นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ 6 สำนักข่าวจีนประจำประเทศไทย
  2017-09-05 14:26:51  cri

คำถามที่ 1. ตั้งแต่การก่อตั้งกลไก BRICS เป็นต้นมา BRICS มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ผลักดันธรรมาภิบาลโลก กระบวนการประชาธิปไตย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ท่านคิดว่าใน 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ BRICS มีบทบาทอย่างไรในเวทีโลก ท่านคิดว่าการจัดประชุมครั้งนี้ที่เซี่ยเหมินมีบทบาทและความสำคัญอย่างไร

คำถามที่ 2. ในระหว่างการจัดประชุมครั้งนี้ จะมีการประชุมพูดคุยระหว่างประเทศ BRICS กับประเทศกำลังพัฒนา ในรูปแบบ BRICS+ ซึ่งหวังที่จะเป็นกลไกส่งเสริมการพูดคุย ความร่วมมือระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อรูปแบบ BRICS+ และท่านคิดว่า รูปแบบ BRICS+ มีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา

คำถามที่ 3. ท่านมองบทบาทของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Countries) และประเทศกำลังพัฒนาในสังคมโลกอย่างไร และบทบาทของจีนในการบริหารจัดการระดับสังคมโลกอย่างไร

กลุ่มประเทศ BRICS มีบทบาทนำที่สำคัญในการเป็น "กระบอกเสียง" ให้กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยการผลักดันเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจโลกให้สอดคล้องกับบริบทของโลกปัจจุบันเพื่อขยายการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ในองค์กรทางเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเสียงของกลุ่ม BRICS ได้รับการยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ เช่น ในการประชุมกลุ่ม 20 ทุกครั้งจะมีการประสานท่าทีกลุ่ม BRICS เพื่อสะท้อนเสียงของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่อย่างมีน้ำหนัก เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมาก และมีบทบาทสูงในเวทีระหว่างประเทศ

ผลงานของกลุ่ม BRICS ที่ผ่านมาที่เป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ ได้แก่ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank หรือ NDB) และกองทุนเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement หรือ CRA) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลกว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาพร้อมแล้วที่จะใช้กลไกความร่วมมือแบบใต้ - ใต้ นำเสนอทางเลือกใหม่ที่จะดำเนินงานควบคู่ไปกับสถาบัน Bretton Woods อย่างธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งกลุ่ม BRICS เองก็ผลักดันให้มีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเปิดกว้างให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

คู่ขนานไปกับการประชุม BRICS Summit ครั้งนี้ที่เมืองเซี่ยเหมิน จีนได้ริเริ่มจัดการหารือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 5 ประเทศจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ไทย อียิปต์ ทาจิกิซสถาน เม็กซิโก และกินี ซึ่งอาจมองว่าเป็นเสมือนตัวแทนประเทศกำลังพัฒนาจากแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจของทั้ง 10 ประเทศรวมกันแล้ว จะมีประชากรรวมกว่าร้อยละ 46 ของโลก สัดส่วน GDP รวมกว่าร้อยละ 30 ของโลก และปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกว่าร้อยละ 46 ของโลก ซึ่งสามารถร่วมกันสร้างแรงขับเคลื่อนที่เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของโลกได้จริง โดยการหาทางร่วมมือกัน โดยต่อยอดจากการดึงศักยภาพ ความหลากหลาย และจุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมีอยู่มาผนึกกำลังร่วมกัน ทั้งในด้านของความรู้ความเชี่ยวชาญ เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากร เพื่อสร้าง"หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา" ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในบริบทของความร่วมมือใต้ - ใต้ ก็จะถือเป็นอีกก้าวสำคัญของกลุ่ม BRICS ในการสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุม

ดังนั้น การที่กลุ่ม BRICS ยื่นมือออกไป (reach out) เพื่อร่วมมือกับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ จากทั่วทุกภูมิภาคของโลก ถือได้ว่าเป็นการสร้างความครอบคลุม (inclusiveness) ให้แก่วาระของกลุ่ม และเป็นหลักประกันว่า วาระต่าง ๆ ที่กลุ่มพยายามผลักดันสะท้อนมุมมองของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ซึ่งการ reach out ในรูปแบบ BRICS + นี้จะเป็นการเสริม legitimacy ให้กับท่าทีและวาระที่กลุ่ม BRICS ผลักดันในเวทีโลกต่อไป ไทยจึงขอชื่นชมและสนับสนุนให้กลุ่ม BRICS ยึดแนวปฏิบัติแบบ BRICS + ต่อไป

