจึงอาสาและสามารถฝนตกลงมาได้ในเวลาแค่ 3 วันด้วยการนั่งสมาธิ

ต่อมาไม่นานทางเมืองหลวงปักกิ่งก็เผชิญกับภาวะอดอยากแห้งแล้ง ฮ่องเต้จึงต้องประกาศหาคนมาช่วยเช่นกัน ฝ่ายเจ้าเมืองเล่งจิวเห็นความเก่งกาจของชิวฉางชุนจึงแนะนำให้ฮ่องเต้เชิญนักพรตชิวมาช่วย ชิวฉางชุนแสดงอภินิหารอีกครั้งโดยทำให้ฝนตกได้ภายใน 3 วัน ฮ่องเต้จึงเลื่อมใสมากถึงขนาดเชิญนักพรตชิวเข้าวัง แล้วปรึกษาว่าตนเบื่อชีวิตในโลกีวิสัย อยากรักษาศีลบำเพ็ญเพียรบ้าง นักพรตชิวจึงตอบไปว่าไม่ต้องห่วงเดี๋ยวฮ่องเต้ก็จะมีพระโอรสมารับช่วงต่อแล้ว และนี่คือที่มาของการพนันขันต่อและแสดงอิทธิฤทธิ์สลับพระธิดาเป็นพระโอรส

หนังสือประวัติเจ็ดอริยะเจ้า

ทำไมนักพรตเต๋าถึงใส่หมวกมงกุฎไว้บนศีรษะ

การที่ฮ่องเต้ได้รัชทายาทเป็นพระโอรสนั้นเป็นเรื่องแสนดีพระทัยยิ่ง แต่ฮองเฮาและเจ้าอาวาสกลับไม่พอใจเป็นอย่างมากจึงวางแผนจะเอาชนะชิวฉางชุนให้ได้ เจ้าอาวาสออกอุบายให้ฮองเฮาไปเชิญนักพรตชิวมาดื่มเหล้าพิษ 3 จอก ชิวฉางชุนจำเป็นต้องตกปากรับคำเพราะเลี่ยงไม่ได้ แต่เตรียมโอ่งน้ำไว้ล้างพิษล่วงหน้า พอดื่มครบ 3 จอกก็รีบวิ่งกลับวัดลงไปแช่ในโอ่งล้างพิษรอดตายมาได้ ถึงกระนั้นด้วยความร้อนจากพิษทำให้ผมร่วงเป็นกระจุกและศีรษะล้านเป็นหย่อม

ด้านฮองเฮาเห็นชิวฉางชุนโดยพิษแล้วไม่ตายจึงเริ่มได้คิดว่านักพรตชิวคงเป็นผู้วิเศษจริงๆ แต่ก็ยังไม่เชื่อหมดใจอยากลองดีอยู่ ฮองเฮาจึงประทานมงกุฎมาให้ทั้งที่เห็นว่าชิวฉางชุนไม่มีผม ย่อมสวมมงกุฎไม่ได้ แต่ชิวฉางชุนก็สามารถสวมมงกุฎที่ฮองเฮาประทานให้ได้ด้วยการใช้อิทธิฤทธิ์เข้าช่วย สุดท้ายจึงมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในที่สุด การที่นักพรตเต๋าสวมหมวกที่คล้ายมงกุฎไว้บนศีรษะก็มีเรื่องราวมาจากเหตุการณ์นี้นี่เอง

กลายเป็นอาจารย์ของเจงกิสข่าน

ต่อมาไม่นาน จีนก็มีสงครามขึ้นมาอีก เจงกิสข่านผู้เกรียงไกรยังคงแผ่ขยายอำนาจรบพุ่งชิงดินแดนอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ตนเองจะอายุมากร่างกายเสื่อมโทรม ที่ปรึกษาจึงแนะนำกับเจงกิสข่านว่า ได้ยินว่าทางเมืองจีนมีเซียนผู้เก่งกาจ สามารถปรุงยาอายุวัฒนะได้ แถมยังมีข่าว(ลือ)ว่ามีอายุมา 300 ปีแล้ว เจงกิสข่านจึงส่งทูตไปเชิญชิวฉางชุนมายังเมืองของตน ชิวฉางชุนใช้เวลาเดินทางถึง 3 ปีจึงไปถึงยังซามาทา (ปัจจุบันอยู่ด้านใต้อุซเบกิซสถานติดกับอัฟกานิสถาน)

สิ่งแรกที่เจงกิสข่านถามเมื่อได้พบหน้าชิวฉางชุนคือ "ยาวิเศษ" นักพรตชิวปฏิเสธว่าตนไม่มียาแบบนั้น แต่มีวิธีทำให้เจงกิสข่านมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ชิวฉางชุนจึงสอนวิธีการบำรุงดูแลสุขภาพร่างกายให้ รวมถึงสอนวิชาความรู้อีกหลายอย่างให้กับชาวมองโกล

เบื้องหลังของการยอมช่วยเจงกิสข่าน-ต้นตำนานไซอิ๋ว

มีคำถามว่าทำไมชิวฉางชุนถึงยอมช่วยเจงกิสข่านผู้ที่ขึ้นชื่อว่าจิตใจโหดเหี้ยม ไปตีเมืองใดแล้วมีการต่อต้านก็จะสั่งฆ่าคนในเมืองทิ้งหากตีได้สำเร็จ

