สรุป 10 ข่าวใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบปี
  2017-12-28 18:09:42  cri
สรุป 10 ข่าวใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบปี

สถานีวิทยุซีอาร์ไอทำการสรุป 10 ข่าวใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบปี 2017 โดยเรียงตามลำดับเวลา ดังนี้

1. ไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่

เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ลงวันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติการเมือง 85 ปีของไทย

โดยวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าวว่า รัฐบาลจะประกาศวันเวลาจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่แน่ชัดในเดือนมิถุนายนปี 2018 คาดว่า จะจัดการเลือกตั้งได้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2018 โดยก่อนหน้านี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกปลดลงจากตำแหน่ง ได้หลบหนีหายตัวไปไม่มาฟังคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีรับจำนำข้าวตามนัดในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

2. ฟิลิปปินส์ปราบกลุ่มก่อการร้ายในเมืองมาลาวีสำเร็จ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุโจมตีก่อการร้ายที่เมืองมาลาวี ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ กลุ่มมาอูเต้ปะทะกับกองทัพรัฐบาลฟิลิปปินส์อย่างดุเดือด แล้วเข้ายึดครองเมือง หลังจากนั้น 2 วัน นายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองมาลาวี และยื่นรายงานต่อรัฐสภาฟิลิปปินส์ว่า กลุ่มมาอูเต้กับกลุ่มอาบูซาเยฟ ซึ่งเป็น 2 กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล ร่วมมือกันสร้างอำนาจการปกครองที่เป็นอิสระเพื่อเข้าปกครองเกาะมินดาเนา การสู้รบในเมืองมาลาวีซึ่งยืดยาวนาน 5 เดือนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกินพันคน รวมถึงผู้ติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลจำนวน 961 คน ชาวบ้านทั้งในและนอกเมืองมาลาวีเกือบ 460,000 คนต้องอพยพลี้ภัย

วันที่ 17 ตุลาคม ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศว่า เมืองมาลาวีได้รับการปลดแอกจากกลุ่มก่อการร้ายแล้ว และรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์แถลงการณ์ว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในมาลาวีสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เขาเน้นว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จจากการยับยั้งจุดหมายขยายอิทธิพลของลัทธิหัวรุนแรงครั้งร้ายแรงที่สุด ในประวัติศาสตร์ที่ฟิลิปปินส์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ขอบคุณจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์และประเทศต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในเมืองมาลาวีครั้งนี้

 

3. บุตรลี กวนยู แฉความขัดแย้งภายในครอบครัว สั่นสะเทือนสังคมสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายลี เหว่ยหลิง ลูกสาว และนายลี เซียนหยาง ลูกชายคนที่สองของนายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกาศแถลงการณ์ร่วมผ่านโซเชียลมีเดีย ประณามนายลี เซียนลุง พี่ชายคนโต และเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบัน ที่ฝ่าฝืนความปรารถนาของนายลี กวนยู บิดาที่เสียชีวิตไปแล้วในเรื่องการจัดการบ้านเก่าของบิดา พร้อมกล่าวหาว่า พี่ชายได้ใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งนายลี เซียนลุงปฏิเสธคำกล่าวหา พร้อมแสดงความเสียใจและผิดหวังในตัวน้องสาวและน้องชาย โดยเรื่องนี้เป็นที่จับตามองในระดับสูงจากทั้งสื่อมวลชนและประชาชนสิงคโปร์

วันที่ 19 ธันวาคม นายลี เซียนลุงกล่าวขออภัยต่อประชาชนสิงคโปร์ที่เรื่องนี้สร้างความลำบากใจให้กับประชาชนสิงคโปร์ และความเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของประเทศ พร้อมสัญญาว่า การทำงานของตนเองและคณะรัฐมนตรีนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบ ถัดจากนั้นเพียง 1 วัน นายลี เซียนหยางได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียอีกครั้ง ตั้งข้อกังขาต่อพี่ชายว่า มีท่าทีเด็ดเดี่ยวหรือไม่ต่อการปฏิบัติตามความปรารถนาของนายลี เซียนลุงที่ต้องการให้รื้อถอนบ้านเก่านี้ ทั้งนี้ สื่อมวลชนสิงคโปร์เรียกร้องลูกหลานนายลี กวนยูให้จัดการปัญหานี้ด้วยดี ทำให้ประชาชนฟื้นฟูความมั่นใจต่อระบบการบริหารประเทศในปัจจุบัน