ในปัจจุบัน จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก บทบาทของเศรษฐกิจจีนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกจึงมีความชัดเจนอย่างยิ่ง เศรษฐกิจที่แข็งแรงของจีนไม่เพียงแต่จะเพิ่มพลวัตขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักประกันด้วยว่า การนำเข้าและส่งออก รวมถึงสายพานการผลิตของประเทศ ส่วนใหญ่จะยังเดินหน้าต่อไปได้ ดังที่เคยมีการกล่าวไว้ว่า "เมื่อจีนจาม ทั้งโลกก็ติดหวัดไปด้วย" จีนจึงจำเป็นต้องรักษาสุขภาพ (เศรษฐกิจ) ให้ดี ทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อมิตรประเทศ

การจัดการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในครั้งนี้แสดงถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในการขยายการมีส่วนร่วมของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลกและการขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทุกประเทศควรร่วมมือกันในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ไทยสนับสนุนความตั้งใจของจีนที่จะเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่มีสมดุล เปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และมีระบบการค้าสากลที่เป็นไปตามกฎระเบียบของ WTO อีกทั้งยังสนับสนุน การพัฒนาของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาผ่านการทำงานร่วมกันทั้งระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน รวมถึงการเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย SDGs และ 2030 Agenda for Sustainable Development ผ่านความร่วมมือในกรอบ BRICS+

คำถามที่ 4. ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ท่านคาดหวังว่าอาเซียนควรมีการพัฒนาอย่างไรในอนาคต ท่านมองความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนอย่างไร และท่านคิดว่าอาเซียนกับประเทศ BRICS สามารถมีความร่วมมือกันในสาขาใดบ้าง

โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่สูงขึ้นในหลายพื้นที่ ดังนั้น ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศที่สนับสนุนระบบภูมิภาคนิยมพหุภาคีนิยม บนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศและผลประโยชน์ร่วมกัน ควรที่จะร่วมมือกันเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งอาเซียนในปีนี้ อาเซียนควรตระหนักถึงความท้าทายต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้สามารถมีบทบาทในเชิงรุก มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และร่วมมือกับประเทศและองค์กรหุ้นส่วนต่าง ๆ รวมทั้ง BRICS เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เปิดกว้างและมองไปในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนและของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

ในขณะเดียวกัน ประชาคมอาเซียนจะต้องเป็นประชาคมที่มุ่งมองไปนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ และมีภูมิต้านทานที่จะสามารถบริหารจัดการกับการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ในการนี้ สิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคไว้ได้อย่างมั่นคง คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งทุกประเทศที่เข้าร่วมรวมกันแล้วเป็นร้อยละ 52 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก การสร้างเสริมความแข็งแกร่งของความร่วมมืออาเซียนบวกสาม การผลักดันให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียนมีผลบังคับใช้ในโอกาสแรก และการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน

ในการมองไปข้างหน้า อาเซียนจะต้องดำเนินการที่เป็นการมุ่งมองไปในอนาคตตามกระแสและวาระการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 และการเตรียมความพร้อมของอาเซียนในอีก 20 ปี ข้างหน้า อาเซียนจึงต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศต่าง ๆ เช่น BRICS เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ความร่วมมือของภูมิภาคที่จะส่งเสริมระบบภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม

ประเด็นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ BRICS คือการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในภูมิภาค หากอาเซียนและ BRICS สามารถร่วมกันช่วยผลักดันให้มีการเชื่อมระหว่างยุทธศาสตร์ ความเชื่อมโยงของอาเซียนภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน เป็นต้น ก็น่าจะช่วยทำให้ความเชื่อมโยงในภูมิภาคมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนนั้น จีนเป็นประเทศคู่เจรจาอาเซียนที่มีพัฒนาการที่รวดเร็วที่สุด และจีนสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนผ่านความร่วมมืออันหลากหลายรวมทั้งการลดช่องว่างระหว่างกันในอาเซียน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและจีนได้ให้การรับรองแนวทางการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Framework of a Code of Conduct in the South China Sea) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea) สะท้อนถึงความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญต่อประชาคมโลกว่า อาเซียนและจีนสามารถมีท่าทีร่วมกันในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเช่นปัญหาทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ อาเซียนและจีนกำลังจะร่วมกันจัดทำ 2030 Vision for ASEAN - China Strategic Partnership เพื่อฉลองครบรอบ 15 ปีของการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน ในปีหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นระหว่างอาเซียนและจีนที่จะเดินหน้าไปด้วยกันในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน

คำถามที่ 5. ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Country) มีประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศมีส่วนที่คล้ายคลึงกับประเทศ BRICS ประเทศไทยได้นำเสนอยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในอนาคตประเทศไทยมีแผนที่จะร่วมมือกับประเทศ BRICS อย่างไร เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติได้มีการปฏิบัติและเกิดผล

ไทยมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ โดยมีที่ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน และสามารถเป็นประตูเชื่อมโยงภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งกับประเทศเพื่อนบ้าน อนุภูมิภาค และอาเซียน ดังนั้น ไทยจึงให้ความสำคัญในการร่วมมือกับทุกประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านในทุกมิติ ไทยได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผลักดันแผนแม่บทอาเซียนด้านความเชื่อมโยง รวมถึงแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ACMECS IORA ACD ซึ่งจะเป็นส่วนส่งเสริมข้อริเริ่มการพัฒนาความเชื่อมโยงของสมาชิก BRICS ต่างๆ ที่มุ่งบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 อาทิ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative) หุ้นส่วนภูมิภาคยูเรเชียของรัสเซีย (Greater Eurasian Partnership) และนโยบายรุกตะวันออกของอินเดีย (Act East Policy) โดยไทยมองว่า ข้อริเริ่มและนโยบายเหล่านี้แม้พัฒนาบนพื้นฐานของศักยภาพและจุดแข็งที่หลากหลาย แต่ต่างมุ่งเป้าหมายเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันได้ และการประชุม BRICS + นี้ เป็นโอกาสในการที่จะมาหาทางสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านไม่เพียงในภูมิภาคเอเชีย และแต่ยังเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เงินทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไทยจึงหวังว่าจะสามารถพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ BRICS เพื่อขยายสมาชิกภาพและโครงการเงินกู้ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank) ให้ครอบคลุมประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนานอกกลุ่ม BRICS ด้วย เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนา

นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงระดับประชาชนนับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งหวังว่าไทยและกลุ่มประเทศ BRICS จะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนา Smart Human Capital ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านวิจัยและพัฒนา ในสาขาที่กลุ่มประเทศ BRICS มีความเชี่ยวชาญ อาทิ สาธารณสุข เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

โดยในส่วนของ "นโยบายประเทศไทย 4.0" (Thailand 4.0) ไทยยินดีที่จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งมีสมาชิกหลายประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านความเชื่อมโยงดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บริการทางการเงินออนไลน์ รวมถึงกฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยของข้อมูล และการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง

คำถามที่ 6. ท่านมองความสัมพันธ์ไทย – จีนในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้เสนอข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ท่านคิดว่า หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เชื่อมโยงกับประเทศไทย 4.0 อย่างไร และมีโอกาสสำหรับประเทศไทยอย่างไร ประชาชนจีนให้ความสนใจเรื่องรถไฟไทย – จีน ท่านก็พยายามผลักดันและเร่งรถไฟไทย – จีน ท่านมองบทบาทของรถไฟไทย – จีนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างไร

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คือนโยบายของจีนที่มุ่งเน้นความเชื่อมโยง จากเอเชีย แอฟริกาและยุโรป และกระชับความสัมพันธ์กับประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ การประสานนโยบาย การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน การบูรณาการทางการเงิน และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีการดำเนินนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเน้นการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในทุกรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้และความคิดที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อการลดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไทยหวังว่าจะช่วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับกรอบอนุภูมิภาค CLMVT หรือ ACMECS ผ่านการเชื่อมโยงทั้งทางด้านกายภาพ(โครงสร้างพื้นฐาน) ด้านกฎระเบียบ (เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการเงิน) และด้านประชาชน (ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล) รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่กรอบภูมิภาค ในระดับอาเซียนและระดับโลก