ชิวฉางชุนมองเห็นแล้วว่าหากเจงกิสข่านนับถือตน เขาจะสามารถสั่งสอนชักจูงให้เจงกิสข่านเห็นว่าการคร่าชีวิตมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อีกเรื่องหนึ่งคือมองโกลในขณะนั้นไร้อารยะธรรม ไปตีเมืองไหนก็ทำลายราบเป็นหน้ากลอง ทำให้เมืองนั้นรกร้างว่างเปล่าเสื่อมโทรม วิสัยมองโกลร่อนเร่เลี้ยงสัตว์ไม่รู้จักการปลูกพืชค้าขาย ชิวฉางชุนจึงไปอบรมสั่งสอนชาวมองโกลอยู่ปีกว่าๆ จากนั้นจึงเดินทางกลับ ระหว่างนั้นได้มีบันทึกการเดินทางไว้ด้วย และกลายมาเป็น "ไซอิ๋ว" ตำนานนิยายชื่อดังของจีนนั่นเอง ถึงแม้ไซอิ๋วจะได้แรงบันดาลใจมาจาการเดินทางของชิวฉางชุน แต่กระนั้นไซอิ๋วก็มีสถานะเป็นนิยายเนื่องจากตัวละครถูกสร้างขึ้นมาจากคติ ความคิด และความเชื่อ

เจงกิสข่านเคารพในตัวนักพรตชิวมาก สุดท้ายจึงสถาปนาศาสนาเต๋าให้เป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ศาสนาเต๋าแผ่ขยายและเจริญรุ่งเรืองมากในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ ชิวฉางชุนจึงเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูเต๋าให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

กำเนิดศาสนาเต๋า

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น คนที่ก่อตั้งศาสนาเต๋าคนแรกคืออาจารย์จางเต้าหลิน เขาได้ทำการยกขงจื่อขึ้นมาเป็นศาสดาของเต๋า จางเต้าหลินอ้างว่าตนได้รับสารจากศาสดาขงจื่อ สิ่งที่โด่งดังที่สุดของจางเต้าหลินคือการสร้างยาจินตัน (โอสถทอง) กินแล้วเป็นอมตะไม่ตาย ทำให้เป็นที่ต้องการของคนมากมาย ใครที่ต้องการเป็นลูกศิษย์ของจางเต้าหลินต้องเอาข้าวมาให้ 5 ถัง ศาสนาเต๋าในช่วงแรกๆ จึงถูกเรียกว่า "อู๋เต๋าหมี่" ซึ่งแปลว่า ศาสดาข้าวสารห้าถัง

นอกจากข้าวสาร 5 ถังแล้ว ผู้ที่จะเป็นศิษย์ยังต้องสำนึกบาปก่อน แล้วท่านจึงถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ ให้ประพฤติตนเป็นคนดี ถ้าย้อนไปดูประวัติจะพบว่าศาสนาเต๋ามีประวัติศาสตร์ยาวนานมากและถือเป็นศาสนาของจีนที่แท้จริง ก่อนที่ศาสนาพุทธจากอินเดียจะแผ่ขยายเข้าไป

พัฒนาการของศาสนาในจีน

ช่วงแรกคนจีนก็ต่อต้านศาสนาพุทธ มีการแข่งกันอย่างรุนแรงเพื่อทำให้ฮ่องเต้พอใจ เพราะต่างต้องการได้รับการทะนุบำรุงจากทางราชสำนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อยๆ ยอมรับในคำสั่งสอนของกันและกัน

มีนักพรตเต๋าจำนวนหนึ่งไปอ่านคัมภีร์ของพุทธศาสนาก็พบว่ามีคำสอนที่คล้ายกันหลายประการโดยเฉพาะนิกายมหายาน เช่น เรื่องอนัตตา และสุญตา ในที่สุดก็มีการรวมหลักปรัชญาของเต๋า พุทธ และปรัชญาขงจื่อของจีนเข้าด้วยกัน เนื่องจากที่ผู้นำของทั้ง 3 ศาสนามองเห็นพ้องต้องกันว่ามีจุดมุ่งหมายและคำสอนที่คล้ายคลึงกัน

อารามเมฆขาววัดเต๋าดั้งเดิมต้นตำรับ

หากเรามีโอกาสได้ไปเยือนวัดเต๋าที่ประเทศจีน หลายคนอาจจะแปลกใจว่าทำไมไม่มีเจ้าแม่กวนอิม ไม่มีพระพุทธรูปในวัดเลย อาจจะมีคำถามในหัวว่า "นี่คือศาสนาอะไรกันแน่?"

