"วังหลัง" มีพระตำหนักยิ่งใหญ่ 3 แห่งได้แก่ พระตำหนัก "เฉียนชิงกง" พระตำหนัก "เจียวไท่เตี้ยน" และพระตำหนัก "คุนหนิงกง" เป็นใจกลาง ปีกทิศตะวันออกและปีกทิศตะวันตกทั้งสองข้างมี " 6 วังทิศตะวันออก" และ " 6 วังทิศตะวันตก" เป็นที่ทรงจัดการภารกิจประจำวันทางการเมืองของจักรพรรดิ และเป็นที่ประทับของจักรพรรดิ พระมเหษีและพระสนม ถ้าสักเกตจะเห็นว่าครึ่งหน้าและครึ่งหลังจะมีสไตล์สถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน ครึ่งหน้ามีเอกลักษณ์เคร่งขรึม สง่างาม ยิ่งใหญ่อลังการ ซึ่งหมายถึงความสูงส่งของอำนาจ ส่วนครึ่งหลังเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแห่งชีวิต ส่วนใหญ่สร้างเป็นลักษณะบ้านส่วนตัว มีสวนดอกไม้ ห้องสมุด ห้องรับแขกและภูเขาจำลองเป็นต้น พระตำหนัก "หนิงโซ่วกง" ที่ตั้งอยู่ในปีกตะวันออกของ "วังหลัง" เป็นที่ประทับของจักรพรรดิเฉียงหลงตอนสละราชสมบัติไปแล้ว โดยใช้งบประมาณเป็นเงินน้ำหนักถึง 1.1 ล้านตำลึง
พระตำหนัก "เฉียนชิงกง"
พระตำหนัก "เฉียนชิงกง" ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดของ "วังหลัง" เป็นพระตำหนักหลักของ "วังหลัง" มีความสูง 20 เมตร มีหลังคาสองชั้น มีพระราชบัลลังก์ตั้งตรงกลางของพระตำหนัก เหนือพระราชบัลลังแขวงป้าย "เจิ้งต้ากวางหมิง" ซึ่งมีความหมายว่า "ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา" เป็นที่เก็บพระราชโองการสืบทอดอำนาจจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ชิง หลังรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้งหรือจักรพรรดิ์ "องค์ชายสี่" จักรพรรดิยงเจิ้งกลัวว่าพวกองค์ชายอื่นๆ จะแย่งชิงอำนาจจนเกิดการฆ่าฟันกัน จึงใช้วิธีการ "กำหนดจักรพรรดิคนใหม่แบบลับ" คือเขียนพระราชโองการสืบทอดอำนาจ 2 ฉบับแล้วเก็บไว้ในกล่องทำเป็นสองชุด ชุดหนึ่งวางไว้หลังป้าย "เจิ้งต้ากวางหมิง" อีกชุดหนึ่งพกติดตัวตลอด หลังจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ พวกข้าราชการจึงเอาพระราชโองการ 2 ฉบับมาพิสูจน์เทียบกันแล้วประกาศชื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ที่จะได้สืบราชสมบัติ สองข้างของพระตำหนัก "เฉียนชิงกง" มี "ห้องอบอุ่น" เป็นที่อ่านหนังสือและที่บรรทมของจักรพรรดิ ที่ "ห้องอุ่นทิศตะวันตก" ซึ่งมีสองชั้น ได้เตรียมพระแท่นบรรทมไว้ทั้งหมด 27 หลังสำหรับให้จักรพรรดิเลือกนอน เล่ากันว่า การทำเช่นนี้จะได้ป้องกันการลอบสังหารชีวิตได้ พระตำหนัก "เฉียนชิงกง" เป็นที่บรรทมของจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ก่อนรัชสมัยจักรพรรดิคังซี จักรพรรดิทุกพระองศ์ล้วนประทับและจัดการกิจการบ้านเมืองที่นี่ หลังจากรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง จักรพรรดิทุกพระองศ์ล้วนย้ายไปประทับที่พระที่นั่ง "เอี่ยงซินเตี้ยน" แต่ยังคงจัดการกิจการการเมืองอยู่ที่นี่ต่อ ในข้างตะวันออกและตะวันตก ยังมีพระที่นั่ง "ตวนหนิงเตี้ยน" สำหรับเก็บพระมาลา ฉลองพระองค์และฉลองพระบาทของจักรพรรดิ ส่วนพระที่นั่ง "เม่าฉินเตี้ยน"ใช้เก็บหนังสือและเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ทางทิศใต้มี "ห้องหนังสือหลวง" เป็นที่เรียนหนังสือของพวกองค์ชาย และ "ห้องหนังสือทิศใต้" เป็นที่ทำงานของข้าราชการระดับสูง
พระตำหนัก "คุนหนิงกง"
พระตำหนัก "คุนหนิงกง" อยู่ตอนหลังสุดของ "วังหลัง" มีหลังคาสองชั้น เป็นที่ประทับของพระมเหษีในสมัยราชวงศ์หมิง สองข้างของพระตำหนักมี "ห้องอุ่น" แต่เมื่อสมัยราชวงศ์ชิงได้เปลี่ยนเป็นที่บูชาเทพยดา หลังรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง ใช้ "ห้องอุ่น" ทิศตะวันตกเป็นที่บูชาตามความเชื่อส่าหมั่น "ห้องอุ่น" ด้านทิศตะวันออกเคยใช้เป็นห้องนอนของคู่บ่าวสาวซึ่ง จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิถุงจื้อและจักรพรรดิกวางซุ่ยก็เคยจัดพิธีอภิเษกสมรสที่นี่
พระที่นั่ง "เจียวไท่เตี้ยน"
พระที่นั่ง "เจียวไท่เตี้ยน" อยู่ระหว่างพระตำหนัก "เฉียนชิงกง" และพระตำหนัก "คุนหนิงกง" มีความหมายว่า "เป็นที่เชื่อมต่อกันระหว่างฟ้ากับดิน จะได้มีสุขภาพแข็งแรงและสมบูรณ์" ก่อสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง และสร้างใหม่เมื่อปีที่ 3 ของรัชสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง(ปี 1798 ) ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ได้ดัดแปลงเป็นที่จัดพิธีฉลองวันประสูติของพระมเหษี ในสมัยราชวงศ์ชิง พระมเหษีต้องเป็นตัวอย่างของผู้หญิงในด้านการเลี้ยงตัวไหมและทำผ้าไหมของประเทศจีน พระมเหษีในสมัยราชวงศ์ชิงจึงต้องจัดพิธีตรวจอุปกรณ์เครื่องใช้ในการเลี้ยงตัวไหมอยู่ในพระที่นั่ง "เจียวไท่เตี้ยน" ทั้งเป็นที่เก็บพระราชลัญจกรในสมัยราชวงศ์ชิงด้วย
Jiang/Dan