"250 ปีพระเจ้าตากสินมหาราช ต้นธารจีนสยาม" (2)
  2018-01-04 20:03:30  cri

กู้เมืองได้แล้วจึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม

ยุคสมัยพระเจ้าตากนอกจากเด่นเรื่องการกู้ชาติแล้ว สิ่งที่เจริญรุ่งเรืองหลังจากนั้นคือการพัฒนาของเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม พระเจ้าตากฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินแจกข้าวชาวบ้าน เพราะเห็นประชาชนลำบากกันมาก จึงเร่งให้คนมีกินก่อน โดยพระเจ้าตากเลือกที่จะกู้เศรษฐกิจให้ประชาชนมีกินมีใช้ก่อน แล้วจึงไปฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมภายหลัง

ช่วงแรกเฉียนหลงฮ่องเต้ไม่ยอมรับฐานะกษัตริย์

ยุคที่พระเจ้าตากขึ้นครองราชย์ตรงกับยุคสมัยพระเจ้าเฉียนหลงของจีน บันทึกระบุว่าพระเจ้าเฉียนหลงไม่ยอมรับพระเจ้าตากในฐานะกษัตริย์ เนื่องด้วยท่านรบชนะ แต่ไม่ยอมอัญเชิญลูกกษัตริย์เก่าขึ้นสืบทอดต่อ สมัยก่อนนั้นราชสำนักจีนเปรียบกับสหประชาชาติ คือประเทศไหนอยากค้าขายต้องให้จีนรับรองก่อน

ในยุคกรุงธนบุรี อาจจะแบ่งได้เป็นสามช่วง ดังนี้ 1.ไม่ยอมรับ 2.รักษาอำนาจได้ จีนเปลี่ยนท่าที และ 3.ราบรื่น ได้รับการยอมรับ มีเอกสารระบุว่าพระเจ้าตากเคยขอลูกสาวพระเจ้ากรุงจีน แสดงว่าพระเจ้าตากได้รับการยอมรับจากจีนในที่สุด

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้พระเจ้าตากกู้กรุงได้ไว

นอกจากพระเจ้าตากจะกู้กรุงธนบุรีได้เร็วแล้ว พม่าเองก็ตีไทยไม่ค่อยได้ ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีปัจจัยช่วยสนับสนุน คือ พม่าติดศึกพัวพันกับจีนอยู่ แม่ทัพของพม่า – อะแซหวุ่นกี้รบเก่งมาก ขนาดราชบุตรเขยจีนยังตายคาสนามรบ ช่วงนั้นจีนยกทัพมาตีพม่า พม่าต้องถอนทัพไปรบจีน ทำให้พระเจ้าตากกู้ชาติได้ กระแสโลกช่วงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง กษัตริย์เขมรต้องมาพึ่งอยุธยา ธนบุรี หลังจากพม่าเสร็จศึกจีน ยังมีเรื่องภายในให้จัดการอีก ในปี 2318 อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาบุกไทย ถ้ารับศึกไม่ดีคงไม่ได้เกิด พระเจ้าตากทรงทุ่มเทกับศึกครั้งนี้มาก ต้องบอกว่าโชคช่วยด้วยอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่พม่า พระยามังระป่วยตาย ทำให้อะแซหวุ่นกี้โดนเรียกตัวกลับ

ส่วนเรื่องราวตอนที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี (รัชกาลที่1– ยศในตอนนั้น) หรือในฉากที่เจ้าพระยาจักรีเอาพิณพาทย์ขึ้นดีดบนกำแพง คาดว่าจะเป็นเรื่องแต่งที่ได้รับอิทธิพลมาจาก "สามก๊ก" ของจีนมากกว่า เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ไทยรบพม่าตอนนี้ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งในสมัยนั้นมีการแปลนิยายสามก๊กมาเป็นภาษาไทยแล้ว

ภาพที่พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา แสดงให้เห็นถึงพระราชพงศาวดารการจลาจลในกรุงธนบุรี ตอนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่1) กลับจากราชการทัพเมืองเขมร

