ตำนานเกี่ยวกับ "ถู้เอ๋อเหยีย"
  2011-02-16 17:13:27  cri

ที่กรุงปักกิ่ง มีของเล่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ถู้เอ๋อเหยีย" แต่ก่อนเคยได้รับความนิยมอย่างมาก ปัจจุบัน เด็กๆ ไม่ค่อยเล่นกันแล้ว แต่ก็ถือเป็นของเล่นพื้นบ้าน และได้รับการอนุรักษ์ด้วย วันนี้ ก็จะพาท่านผู้ฟังมารู้จักกับ "ถู้เอ๋อเหยีย"

"ถู้เอ๋อเหยีย"เป็นของเล่นเด็กเฉพาะที่กรุงปักกิ่ง แหม ต้องเน้นว่าเป็นของเล่นเด็กที่กรุงปักกิ่งนะคะ ที่อื่นไม่มีค่ะ เป็นการทำเครื่องปั้นดินเผาให้เป็นรูปต่างๆ โดยมีกระต่ายเป็นตัวหลัก และเน้นอีกว่า ต้องเป็นกระต่ายตัวที่อยู่ในดวงจันทร์กับเทพธิดาด้วย เพราะสมัยก่อน แม้เป็นของเล่นสำหรับเด็ก แต่ก็ต้องสอนให้เด็กเคารพเทวดาเทพเจ้าต่างๆด้วย ทั้งๆที่เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิง "ถู้"ก็คือกระต่าย "เหยีย"แปลว่าปู่ เป็นคำยกย่องผู้ที่มีฐานะสูงส่งพ่อของพ่อก็คือปู่ และขยายไปกว้างกว่านี้เป็นคำเรียกเทพเจ้า กระต่ายในดวงจันทร์ไม่ใช่กระต่ายธรรมดาทั่วไปในโลก แต่เป็นกระต่ายหยก มิใช่กระต่ายป่า ไม่ใช่กระต่ายเลี้ยง จับมาเล่นไม่ได้ เป็นเจ้าแห่งกระจ่ายในวังกว่างหานในดวงจันทร์ ถ้าอยากสัมผัสกับกระต่ายหยกตัวนี้ ต้อง "เชิญ"ตัวตำลองมา นั่นก็คือ "ถู้เอ๋อเหยีย"ที่ทำจากดิน และต้องบูชาไว้ในที่อันสมควร ใครๆเห็น ก็ต้องพากันยกมือไหว้

ท่านผู้ฟังคงยังงงๆอยู่ว่า "ถู้เอ๋อเหยีย"เป็นอย่างไร ของเล่นชนิดนี้ทำด้วยดินเหนียว ใช้ดินเหนียวผสมกับเยื่อกระดาษ มีแม่พิมพ์ไม้ 2 อัน เป็นด้านหน้ากับด้านหลัง ใส่ดินเหนียวเข้าไปในแม่พิมพ์ รอจนแห้ง แล้วแกะออกมา ใช้กาวติด 2 ส่วนนี้ให้ติดกัน แล้วติดหูกระต่ายยาวๆให้ หลังจากนั้น ทากาวน้ำทั้งตัว แล้วทาสีต่างๆด้วย

"ถู้เอ๋อเหยีย"ตัวใหญ่สุดสูงประมาณ 1 เมตร เล็กสุดสูงประมาณ 3 เซ็นติเมตรเท่านั้น มีหน้าตาอย่างเดียวกันคือ หน้าขาว แก้มออกสีชมพู ใส่หมวกเหล็กและเสื้อเกราะ ข้างหลังจะปักธงหรือร่มด้วย ดูสง่างามมาก บางท่ายังขี่สัตว์ เช่น สิงโต เสือ กวาง และช้าง มือของ"ถู้เอ๋อเหยีย"ยังถือสิ่งของด้วย ซ้ายมือถือครก มือขวาถือสาก ทำท่าจะตำยา ซึ่งของเล่นชนิดนี้ ศิลปินพื้นบ้านมักทำขึ้นมาเพื่อวางจำหน่ายในช่วงเทศกาลวันไหว้พระจันทร์

พร้อมกับกาลเวลาที่ผันผ่าน ความเชื่อถือสรัทธาที่มีต่อ "ถู้เอ๋อเหยีย"ที่แม้มีรูปลักษณ์เป็นตัวกระต่ายเท่านั้น ก็ได้ค่อยๆพัฒนามามีรูปลักษณ์คล้ายเหมือนตัวคน คือ ศรีษะเป็นกระต่าย แต่ร่างกายเป็นคน มือถือครกและสาก ศิลปินออกแบบยังผสมผสานงิ้วปักกิ่งเข้าไป สร้างสีสันและท่วงท่าให้ "ถู้เอ๋อเหยีย" มีรูปลักษณ์ที่หลากหลาย นอกจากขี่สัตว์แล้ว ยังมีขี่นกยูงและนกกระเลียน ที่แปลกที่สุดคือ กระต่ายขี่เสือ เป็นสิ่งที่เกินคาดจริงๆ ช่างจินตนาการซะเหลือเกิน ศิลปินที่ฝีมือดีนั้น ยังสามารถทำให้ข้อมือและปากกระต่ายขยับได้ ยิ่งดึงดูดความสนใจของเด็กๆได้มากขึ้น

