นักท่องเที่ยวจีนโต ไทยได้เหรือเสีย?
  2017-09-29 21:09:03  cri

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความสัมพันธ์ไทย-จีนไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จะพบว่าความเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่ในเมืองไทยจะมีจีนเข้ามาเกี่ยวด้วยเสมอไม่ว่าในด้านการปกครองหรือเศรษฐกิจ เป็นการตกย้ำความสัมพันธ์ที่สรุปได้ด้วยประโยคคุ้นหูคุ้นตา "จงไท่อี้เจียชิน" หรือ "จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน"

เมืองไทยเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีนที่ทำสถิติเดินทางเข้ามาในไทยเป็นประวัติการณ์ การที่คนจีนเข้ามาเที่ยวในไทยนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะนำไปสู่การทำธุรกิจด้วย นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหล่เข้ามาสู่ไทยบ่งบอกอะไร และพวกเขาจะนำพาโอกาสอะไรมาให้ผู้ประกอบการไทยได้บ้าง ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะนักวิชาการผู้สนใจเรื่องจีน วิเคราะห์ให้เราเห็นความจริงและความเป็นไปได้ที่อาจมองข้ามไป หรือไม่ได้ใส่ใจ

- รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามา โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดวันชาติจีน (วันหยุดสัปดาห์ทอง) ว่าปีนี้จะมีจำนวนสูงมาก ถือเป็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับเมืองไทย อยากให้วิเคราะห์ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นนี้ มาในแง่ไหนบ้าง?

จริงๆ ผมว่าความสัมพันธ์ไทยจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งจีนเข้ามาอยู่ในไทยอย่างมีนัยสำคัญมา 3 รอบแล้ว ปัจจุบันเป็นช่วงที่ 3 ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในประเทศไทย คนจีนจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงนั้นเสมอ ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะฉะนั้นคำที่ว่า "จีนไทยใช่อื่นไกล" จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะฉะนั้นการที่คนจีนเข้ามาจำนวนมากในช่วงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อไรก็ตามที่คนรู้จักกัน จะนำซึ่งความเข้าใจอันดีต่อกัน และนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจด้วย

เพราะฉะนั้นการที่คน 10 ล้านคนเข้ามาในระยะเวลาอันสั้น (จริงๆ แล้วตัวเลขเติบโตปีละ 10 เปอร์เซ็นต์) แสดงถึงความเชื่อมั่น และการยอบรับในประเทศไทย สบายใจที่จะมา จากนั้นก็อาจพัฒนาเป็นความสบายใจที่จะทำธุรกิจ และสบายใจที่จะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกัน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสพัฒนาไปได้ไกล

-สาเหตุที่จีนเลือกไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในใจ เพราะเกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจ และความสบายใจ?

คนจีนบางส่วนรู้จักเมืองไทยในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และคนไทยก็คุ้นเคยกับคนจีนอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง จีนก็เข้าประคับประคองให้สามารถผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งเวลาผมมองความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย ผมจะมองภาพใหญ่ก่อนเสมอ ซึ่งจีนไทยมีความเกื้อกูลกัน อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเหมือนพี่น้องกัน ก็เป็นเรื่องปกติ แต่สุดท้ายเราไม่เคยจบลงด้วยการลงไม้ลงมือทะเลาะกัน สามารถหาทางออกได้เสมอ

สิ่งนี้ถือเป็นเรื่อของนโยบาย เพราะถ้านโยบายราบลื่น เขาก็จะปล่อยให้คนของเขาออกมาเที่ยว เพราะรัฐบาลเล็งเห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ดีในแง่ได้เปิดหูเปิดตานะครับ เพราะจีนเป็นประเทศการค้า จึงต้องดีในเรื่องของการค้า และไทยเองก็มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์การค้า ซึ่งตัวผมเองไม่ได้มองแค่ในอาเซียน แต่เป็นระดับเอเชียแปซิฟิกและเอเชียใต้ด้วย

เพราะฉะนั้นการที่คนจีนเข้ามาเมืองไทย โดยได้รับอาณัติสัญญาณนั้น จริงๆ แล้วในใจของเขาคือยุทธศาสตร์ เป็นการเข้ามาปักหมุดในพื้นที่ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่ว่าจะกี่สิบล้านคนก็ตาม ไม่ใช่แค่การเอาเม็ดเงินเข้ามา แต่ผมมองว่าเป็นการเอา "โอกาส" เข้ามาด้วย

เพราะฉะนั้นนี่คือความเชื่อมั่น แต่ไม่ใช่แค่ความเชื่อมั่นของคนที่เข้ามา แต่กลับเป็นความเชื่อมั่นของระบบสูงสุดของเขา และส่งต่อความเชื่อนี้ลงมาในระดับของประชาชน

นี่คือก้อนที่หนึ่งนะครับ ส่วนก้อนที่สองคือ "คนที่มาจริง" เพราะว่าการท่องเที่ยวเป็นการใช้ประสบการณ์ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาเที่ยวแล้วเกิดการบอกต่อ เพราะเราก็รู้กันดีว่า การบอกต่อกันในประเทศจีนเป็นเรื่องสำคัญ อย่างตอนที่ "อีเบย์" เข้าไปจีน แล้ว "เถาป่า" สามารถสู้ได้ ก็เพราะกลยุทธ์การบอกต่อนี่แหละที่สามารถเอาชนะการต่อสู้ทางออนไลน์ครั้งนั้นได้

เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ปากต่อปาก การที่เขาพูดถึงทุเรียนไทย สับปะรดไทย อาหารไทย บรรยากาศไทยๆ ทุกอย่างที่เป็นไทยแล้วเขาเอาไปพูดต่อนั่นแหละที่ทำให้เกิดอัตรานักท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดด

เราจะเห็นว่าแพทเทิร์นการเข้ามาของคนจีนจะต่างจากที่อื่น ซึ่งโดยปกติจะค่อยๆ โต ค่อยๆ สร้าง เพราะต่างคนต่างหาข้อมูล หรือมีพูดคุยกันบ้าง ทำให้กระบวนการเติบโตผ่านกระบวนการหลายชั้น จึงค่อยเกิดการเข้ามาท่องเที่ยวจริง ซึ่งเรียกว่า Market segment หรือ "การเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป"