(ที่มาภาพ: http://bit.ly/2BJ9HKU)

ในศึกรบช่วงหลัง ลูกน้องพระเจ้าตากรวมทั้งไพร่พลก็สูญเสียเป็นจำนวนมาก แต่ข้างฝ่ายของทัพเจ้าพระยาจักรีไม่ค่อยชำรุดมาก เมื่อมาดูจากแผนที่ เช่น ทางเมืองเพชรบูรณ์พม่าก็ไปไม่ถึง ส่วนลูกน้องลุ่มแม่น้ำภาคกลางนั้นรับศึกพม่ามานานแล้ว มีความบอบช้ำกว่า พระเจ้าตากจากเดิมเคยพึ่งลูกน้องคนสนิท ตอนนี้ร่อยหรอลงก็เริ่มทำให้อำนาจลดลงทุกที จึงทำให้ต้องประกาศตัวเป็นเจ้าศักดิ์สิทธิ์แนวจอมขมังเวทย์ (แต่ไม่ใช่สมมติเทพแบบรัชกาลที่1)

เทียบประวัติพระเจ้าตากคล้าย "ไซฮั่น" มากกว่า

มีหลายคนนิยมโยงประวัติของพระเจ้าตากเทียบกับ "สามก๊ก" แต่นักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งมองว่าหากจะโยงกับสามก๊ก น่าจะนำไปเทียบกับ "ไซ่ฮั่น" มากกว่า อนึ่ง ไซฮั่นนั้นถึงเป็นนิยายแต่ก็แต่งเติมน้อยกว่าสามก๊ก

อุปนิสัยของ "ฌ่อปาอ๋อง" คล้ายคลึงกับพระเจ้าตาก ในตอนท้ายฌ่อปาอ๋องก็ฆ่าพระเจ้าเหมี่ยนเต้ ส่วนพระเจ้าตากก็ปราบปรามและสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ โอรสพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ส่วนเรื่องพระเจ้าตากทุบหม้อข้าวตีเมือง ไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งแต่งโดยได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องจริงก็เชื่อกันว่าพระเจ้าตากเรียนยุทธวิธีนี้จากจีน

ปกหนังสือ "ไซฮั่น" พงศาวดารจีนก่อนถึงสมัยสามก๊ก โดยรัชกาลที่1 โปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลังทรงอำนวยการแปล เมื่อก่อนพ.ศ.2349 คู่กับหนังสือสามก๊ก

(ที่มาภาพ: http://bit.ly/2CeRWV3)

เคร่งข้อวัดสงฆ์ – ฟื้นฟูพุทธศาสนา-ชำระพระไตรปิฎก

จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า ไทยมีการสังคายนาพระไตรปิฎกตั้งแต่ยุคพระเจ้าตากแล้ว ท่านค่อนข้างเคร่งเรื่องวินัยสงฆ์ หากมีคนส่งพระมาเจรจากิจธุระไม่ว่าจะด้านการทูตหรือใดๆ ท่านไม่โปรด โดยจะตรัสถามว่า "ฆราวาสไม่มีแล้วหรือ ถึงต้องส่งพระมา? " ถ้ามีการฝากให้ถือจดหมายมา บางทีท่านถึงกับจับสึกเลย เพราะในวินัยสงฆ์มีสังฆาทิเสสอยู่ที่กล่าวว่าหากพระทำตัวเป็นสื่อให้ชายหญิงพากันหนีจะต้องอาบัติ (คือพระถือจดหมายมา หากไม่ได้เปิดอ่านจะทราบไหมว่าเนื้อความด้านในเขียนไว้อย่างไรบ้าง ถ้าเนื้อความในนั้นเป็นหนุ่มสาวเขียนชักชวนกันหนี สงฆ์ก็ต้องอาบัติ) ตอนนั้นสงฆ์แตกเป็น 2 ฝ่าย มีคนถามว่าพระจะไหว้โสดาบันได้ไหม แต่พงศาวดารนี้ชำระในช่วง ร.4 ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็เป็นได้ ส่วนอีกคำถามว่าท่านมีเชื้อจีนมีการไหว้เจ้าหรืออะไรทำนองนี้ไหม จากเอกสารเบื้องต้นไม่พบว่ามีการไหว้เจ้าอย่างเป็นทางการ

