ย้อนอดีตภาคภาษาไทยกับนายโจวเซิง
  2010-04-27 18:48:15  cri

อิน – อีกท่านหนึ่งที่เราจะมาพูดคุยกันในโอกาสครบรอบ 60 ภาคภาษาไทยในเดือนเมษายนนี้ ท่านผู้นี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในภาคภาษาไทยด้วย โดยตำแหน่งท้ายสุดของท่านเป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์เอเซีย 2 สถานีวิทยุซีอาร์ไอ ท่านผ.อ.โจวเซิง สวัสดีค่ะ ทราบมาว่าท่านผ.อ.เกิดที่ไทย ขอความกรุณาเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่าท่านเกิดที่ไทยและท่านเดินทางมาจีนเมื่อไหร่ค่ะ

โจวเซิง – เกิดที่ฝั่งธน ณ ตลาดพลู ตอนเด็ก ๆ ก็เรียนหนังสือที่โรงเรียนราษฏร์ เรียนประถม ตอนชั้นมัธยมเรียนที่อัสสัมที่ศรีราชา และอัสสัมชันบางรัก ผมกลับมาเมืองจีนเรียนภาษาจีนต่อที่เซี่ยงไฮ้ ซัวเถาปี 1947 ตอน 1949 เข้าทำงานเป็นข้าราชการ ตอนแรกทำงานที่มณฑลฮกเกี้ยน เริ่มก็ทำงานที่ชนบท เข้าร่วมการปฏิวัติที่ดิน และก็ไปเมืองฮกจิ๋วเมืองเอกของฮกเกี้ยน ต้นปี 1955 มาทำงานซีอาร์ไอ

อิน – ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านก็เข้าทำงานแล้ว บรรยากาศการทำงานของช่วงนั้นเป็นอย่างไร

โจวเซิง – ตอนนั้นเพิ่งสถาปนาจีนใหม่ ประเทศอยู่ในช่วงยากลำบาก ตอนนั้นทำงานไม่มีเงินเดือน คือให้จ่ายค่าชดใช้ เงินเดือนก็น้อยมาก พอใช้ตัดผมสักครั้ง ทำงานก็อยู่ด้วยกัน กินข้าวก็กินด้วยกัน ที่อยู่ก็อยู่ใกล้ ๆ วิทยุ ตอนนั้นเป็นช่วงที่เริ่มบุกเบิก หน่วยภาษาไทยมีประมาณ 4 – 5 คนเท่านั้น ตอนนั้นยังไม่เรียกว่าหน่วยภาษาไทย มีภาษาเวียดนาม อินโดนีเซีย พม่าและไทย 4 ภาษาอยู่ด้วยกัน เรียกว่าหน่วยบูรพา ตอนนั้นออกอากาศประมาณครึ่งชั่วโมง เช้าครึ่งชั่วโมง เย็นครึ่งชั่วโมง เวลานั้นเราส่วนมากเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาจากเมืองไทย ภาษาไทยค่อยดีหน่อย ภาษาจีนอ่อนหน่อย แต่ตอนนั้นหัวหน้าของเราไม่รู้จักภาษาไทย เขารู้ว่าเราแปลถูกหรือไม่ถูก เข้าใจหรือไม่เข้าใจ เขารู้ได้ไง คือใช้วิธีให้เราแปลภาษาไทยแล้วให้แปลเป็นภาษาจีนอีกครั้งให้เขาฟังว่าถูกหรือผิด เครื่องพิมพ์ก็เก่าแก่มาก มีอยู่ 2 - 3 เครื่อง ปี 1960 หน่วยภาษาไทยค่อยพัฒนา มีคนมามาก เช่นคุณมานี คุณเสิ่นปิงหนิง คุณวงหุ้ยก็มา ช่วงปี 1964 หน่วยภาษาไทยมีประมาณ 18 คน

