ย้อนอดีตภาคภาษาไทยกับนายเถียน อี้หยุน
  2010-04-27 18:51:07  cri

อิน: สวัสดีค่ะท่านผู้ชมค่ะ ครบรอบ 60 ปีภาคภาษาไทยซีอาร์ไอเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ในโอกาสนี้เรามาย้อนอดีตครบรอบ 60 ปีกันว่า บุคคลสำคัญที่ทำงานในภาคภาษาไทยซีอาร์ไอนั้น แต่ละท่านมีความประทับใจอะไรยังไงกันบ้าง วันนี้มาถึงอาจารย์เถียนอี้หยุน หรืออาจารย์เสถียร นาสมบูรณ์ หลายท่านคงจะเป็นศิษย์เรียนภาษาจีนและก็ฟังรายการของท่านผู้นี้นะค่ะ สวัสดีค่ะอาจารย์เถียนค่ะ

เถียน: สวัสดีค่ะครับ

อิน: ขอความกรุณาอาจารย์เถียนเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า ชอบใจชื่ออาจารย์เถียนมากเลย ชื่อจีนอาจารย์เถียนก็คืออาจารย์เถียนอี้หยุน ชื่อไทยก็คือเสถียร นาสมบูรณ์ ใครเป็นผู้ตั้งชื่อไทยให้อาจารย์คะ

เถียน: ตอนที่ผมเข้าทำงานในสถานีวิทยุกระจายเสียงปักกิ่งภาคภาษาไทย ไม่มีชื่อไทย มีแต่ชื่อจีน ชื่อจีนชื่อเถียนอี้หยุน ออกเสียงค่อนข้างจะยาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณปรีชา พบสุข อดีตนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย นำคณะมาเยือนประเทศจีน ก็บอกว่าเถียนอี้หยุน อ่านยากมาก ขอตั้งชื่อไทยจะเอาไหม ผมบอกว่าชื่อไทยชื่ออะไรดี คุณปรีชาก็บอกว่า คนจีนแซ่เถียนขอเอาคำว่า เสถียร เสียงคล้าย ๆ กัน เถียนอ้วนมาก ก็ขอตั้งชื่อว่านาสมบูรณ์ เพราะว่าคำว่า "นา" ภาษาจีนแปลว่า "เถียน" นาสมบูรณ์นั้นแสดงให้เห็นว่า "อ้วน" ก็สุขภาพสมบูรญ์ เลยก็ใช้คำว่านาสมบูรณ์ เสร็จแล้วผมก็เคยรับคณะของดร.อุกฤษ มงคลนาวินครั้งหนึ่ง ผมก็ขอความเห็นจาก ฯ พณ ฯ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน บอกว่าชื่อนี้ดีไหมใช้ได้ไหม ท่านบอกว่าดี ใช้ได้ตลอด อย่างนี้ผมก็เอาชื่อนี้มาเป็นชื่อไทยของผมใช้จนถึงทุกวันนี้

อิน: เป็นชื่อที่ภูมิใจไหมคะ

เถียน: ภูมิใจมากครับ

อิน: ทราบมาว่าช่วงเวลาที่อาจารย์เถียนทำงานได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีไทยหลายต่อหลายท่านด้วยกัน ขอกรุณาเล่าให้ฟังได้ไหมคะ

เถียน: ผมเคยรับคณะของท่านเปรม ติณสูลานนท์ คณะของท่านชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีไทย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ช่วงที่ผมเป็นผู้สื่อข่าวของวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยประจำกรุงเทพฯ พอดีจะเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน เลยก็ไปขอสัมภาษณ์คุณบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทย เกี่ยวกับเรื่องไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในกรุงเทพฯ เลยก็มีโอกาสขอสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านของประเทศไทยครับ

อิน: ทราบว่าช่วงที่ประจำอยู่ในประเทศไทย อาจารย์เถียนมีความประทับใจตำรวจจราจรของไทยมากเลย

