"เจิง เยว่ ชู หวู่" วันขึ้น 5 ค่ำเดือนอ้าย
วันนี้วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี 2554 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำเดือนอ้ายตามจันทรคติจีน ในภาษาจีนพูดว่า "เจิง เยว่ ชู หวู่" (Zheng Yue Chu Wu, 正月初五) โอกาสนี้ขออวยพรให้ท่านผู้ฟังทุกท่านเฮงๆๆ ในปีใหม่ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และสมความปรารถนาทุกประการ
วันขึ้น 5 ค่ำเดือนอ้ายนี้เป็นวันที่ 5 ของปีเถาะ จัดเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในช่วงตรุษจีน ตรุษจีนปีนี้ทั่วประเทศจีนหยุดยาวต่อเนื่องกัน 7 วันตั้งแต่วันที่ 2-8 กุมภาพันธ์
"ฉาย เสิน" (Cai Shen,财神)
วันนี้วันขึ้น 5 ค่ำเดือนอ้ายเป็นวันสำคัญ เพราะมีตำนานที่เล่ากันต่อๆ มาว่าเป็นวันเกิดของ "ไฉ่สันเย้" หรือ "ฉาย เสิน" "เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย" หรือ "เทพแห่งทรัพย์" (Cai Shen,财神) ฉะนั้น จึงมีประเพณีเซ่นไหว้ "ฉาย เสิน" "เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย" ในวันนี้ ด้วยการบวงสรวง "เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย" ทั้ง 5 ทิศ ได้แก่ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และกลาง โดยมีนัยว่า ออกเดินทาง 5 ทิศ ได้ทรัพย์ทั้ง 5 ทิศ โกยทรัพย์ทั้ง 5 ทิศ
ด้วยเหตุนี้ พอถึงเวลา 00.00 น. ของวันขึ้น 5 ค่ำเดือนอ้าย คือ ย่างเข้าวันนี้ แล้วก่อนรุ่งอรุณ ทุกบ้านก็จะเปิดประตูใหญ่และหน้าต่าง จุดธูปจุดประทัดและจุดดอกไม้ไฟ เพื่ออัญเชิญ "เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย" และปรารถนาให้ "เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย" จะนำเงิน ทอง ทรัพย์สิน อัญมณี มาให้ถึงบ้าน ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองในรอบปีใหม่
จำได้ว่าคุณพ่อจะจุดประทัดทุกวันขึ้น 5 ค่ำเดือนอ้าย จุดตอนเช้า ถือเป็นสิ่งพิเศษที่ต้องทำ นอกจากมีการจุดในวันไหว้ส่งท้ายปีเก่า
ประทัดแดงเจิดจ้า
พูดถึงการฉลองตรุษจีน ก็ต้องพูดถึงเรื่องการจุดประทัด ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเพิ่มแสงสีเสียงให้กับเทศกาลตรุษจีน ผู้คนจะนิยมจุดฉลองกันในเทศกาลตรุษจีนมากที่สุด มีการจุดกันบ้างในงานมงคลสมรส ตั้งแต่ก่อนวันตรุษจีน จะมีการจัดแผงจำหน่ายประทัดและดอกไม้ไฟตามสี่แยกต่างๆ ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งมาจากต่างมณฑล เทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงที่ประทัดและดอกไม้ไฟขายดี รอบๆ แผงจำหน่ายประทัดและดอกไม้ก็มีการติดป้ายหรือแถบผ้าที่มีข้อความเตือน เช่น ดิฉันสังเกตเห็นข้อความหนึ่งว่า "กรุณาจุดประทัดและดอกไม้ไฟตามกฎหมาย อย่างปลอดภัย และมีจิตสำนึกที่ดี" อ่านแล้วก็ชอบใจมาก เพราะว่ามักจะเกิดอุบัติเหตุจากการจุดประทัดและดอกไม้ไฟในช่วงฉลองตรุษจีน บางคนจะถูกสะเก็ดประทัดและดอกไม้ไฟจนได้รับบาดเจ็บที่ตาหรือส่วนร่างกายอื่นๆ