อิน – ทราบมาว่าการทำงานในขณะนั้น เราทำงานกันด้วยความสุขมาก ๆ

โจวเซิง – ตอนเช้า ก่อนอาหารเช้า เราต้องช่วยกันศึกษา อ่านเอกสารต่าง ๆ เรียนประวัติพรรคคอมมิวนิสต์ เรียนการต่อต้านของต่างประเทศบางประเทศก่อน แล้วค่อยทำงานไปและเรียนไป ถ้าข่าวชิ้นไหนจะแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีน ก็ต้องใช้มือเขียน ไม่มีเครื่องพิมพ์ตีดภาษาจีน

อิน – ยุคสมัยที่การทำงานไม่ได้ง่ายเหมือนปัจจุบัน การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อการทำงานในสมัยนั้นทำยังไงคะ

โจวเซิง – ปี 1957 ดูเหมือนการเงินการคลังของประเทศค่อย ๆ ดีขึ้น ก็มีการของบประมาณไปซื้อหนังสือและหนังสือพิมพ์จากไทย ปีหนึ่งคงมีจองหนังสือพิมพ์ไทยฉบับหนึ่ง และหนังสือจากไทย 4 - 5 เล่ม

อิน – ช่วงที่ท่านทำงานในภาคภาษาไทย มีความประทับใจที่อยากจะเล่าให้รุ่นหลังฟังหรือให้ท่านผู้ฟังได้ฟังเป็นยังไงบ้าง

โจวเซิง – บางทีมีข่าวด่วน ต้องรีบแปล ก็บอกว่าอย่าไปเที่ยวใหน ไปดูหนังที่ตรงข้าม พอมีข่าวมาก็รีบไปบอกว่า มีข่าวมาแล้วรีบมาแปล ผมจำได้ว่าข่าวด่วนที่สุดคือ ตอนนั้นเกิดสงครามกับอินเดีย ข่าวด่วนที่สุดที่กระทรวงกลาโหมส่งคำแถลง แปลข่าวได้ใบหนึ่งก็ส่งไปที่ห้องทำงาน จากห้องแปลภาษาไทยไปห้องออกอากาศมีระยะประมาณร้อยกว่าเมตร พอแปลใบหนึ่งเสร็จก็ต้องวิ่งส่งไปห้องอัดเสียงให้โฆษกอ่าน ตอนนั้นผมจำได้ว่าโฆษกเป็นหง เค่อหนัน

สิ่งที่น่าประทับใจยังมี เมื่อปีที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และคุณ(พลเอก)ชาติชาย ชุนหะวัณ มาเยือนจีน หารือการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทย รู้สึกนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นคนร่า่งคำแถลง 10 ประการระหว่างไทยกับจีน ฝ่ายจีนก็มีคนมาเจรจากับเราบ้าง ว่าเรื่องนี้จะเข้าใจอย่างไร ทางกระทรวงการต่างประเทศเคยมาหารือว่า สองสามประโยคนี้หมายความว่าอะไร เราบอกว่าจริง ฝ่ายไทยพูดจริง ถ้าพูดถึงสิ่งใดที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจมาก คือการสถาปนาความสัมพันธ์และออกคำแถลงเราก็เข้าร่วมด้วย ตอนหลังผมเคยไปทำงานที่ไทยหลายครั้ง นายก ฯ จีนไปไำทยก็มีหลายครั้ง ฝ่ายไทยให้ความช่วยเหลือมาก อย่างเช่นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ก็ให้ความช่วยเหลือมาก อย่างเช่นผมไปทำงาน ที่มีนายก ฯ จีนไปเจรจากับไทย ตอนนั้นคุณ(พลเอก)เปรม ติณสูลานนท์เป็นนายก ฯ ไทย นายก ฯ จีนคือคุณจ้าวจื่อหยาง เราอยากจะออกข่าวให้ทันด่วนที่สุด กรมประชาสัมพันธ์ขอถามคุณ(พลเอก)เปรม บอกว่าให้เขาถ่ายทอดสดที่งานเลี้ยงไหม คุณ(พลเอก)เปรมอนุมัติให้พวกเราไปถ่ายทอดสดมาจีน สองทุ่มที่นั่นออกมาจีน 3 ทุ่มพอดี