โดยที่เส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางยังมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 6 เส้นทาง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ China-Indochina Peninsula Economic Corridor (CICPEC) ซึ่งเกี่ยวข้องกับไทยและอาเซียนโดยตรง อีกทั้งการที่ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางในอาเซียน และเป็นจุดตัดของระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ East West Economic Corridor /North South Economic Corridor/ South South Economic Corridor รวมทั้งมีนโยบายที่จะยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของภูมิภาคโดยใช้การเป็น Thailand 4.0 จึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกันมาโดยตลอด ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาคและพหุภาคี ในขณะนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากที่สุดช่วงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ มีความร่วมมือทั้งในด้านนโยบายและที่เป็นรูปธรรม ไทยเปิดกว้าง จีนก็เปิดกว้าง เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่จริงใจต่อกัน

แนวคิด "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" สะท้อนความปรารถนาของจีนที่จะแสดงบทบาทนำในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของโลกเข้าด้วยกัน และทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า เงินทุน เทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนบุคลากรที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระจายความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ไทยจึงสนับสนุนบทบาทของจีนภายใต้แนวคิดนี้มาโดยตลอด

การเชื่อมโยงคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไทยตระหนักดีและให้ความสำคัญอย่างมาก ทั้งการเชื่อมโยงในประเทศและในภูมิภาค โครงการรถไฟไทย – จีน คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม โดยรถไฟสายนี้ ไม่เพียงแต่จะเชื่อมการคมนาคมภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะมีบทบาทเป็นพระเอกในการเชื่อมโยงภูมิภาคระหว่างจีนกับไทย เป็นประโยชน์ในการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตอนนี้โครงการมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งก็เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังและจริงใจของทั้งสองฝ่าย ความสำเร็จของโครงการนี้จึงถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของไทยและจีน

จีนมีโครงการและข้อริเริ่มที่ดีจำนวนมาก ไทยจึงพร้อมจะร่วมมือกับจีนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทั้งของไทย ของจีน และของภูมิภาค ในการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม BRICS ครั้งนี้ ทั้งสองประเทศจะร่วมกันลงนามใน (1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ฉบับที่ 3 ซึ่งจะเป็นกรอบใหญ่ให้เราจับมือกันก้าวไปข้างหน้า และ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษ ที่ 21 ซึ่งจะเชื่อมโยงให้เราทำงานใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

- นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนบทบาทการเชื่อมโยงในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี ผ่านการดำรงตำแหน่งประธานในกรอบ 3A ในช่วงปี ค.ศ. 2018 – 2022 ได้แก่ (1) แอ็กเม็ก (ACMECS) วาระปี ค.ศ. 2018 (2) อาเซียน (ASEAN) วาระปี 2019 และ ( 3) เอเปค (APEC) วาระปี 2022 ด้วย ไทยมีแผนจะผลักดันการเชื่อมโยงในภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เกื้อกูลกับนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีนเช่นกัน

****************

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
泰国
v การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศบริกส์ครั้งที่ 9 จัดขึ้นที่เมือง เซี่ยเหมิน ประเทศจีน 2017-09-04 17:13:30
v ผู้แทนนักธุรกิจจีนและต่างประเทศที่เข้าร่วมพิธีเปิดฟอรั่มอุตสาหกรรมและพาณิชย์บริกส์ประจำปี 2017 แสดงความเห็นอย่างคึกคักต่อคำปราศรัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง 2017-09-04 16:53:35
v การประชุมฟอรัมพรรคการเมือง คลังสมอง และองค์การเอกชนจากกลุ่มประเทศ BRICSจัดขึ้นที่เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน 2017-06-12 13:10:48
v ผู้เชี่ยวชาญอินเดียระบุ ความสัมพันธ์จีน-อินเดียที่ชื่นมื่นเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศบริกส์และทั่วโลก 2016-10-15 15:34:50
v ประธานาธิบดีจีนจะเยือน 3 ประเทศเอเชีย ปรารถนาความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์พัฒนาลุ่มลึกยิ่งขึ้น 2016-10-11 14:58:16
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040