อาจจะมีผู้ฟังสงสัยว่า ทำไม "ถู้เอ๋อเหยีย"ต้องเป็นตัวกระต่ายที่อยู่ในดวงจันทร์ เรื่องนี้มีตำนานค่ะ เล่ากันว่า มีอยู่ปีหนึ่ง ที่กรุงปักกิ่ง เกิดโรคระบาด เกือบทุกครอบครัวมีคนป่วย รักษาอย่างไหร่ก็ไม่หาย เทพธิดาบนดวงจันทร์เห็นแล้ว รู้สึกเห็นใจ สังสารมนุษย์ จึงสั่งให้กระต่ายหยกลงมายังโลกเพื่อรักษาโรคให้ชาวบ้าน กระต่ายหยกแปลงตัวเป็นสาวสวย เคาะประตูทีละบ้าน รักษาผู้ป่วยโดยไม่ได้หลับไม่ได้นอน ผู้ที่ได้รับการรักษาพากันมอบของให้เธอเพื่อขอบคุณ แต่เธอก็ไม่อยากได้อะไร จึงหยิบเอาแต่เสื้อผ้าเท่านั้น ใส่เสื้อจากบ้านนี้ไป และจะเปลี่ยนให้บ้านหลังต่อไป จึงเปลี่ยนโฉมทุกวัน บางวันเหมือนหมอดู บางวันเหมือนพ่อค้า บางวันเป็นผู้หญิง บางทีเป็นผู้ชาย และเพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น เธอจึงเริ่มขี่สัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นม้า กวาง เสือ หรือสิงโต ประหยัดเวลาเดินทาง ทำให้เธอสามารถตระเวณไปรักษาคนป่วยได้มากขึ้น เธอไปทั่วกรุงปักกิ่ง และรักษาผู้ป่วยหายดีเป็นปกติทุกคน หลังจากนั้น เธอจึงกลับวังกว่างหานในดวงจันทร์ เพื่อระลึกกระต่ายหยก ชาวบ้านจึงปั้นกระต่ายหยกขึ้นมา แต่เนื่องจากแต่ละคนเห็นไม่เหมือนกัน จึงมีรูปลักษณ์และกริยาท่าทางต่างๆ หลายแบบหลายอย่าง เพื่อแสดงความขอบคุณ ชาวบ้านพากันตั้งรูปที่บ้าน มีผักและผลไม้เป็นเครื่องบวงสรวงบูชา เพื่อขอบคุณที่เธอนำความสุขมาให้แก่โลกมนุษย์ และเรียกด้วยความเคารพว่า "ถู้เอ๋อเหยีย" หรือ "ถู้ไหน่ไหน่" ซึ่งคำว่า "ไหน่ไหน่"แปลว่า คุณย่าค่ะ

เนื่องจาก "ถู้เอ๋อเหยีย"ได้รับความนิยมอย่างมากที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งชาวปักกิ่งมีนิสัยร่าเริง จึงมีสุภาษิตมากมายเกี่ยวกับ "ถู้เอ๋อเหยีย" อย่างเช่น

1. "ถู้เอ๋อเหยีย"หกล้ม—หูหัก

กระต่ายมีหูยาว หางสั้น ศิลปินเวลาออกแบบทำ "ถู้เอ๋อเหยีย" มักจะทำหูให้ยาวกว่าปกติ บางทีทำเป็นหูที่แกะออกมาได้ด้วย เมื่อตั้ง "ถู้เอ๋อเหีย"ไว้บนโต๊ะ ก็ดูมีชีวิตชีวา แต่ถ้าล้ม ส่วนใหญ่หูกระต่ายจะหัก ชาวปักกิ่งจึงเอาคำพูดนี้มาเปรียบเทียบกับเวลาที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเจออุปสรรคไม่สมหวัง ก็มักเทียบเคียงว่าเป็นถู้เอ๋อเหยียหกล้ม-หูหัก ภาษาจีนคือ 兔儿爷折跟头—窝了犄角เป็นคำพูดที่ชอบพูดกัน

2. "ถู้เอ๋อเหยีย"อาบน้ำ—อัมพาต

คำนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงวัตถุดิบที่ใช้ทำ "ถู้เอ๋อเหยีย"อย่างชัดเจน เพราะทำจากดินเหนียว เมื่อวางลงน้ำอาบน้ำให้ ย่อมจะละลาย จึงบอกว่าเป็นอัมพาต ซึ่งคำพูดนี้ ปัจจุบันมักจะใช้สำหรับคนที่ทำผิดกฏหมาย เมื่อพวกเขาจนมุมด้วยหลักฐาน ก็ต้องยอมรับผิด โดยไม่อาจตะแขงแก้ตัวได้ ภาษาจีนเรียกว่า 兔儿爷洗澡—瘫啦

3 "ถู้เอ๋อเหยีย"รับปาก---ไม่น่าเชื่อ

สำหรับชาวจีน เวลาสัญญาว่าจะช่วยทำอะไรให้ใคร มักจะตบอกแสดงว่าจะจำไว้ให้ขึ้นใจและจะทำให้แน่นอน แต่ถ้า "ถู้เอ๋อเหยีย"รับปาก จะไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากในตัว "ถู้เอ๋อเหยีย"ว่างเปล่า เท่ากับว่าไม่มีหัวใจและอวัยวะอื่นๆในตัว ถ้า "ถู้เอ๋อเหยีย"ตบหน้าอกสัญญาว่าจะทำอะไรให้ จะไม่มีหลักประกัน ซึ่งคำพูดนี้ ปัจจุบันมักจะหมายถึงคนที่ทำอะไรไม่ละเอียด ไม่รู้วิธีที่จะตกปากรับคำ และไม่คำนึงถึงสภาพของตัวเอง แต่คำพูดนี้ไม่ใช่คำติ เป็นเพียงคำที่ใช้ล้อเลียนเพื่อนว่าเป็นคนไม่ตั้งใจทำอะไรให้ใคร เหมือนที่รับปากไว้เท่านั้น ภาษาจีนเรียกว่า 兔儿爷拍心口—没心没肺

(In/Ping)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040