สิ่งที่จีนทำเพื่อต่อสู้กับมลภาวะทางอากาศ (2)
  2018-03-07 20:33:16  cri

5. เพิ่มการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพแผนผังระบบการผลิต

เพิ่มประสิทธิภาพแผนผังระบบการผลิต โครงการไหนที่ไม่ผ่านการประเมินก็ไม่ให้สร้าง ใครสร้างแบบผิดกฎหมายก็ลงโทษกันไป

เพิ่มการใช้ตัวบ่งชี้ หรือตัววัดค่าการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านข้อตกลงมาตรฐาน

เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องการกระจายตัวของประชากร ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการพัฒนาผังเมือง เพิ่มข้อกำหนดในเรื่องเมืองสีเขียวและการควบคุมการกระจายตัวของประชากร

กลุ่มบริษัทที่ผลิตอุตสาหกรรมหนักที่ก่อมลพิษสูงที่ตั้งในเขตกลางเมืองก็กำหนดให้ย้ายสถานที่หรือปรับปรุงให้ทันสมัยได้มาตรฐาน

 

ชาวปักกิ่งใส่หน้ากากกับฉากหลังมัวด้วยหมอกควัน

(ที่มาภาพ: Getty Image)

6. ใช้กลไกตลาดให้มีบทบาทในการควบคุม ปรับปรุงข้อกำหนดด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

ให้กลไกการตลาดมามีบทบาทในการควบคุม โดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่า "คนไหนก่อมลพิษคนนั้นต้องรับผิดชอบ ก่อมากเท่าไหร่รับผิดมากเท่านั้น!"

สนับสนุนให้มีการแข่งขันกันประหยัดพลังงานและลดการก่อมลพิษด้วยการจัดอันดับบริษัท (แยกตามอุตสาหกรรม) ที่ประสบความสำเร็จ

สร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลโดยสนับสนุนเรื่องเงิน/ ค่าใช้จ่าย ในทางกลับกันบริษัทไหนมีผลรายงานในด้านลบหรือทำไม่ถึงมาตรฐานก็อาจโดนลดเงินกู้หรือเงินสนับสนุน

ปรับปรุงเรื่องราคาและการเก็บภาษี โดยดูจากค่าใช้จ่ายในกระบวนการดีไนตรีฟิเคชั่น (วิธีการทางชีวภาพอย่างหนึ่งเพื่อบำบัดของเสีย) ราคาตลาดหรือรีเทลไพซ์จะถูกคำนวนโดยเอาค่าใช้จ่ายในการบำบัดของเสียพวกนี้มาคิดด้วย หรือทำราคาของแหล่งพลังงานทางเลือกให้สูสีกับพลังงานอื่นเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ผลิต

เปิดกว้างเรื่องการลงทุนและการเงิน โดยสนับสนุนให้มีการลงทุนกับพลังงานสะอาดมากขึ้น สนับสนุนให้สถาบันทางการเงินให้เครดิตแก่บริษัทที่ทำโครงการด้านการควบคุมมลพิษทางอากาศ

 

หน้ากากกันหมอกพิษเป็นอาวุธประจำกายของชาวปักกิ่ว

(ที่มาภาพ: Getty Image)

7. พัฒนาระบบกฎหมายและข้อบังคับ เพิ่มบทบาทการสองส่องดูแลและบริหารจัดการในแง่กฎหมาย

ปรับปรุง พัฒนากฎหมายและระบบมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นระบบฉุกเฉิน ระบบเตือนภัย การอนุญาตปล่อยไอเสีย

ทำการวิจัยถึงบทลงโทษหน่วยงานรวมถึงตัวบุคคลหลักที่รับผิดชอบด้านนี้ จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพของอากาศ โดยรวมหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน

เพิ่มบทบาทการบังคับใช้กฎหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำระบบให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ร่วมกันอย่างได้ผล ทั้งในระดับท้องถิ่นและข้ามมณฑล