ส่วนจีนนั้นมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากโครงสร้างประชากรจีนมีจำนวนมากกว่า เพราะฉะนั้นแค่ 1 เปอร์เซนต์ของจีนจึงมีจำนวนเยอะมาก ขณะที่วิธีคิดในการตัดสินใจเลือกอะไรสำหรับคนจีน ยังเป็นวิธีการแบบเดิม ยังเป็นการหาข้อมูลจากคนรู้จัก จะมีเหตุผลอื่นๆ บ้างก็เกิดขึ้นทีหลัง อย่างเช่นหนัง Lost in Thailand ที่ทำให้เกิดกระแสปากต่อปากอย่างมาก

ผมเองก็เคยคุยกับนักท่องเที่ยวที่มา หรือนักศึกษาจีนที่เรียนด้วย เวลาพ่อแม่มาเยี่ยม เขาไม่ได้รู้สึกว่ามาเที่ยว แต่เหมือนมาเยี่ยมบ้านหลังที่ 2 ส่วนนักท่องเที่ยวก็บอกว่าการเที่ยวไทยเป็นการพักผ่อนอย่างแท้จริง มาเพื่อกิน มาเพื่อได้สนุกสนาน ซึ่งเขามองว่านี่คือวิธีการผ่อนคลาย เพราะฉะนั้นแพทเทิร์นของจีนนั้นจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาซ้ำ ไม่ใช่แบบมาทีเดียวจบ ซึ่งต่างจากนักเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาที่มาทีเดียวจบ หรือเว้นไปสองสามปีค่อยมาอีก แม้จะยังไม่มีข้อมูลการวิจัยที่ชัดเจน แต่ก็มีข้อมูลว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่มาซ้ำทุกปี จนกลายเป็นวัฒนธรรมว่า ถึงเวลานี้ต้องมาเที่ยวไทยครั้งหนึ่ง เช่น หน้าทุเรียนต้องมาละ หน้าร้อนต้องมา หน้าผลไม้ต้องมา เพราะฉะนั้นจึงถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากของคนไทย เพราะไม่ได้มากันครั้งเดียว แต่จะมาเรื่อยๆ และไม่ได้มองว่าการมาเมืองไทยเป็นการเดินทางเฉพาะกิจ แต่กลายเป็นภารกิจในการท่องเที่ยวของเขา

-รูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป มีผลในด้านการใช้จ่าย และด้านเศรษฐศาสตร์อย่างไร?

คือตอนนี้เรากำลังพูดถึงตลาด 2 กลุ่มที่โตไปพร้อมกัน กลุ่มกรุ๊ฟทัวร์นั้นจะไม่ลดลงแน่นอน เพราะอัตราเฉลี่ยอายุของคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ใหญ่กับเด็กที่มากับพ่อแม่ ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นตลาดใหม่ที่กำลังโตนี้ จะเป็นตลาดอีกแบบเลย ซึ่งแพทเทิร์นจะเป็นเหมือนนักท่องเที่ยววัยรุ่นจากประเทศอื่นๆ เพราะงานวิจัยในต่างประเทศบอกเลยว่าวัยรุ่นจีนมีความเป็นสากลเยอะ และพวกเขาพร้อมที่จะออกมาเจอโลกด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังโต เพราะฉะนั้นเวลาที่ใครพูดถึงนักท่องเที่ยวจีนแค่กลุ่มเดียว ผมว่าเรากำลังเข้าใจอะไรผิดแล้ว

ตลาดใหญ่ยังคงเป็นกรุ๊ฟทัวร์ ตัวเลขค่าใช้จ่ายใน 2-3 ปีมานี้ มีการเพิ่มขึ้นจาก 4,407 มาเป็น 5,747 บาท/คน/วัน ซึ่งโตประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์/ปี ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นนักท่องเที่ยววัยรุ่น เนื่องจากเขาไม่ได้มากับกรุ๊ฟทัวร์ ดังนั้นจะไม่ได้ประหยัดมาก จะมาในแบบที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง และมาแบบนี้จะมีระยะเวลาสั้น เพราะคนจากบางพื้นที่ในจีนใช้เวลาเดินทางนาน แต่คาแร็กเตอร์ของคนทั้งสองกลุ่มคือ จะไม่ได้นอนโรงแรมใหญ่ และใช้ชีวิตที่อิสระมากขึ้น เพราะฉะนั้นนี่คือโอกาสของเอสเอ็มอีไทย และธุรกิจอื่นๆ จู่ๆ อาจจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินเข้ามาสั่งข้าวกระเพราไก่ไข่ดาวในร้านตามสั่งตามถนน โฮมสเตย์เล็กๆ ก็อาจจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินเข้าไป ถนนข้าวสารเองก็จะไม่ได้เป็นพื้นที่ของฝรั่งและญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่จะมีจีนเข้าไปด้วย ซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมว่าตอนนี้ต้องมียุทธศาสตร์เฉพาะหน้าต่อวัยรุ่นจีนที่มีกำลังซื้อสูงมาเหล่านี้มาเสริมกับตลาดเดิม ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสอย่างมากของผู้ประกอบการไทย เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่สามารถล็อกสเป๊กจากบ้านตัวเองได้ว่าจะต้องไปเจออะไร ไปที่นู่นที่นี่ ทีนี้แหละก็ขึ้นอยู่กับกลเม็ดทางการตลาดของเรา ว่าทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ขยายไปทั่ว ใช้จ่ายทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

-เราจะต้อนรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ และดึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นได้อย่างไร?