น. นพรัตน์ นักแปลนิยายจีนชื่อดังของไทยสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนา

พระเจ้าตากฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมส่งไม้ต่อให้รัตนโกสินทร์

พระเจ้าตากยังมีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ท่านมีส่วนในการแต่งวรรณคดี สำนวนอาจจะไม่สละสลวยนัก เนื่องจากท่านเป็นนักรบไม่ใช่ศิลปิน นอกจากนี้ยังดำริให้ฟื้นละครรามเกียรติ์ แต่งเล่นแบบอยุธยา พอเข้าช่วงต้นรัตนโกสินทร์หรือรัชกาลที่1 มีคนเก่งมาช่วยสืบทอดมากมาย คุณูปการที่ไม่อาจมองข้ามได้คือการที่พระเจ้าตากทำหน้าที่ส่งไม้ต่อ หากแม้ท่านไม่ใส่ใจทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ป่านนี้คงสูญหายไปเป็นจำนวนมาก การที่ท่านส่งไม้ต่อนี้ ทำให้ไทยสามารถรักษาศิลปะแบบเก่าๆ ได้มาก ประจวบกับแนวทางของรัชกาลที่1 ซึ่งหากท่านตีเมืองไหนได้ก็จะรวบรวมเอาหนังสือที่ทรงคุณค่ามาเก็บรักษาไว้ ศิลปวัฒนธรรมจึงสืบเนื่องกันต่อได้ไม่สูญหายไปหมด

ส่วนเรื่องการฟื้นฟูละครขึ้นมา ตอนที่ฉลองรับพระแก้วมรกตเข้าสู่รัตนโกสินทร์ ได้มีการจัดละครเฉลิมฉลองทั้งจีนทั้งไทย ในช่วงนี้มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กน้อยช่วงเปลี่ยนรัชกาล ซึ่งก็เหมือนสมัยพระเจ้าตากที่ต้องรายงานทางเมืองจีน โดยรัชกาลที่ 1 แจ้งไปทางจีนว่าเป็นลูกพระเจ้าตาก (ในความเป็นจริงน่าจะมีศักดิ์เป็นพ่อตาของพระเจ้าตาก) แต่ตอนนั้นทางจีนเชื่อ เพราะ ร.1 ท่านทรงเก่งเรื่องการบ้านการเมือง

ช่วงปลายกรุงธนบุรี มีการจัดระเบียบระบบการปกครองใหม่ มีการเชิดชูตำรามหาดเล็ก พิธีกรรมต่างๆ รวมถึงชำระธรรมเนียมโบราณ โดยประธานชำระคือ พระยาจักรี (รัชกาลที่1) เรื่องอื่นๆ เช่น ช่วงจังหวะเวลาในการชำระกฎหมายตราสามดวงหรือเรื่องการสักเลกข้อมือ

ช่วงหนึ่งที่ไทยมีเหตุการณ์ปลอมเหล็กสักข้อมือเกิดขึ้น ซึ่งเทียบกับสมัยนี่เท่ากับการปลอมทะเบียนราษฎร์ แต่การสักข้อมือนี้ก็ไม่ได้ยกเลิก สมัยธนบุรีเคร่งมากและตกทอดมาถึงรัตนโกสินทร์ มีเรื่องเล่าว่าราษฎรคนหนึ่งมีรอยสักถึง 3 รอย ก็เพราะอยู่มา 3 แผ่นดิน พอเปลี่ยนรัชกาลที ก็เปลี่ยนหน่วยที่สังกัดไปด้วย

