วิวัฒนาการของพุทธศาสนาในจีน
  2012-04-19 18:45:41  cri

ชิว ซูหลุน

พุทธศาสนาเป็นหนึ่งในสามศาสนาใหญ่ในประเทศจีน ความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาในจีนนั้น ไม่ได้ด้อยไปกว่าลัทธิขงจื๊อ และศาสนาเต๋าซึ่งเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในจีนเอง นักพุทธศาสตร์ของจีน มีข้อสันนิษฐานเรื่องกาลเวลาที่พุทธศาสนาแผ่เข้าจีนแตกต่างกันหลายทัศนะ บางท่านสันนิษฐานว่า เข้าไปในจีนตั้งแต่สมัยจักรพรรดิฉินสื่อหวง (จิ๋นซีฮ่องแต้ 246 – 210 ก่อน ค.ศ.) บางท่านก็สันนิษฐานว่าเข้าไปเมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงกระทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 3 แล้ว ได้ส่งพระธรรมทูตออกเผยแผ่พุทธศาสนานอกอาณาจักรอินเดีย และในครั้งนั้น พระองค์ก็ได้ส่งพระมหาเถระเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในประเทศจีนด้วย แต่หลักฐานที่สามารถนำมาอ้างอิงได้แน่นอนนั้น คือพุทธศาสนาแผ่เข้าจีนในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปลายสมัยราชวงศ์ซีฮั่น (ฮั่นตะวันตก 206 ก่อน ค.ศ.- ค.ศ. 25) ต้นราชวงศ์ตงฮั่น (ฮั่นตะวันออก ค.ศ. 25 – ค.ศ. 220) ทั้งนี้ เพราะนักโบราณคดีได้ขุดพบพระพุทธรูปในสมัยนี้หลายแห่งด้วยกัน เช่น พระพุทธรูปที่ภูเขาเผิงซัน มณฑลเสฉวน พระพุทธรูปที่ภูเขาข่งอ้วงซัน มณฑลเจียงซู เป็นต้น

กล่าวสำหรับชาวจีนแล้ว พุทธศาสนาเป็นศาสนาและวัฒนธรรมต่างชาติที่แผ่เข้าไป ฉะนั้น เมื่อแรกแผ่เข้าไปนั้น จึงประสบกับการถูกกีดกันอย่างรุนแรงจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเป็นเบื้อง แรก กว่าจะเป็นที่ยอมรับและกลายเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของจีนได้ ก็กินเวลาหลายร้อยปี

พุทธศาสนาแผ่เข้าในจีนได้ผ่านวิวัฒนาการอย่างสลับซับซ้อนถึง 3 ระยะด้วยกัน คือ ระยะแรก เป็นระยะที่อาศัยวัฒนธรรมจีนเป็นทุ่นเกาะ เพื่อประคองตัวเองให้ปักหลักลงได้บนผืนแผ่นดินจีน แล้วค่อย ๆ เผยแผ่ออกไป ระยะที่สอง เป็นระยะที่เกิดภาวะขัดแย้งและปะทะกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนอย่างรุนแรง ระยะที่สาม เป็นระยะที่เป็นที่ยอมรับและกลายเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งส่วนหนึ่งของจีน

ในส่วนท่าทีของวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนที่มีต่อศาสนาพุทธเมื่อแรกแผ่เข้าไปนั้น ก็มีวิวัฒนา การที่สลับซับซ้อนพอ ๆ กัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะเช่นกัน คือ หนึ่ง ระยะรับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ สอง ระยะกีดกันและต่อต้าน และสาม ระยะยอมรับเป็นศาสนาและวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของจีน

ระยะแรก อาศัยวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเป็นทุ่นเกาะ

ตั้งแต่ปลายยุคราชวงศ์ซีฮั่นผ่านตงฮั่น เข้าสู่ยุคสามก๊กจนถึงยุคราชวงศ์จิ้น เป็นยุคที่จีนมีสงครามกลางเมืองติดต่อสืบเนื่องกันมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินกันอยู่เนือง ๆ สภาพสังคมตกอยู่ในภาวะผันผวนและเปลี่ยนแปลงโดยชนชั้นปกครองที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเป็นใหญ่เรื่อยมา ชนชั้นปกครองในช่วงหลายร้อยปีมานี้ ส่วนใหญ่จะดำเนินนโยบายเปิดสู่โลกภายนอก พุทธศาสนาจึงได้แผ่เข้ามาในช่วงโอกาสดังกล่าว และใช้เวลาหลายร้อยปีค่อย ๆ แผ่ขยายออกไป จนในที่สุดเป็นที่ยอมรับของชาวจีนทั่วไป

ในระยะที่แรกแผ่เข้าไปนั้น ท่าทีของวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนที่มีต่อพุทธศาสนาจะอยู่ในลักษณะปกป้อง ดูเชิงและคุ้มครองตัวเองมากกว่าที่จะใช้ท่าทีก้าวร้าว ซ้ำยังเป็นฝ่ายส่งอิทธิพลกระทบพุทธศาสนาอีกด้วย จึงทำให้พุทธศาสนาที่แรกแผ่เข้าไปนั้นได้วิวัฒนาการไปตามครรลองของวัฒนธรรมจีน ในเวลานั้น กระแสหลักของแนวความคิดแต่ละยุค แต่ละสมัยของวัฒนธรรมจีนเองซึ่งก็ได้วิวัฒนาการตัวเองไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา มีผลต่อวิวัฒนาการของพุทธศาสนาที่แพร่เข้าไปอย่างมาก พุทธศาสนาเองก็มีอรรถเนื้อหาอุดมไพศาลและมีพุทธนิกายต่าง ๆ แตกแขนงออก ไปมากมายหลายนิกาย นิกายต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อแรกแผ่เข้าไปในจีนก็แยกย้ายกันไปเสาะหาวัฒน-ธรรมอันมีอยู่หลายแขนง หลายประเภทของจีนเป็นทุ่นเกาะตามที่เห็นเหมาะสม

เปิดดูวิวัฒนาการในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่า ในสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น มโนคติเกี่ยวกับทางด้านศาสนา พุทธศาสนาจะอาศัยไสยศาสตร์ของเต๋าเป็นทุ่นเกาะ เพื่อให้ตัวเองปักหลักลงได้ ส่วนทางศาสนธรรมนั้น พุทธต้องอาศัยแนวความคิดของลัทธิขงจื๊อเป็นทุ่นเกาะเพื่อเผยแผ่ตัวเอง

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ไสยศาสตร์ในจีนเฟื่องฟูมาก ผู้คนบูชาเทพเจ้า บูชาเซียน นับถือพ่อมดหมอผี เชื่อเรื่องโชคลาง เชื่อเรื่องเวทมนต์คาถา ชอบพยากรณ์โชคชะตาของตนตามจักรราศีบ้าง ตามลักษณะสีสันของก้อนเมฆ (ภาษาจีนเรียกว่า อ้วงชี่ ) บ้าง ตามลักษณะการเคลื่อนไหวของลม (ภาษาจีนเรียกว่า เฟิงเจี่ยว) บ้าง หรือไม่ก็ทำนายดวงชะตาของตนด้วยกระดองเต่า กระดูกสัตว์หรือด้วยซือเฉ่า ( หญ้าชนิดหนึ่ง) เป็นต้น วิทยาอาคมต่าง ๆ ในสมัยนั้น จะถูกนำมาใช้ในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ในการพยากรณ์โชคลาง ในการขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ หรือขอให้ได้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เป็นต้น