ต้องมองย้อนกลับไปก่อนครับว่า ที่การท่องเที่ยวเราดี เพราะเรามีการ westernize มีการทำให้ธุรกิจของเราเข้าใจความเป็นตะวันตก เราถึงประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มา ดังนั้นเราต้องทำเหมือนกัน นั่นก็คือ Sinonize สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับจีนให้มากกว่านี้

ถ้าเราดูในโซเชียล จะเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีนจะเป็นลบ แต่ถือว่าเป็นคนกลุ่มน้อยมาก จากตัวเลขนักท่องเที่ยว 10 ล้านที่เข้ามา เกิดเหตุสัก 5 กรณี เทียบกันแล้วถือว่าน้อยมาก มันใหญ่ในโซเชียลมีเดีย แต่ในเชิงสถิติแล้วน้อยมากๆ จุดที่เล็กนิดเดียวนี้ ทำให้ภาพที่มองนักท่องเที่ยวจีนเป็นลบไป

ผมว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วนมาก เพราะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามา เขาก็อยากมาท่องเที่ยวอย่างมีศักดิ์ศรี เพราเรื่องหน้าตาสำหรับจีนเป็นเรื่องใหญ่มาก การปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวจีน ไม่ว่าจะสูงอายุหรือวัยรุ่นก็ดี เป็นเรื่องที่สำคัญ

นี่คือเวลาที่จะทำให้ผู้ประกอบการของเรามีความเป็นจีน และเข้าใจวัฒนธรรมจีน เหมือนที่เราเคยทำตอนโปรโมตการท่องเที่ยวกับยุโรปหรืออเมริกา ต้องทำตรงนี้ให้สำเร็จด้วย ต้องทำให้ได้ว่าชาวจีนที่มาไม่ได้เป็นรอง ไม่ใช่ไปดูถูก เพราะเขาก็มาแบบแขกบ้านแขกเมืองเหมือนกัน ต้องรองรับเขาแบบที่เขาเป็น และต้องเข้าใจเขาด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ซ่อนอยู่ในความเป็นไทย เพราะเสน่ห์ของไทยคือเรามีความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรมสูง

ตลอดเวลา 200-300 ปีที่ผ่านมา เรารับเอาคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเข้ามาอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเสน่ห์ เพราะฉะนั้นจุดแข็งของเราฝังอยู่ในดีเอ็นเอ เราต้องกระตุ้นให้คนเห็นว่าการที่จีนเข้ามาเป็นโอกาสของเรา บางสิ่งที่เรามองว่าไม่ดี คือความต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างเมื่อก่อน เรามองว่าฝรั่งใส่เสื้อกล้ามกับกางเกงขาสั้นเดินไปมาเป็นเรื่องไม่สุภาพ แต่เราก็รับเขาได้ เพราะเราเข้าใจเขานั่นเอง ซึ่งก็เหมือนกัน เพราะจีนเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และในการพัฒนานั้นก็มีความแตกต่าง ทั้งยังมีวัฒนธรรมเก่าที่ซ่อนอยู่ ส่งผลให้วิถีชีวิตแตกต่างจากเรา แต่เรากับไปมองว่าความแตกต่างบางอย่างของเขาเป็นสิ่งที่ด้อยกว่าเรา

ถ้าเราจะเป็นชาติที่ค้าขาย เป็นชาติที่ใช้ธุรกิจขับเคลื่อน เราต้องให้เกียรติลูกค้าอย่างเท่าเทียมกัน

เพราะฉะนั้นความเข้าใจสำคัญมาก เลิกมองในส่วนที่ไม่ดีของเขา และเราต้องเรียนรู้ ซึ่งผมมองว่ามีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสมาคมผู้สื่อข่าวไทยจีน หรือหน่วยงานที่เชื่อมโยงทั้งสองประเทศนี้ต้องเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร แต่ว่าจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่คนทั่วๆ ไปอย่างเราเองต้องช่วยกันคิดว่าจะสื่อสารเชิงบวกอย่างไร เพราะว่าจีนมาแน่ แต่ว่าเขาจะมาในท่าทีแบบไหน เราเลือกได้ เขามาหาเราในท่าทีที่เป็นมิตร เพราะเขาเชื่อว่าเราจะเป็นมิตรกับเขา แต่ถ้าวันหนึ่งเราทำเหมือนฝรั่งเศส ที่บางโรงแรมติดป้ายห้ามคนจีนเข้า เราจะรู้ไหมว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ท่าทีทางการเมือง ท่าทีที่มีต่อธุรกิจของฝรั่งเศสในบางมิติได้เปลี่ยนไป ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอย่างแน่นอน

ถ้ามองในแง่ของยุทธศาสตร์ชาติ คือเมื่อก่อนเราพึ่งอำนาจทางตะวันตก ทำให้อำนาจต่อรองของเราต่อจีนมีน้อย แต่ตอนนี้เราต้องใช้ท่าทีทางการทูตแบบเมื่อ 150 ปีก่อนที่ทำให้เราประคองประเทศจนอยู่รอดมาได้ คือต้องบาลานซ์พลังตอนพระอาทิตย์ขึ้นกับพระอาทิตย์ตก ต้องใช้หลักการนี้ คือจีนอยู่ทางตะวันออก ฝรั่งอยู่ทางตะวันตก เราอยู่ตรงกลางนี้ ถือว่าเป็นประเทศเล็กมากเมื่อเทียบกับเขา ซึ่งเราสู้เขาไม่ได้แน่นอน แต่ต้องคิดว่าเราจะถ่วงอำนาจเขาได้ยังไง เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้จีนยอมรับ และอีกทางหนึ่งเราต้องยอมรับจีนด้วย จึงเป็นมิติทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองคู่กันไปด้วยกับการปรับตัวทางสังคม

-ภาคธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนศักยภาพสูงและมีจำนวนมากขึ้น?