ส่วนเรื่องปัญหาว่าทำไมไทยหยุดไม่ขายข้าวให้ต่างชาตินั้น คือต้องเข้าใจก่อนว่าที่เราไม่ขายเพราะเราไม่มีจะข้าวกิน สมัยอยุธยา-บ้านพลูหลวง ไทยมีการขายข้าวให้จีน พอต่อมาเราเลิกขายข้าวเพื่อเตรียมสู้ศึกพม่าและคนไทยเองก็ขาดแคลน พอสถานการณ์ดีขึ้น ต่อมาอนุญาตให้ขายได้ แต่ขายให้เฉพาะคนจีนเท่านั้น โดยมาเริ่มขายข้าวอีกทีในสมัยปลายรัชกาลที่ 1

พระเจ้าตากกับเรื่องของสงฆ์

มโนทัศน์ของคนกรุงเก่ากับรัตนโกสินทร์ต่างกัน นักประวัติศาสตร์มองว่าคนยุครัตนโกสินทร์ผ่านโลกมาเยอะ แท้จริงความเป็นปัจเจกนั้นบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์แบบอยุธยาคลายลง กฎหมายของสงฆ์กรุงเทพฯ กับอยุธยาก็ต่างกัน กฎหมายสมัยธนบุรี ระบุให้พระเจ้าตากเป็นผู้มีอำนาจเหนือสงฆ์ ออกแนวศักดิ์สิทธิ์กว่า และด้วยเหตุผลนี้ทำให้กลุ่มสงฆ์ไม่พอใจ

วาระสุดท้ายของเจ้ากรุงธนบุรี

มีคนบอกว่าช่วงสุดท้ายของพระเจ้าตากเป็นบ้า วิปลาส ซึ่งนักประวัติศาสตร์โต้แย้งว่ามีการระบุไว้ว่าท่าน "ดุและเพี้ยน" แต่ไม่มีเขียนไว้ว่า "บ้า"

การนิยามว่าใครสักด้วยคำว่า "บ้า" นั้น แท้จริงแล้วคนมองไม่เหมือนกัน อีกอย่างตัวเราเองก็เกิดไม่ทันสมัยนั้น ในที่นี้พอจะสรุปได้ว่าหากคิดหรือกระทำอะไรที่ผิดแปลกกว่าชาวบ้าน เขาก็จะเรียกว่า "บ้า" ได้ เช่น บอกจะเหาะโชว์ สมัยก่อนเป็นเรื่องปกติ คนไทยค่อนข้างเชื่ออะไรที่เป็นอภินิหาร บางตำนานก็ว่าพอเงินหายก็เอาคนมาโบย มาย่างไฟ ราษฎรเดือดร้อนมาก ถึงกับมีคนสรุปไว้ว่า "ต้นแผ่นดินออกลูกผล ปลายแผ่นดินร้อน" นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าคนรุ่นนั้นรู้อยู่แล้วว่าเกิดในร่มเศวตฉัตรไฉนเลยจะได้ตายดี

เพราะฉะนั้นเราอย่าเอาความรู้สึกสมัยนี้ไปตัดสินอดีตจะดีกว่า

นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่าพระเจ้าตากมีบุคลิกที่ดุอยู่แล้วตามวิสัยนักรบ เมื่อบวกกับมีเรื่องเครียด 2 เรื่องคือ หม่อมอุบลกับหม่อมฉิมที่ท่านโปรดมากที่สุดเป็นชู้กับฝรั่ง ประกอบกับต้องออกศึกบางกุ้งในช่วงที่พระราชชนนีประชวรหนัก ซึ่งท่านมองว่าบ้านเมืองสำคัญกว่าแม่ เลยกลับมาไม่ทันดูใจ ทั้ง 2 เรื่องนี้ทำให้ท่านโศกเศร้ายิ่งนัก จนมีอารมณ์ดุร้ายมากกว่ายิ่งขึ้น

บางตำนานระบุว่าท่านสมคบกับรัชกาลที่1 เพื่อหนีหนี้จีน เลยสร้างเรื่องให้ท่านสวรรคตซะ หากเป็นจริงแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 พระองค์คือพระเจ้าตากและรัชกาลที่1 มีการประนีประนอมกันมาก