4. อินโดนีเซียยกเลิกฐานะชอบด้วยกฎหมายของแนวร่วมปลดปล่อยอิสลาม

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศยกเลิกฐานะที่ชอบด้วยกฎหมายของแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามตามญัตติกฎหมายที่ลงนามโดยนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านการเมือง กฎหมายและความมั่นคงของอินโดนีเซียระบุในวันเดียวกันว่า การเคลื่อนไหวขององค์การนี้ก่อให้เกิดการปะทะกันในสังคมอินโดนีเซีย นับเป็นภัยคุกคามต่อทั้งความมั่นคง ระเบียนสาธารณะและบูรณภาพของประเทศ ฝ่าฝืนต่อหลักการการสถาปนาประเทศและรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย สื่ออินโดนีเซียรายงานว่า แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามมุ่งหมายก่อตั้ง "รัฐคาลิฟาห์" รัฐเทวาธิปไตยของศาสนาอิสลามกลางอินโดนีเซีย โดยองค์การนี้มีผู้ติดตามจำนวน 2,000,000 คน ซึ่งองค์กรหรือกลุ่มอิสลามส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียต่างแสดงท่าทีสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาล

5. การเจรจา "หลักการว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้" ได้รับผลคืบหน้าใหม่

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน-อาเซียนที่จัดขึ้นในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ มีมติผ่านกรอบ "หลักการว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้" เป็นการวางรากฐานที่ดีสำหรับการจัดการเจรจาที่มุ่งได้ผลที่แท้จริง โดยในที่ประชุมผู้นำจีน-อาเซียนครั้งที่ 20 ณ กรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนกับประเทศอาเซียนร่วมกันประกาศเริ่มการหารือเนื้อหา "หลักการว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้" สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของการรักษาความมั่นคงของสถานการณ์ทะเลจีนใต้ และมีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับการคุ้มครองสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคของทั้ง 2 ฝ่าย

6. อาเซียนฉลองจัดตั้งครบ 50 ปี

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 50 ปีการจัดตั้งอาเซียน มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองขึ้นที่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ อันเป็นประเทศประธานหมุนเวียนของอาเซียน ผู้นำของประเทศอาเซียนทั้งหลายประกาศแถลงการณ์ร่วมว่า "วันครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียนนั้น เป็นช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์สำหรับกระบวนการพัฒนาประชาคมอาเซียน พวกเราเชื่อมั่นว่า บนพื้นฐานผลสำเร็จที่มีอยู่แล้วในอดีต พวกเรามีความสามารถในการร่วมกันรับมือกับการท้าทายในอนาคตในฐานะประชาคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีประชากรประมาณ 640 ล้านคน ยอดมูลค่าเศรษฐกิจเกือบ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

7. เอเปคจัดการประชุมกับผู้นำอาเซียนเป็นครั้งแรก

ตามข้อริเริ่มของรัฐบาลเวียดนาม วันที่ 10 พฤศจิกายน การประชุมระหว่างเอเปคกับผู้นำประเทศอาเซียนครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองดานังของเวียดนาม ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังจัดการประชุมสุดยอดเอเปคอยู่ บรรดาผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมได้ดำเนินการอภิปรายเกี่ยวกับหัวข้อ "ร่วมกันแสวงหาพลังขับเคลื่อนใหม่ สร้างเอเชียแปซิฟิกที่เป็นหนึ่งเดียวและเชื่อมต่ออย่างรอบด้าน" ร่วมกันหารือความร่วมมือระหว่างเอเปคกับอาเซียน ที่ประชุมได้บรรลุความรับรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความร่วมมือเชื่อมโยงกันระหว่างอาเซียนกับเอเปค การส่งเสริมการเชื่อมโยงส่วนภูมิภาคเป็นต้น โดยมีผู้นำของลาว กัมพูชาและพม่า ที่ไม่ใช่สมาชิกเอเปคเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมกันด้วย