คือตอนนี้เราไม่ได้มองไกล ป้ายเราก็มีแค่สองภาษา เอาจริงๆ มีสามภาษาแล้ว ก็คือภาษาพม่า เพราะเรามีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ถ้ามองในแง่นักท่องเที่ยว ผมเห็นว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ต้องมีหลายภาษา ตอนนี้สายการบินต่างๆ ก็เริ่มประกาศภาษาจีนแล้ว แต่ว่ารถไฟฟ้ายังไม่มี ตามป้ายหรือแผนที่ต่างๆ ก็ยังไม่มีภาษาจีน เรายังไม่มีตรงนี้เลยจริงๆ เรามีคิวอาร์โค้ดไหมที่จะสามารถดาวน์โหลดข้อมูลท่องเที่ยวเลยเวลาลงจากสนามบิน โดยให้เป็นภาษาจีนทั้งหมด สามารถแนะนำให้เขาเที่ยวได้ ผมว่าเรายังไม่ได้คิดเรื่องนี้ ซึ่งบางอย่างเป็นการลงทุนครั้งเดียวแล้วใช้ได้ยาว

เป้าหมายของกรุ๊ฟทัวร์จีนที่มาไทย มีเป้าหมายไม่กี่ที่ ที่ไปแน่ๆ ก็วัดพระแก้ว สนามหลวง มาบุญครอง ไปเดินห้าง คือเรารู้แน่ว่ามีแหล่งหลักหรือการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว หรือ concentration เริ่มจากตรงนี้ก่อนว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานรองรับหรือไม่ ห้องน้ำที่มีแยกหญิงชายไหม มีป้ายบอกราคาไหม การพูดหนึ่ง สอง สามในภาษาจีนไม่ใช่เรื่องยาก คือถ้าพูดได้เขาก็จะรู้สึกดี แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็สำคัญ

อย่างคนจีนอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ป้ายจะติดภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็มีค่าเท่ากันสำหรับเขา เพราะอ่านไม่ออกเหมือนกัน แต่การติดป้ายภาษาจีนคือการยอมรับเขาส่วนหนึ่ง เพราะป้ายจีนคือศักดิ์ศรี ไม่ใช่แค่ติดเพื่อเอาใจลูกค้า ถ้าเราสังเกตเวลาเราไปตามวัด ตามสมาคมการค้าในเยาวราช จะเห็นมีป้ายภาษาจีนอยู่เสมอ ซึ่งสะท้อนความเป็นรากเหง้าวัฒนธรรม การจัดทำป้ายภาษาจีนนั้นลงทุนไม่เท่าไร หรือการทำแอพทำคิวอาร์โค้ด นำเราไปสู่ 4.0 ก็จริง แต่มากกว่านั้นเป็นการบอกว่าเรากำลังให้เกรียติคุณอยู่นะ หมายถึงว่าเราสร้างสิ่งนี้เพื่อคุณโดยเฉพาะเลยนะ ซึ่งไม่ต้องไปโอ๋อะไรมาก แต่การทำสิ่งนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนตัดสินใจมาไทยง่ายขึ้น และสิ่งเหล่านี้ที่พวกเขาโหลดไปได้ เมื่อเขากลับเมืองจีนไปแล้ว และเอาไปแชร์ให้ญาติพี่น้อง ก็เท่ากับว่าเขาช่วยเราทำการตลาดไปเลย 10 ล้านคนที่มา มีสัก 1 ล้านคนฃเอาภาพสวยๆ ไปแชร์ต่อ แค่จีนมาเที่ยวไทยอย่างเดียวก็รับไม่หวาดไม่ไหวแล้ว แค่เราต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และต้องเข้าใจว่าอีกด้านหนึ่ง เขายังท่องเที่ยวโดยขาด Travel Etiquette หรือวัฒนธรรมการเที่ยวของเขายังไม่ได้เป็นสากล แต่เพราะเขาไม่เป็นสากล เราจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารที่ดีให้กับเขาแต่แรก

อย่างแต่ก่อน นักท่องเที่ยวชาวจีนจะเลือกที่นั่งบนเครื่องบินตามใจฉัน หรือมองว่าเขาชอบทำอะไรตามใจโดยไม่เคารพ แต่ความจริงแล้วคือ เขาไม่รู้ แต่ตอนหลังจะเห็นว่า พอสายการบินแจ้งว่าต้องนั่งกับที่ เขาก็ทำตาม โดยไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่ขณะเดียวกัน คนไทยที่มีปัญหาก็มีเช่นกัน ฝรั่งที่โวยวายก็มี ต้องเข้าใจว่าทุกชาติย่อมมีจุดด่าง ซึ่งมันเป็นจุดย่อย เป็นเรื่องเล็ก ส่วนจุดใหญ่นั้นจะเห็นได้ว่าเขากำลังปรับตัว รัฐบาลจีนเองก็พยายามสอนคนของพวกเขาเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศให้มีวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งเขากำลังจะเปลี่ยนไป ที่สำคัญคือ เราต้องยอมรับด้วยว่าเขากำลังจะเปลี่ยน

บางทีคนจีนอาจจะมองว่า เมืองไทยเป็นเหมือนบ้านมากไปหรือเปล่า เพราะถ้ารู้สึกว่าเป็นบ้านหลังที่สอง เขาเลยไม่ค่อยระวังตัวมากนัก เพราะคิดว่านี่ยังไงก็บ้านฉัน แต่ถ้ามองในแง่ของการตลาด นี่คือสุดยอดแล้ว ที่เขาสบายใจที่จะทำอะไรก็ได้ รู้สึกว่าที่นี่มาได้บ่อย (ข้อมูลปีที่แล้วคือ 100 คน ที่มาเที่ยวเมืองไทย มี 25 คนเป็นคนจีน ซึ่งปีนี้จะมีมากกว่านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องดูแลเขา)

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ความเข้าใจยังเป็นเรื่องใหญ่ คือต้องมีการสอดแทรกอะไรเข้าไปในหลักสูตร เหมือนตอนที่เราเน้นเรื่องอาเซียน ก็มีการเพิ่มเรื่องเกี่ยวกับอาเซียนเข้าไปในหลักสูตร ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาไทยเมื่อปีที่แล้ว 8 ล้านคน จีนอย่างเดียวมีถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะเพิ่มหลักสูตรที่ทำให้เราเข้าใจจีนได้เหมือนกัน

เราเห็นด้านหนึ่งที่เป็นสัญญาณที่ดี คือมีคนไทยเรียนภาษาจีนมากขึ้น และที่น่าตลกมากก็คือ เวลาคนไทยเรียนภาษาจีนจะพูดได้ดีมาก ดีกว่าพูดภาษาอังกฤษ ทั้งที่ภาษาจีนมีความลุ่มลึกมากกว่าภาษาอังกฤษ แต่กลับกลายเป็นว่าคนไทยที่เรียนจีนพูดได้คล่องกว่าเรียนภาษาอังกฤษอีก ผมว่าคนกลุ่มนี้มีทัศนคติที่ดีกับจีน ซึ่งถ้าได้คนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยสร้างทัศนคติ น่าจะเป็นเรื่องดี