ในอารามเมฆขาวนี้ เราจะพบรูปปั้นของเหลาจื่อที่ทำจากศิลา ซึ่งรอดมาได้จากเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ ทำให้มีคนมากราบไหว้สักการะด้วยความศรัทธามาจนถึงปัจจุบัน บริเวณด้านหน้ามีประตูวัดงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองจีนตั้งตระหง่านอยู่ เนื่องจากได้รับการบูรณะจากหลายราชวงศ์ แต่ละห้องหรืออาคารก็จะมีเทพของเต๋าให้สักการะ เช่น เทพสวรรค์ ดิน น้ำ เทพผู้คุ้มครอง และหมอยา ทั้งยังมีเทพที่คนไทยศรัทธามาก นั่นคือเทพแห่งความมั่งคั่งหรือไฉเสิน (ไฉ่ซิงเอี๊ยะ) อีกด้วย และห้องที่มีรูปสักการะของท่านชิวฉางชุนตั้งอยู่นั้น เชื่อกันว่าร่างของท่านถูกฝังอยู่ใต้ห้องแห่งนี้ รวมถึงรูปวาดเก่าแก่แสดงให้เห็นตอนที่ชิวฉางชุนเดินทางไปพบเจงกิสข่าน และของสำคัญเก่าแก่ล้ำค่าต่างๆ

จะเห็นได้ว่าในอารามเมฆขาวไม่มีพระพุทธรูปเลย เนื่องจากเป็นวัดแบบเต๋าแท้ๆ ไม่มีพุทธปน

รูปเคารพของขงจื่อภายในอารามเมฆขาว

ภาพจาก: http://bit.ly/2x2Rx43

การเข้ามาเป็นนักพรตเต๋า

การที่จะเป็นนักพรตเต๋าได้นั้น อาจารย์จะต้องทำพิธีเปิดจุดให้ลูกศิษย์ ซึ่งเป็นความลับเกร็ดวิชาที่รู้กันแค่อาจารย์กับศิษย์ เต๋าจะสำเร็จเป็นเซียนได้ต้องเน้นปฏิบัติ นั่งสมาธิ และเดินลมปราณ (ชี่) นักพรตเต๋านิยมออกกำลังกาย กินเจ รักษาสุขภาพ ห้ามแต่งงานมีลูกเมียเพื่อป้องกันร่างกายเสื่อมโทรม

การศึกษาวิถีแห่งเต๋าต้องเข้าห้องเรียน อ่านคัมภีร์ที่มีมากกว่าพันเล่ม ขณะที่บางนิกายอย่างฉวนเจิน จะเน้นการปฏิบัติและใช้ปัญญา ละจากร่างและบำเพ็ญจิตทุกอย่างให้เป็นเรื่องของอนัตตา คล้ายกับนิกายเซนและขงจื่อ (การที่จะปฏิบัติจนสำเร็จได้ต้องมีข้อห้ามข้อปฏิบัติมากมาย)

นักพรตเต๋าในเมืองจีน

สิ่งที่เหลือในความเป็น "เต๋า"

ปัจจุบัน สิ่งที่เหลือในความเป็นเต๋าคือ ศาลเจ้าและโรงเจ สมัยก่อนสิ่งที่เห็นจนชินตาในโรงเจคือชาวจีนอพยพที่ไม่รู้ภาษาไทย (อาโกวเนี้ยว) ไปอาศัยกินอยู่กับโรงเจ ปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นแล้ว อาจารย์ที่จะถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ก็สิ้นไปหมดแล้ว สภาพสังคมเปลี่ยนไป ชาวจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาจีน สวดมนต์ไม่รู้เรื่อง ในที่สุดก็ไปทางวัดซะส่วนมาก ทำให้โรงเจและศาสนาเต๋าเสื่อมลง

ศาลเจ้าในจีนกับไทยก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างกัน มีเจ้าหลายองค์ที่เมืองไทยไม่มี เช่น เทพกุ่ยเสินที่เชื่อว่าทำหน้าที่สอบจอหงวน (แน่นอนว่าในไทยไม่มีเพราะไม่มีการสอบจอหงวน) หรืออีกองค์คือเทพกวนอูฝ่ายบุ๋นซึ่งจีนมีทั้งสองแบบ ส่วนไทยจะเห็นกันแต่กวนอูฝ่ายบู๊เท่านั้น

เราจะเห็นได้ว่าศาสนาขึ้นอยู่กับประชาชน อย่างชาวจีนที่อพยพมาไทย บรรพบุรุษไหว้กันยังไงก็รับมาแบบนั้น สำหรับในไทย ศาสนาเต๋านับวันจะเริ่มเสื่อมโทรมเพราะคนทั่วไปไม่รู้ว่า "เต๋า" มีความสำคัญอย่างไร และมีที่มาจากไหน

อย่างที่เล่ามาว่าวัดเต๋าแท้ๆ ในไทยนั้นหาไม่ได้ หากใครที่สนใจและมีโอกาสได้เดินทางไปยังปักกิ่ง สามารถไปเยี่ยมชมอารามเมฆขาวเพื่อศึกษา เปิดหูเปิดตา เรียนรู้ความแตกต่าง และเข้าใจในวัฒนธรรมเต๋าให้มากขึ้นได้

ข้อมูลจากการบรรยายโดย ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร ในงานบรรยายพิเศษวัฒนธรรมจีน "สีสันวัฒนธรรมจีนสัญจร: ปักกิ่ง-ซานซี" ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040