บางคนก็บอกท่านถอดจิตไป กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ามีคนรักท่านมาก ไม่อยากให้ท่านตายแบบโดนสำเร็จโทษ

บางตำนานระบุว่าถูกประหารด้วยท่อนจันทน์แถวบริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ขณะที่นักประวัติศาสตร์มองว่าท่านถูกสำเร็จโทษจริง แต่ด้วยการตัดหัวธรรมดา เพราะหลายคนไม่ยอมรับท่านเป็นกษัตริย์

สรุปสั้นๆ ได้ว่าคนสมัยธนบุรี ต้นรัตนโกสินทร์ เลือกนายเก่งและฉลาด คนไหนที่จะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้มากที่สุดก็ควรจะยกย่องเชิดชู ส่วนปัญหาเรื่องการเชิดชูพระเจ้ากรุงธนบุรี เกิดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักประวัติศาสตร์มองว่ากลุ่มอำนาจใหม่พยายามจะนำเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะประเทศไทยไม่เคยมีฮีโร่ระดับชาติ มีระดับแต่ท้องถิ่น หลายเรื่องเลยกลายเป็นมายาคติที่ถูกทำขึ้นมา

เชื้อสายของพระเจ้าตาก

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตาก ยังมีเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ที่สืบสายเลือดโดยตรงรับราชการต่อมาจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ได้ แถมได้ไปคุมหน่วยงานสำคัญอย่างกรมหมออีกด้วย นามสกุลที่สืบเชื้อสายพระเจ้าตากมาถึงปัจจุบัน อาทิ อินทรโยธิน อินทรกำแหง ณ นครราชสีมา สินสุข พิชเยนทรโยธิน ณ นคร ณ นครราชสีมา กุญชร อิศรเสนา เป็นต้น

ภาพจากหนังสือที่บันทึกวงศ์สายสกุลของพระเจ้าตาก

บทส่งท้าย

เรื่องราวของพระเจ้าตาก หากอ่านและศึกษาตั้งแต่ต้นตนจบ เราจะพบว่าคนๆ หนึ่งผ่านเรื่องราวมามากมายจนจบลงที่หมดอำนาจและสิ้นชีวิตไป ตำนานน้อยใหญ่ได้ถูกเขียนขึ้นทั้งอิงความจริงบ้าง อิงจากความคิดตนเองบ้าง

และสำหรับประเด็นเรื่องเชื้อชาตินั้น สมัยนี้กลายเป็นเรื่องโบราณไปเสียแล้ว เราจะชื่นชมเคารพเชิดชูคนๆ หนึ่งหาได้เพียงแค่ที่ชาติตระกูลไม่ การที่เขามีความสามารถ มีสติปัญญา และทำประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ได้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ามาก เราสามารถชื่นชมคนเหล่านี้ได้ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาอีกกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

ในช่วงท้ายของการเสวนา มีผู้ฟังถามขึ้นมาว่า "เมื่อนักประวัติศาสตร์ยืนยันแล้วว่าพระเจ้าตากไม่ได้บ้า แล้วทำไมเราไม่แก้ว่าท่านไม่บ้า"

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล กล่าวว่า เอกสารชั้นต้นนั้นเราไปแก้ไขไม่ได้ ต้องให้คนปัจจุบันนี้เป็นผู้ตอบ ใช้สติปัญญาวิเคราะห์ และตัดสินด้วยตนเอง

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน "250 ปี พระเจ้าตากสินมหาราช ต้นธารจีนสยาม"

หมายเหตุ

------------

บทความนี้สรุปมาจากการบรรยายในหัวข้อ "250 ปี พระเจ้าตากสินมหาราช ต้นธารจีนสยาม" จัดโดยอาศรมสยาม-จีนวิทยา ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายโดย ผศ.ถาวร สิกขโกศล และ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ดำเนินรายการโดย ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2560 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องประชุม 1102 ชั้น 11 อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม

---------------------------------------------------------------

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040