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ นิยายจีน การ์ตูนจีนแปลเป็นไทยเยอะขึ้น ซึ่งคนรุ่นใหม่จะชินกับการอ่านนิยายจีนที่เห็นภาพเห็นการกระทำ ซึ่งคนกลุ่มนี้ต่อไปจะอยู่กับคนจีนได้ดีขึ้น แต่ทำอย่างไรให้คนรุ่นเก่า หรือคนในกลุ่มราชการเห็นกระบวนการตรงนี้ แล้วสร้าง Chinese Literacy คือเข้าใจคนจีนให้มาก เหมือนที่เราทำงานกับอาเซียนมา เพราะไทยเราอยู่โดดๆ ไม่ได้ ถึงแม้ว่าไทยจะไม่อยากยุ่งกับจีน แต่ว่าลาว กัมพูชา เวียดนามเข้าไปแล้ว เพราะความเป็นจีนมีทั้งที่มุ่งตรงมาสู่ไทย และทางอ้อมที่ผ่านมาทางประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเราไม่เข้าใจจีน เราขยับยากแน่ ซึ่งตลาดท่องเที่ยวนั้นคือด่านหน้าที่สุดที่เรากับจีนจะอยู่ด้วยกัน ถึงแม้ว่าเขาจะมาเพียง 5 วัน 10 วัน แต่จะเป็น 5 วัน 10 วันที่นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจอีก 100 หรือ 200 ปี

คือถ้าเรามองแบบนี้ การบริหารจัดการคนจีนที่เข้ามาจะต้องดูแลเฉพาะทางในบางเรื่อง ทั้งแหล่งท่องเที่ยว ทั้งห้องน้ำ หรือแม้แต่ตำรวจท่องเที่ยวเอง โรงพักเอง ต้องเข้าใจความเป็นจีน และต้องสื่อสารกันให้มากขึ้นด้วยว่า เวลาคนจีนเจอปัญหาในเมืองไทย ต้องทำอะไรบ้าง ติดต่อตรงไหนบ้าง

คนจีนมีความเป็น Digital Native มากว่าคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ สถิติคนสูงวัยที่ใช้ดิจิตอลเทคโนโลยี ใช้อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นเยอะมาก ซึ่งหมายความว่าเรามีช่องว่างที่ต้นทุนต่ำในการดูแลคนเหล่านี้ อย่างเช่นทำ "10 เรื่องที่คนควรจะรู้ โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดหลังลงจากเครื่องบิน" หรือให้ประทับตราตรวจคนเข้าเมืองเสร็จแล้วโหลดคิวอาร์โค้ดข้อมูลทุกอย่างที่ควรจะรู้ ที่เที่ยวอยู่ตรงไหน และมีโลเคชั่นให้พร้อม โรงพักอยู่ที่ไหน เจอปัญหาแล้วไปที่ไหน คือสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานเราต้องลงทุนส่วนหนึ่งแน่นอน แต่ความสะดวกทางไอซีทีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนด้วย เพื่อเป็นการนำไปสู่การท่องเที่ยว 4.0 และเป็นการลงทุนครั้งเดียว แต่ใช้ได้ยาว บางอย่างสามารถให้เขาไปตั้งฐานที่เมืองจีน ให้เขาโหลดก่อนมาก็ได้โดยผ่านเอเยนต์ของจีน

แล้วการที่พวกเขาเข้ามา ไม่ใช่แค่โอกาสทางธุรกิจ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าตอนนี้มีเด็กจีนมาเรียนในมหาวิทยาลัยไทยเยอะมาก ซึ่งน่าสนใจอบ่างยิ่ง ว่าทำไมพ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งบางคนรวยมาก แต่ส่งลูกมาเรียนที่เมืองไทย

ผมมีโอกาสได้คุยกับลูกศิษย์ชาวจีนบ้าง เขาก็บอกว่าที่มาเรียนไทยก็เพราะพ่อแม่มองว่า การไปเรียนในตะวันตกนั้น โอกาสหมดแล้ว แต่มาเรียนที่ไทยยังมีโอกาส คือคนจีนไม่ใช่แค่ต้องการส่งลูกไปเรียนประเทศตะวันตกแล้วกลับมาพูดอังกฤษสำเนียงดีๆ แต่คนจีนนั้นเป็นชาติที่ Practical มีความสามารถด้านการค้า ที่ไหนมีโอกาส เขาจะส่งลูกไปเรียนที่นั่น ไปยุโรป ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และไทย โดยเฉพาะที่ไทยนั้นเยอะกว่าใครในอาเซียน พฤติกรรมเหล่านี้ในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่า พวกเขาเห็นค่าที่ไหน และในทางกลับกัน เราเห็นค่าพวกเขามากพอเช่นกันหรือเปล่า มีนักวิชาการไทย ผู้เรื่องเรื่องจีนไทยเพียงหยิบมือเดียว มีนักการศึกษาไทยเข้าใจการศึกษาจีนเพียงเพียงน้อยนิด แต่จีนเข้าใจไทยทะลุปรุโปร่งมากกว่าไทยเข้าใจจีน

เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ของเราจากนี้ต่อไป ทุกองคาพยพต้องเข้าใจจีนให้เยอะขึ้น เพราะไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ อีกไม่กี่ปีจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม

ผมพูดไกลขนาดนี้ก็เพราะว่า ถ้ามองให้ดี หนังฮอลลิวู้ดตอนนี้ล้วนเป็นเม็ดเงินการลงทุนจากจีน ทรานสฟอร์มเมอร์ก็จีนลงทุน เดอะเกรทวอลล์ก็ทุนจากจีน เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมที่เคยเป็นของตะวันตกจะมีกระบวนการส่งผ่านและวนกลับมาหาเรา เรารู้ว่าต่อไปลีกฟุตบอลจีนกำลังจะโต เพราะประธานาธิบดีสีจิ้นผิงชอบฟุตบอลมาก โซล่าเซลล์ของจีนก็กำลังเติบโต และเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ซึ่ง 10 ปีที่แล้วมีคนฟันธงว่าโซล่าเซลล์จีนจะไม่เกิด แต่ก็สามารถฝ่าฟันมาได้ และทำได้ดีกว่าเยอรมัน ขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในพลังงานทางเลือก

นี่บอกอะไรเราครับ...บอกว่าเราปฏิเสธจีนไม่ได้ และจีนมาแน่ และจะไม่ได้มาช้าๆ ด้วย เพราะจีนเป็นคนที่ทำอะไรเร็ว เพราะฉะนั้นแรงเหวี่ยง ขนาดของประชากร และขนาดของเศรษฐกิจนั้นทำให้การเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

จะเห็นได้จากเทคโนโลยี 4.0 ที่จีนใช้อยู่ในขณะนี้ ว่าเขากระโดดข้ามหลายๆ อย่างในการพัฒนา ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ดูการพัฒนาของหลายๆ ประเทศมา แล้วเห็นว่าในยุคก่อนนั้นจะค่อยๆ พัฒนาที่ละก้าว กราฟค่อยๆ ตวัดขึ้น และจึงกระโดดๆ รู้ไหมว่า 15 ปีก่อนนั้นบัตรเครดิตที่จีนหายากมาก พอปล่อยบัตรเครดิตมา 3 ปี อะลีบาบาโต ออนไลน์โต แล้วตอนนี้ใช้การจ่ายผ่านระบบออนไลน์เป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่ไทยขยับตัวก่อนหน้าเขาอีก แต่ว่าอัตราการแพร่หลายในเมืองใหญ่ของเราช้ากว่าเขามากเลย

นี่บอกอะไรเรา...เราช้ากว่าเขามากเลย และจีนนั้นเป็นประเทศการค้า ใช่...ตอนนี้เขารักเราในฐานะพี่น้อง แต่ถ้าวันหนึ่งเราตามเขาไม่ทัน เขาก็ไม่เอาเราแน่นอน พี่น้องก็ตัดกันได้ ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ เพราะฉะนั้นผมว่า เราต้องไม่ทิ้งตะวันตก แต่ก็ต้องขยับไปทางตะวันออก ไปทางจีนให้มากขึ้น เราต้องอยู่กับญี่ปุ่น หรืออินเดียที่กำลังจะมา รวมทั้งอยู่กับตะวันออกกลางให้ได้ด้วย

ตอนนี้ดูเหมือนเราหวังแค่ให้คนจีนเข้ามาเที่ยว แต่ยุทธศาสตร์ และท่าทีที่มีต่อจีนไม่ได้ชัดเจนเหมือนท่าทีที่เรามีต่อตะวันตก

เวลาเราขึ้น Tia 1 หรือ Tia 2 เรื่องอาหารทะเล เรามีกระบวนการช่วยเหลือดูแลต่อรองที่ดี แต่เรื่อง FTA ที่เราทำกับจีนละครับ ให้ความสำคัญขนาดไหน กระบวนการส่งจริงๆ มีความล่าช้า เราไม่เห็นกระบวนการขับเคลื่อน คือหน่วยงานของภาครัฐทำอยู่ แต่การขับเคลื่อนแบบที่ทำให้คนทั้งประเทศเข้าใจ โดยเฉพาะการสื่อสารหรือการให้ความสำคัญกับจีนยังไม่ชัด ซึ่งผมว่าเรารอไม่ได้ เรื่องพวกนี้ต้องเริ่มขยับแล้ว ยิ่งนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาจำนวนมากในวันชาติ ตัวเลขที่ว่า 10 ล้าน อาจจะมีการก้าวกระโดด สิ่งนี้บอกเราแล้วว่านี่คือโอกาส หรือสำนวนไทยว่า "น้ำขึ้นให้รีบตัก" แต่ตอนนี้ "น้ำขึ้น แต่เราดันวิ่งหนีน้ำ" ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เราต้องรีบตักต่างหาก

-ทั้งหมดนี้คือโอกาส

ผมเป็นคนคิดบวก ผมมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้สามารถเป็นบวกได้ ถ้าเรามีท่าทีที่ถูกต้องกับสิ่งนั้น

เพราะว่าคือธรรมชาติของการพัฒนาและการสร้างชาติ อย่างสิงคโปร์ที่เป็นเกาะ คนอื่นมองว่าพัฒนายาก แต่คนเขาเองกลับมองว่าบริหารจัดการง่าย และสามารถโฟกัสทรัพยากรในบางเรื่องได้ สามารถมองเป็นโอกาสได้ จีนเข้ามา เรามองว่าคือความสกปรกก็ได้ มองว่าคือความวุ่นวายก็ได้ แต่จะมองว่าเป็นการเข้ามาของเม็ดเงินก้อนใหญ่ๆ ก็ได้ ถ้าเราใช้การบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เราสามารถใช้ของเดิมขายคนแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ มันดีกว่าการขุดดีบุกไปขายไหม ดีกว่าการเป็นคนที่รับเอาวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตแล้วส่งออกไหม ซึ่งเป็นไปได้แน่นอน เราเคยชินแต่การทำแบบเดิมๆ ขายอะไรพวกนี้ในช่วงแรกเพื่อเอาเงินเข้ามาพัฒนาประเทศ หลังจากนั้นขายการเกษตร เอาตัวเองเข้าไปรับจ้างผลิต หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็มาลงทุน เอาชิ้นส่วนเข้ามา แล้วต่อมาเราผลิตเอง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เม็ดเงินลงมาที่เราแค่บางส่วนเท่านั้น

แต่ถ้ามองเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในระยะ 5 ปีข้างหน้านี้ เงินส่วนหนึ่งอาจจะมาจากแพ็กเกจทัวร์ หรือทัวร์ศูนย์เหรียญที่มีปัญหากัน สำหรับทัวร์ศูนย์เหรียญที่ทำให้คนตีกันนั้น ผมมองว่า มีการบริหารจัดการและแก้กันได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งทัวร์แบบนี้ก็ทำให้คนเข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้น และถ้าเราบริหารจัดการทัวร์แบบนี้ได้ คนที่เคยมาแล้วก็จะกลับมาอีก อาจจะมาเอง หรือลูกหลานของพวกเขาก็จะตามมา และเข้ามาแล้วเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ เขาก็อยากจะมาลงทุน ผมย้ำเลยว่า "ท่าทีของเราสำคัญมากในการเข้าใจเขา" ผมย้ำมาสามรอบแล้ว

-ทรัพยากรท่องเที่ยวที่ซ้ำๆ มาแล้วเห็นแต่สิ่งเดิม ยังจะอยากมาอยู่ไหม จะแก้ไขตรงนี้ได้อย่างไร?