อิน – นั้นแปลว่าความเป็นสื่อของซีอาร์ไอ เราได้รับความร่วมมือจากสื่อไทย และภาครัฐบาลไทยและภาครัฐบาลจีนอย่างดียิ่งทีเดียว ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อำนวยการศูนย์เอเซีย 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศอาเซียน ท่านคิดว่าบทบาทของซีอาร์ไอ มีส่วนในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างจีนกับคนไทยหรือผู้ฟังในประเทศอาเซียนอย่างไรบ้างคะ

โจวเซิง – ตอนนั้น ก่อนสถาปนาความสัมพันธ์ ก็มีจดหมายผู้ัฟังไทยเขียนมา อย่างเช่นมีคนถามที่เขตสิบสองปันนามีกองทัพทหารประชาชนจีนหรือเปล่า ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลไปประชุมที่บันดุง รัฐมนตรีต่างประเทศไทยก็ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตีโจว เิอินไหลก็ชวนคนไทยไปดู ตอนหลังมี 2 คณะไทยไปดู และมีคณะผู้แทนนักข่าวด้วย สมัยนั้น รัฐบาลไทยเพียงอนุญาต 3 สำนักข่าวจีนส่งผู้สื่อข่าวไปไทย คือ สำนักข่าวซินหวา หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้าและหนังสือพิมพ์กวางหมิงรึเป้า ซีอาร์ไอยังไม่ยอมให้ไป เพราะว่าสำหรับซีอาร์ไอและภาคภาษาไทย รัฐบาลจีนกำหนดไว้ว่า ออกอากาศมี 3 นโยบายหลัก คือ1.โฆษณาความสำเร็จในการปฏิวัติและการสร้างสรรค์สังคมนิยม 2. โฆษณานโยบายสันติภาพของจีน 3.โฆษณาให้ประเทศที่ถูกอเมริกาควบคุมขึ้นมาต่อต้าน และเปิดโปงนโยบายรุกรานของอเมริกา ตอนนั้นเป็นนโยบายหลักของภาคภาษาไทย และก็มีกำหนดไว้ว่า เกี่ยวกับกิจการภายในของไทย เราไม่เข้าแทรกแซง ไม่ก้าวก่าย ไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองของไทย

อิน – ก็คือทางจีนเองก็พยายามที่จะเอาข้อมูลข่าวสารจากไทยมาเผยแพร่ให้ประชาชนจีนทราบ ในขณะเดียวกัน ก็เอาข้อมูลจากจีนไปเผยแพร่ให้ประชาชนไทยทราบด้วย ส่งท้ายท่านอยากจะบอกกับคนรุ่นหลังที่ทำงานในภาคภาษาไทยอย่างไรบ้าง

โจวเซิง – คือพวกผมบอกว่าเวลานี้การโฆษณาเทคนิคทางฝ่ายนี้ดีมาก นอกจากเสียงวิทยุปักกิ่ง ยังมีการสื่อสารทางเครือข่าย เดี่๋ยวนี้มีโอกาสมาก และมีผู้เชี่ยวชาญคนไทยมาช่วยทำงานเยอะ ช่วยเหลือภาคภาษาไทยมาก และยังได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายต่าง ๆ ของประเทศไทย ผมคิดว่าจะทำงานได้ดีกว่านี้ ควรเชื่อมโยงประชาชนไทย – จีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ให้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

อิน – ขอขอบพระคุณคุณโจวเซิง ที่กรุณามาพูดคุยกันในวันนี้ ย้อนรอยช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ให้เราได้ฟังกัน ขอบคุณมาก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040