8. จัดการประชุมผู้นำอาร์เซปครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์

วันที่ 14 พฤศจิกายน การประชุมผู้นำกรอบข้อตกลงความสัมพันธ์หุ้นส่วนเศรษฐกิจรอบด้านส่วนภูมิภาคหรืออาร์เซป(RCEP) ที่ริเริ่มโดยอาเซียนจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ในช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งนับเป็นการประชุมผู้นำประเทศที่เกี่ยวข้องครั้งแรก ตั้งแต่เริ่มต้นกลไกการเจรจาดังกล่าวในปี 2012 เป็นต้นมา โดยบรรดาผู้นำ 16 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเห็นว่า อาร์เซปควรปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีในปัจจุบัน พิจารณาระดับการพัฒนาที่ต่างกันของประเทศต่างๆ ใช้รูปแบบที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงการให้สิทธิพิเศษ หรือใช้วิธีจัดการที่มีความแตกต่าง และย้ำว่า จะพยายามบรรลุข้อตกลงที่ทันสมัย รอบด้าน มีคุณภาพสูงและเอื้อประโยชน์แก่กัน

9. ศาลสูงสุดกัมพูชาตัดสินยุบพรรคกู้ชาติ

วันที่ 16 พฤศจิกายน ศาลสูงสุดกัมพูชาประกาศคำตัดสินยุบพรรคกู้ชาติ และห้ามสมาชิกพรรค 118 คนเข้าร่วมการเมืองภายใน 5 ปี กระทรวงมหาดไทยกัมพูชากล่าวว่า พรรคกู้ชาติมีพฤติกรรมติดต่อกับอิทธิพลต่างประเทศ มุ่งหมายโค่นล้มรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของกัมพูชาด้วย "การปฏิวัติสี" ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา นายเขม โสกา หัวหน้าพรรคกู้ชาติถูกจับเนื่องจากต้องสงสัยก่อกบฏ วันที่ 6 ตุลาคม รัฐบาลกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดให้ทำการยุบพรรคกู้ชาติ วันที่ 13 ธันวาคม สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวสำหรับกรณีที่สหภาพยุโรปประกาศหยุดเสนอเงินสนับสนุนการเลือกตั้งปี 2018 แก่รัฐบาลกัมพูชาว่า การเลือกตั้งของปีหน้าจะดำเนินการตามเวลากำหนด และจะมีหลายพรรคเข้าร่วม โดยรัฐสภากัมพูชามีที่นั่งทั้งหมด 123 ที่นั่ง ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2013 นั้น พรรคประชาชนที่เป็นพรรครัฐบาลคครอง 68 ที่นั่ง พรรคกู้ชาติครอง 55 ที่นั่ง

10. พม่าลงนามข้อตกลงรับชาวยะไข่กลับประเทศ

วันที่ 23 พฤศจิกายน รัฐบาลพม่าประกาศแถลงการณ์ว่า วันเดียวกัน พม่ากับบังคลาเทศได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนรัฐยะไข่ที่ลี้ภัยในต่างประเทศเดินทางกลับพม่า โดยมีเนื้อหารวมถึงหลักการชี้นำและนโยบายเกี่ยวกับการพิจารณาและรองรับประชาชนรัฐยะไข่ในต่างประเทศ แถลงการณ์ระบุว่า จุดยืนของพม่าคือ ควรแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศกับเพื่อนบ้านด้วยการเจรจาอย่างสันติ การบรรลุข้อตกลงนี้มีขึ้นบนพื้นฐานความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศ เป็นผลสำเร็จร่วมกันของทั้งสองประเทศ

วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงยา (ARSA) โจมตีสถานีตำรวจ 30 แห่งทางเหนือของรัฐยะไข่ ทหารรักษาความมั่นคงพม่าจึงเข้ามาปราบปราม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน เกือบ 30,000 คนต้องลี้ภัย โดยมีชาวโรฮิงยาจำนวนมากลี้ภัยข้ามแดนเข้าสู่บังคลาเทศ สำหรับการนี้ สหประชาชาติได้ประกาศแถลงการณ์ชี้วิกฤตด้านสิทธิมนุษยธรรมของพม่าเป็นครั้งแรกรอบ 9 ปีที่ผ่านมา

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040