ผมเองเป็นคนสงขลา และเห็นบทเรียนนี้มาจากหาดใหญ่ สมัยผมเด็กๆ ทราบว่าการที่คนมาเลเซียเข้ามาเที่ยวหาดใหญ่เป็นเรื่องที่สุดยอดมากของเขา ต้องยอมนั่งรถมาต่อคิวเข้าด่านที่สะเดาตั้งแต่ตีหนึ่งตีสอง รถบัสต่อคิวยาวเป็นกิโลฯ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เขาเข้ามาเล่นสาดน้ำที่บ้านเรา ซึ่งนั่นก็เมื่อ 25 ปีก่อน และปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีอะไรใหม่ คนมาเลเซียพอมาติดกันเป็น 10 ปีก็เริ่มเบื่อ เพราะไม่มีอะไรใหม่ ตลาดกิมหยงก็ซบเซาลง เพราะหาดใหญ่ไม่ยอมปรับตัว เมื่อประเทศเขาเจริญแล้ว จึงไม่ได้เข้ามาซื้อของที่เขาไม่มีเหมือนแต่ก่อน ซึ่งผมกลัวว่าโมเดลนี้จะซ้ำรอยระดับประเทศ

คนจีนที่เข้ามานั้น เขามาเพราะชื่นชอบ และถ้าไทยไม่ปรับตัวให้เขาอยากมาอีก เขาก็อาจจะไม่มาอีกเลยก็ได้ อาจเกิดการอิ่มตัวได้ ถ้ามาแล้วเจอเรื่องซ้ำ ถามว่าเขามาใช้ทรัพยากรเราไหม ก็จริง แต่เราสามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ ยุทธศาสตร์นี้สำคัญมาก ไม่ว่าชาติไหนมาก็ต้องเข้ามาอยู่ในกรอบนี้

และการท่องเที่ยวต้องมีการทำให้เป็นไดนามิก ซึ่งตรงนี้ ททท. ทำได้ดีแล้ว คือแต่ละปีมีธีมการท่องเที่ยวใหม่ แต่สำคัญอยู่ที่ว่า เราจะสื่อสารกับคนจีนอย่างไร ว่าปีนี้ต้องมาท่องเที่ยวไทยเพราะว่ามีสิ่งเหล่านี้

ขนาดตลาดนักท่องเที่ยวจีนใหญ่มาก ตอนนี้ทุกๆ 4 คนที่เข้ามาเมืองไทย จะมีคนจีน 1 คน ซึ่งต่อไปจะเป็น 1 คนครึ่ง หรือ 2 คน มันใหญ่พอในแง่ธุรกิจที่จะสร้างอีเวนต์โดยเฉพาะไหม...ผมว่าพอนะ อาจจะเป็นปีใหม่ ปิดเทอม ผมว่าจำนวนคน 1 ล้านนี้สามารถจัดอีเวนต์รองๆ ที่เฉพาะได้นะครับ ดูอย่างเมืองทองธานีที่รองรับคนไม่กี่พันไม่กี่แสน เรายังจัดได้เลย ผมว่ามีอีเวนต์บางอย่างที่เกี่ยวกับจีนที่เอามาล้อทำเป็นอีเวนต์ได้ แต่เราไม่อินไซต์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับคนจีนพอที่จะจัดอีเวนต์พวกนี้ขึ้นมาด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเรารู้เมื่อไร ก็จะสามารถจัดกิจกรรมให้เฉพาะคนจีนขึ้นมาได้

คนจีนมีลักษณะพิเศษคือ "ชอบลองแต่ไม่ชอบเปลี่ยน" คือคนจีนจะหาคู่ค้าไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไรที่คลิ๊กกันแล้ว การเปลี่ยนจะยากมาก เพราฉะนั้นตอนนี้คนจีนอยู่ในช่วง "ชอบลอง" เราจึงต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ขยับไปสู่ "การไม่ชอบเปลี่ยน" แล้วเราจะกลายเป็นจุดตั้งต้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ได้สบายมาก

สำหรับธีมในแต่ละปีที่จะดึงดูดให้คนมาเที่ยวนั้น อาจจะกลายเป็นสตอรีได้ว่า ปีที่แล้วไปท่องเที่ยวไทยมาเป็นแบบนี้ ปีนี้ถ้าเป็นแบบนี้จะไปไหม ซึ่งจะทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าหมุนเวียน และเกิดความยั่งยืนของการท่องเที่ยว

เวลาเราพูดถึงการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เรามักพูดถึงซัพพลาย คือทำอย่างไรไม่ให้โรงงานปล่อยมลพิษ ทำอย่างไรไม่ให้โรงแรมปล่อยน้ำเสีย แต่ถ้าไม่มีคนมาก็ไม่มีความยั่งยืนใช่ไหมครับ ดังนั้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ ททท. โปรโมตอยู่ในขณะนี้ต้องมี 2 ด้าน คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นพื้นฐานที่ยั่งยืน และมีคนมาอย่างยั่งยืนด้วย

สำหรับนักท่องเที่ยวจีนนั้น เราสามารถสร้างธีมเฉพาะขึ้นมาได้ ง่ายกว่าการสร้างธีมให้อาเซียน เพราะมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน ส่วนอาเซียนมีตั้ง 10 ชาติ ไม่สามารถรวมธีมกันได้ คือผมไม่อยากได้โมเดลพัทยา เพราะจะปรับตัวตามลูกค้า แต่ก่อนไปพัทยาจะเจอฝรั่ง ป้ายก็เป็นภาษาอังกฤษ เดี๋ยวนี้รัสเซียมา ป้ายก็เป็นภาษารัสเซีย แล้วตอนนี้ก็อินเดียและตะวันออกลาง พัทยาปรับตัวและอยู่ได้ แต่ถ้าจีนมาแล้วเราปรับตัวเป็นจีน จีนก็จะไม่มา เป็นธีมของไทยที่คิดว่าจีนสนใจสำคัญกว่า และด้วยท่าทีเช่นนี้จะสร้างความประทับใจให้คนจีนได้