เถียน: ช่วงที่ผมเพิ่งไปถึงกรุงเทพฯ ผมยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับกฎจราจรของกรุงเทพฯ หรือว่าของประเทศไทย เพราะว่ารถในจีนชิดขวา ของประเทศไทยนั้นชิดซ้าย ซึ่งต่างกัน และผมก็จะไปทำข่าวที่วิทยุไทยแลนด์ (สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย) และผมเข้าถนนรัชดาภิเษกจากอโศก เลยต้องหาที่ยูเทิร์นถึงจะเข้าวิทยุไทยแลนด์ได้ แต่รถวิ่งเร็วมาก ผมกลัวมาก กลัวว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น เลยก็จอดรถข้างถนน แล้วไปขอความช่วยเหลือจากนายตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ ถนน ผมบอกว่าผมเป็นผู้สื่อข่าวของจีน เพิ่งมาถึงกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยจะเชี่ยวชาญในการขับรถตามถนนของกรุงเทพฯ จะเข้าวิทยุไทยแลนด์ จะเข้ายังไง เดี๋ยวนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าจะไปถูกและก็ไม่เกิดเหตุอะไร นายตำรวจคนนี้ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง ผมไปข้างหน้า นำทางให้ แล้วคุณไปกับผมก็แล้วกัน ไม่ต้องกลัว แล้วเขาก็สตาร์ทเครื่องมอเตอร์ไซค์และเปิดไฟรถตำรวจด้วย ผมก็ตามหลังรถของนายตำรวจคนนี้ ไม่กี่นาทีก็เข้าลานของวิทยุไทยแลนด์ พอดีครั้งนั้นผมไม่ได้ติดของที่ระลึกอะไร ไม่ได้ติดอยู่กับตัว ผมก็บอกว่าขอบคุณมาก แต่เสียดายผมไม่ได้ติดของที่ระลึกอะไรจะฝากให้ จะแสดงความขอบคุณของผม จะทำยังไงดีก็ไม่ทราบ แต่นายตำรวจคนนี้ก็ยิ้ม ๆ แล้วก็ยกมือแสดงความเคารพด้วย และก็บอกว่าไม่เป็นไรท่าน ในกรุงเทพฯหรือในประเทศไทย ไม่ว่าตำรวจคนไหน จะคอยรับใช้ท่านตลอดครับ เพราะว่าคนจีนกับคนไทยเป็นมิตรกันเป็นพี่น้องกัน ตั้งแต่ครั้งโน้นมาถึงทุกวันนี้ ผมก็เข้าใจคำนี้ว่า คนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจลึกซึ้งต่อคนจีน เลยผมก็ได้รับภาพประทับใจจากนายตำรวจคนนี้และประชาชนไทย ซึ่งผมเรียนภาษาไทยมาแล้วหลายสิบปี รู้สึกว่าไม่ผิดหวัง เพราะว่ามีมิตรที่ดีในประเทศไทย

อิน: ค่ะ อาจารย์เถียนทำงานที่ภาคภาษาไทยซีอาร์ไอ เข้าทำงานในปี 1981 แล้วก็มาเกษียณเมื่อปี 2004 หลังเกษียณแล้วก็ยังมาทำงานให้กับภาคภาษาไทยซีอาร์ไออยู่ ผู้ฟังก็จะได้ฟังรายการของอาจารย์เสถียรเป็นประจำ นั่นก็คือเรียนภาษาจีนกับซีอาร์ไอ ในการทำรายการตรงนี้ อาจารย์คิดว่า ถ้าเทียบเมื่อสมัยก่อนกับปัจจุบันนี้ เรื่องของการเรียนภาษาจีนในหมู่ของคนไทยได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน

เถียน: วิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยเปิดรายการเรียนภาษาจีนสัปดาห์ละคำตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ประมาณ 1985 หรือ 1986 ตั้งแต่เปิดรายการนี้มาจนถึงปัจจุบัน มีผู้ฟังจำนวนมากเขียนจดหมายถึงวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทย และบางท่านถึงกับเขียนด้วยภาษาจีนด้วย มาคุยด้วย มารายงานข้อคิดเห็น ความรู้สึกนึกคิดในการรับฟังรายการนี้ ทำให้จดหมายจากผู้ฟังของวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยได้เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

อิน: อาจารย์เถียนคะ ถ้าพูดถึงความประทับใจในการทำงานที่ภาคภาษาไทยซีอาร์ไอ และก็ในโอกาสครบรอบ 60 ภาคภาษาไทย สิ่งที่อาจารย์เถียนประทับใจมากที่สุดของการทำงานตรงนี้คืออะไรคะ

เถียน: ผมรู้สึกว่าได้รับภาพประทับใจอย่างลึกซึ้งจากคำกล่าวของสมเด็จพระเทพฯคำหนึ่ง คือวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมโยงไมตรีจิตรมิตรภาพระหว่างประชาชนและรัฐบาลของประเทศทั้งสอง ผมถือว่าคำนี้ลึกซึ้งมากและพอดี พอเหมาะพอเจาะที่จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทของวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยในการทำงานครับ คือวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยนอกจากได้บรรยายสรุปสภาพของประเทศจีนในการสร้างสรรค์สังคมนิยมและการปฏิรูประบบของประเทศชาติหลาย ๆ ด้าน ยังได้รายงานข่าวสำคัญ ๆ คือผู้ใหญ่ของไทยมาเยือนประเทศจีนเรื่อย ๆ ตั้งแต่นายกฯ ผู้ใหญ่จากราชสำนัก และก็ยังมีผู้ใหญ่หลาย ๆ ด้าน และบุคคลในวงการต่างๆ จากประเทศไทยก็มี ตัวอย่างเช่นจากวงการสตรี วงการผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ จนกระทั่งกีฬา ศิลปิน ก็รายงานด้วย ไปขอสัมภาษณ์ด้วย และก็ทำให้คนไทยรู้ว่าการไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศทั้งสองเป็นยังไงบ้าง และก็ผู้ใหญ่ของจีนก่อนจะไปเยือนประเทศไทย ผู้สื่อข่าวของวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยก็ไปขอสัมภาษณ์ด้วย ถามผู้ใหญ่ของจีนว่า การไปเยือนประเทศไทย มีเป้าประสงค์อย่างไร ก็บอกว่าไปคุยเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็ดี ทางวัฒนธรรมก็ดี การกีฬา การศึกษาก็มีบ้าง เป้าประสงค์ในที่สุดก็เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทำงานอย่างนี้ทำให้ประชาชนประเทศทั้งสองได้รับความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ก็ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าอย่างนี้คนไทยกับคนจีนนั้นไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน

อิน: อาจารย์เถียนอยากจะฝากคำอวยพร 60 ภาคภาษาไทยยังไงบ้างคะ

เถียน: ก็เชื่อว่าอนาคตของวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยย่อมจะสดใสยิ่งขึ้นทุกวัน และก็ขยายบทบาทในการเสริมสร้างไมตรีจิตรมิตรภาพระหว่างประเทศทั้งสองมากยิ่งขึ้น แม้ว่าพวกผมอาจจะต้องเกษียณ เนื่องจากมีอายุมากขึ้น แต่ภารกิจงานของวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยจะไม่มีวันหยุดยั้งเลย ต้องไปเรื่อย ๆ

อิน: ค่ะ ขอขอบคุณอาจารย์เสถียร นาสมบูรญ์ หรืออาจารย์เถียน อี้หยุนที่กรุณามาย้อนรอย 60 ปีภาคภาษาไทยให้เราได้ฟังถึงความประทับใจในการทำงานของอาจารย์ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ สวัสดีค่ะ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040