ศาสนาสำคัญที่ชาวจีนนับถือกันในสมัยนั้น คือหวงเหล่าเสฺวียซึ่งได้พัฒนาเป็นศาสนาเต๋าในกาลต่อมา คำว่า หวง หมายถึงหวงตี้ ตามตำนานจีน ชาวจีนนับถือว่าเป็นบรรพบุรุษของตน เหล่า คือ เล่าจื้อนั่นเอง ทั้งหวงตี้และเล่าจื้อนั้น ศาสนาเต๋าบูชานับถือเป็นศาสดาจารย์แห่งลัทธิของตนทั้งสองท่าน อันหวงเหล่าเสฺวียนั้น แม้จะเป็นสำนักปรัชญาสำนักหนึ่ง แต่โดยกำเนิดก็มีพื้นฐานมาจากไสยศาสตร์โบราณและผูกพันเหนียวแน่นกับไสยศาสตร์ซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น วิธีเผยแพร่แนวความคิดของหวงเหล่าเสฺวียก็โดยการกระทำพิธีต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์เป็นสำคัญ

พุทธศาสนาแพร่เข้าไปในจีนอย่างเป็นหลักเป็นฐานก็ในสมัยช่วงที่หวงเหล่าเสฺวียและไสย-

ศาสตร์ต่าง ๆ กำลังรุ่งเรืองสุดขีด จึงถูกชนชาวจีน. โดยเฉพาะชนชั้นปกครองมองด้วยสายตาอย่างมองไสยศาสตร์แขนงหนึ่ง เช่นเดียวกับที่มองหวงเหล่าเสฺวีย คนทั่วไปบูชานับถือพระพุทธเจ้าเป็นเสมือนเทพเจ้าองค์หนึ่ง เช่นเดียวกับหวงตี้และเล่าจื้อ คนส่วนใหญ่มักจะเอาปรัชญาและทฤษฎีของหวงเหล่าเสฺวีย ทำความเข้าใจหรืออรรถาธิบายพระคัมภีร์และพระสูตรของพุทธศาสนา เช่น มักจะเข้าใจเบญจศีลข้อแรกกับข้อที่สาม ที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้ว่า ให้ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้ละเว้นจากการผิดประเวณีว่าเป็นสิ่งเดียวกับ "รักชีวิต เกลียดการเข่นฆ่า งดเมถุน เว้นความฟุ่มเฟือย" ของหวงเหล่าเสฺวีย แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ศีลสองข้อนี้ของพระพุทธองค์เป็นคำสอนให้ละเว้นจากการทำบาป ทำชั่ว อันเป็นวิถีที่จะช่วยให้ผู้คนขจัดปัดเป่าความทุกข์ ความเจ็บปวดให้พ้นไปจากชีวิต ซึ่งเป็นคนละนัยกับปรัชญาของหวงเหล่าเสฺวียที่เน้นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าได้ริไปเสริมแต่งให้ผิดทำนองคลองธรรมดั้งเดิมของมัน ในสมัยสามก๊ก ก็มีการถอดคำว่า "นรก"ออกเป็น "ไท่ซัน" ทั้งนี้ก็เพราะชาวจีนในสมัยนั้นเชื่อกันว่า คนเราเมื่อตายไปแล้ว วิญญาณจะล่องลอยไปที่ภูเขาไท่ซันก่อน จากสองตัวอย่างนี้เราจะเห็นได้ว่าท่าทีของชาวจีนที่มีต่อพุทธศาสนาเมื่อแรกแผ่เข้าไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านปรัชญาหรือด้านความรับรู้ ล้วนแล้วแต่เป็นท่าทีที่ใช้ปฏิบัติต่อหวงเหล่าเสฺวียนั่นเอง