เปิดเผยข้อมูล ด้วยการประกาศรายชื่อเมืองที่ได้ลำดับดีสุดและแย่สุดประจำแต่ละเดือน ส่วนมณฑลหรือเขตปกครองตนเองแต่ละที่ต้องประกาศข้อมูลคุณภาพอากาศในเขตเมืองของตน แต่ละเมืองก็ต้องประกาศผลตรวจวัดคุณภาพอากาศของเมืองตนเองผ่านสื่อท้องถิ่น

สูงสุดคืนสู่สามัญ: ธรรมชาติจะช่วยเยียวยา

ที่มาภาพ: http://bit.ly/2oJub1O

8. สร้างกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาค บูรณาการการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค

ภาครัฐในส่วนท้องถิ่นต้องร่วมมือกับกระทรวงหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องช่วยกันระบุปัญหา ตั้งเป้าหมายและแบ่งหน้าที่กัน ใช้งานตัวชี้วัดหลัก เช่น EIA ใช้กฎหมายเชื่อมโยงกัน แบ่งปันข้อมูล ระบบเตือนภัยล่วงหน้าและฉุกเฉิน ทุกสิ่งอย่างต้องทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

มีการประเมินปีต่อปี หากไม่ผ่านการประเมินรายปี ให้ระบุปัญหา หาทางแก้ไข และทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ จะมีการติดตามสองส่องจากภาครัฐสำหรับหน่วยงานหรือใครที่ทำไม่ได้ตามเป้าหรือบิดเบือนข้อมูล

9. สร้างระบบสอดส่องควบคุมและระบบเตือนภัย แก้ปัญหามลพิษทางอากาศชนิดร้ายแรง

สร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าและระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพทั้งเรื่องความถูกต้องและท่วงทันเวลา

เมืองไหนที่ทำไม่ได้ตามเป้า ต้องไปปรับแผนใหม่และประกาศให้สาธารณชนรับทราบ ต้องระบุผู้รับผิดชอบในแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน

หากเข้าขั้นวิกฤต อาจจะมีการตัดสินใจจำกัดสายการผลิตหรือสั่งปิดโรงงาน ควบคุมการใช้ยาพาหนะ หยุดเรียน ปิดโรงเรียนได้ตามเห็นสมควร

แจ้งให้ประชาชนรู้จักวิธีดูแลป้องกัน ตามระดับความรุนแรงของมลพิษ

 

นักเรียนโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในจี๋หนาน มณฑลซานตงออกกำลังกายภายในตึกเรียน (ภาพเมื่อปี 2013)

(ที่มาภาพ: ifeng.com)

10. ระบุความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐ บริษัท/วิสาหกิจ รวมทั้งประชาชน ระดมให้สังคมมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม

ระบุให้ชัดเจนไปเลยว่ารัฐบาลท้องถิ่นมีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับก็รับผิดชอบไปตามขอบเขตอำนาจของตน แต่หลักๆแล้วก็ต้องทำตามที่ส่วนกลางกำหนดแนวทางมาให้

สนับสนุนให้แต่ละกระทรวงหรือภาคส่วนร่วมมือกัน

พวกบริษัทห้างร้านต่างๆก็มีส่วนสำคัญ ด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบภายในองค์กร นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้ถึงเป้าหมาย "การปล่อยไอเสียเป็นศูนย์" บริษัทต้องยอมให้มีการสอดส่องดูแลจากสังคมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ทำให้สังคมมีส่วนร่วม ปลุกกระแสรักษ์โลก ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในแง่วิทยาศาสตร์ที่จะนำมาใช้ป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ ให้ประชาชนเริ่มจากตนเองและวิธีการง่ายๆที่จะมีส่วนร่วม ให้คุ้นชินกับวิถีรักษ์โลก ประหยัดทรัพยากร และเป็นผู้บริโภคสีเขียว รวมถึงปลูกฝังเรื่อง "รวมพลังต่อสู้เพื่ออากาศที่เราหายใจร่วมกัน"

พลังงานทางเลือก…ทางเลือกของการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

(ที่มาภาพ: Wikimedia Commons/WiNG)

ผลสรุปในภาพรวม

ตั้งแต่มีการเปิดประเทศ จีนเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงานหลักจึงทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างรุนแรง ต่อมาจึงมีการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้เพื่อการใช้พลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ2