ในช่วงตรุษจีน บางคนกล้าจุดธูป แต่ไม่กล้าจุดประทัด หรือดอกไม้ไฟ เพราะเป็นคนขี้กลัว คิดว่างานนี้เหมาะกับผู้กล้าหาญมากกว่า แม้เดินผ่านที่ที่เขาจุดกัน ก็จะหนีไปไกลๆ ไม่งั้นจะตกใจ ส่วนที่ชื่นชอบคือ มองจากหน้าต่างดูเขาจุดดอกไม้ไฟและประทัด เพราะมีการออกแบบที่สวยงามหลากหลาย พลานุภาพแรง และเสียงดังสนั่นหวั่นไหว
คิวยาวที่กำลังรอซื้อตั๋วกลับภูมิลำเนาเดิมรับตรุษจีน
"เราฉลองตรุษจีนด้วยกัน" เป็นความปรารถนาของผู้ที่อยู่ต่างถิ่น ทั้งนักศึกษาที่เรียนอยู่ในต่างถิ่น แรงงานจากชนบทที่ไปทำงานในเมือง และบุคคลอื่นๆ ที่ต้องการกลับไปฉลองตรุษจีนที่ภูมิลำเนาเดิม จะได้อยู่พร้อมหน้ากับพ่อแม่ หรือ ลูกเมีย และญาติพี่น้องที่เป็นตระกูลเดียวกัน
การเดินทางเพื่อกลับไปพร้อมหน้ากับครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายก็ต้องพึ่งพาการขนส่งมวลชนเป็นหลัก การขนส่งผู้โดยสารในช่วงตรุษจีน ซึ่งในภาษาจีนพูดว่า "ชุน อวิ้น" (Chun Yun,春运) การขนส่งผู้โดยสารในช่วงตรุษจีน ในแต่ละปีมักจะมีช่วงเกือบ 40 วัน คือ ตั้งแต่ก่อนตรุษจีนสัก 2 สัปดาห์ และหลังตรุษจีนอีก 3 สัปดาห์ ปีนี้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เพราะว่า เมืองจีนมีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล กลับไปสักครั้งก็พยายามอยู่นานหน่อย
อย่างดิฉันเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปยังกวางโจว ระยะทางกว่า 2000 กิโลมตร โดยสารเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง รถไฟต้องใช้เวลา 20 ชั่วโมงขึ้นรถวันนี้ ถึงพรุ่งนี้
การขนส่งผู้โดยสารในช่วงตรุษจีนถือได้ว่าเป็นงานหนักประจำปี คาดว่าปีนี้จะมีการขนส่งผู้โดยสาร 2,850 ล้านคน จึงถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องการคมนาคม หากเป็นเรื่องสังคมและวัฒนธรรมประจำปีของจีน อาจจะเป็นงานหนักเหนือบ่ากว่าแรงสำหรับกระทรวงการคมนาคมและขนส่ง กระทรวงการรถไฟ และสำนักงานการบินพลเรือน
ฉะนั้น จึงมีคนเลือกไม่กลับภูมิลำเนาเดิม และหวังว่า แรงงานจากชนบทจะสามารถปักหลักอยู่ในเมืองได้ หรือทำงานในเมืองรอบๆ บ้านเกิด จะได้ไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมกันทุกปี
4. เมื่อคุยถึงตรุษจีน "ชุน เจี๋ย" (Chun Jie,春节) แล้ว ขอคุยถึงคำว่า "ชุน" (Chun, 春) หน่อย คำว่า "ชุน" ในภาษาจีนเป็นคำที่มีความหมายดี อุปมาว่าความมีชีวิตและพลังชีวิต ฉะนั้น จึงนำมาใช้กันบ่อย อย่างเวลาแปลชื่อและสถานที่ของไทย ก็นำคำว่า "春" มาใช้ เช่น พล.อ.ชาติชาย ชุนหวรรณ แปลเป็นจีนว่า "ชุน ฮา ว่าง" (春哈旺) จังหวัดชุมพร แปลว่า "ชุน เผิง" (春蓬) จังหวัดชลบุรี แปลเป็นจีนว่า "ชุน หวู่ หลี่" (春武里) อำเภอชุมพวง (จ.นครราชสีมา) แปลว่า "春藩" เป็นต้น
คำที่ใช้กันบ่อยอย่างคำว่า "ชุน เทียน" (Chun Tian,春天) ซึ่งแปลว่า "ฤดูใบไม้ผลิ" เป็นการเริ่มต้นของรอบปีใหม่
ในช่วงตรุษจีน ชาวจีนจะนิยมจัดเตรียมไม้มงคลต่างๆ เช่น "จวี๋ จื่อ" หรือ ส้ม (Ju Zi,橘子) ทั้งต้นและผลสีทอง เป็นเครื่องหมายของความผาสุก ความดีงาม มองแต่สิ่งที่ดีๆ มอบให้เป็นการอวยพร มอบในช่วงเทศกาล เป็นการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ แม้ในยามปกติ เวลาให้ "ส้ม" แก่เพื่อนๆ ก็ห้ามปฏิเสธ เพราะมีนัยยะว่า "สิริมงคล" เมื่อในช่วงเทศกาลตรุษจีน ก็ยิ่งมีความนิยมในการให้ส้มแก่กันเวลาไปเยี่ยมและอวยพรปีใหม่ที่บ้านญาติมิตร
นอกจากนี้ ยังมีส้มเช้ง (橙子)...ซึ่งก็มีความหมายสิริมงคล และเป็นของฝากญาติมิตรที่ชื่นชอบกันมากเช่นกัน
หากจะถามว่า "ฤดูใบไม้ผลิอยู่ที่ไหน" ก็อยู่ที่ไม้มงคล และธรรมชาตินั่นเอง ดั่งเพลงจีนที่ชื่อ "ชุน เทียน ไจ้ หนา หลี่" (Chun Tian Zai Na Li,春天在哪里) ซึ่งแปลว่า "ฤดูใบไม้ผลิอยู่ที่ไหน" เนื้อร้องตอนหนึ่งมีว่า
"ฤดูใบไม้ผลิอยู่ที่ไหน
ฤดูใบไม้ผลิอยู่ในป่าที่เขียวฉอุ่มโน่น
ที่นี่มีดอกสีแดง ที่นี่มีหญ้าเขียว
ยังมีนกน้อยที่ร้องเพลงได้..."
เพลงนี้เป็นเพลงเด็ก ไพเราะเพราะพริ้ง
ภาพวาดสิริมงคลเรื่อง "ฉาย เสิน" "เทพแห่งความร่ำรวย"
ส่วนดอกท้อก็นิยมกันมาก เพราะมีความสวยงาม มีความหมายถึงสันติสุข ผลท้อจะใช้เป็นสิ่งของที่มอบให้กันในช่วงปีใหม่ หากนำเข้ามาในบ้าน ภูตผีปีศาจจะไม่รบกวน ไม่มีเสนียดจัญไร ถือเป็นสิริมงคลต่อครอบครัว การมอบผลท้อเป็นการให้อายุยืน
อย่างไรก็ตาม ในหน้าหนาว ไม่มีลูกท้อ จึงนำกิ่งท้อ มาประดับที่บ้านแทนก็ได้
ที่เมืองกวางโจว ช่วงเทศกาลตรุษจีนมี "ตลาดดอกไม้" ชาวบ้านนิยมไปหาซื้อไม้ดอกไม้ประดับที่เป็นมงคลนานาพันธุ์มาประดับบ้านรับปีใหม่ ทั้งดอกท้อ ต้นส้ม เป็นต้น โดยมีนัยว่า ปีใหม่จะมีโชคลาภ ราบรื่น และมงคลทุกอย่าง
ฤดูใบไม้ผลิปีนี้เปิดฉากตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวัน "ลี่ ชุน" (Li Chun,立春) หรือ "วันเริ่มต้นแห่งฤดูใบไม้ผลิ" ฤดูใบไม้ผลิจึงเริ่มมาแล้ว 4 วัน นับแต่วันที่ 4-5-6 วันนี้วันที่ 4
วันนี้เราได้คุยเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันขึ้น 5 ค่ำเดือนอ้าย วันเกิดของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยไปแล้ว สุดท้ายนี้ขอให้แฟนๆ ซีอาร์ไอทุกท่านรวยๆ เฮงๆๆๆๆ ในรอบปีเถาะนี้ สวัสดี
(IN/LING)