ผมเชื่อว่าใน 10 ล้านที่จะเข้ามานี้ บางคนจะต้องได้เป็นใหญ่เป็นโตในทางธุรกิจของเขา บางคนจะมีตำแหน่งสำคัญในวงราชการ และถ้าคนเหล่านี้มีความเข้าใจอันดีต่อเรา ลองมองยุทธศาสตร์ชาติในระดับยาวๆ เราย่อมสามารถดีลกับเขาได้ง่ายขึ้นด้วย ดังนั้นการออร์กาไนซ์ตัวเองให้ดีในช่วงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

-คาดการพฤติกรรมและตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาให้อนาคต?

เวลาเราพยากรณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้ เราต้องมองในหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน อย่างเช่น เวลาคนมาเที่ยวนั้นบางทีก็ถูกจำกัดด้วยปลายทาง โรงแรมมีพอไหม ถนนหนทางรองรับได้ไหม เที่ยวบินมีพอไหม และยังมีข้อจำกัดจากทางจีนอีก ปีนี้มา 10 ล้านก็จริง ปีถัดไปก็จะเพิ่มขึ้น และสุดท้ายอาจจะโตสูงสุดที่ 100 ล้าน ก็สุดแค่นั้น

ถ้าให้ผมคาดการณ์ตอนนี้ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถ้าเราวางหมากดีๆ สามารถเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวได้ไม่ยาก โตถึง 20-30 ล้านได้ แต่มามากขนาดนี้ ก็ไม่ควรจะเกิดภาพว่ามาอัดรอที่ตรวจคนเข้าเมืองเป็นชั่วโมง

คือสิ่งที่เราต้องทำตอนนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Yield Management คือเรารู้ว่านักท่องเที่ยวจีนมา แต่พวกเขามาเป็นซีซั่น ทำอย่างไรถึงจะสามารถเกลี่ยให้พวกเขามาทั้งปีได้ มาให้มากขึ้น จะได้ไม่เกิดการกระจุกตัวด้วย คิวที่ยาวๆ ที่มาบ่นกันก็จะน้อยลงด้วย ถ้าเรา Yield Management ได้ดี นักท่องเที่ยวจีนจะสามารถโตได้ 20 ล้านได้ภายใน 2-3 ปี โดยไม่ได้นับเหตุการณ์พิเศษเข้าไปด้วย ดูแค่ตามแนวโน้ม ถ้าจับดี 25 ก็อาจจะถึง แต่ถึง 25 จริง ตัวเลขนี้เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทยเลยทีเดียว ซึ่งก็ย่อมต้องเกิดแรงต้านกลับ อย่างกรณีในยุโรปตอนใต้ที่นักท่องเที่ยวจีนเข้าไปมาก จนชาวบ้านท้องถิ่นเริ่มบ่น เพราะร้านที่เคยกินประจำถูกแย่งพื้นที่ไป ซึ่งในไทยก็พอมีเหตุการณ์แบบนี้บ้าง อย่างเวลาทัวร์จีนลงร้านอาหาร คนไทยก็จะไม่ไปเวลานั้น แม้แต่ในห้างที่ลูกค้านักท่องเที่ยวที่มาแบบอิสระไปซื้อของเยอะๆ ลูกค้าคนไทยก็หายไปบ้าง ทำให้ต้องคิดว่า เราจะบริหารจัดการอย่างไร

ทำให้คนไทยเข้าใจคนจีนมากขึ้น และคนจีนอยู่กับคนไทยอย่างมีความสุข

ผมว่าถ้าเราจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ เทรนด์การเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนยังมีอีกเยอะ

-สำคัญที่สุดคือเราต้องปรับปรุงทัศนคติ?

เรื่องทัศนคติสำคัญมาก เรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็สำคัญ แต่ว่าใช้เวลา ส่วนเรื่องทัศนคติเริ่มได้เลย soft size ด้านนี้ต้องมาก่อน ร้านที่ต้องรอนาน แต่ถ้าแม่ค้ายิ้มให้ หรือคุยภาษาจีนได้นิดหน่อย อะไรเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ช่วยซื้อเวลาให้เราได้ จนกระทั่งโครงสร้างพื้นฐานเราพร้อม ถึงตอนนั้นเราจะไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยว แต่จะเป็นบ้านหลังที่ 2 ให้จีนเข้ามา

และถ้าเป็นแบบนี้ได้ ผมมองไกลไปถึงสังคมสูงวัยของจีน ประชากรที่จะมาเที่ยวบ้านเราอีก 10-15 ปีข้างหน้านี้ ย่อมเป็นคนสูงวัย กลุ่มหนึ่งอาจจะอยู่จีน ส่วนกลุ่มที่มีกำลังพอ เขาก็จะมองหาที่ที่ดีกว่า แล้วจะมีที่ไหนดีพอ ถ้าไม่ใช่เมืองไทย

นอกจากคาดการณ์โอกาสจากธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ยังสรุปถึงความสัมพันธ์ที่สองประเทศมีต่อกันได้อย่างน่าสนใจ

พื้นฐานของการอยู่ร่วมกันคือการเรียนรู้และการเปิดใจ การให้อภัย การเข้าใจในความแตกต่างจะทำให้เราปรับตัวเข้าหากันได้อย่างไม่ต้องพยายามมากนัก ถึงแม้ชาวจีนจะเป็นคนที่ชอบลองอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าชอบอะไรแล้วจะไม่ค่อยเปลี่ยนใจ หากผู้ประกอบการไทยใช้ความได้เปรียบทั้งในด้านความสัมพันธ์และในแง่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งบวกกับความจริงใจ เชื่อได้ว่าสินค้าที่ดีและการบริการที่มีคุณภาพจากประเทศไทยจะยังสามารถครองใจชาวจีนได้อีกนาน

----------------------------------------

เรียบเรียงและรายงาน: พัลลภ สามสี และอรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040