ผลการรายงานเมื่อปี 2017 ของ CAAC ระบุว่า อากาศในภาพรวมของประเทศจีน (ปี 2016) ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามค่ามลพิษ PM2.5 ยังคงปรากฏอยู่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน ส่วนบางพื้นที่ก็พบว่าค่า PM10 ในปี 2016 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2015 สรุปแบบเทียบเป้าหมายสำหรับ 10 เมืองใหญ่ มี 9 เมืองทำผลงานได้ตามเป้า ส่วนที่ยังสอบไม่ผ่านคือมหานครปักกิ่ง ในปี 2016 มีแค่ 84 เมืองจาก 338 เมืองในจีนที่สามารถควบคุมคุณภาพอากาศได้ระดับค่ามาตรฐาน นั่นหมายความว่าอีก 254 เมืองที่เหลือต้องทำการบ้านมาส่งเพิ่มเติม เพื่ออธิบายว่า "ทำไม" และหาทางแก้ไขกันต่อไป

ค่าความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ลดลง แต่มีปัญหาเรื่องมลพิษจากโอโซนเพิ่มเข้ามาแทน และบางพื้นที่ก็ยังมีปริมาณของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO3)ในระดับเกินมาตรฐาน

จากการเข้มงวดเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม มีบริษัทเกือบ 9,000 แห่งที่ถูกปรับและมีคนถูกจับกุม 575 ราย กฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมก็ได้รับเห็นชอบและผ่านออกมาให้ใช้ได้จริงแล้ว

วัยรุ่นที่ยืนอยู่หน้าทางเข้าสวนสาธารณะแห่งหนึ่งของปักกิ่งกำลังช่วยเพื่อนจัดผ้าปิดปากให้เข้าที่ (ภาพเมื่อปี 2013)

(ที่มาภาพ: ifeng.com)

เราจะเห็นได้ว่าการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนและบังคับใช้กฎระเบียบอย่างจริงจังเป็นอีกหัวใจสำคัญหนึ่งในการต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศที่จีนเผชิญ มาตรการที่นำมาใช้มีทั้งแบบจูงใจทางการเงินและเชิงบังคับ แน่นอนว่า ณ ตอนนี้จีนยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่าง100% แต่การวางแผนบางอย่างก็จะส่งผลในทางบวกต่อไปในอนาคต อีกหนึ่งเรื่องที่เห็นได้ชัดคือการให้ผู้รับผิดชอบ "เปิดเผย" ข้อมูลแก่ประชาชน เพื่อเตรียมตัวและเตรียมใจรับมือกับ "สภาพความเป็นจริง" ให้มากที่สุด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเพื่อต่อสู้กับความล้าหลังด้านการผลิตพลังงาน พลังงานสะอาดถูกนำมาวิจัยและเป็นตัวเลือกเพื่อให้องค์กรใหญ่รวมไปถึงรายบุคคลได้เลือกใช้เพื่ออากาศที่ดีกว่า

สุดท้ายที่ลืมไม่ได้คือการให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน เพราะไม่ว่าระบบจะดีงามมากแค่ไหน บทลงโทษจะโหดร้ายเพียงใด หากแม้ผู้มีอำนาจหรือผู้ใช้ไม่มีจิตสำนึกแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงหรือรักษาธรรมชาติบนโลกใบนี้ให้ยังคงอยู่ได้อย่างถาวรหรืออย่างน้อยก็อีกหลายชั่วคน

เอกสารอ้างอิง

[1] ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ, "สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) คือ ??? (23 สิงหาคม 2012),http://bit.ly/1nzkXBU

[2] กูสกานา กูบาฮา และทรงศักดิ์ สกุลนิยมพร, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตอนที่ 2, Technology Promotion. August – September 2010 Vol.37 No. 212 (p.55-56)

3. Clean Air Alliance of China, "State Council: Air Pollution Prevention and Control: Action Plan: China Clean Air Updates" English Translation, October, 2013

4. Clean Air Alliance of China, "China Air Quality Management Assessment Report (2017): Lite Edition"

--------------------

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040