ในส่วนพุทธศาสนาเอง เมื่อแรกแผ่เข้าไปนั้น ก็ได้อาศัยหวงเหล่าเสฺวียเป็นทุ่นเกาะ เพื่อโน้มน้าวผู้คนให้เชื่อถือศรัทธา ชาวพุทธในสมัยนี้ ขนานนามพุทธศาสนาว่า "โฝเต๋า" เรียกพระภิกษุสงฆ์ว่า "เต๋าเหยิน" ซึ่งนักบวชเต๋าจะเรียกตัวเองว่า "เต๋าซื่อ" คำเอ่ยอ้างที่ว่า " เต๋ามี 96 แขนง ที่ยิ่งใหญ่เลิศล้ำคือ "โฝเต๋า"นั้น เป็นเนื้อหาสำคัญที่ชาวพุทธในสมัยนั้นใช้เผยแผ่พุทธศาสนาในเวลานั้น ซึ่งก็พอจะทำให้มองเห็นภาพได้ว่าชาวพุทธนั้น พยายามที่จะใช้เต๋าให้เป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่ตนเองเพียงไร และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การยืมเอาวิธีการทางไสยศาสตร์ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในสังคมยุคนั้น เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พุทธธรรม ก็เป็นวิธีเดียวกับที่นักบวชเต๋าชอบทำกัน เช่นการใช้เวทมนต์คาถารักษาโรคภัยไข้เจ็บ การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ การทำนายโชคลางต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นหนทางที่นำตัวเองเข้าไปใกล้ชิดกับมหาชนได้ง่ายขึ้นและอย่างมีผล ในหนังสือประวัติพุทธศาสนาในจีน ซึ่งมีผู้เขียนกันมากมายมาแต่โบราณกาล ก็ได้บันทึกถึงบรรดาพระมหาเถระที่เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในจีนนั้น ล้วนมีวิทยาอาคมแก่กล้ากันทุกคน เช่น พระอาจารย์อันซื่อเกา พระอาจารย์คังเซิงฮุ้ย พระอาจารย์ธรรมกาล พระอาจารย์คุณภัทร ล้วนได้ชื่อว่าเป็นพหูสูตที่มีความรอบรู้ในพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง และมีความสามารถในด้านโหราศาสตร์ ด้านการทำนายโชคลาง การรักษาโรคร้ายด้วยเวทมนต์คาถา การเสดาะเคราะห์ เป็นต้น จนสามารถพูดได้ว่า แท้จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นที่สนใจและดึงดูดใจผู้คนในสมัยนั้น ให้เกิดศรัทธาในพุทธศาสนายิ่งกว่าพุทธธรรมที่เผยแผ่อยู่ในเวลานั้น ภาพลักษณ์ของพระพุทธเจ้าในมโนคติของชาวจีนในยุคนั้น จะเป็นภาพของเทพเจ้าที่มีอภินิหารยิ่งใหญ่ บนพระศอมีรัศมีเป็นพวยพุ่งและสามารถเนรมิตกายได้ตามใจชอบ ภาพลักษณ์เช่นนี้ ความจริงเป็นภาพของเซียนที่ชาวจีนรู้จักมักคุ้นมาแต่โบราณ

สรุปแล้ว แม้โดยหลักความจริง ศาสนธรรมของพุทธนั้น จะแตกต่างกับไสยศาสตร์ที่แพร่หลายอยู่ในขณะนั้นเป็นตรงกันข้าม แต่ผู้คนในสมัยนั้นก็ใช้สายตาที่มองไสยศาสตร์ มองพุทธศาสนา ชาวพุทธเองก็อาศัยวิธีนี้ โน้มน้าวจิตใจผู้คนให้เชื่อถือศรัทธาอย่างได้ผล

นักพุทธศาสตร์จีนในปัจจุบัน ลงความเห็นว่า การที่พุทธศาสนาเมื่อแรกแผ่เข้าไปนั้นต้องอาศัยวัฒนธรรมจีนเป็นทุ่นเกาะ เพื่อให้ตัวเองสามารถเผยแผ่ออกไปได้นั้น เป็นกฎทั่ว ๆ ไปในการแทรกซึมของวัฒนธรรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง การที่ศาสนาใหม่ศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะศาสนาต่างชาติเมื่อแผ่เข้าไป จะให้ศาสนธรรมหรือปรัชญาของตนเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่ชนที่แปลกใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมของทุกชาติ ล้วนมีด้านที่จะอนุรักษ์ คุ้มครองตนเองและต่อต้านสิ่งที่เข้าไปใหม่อยู่ในตัวเองเป็นวิสัย ดังนั้น ผู้เผยแผ่จะต้องสันทัดในการปรับปรุงสิ่งที่นำเข้าไปใหม่ ให้สอดคล้องกับแนวความคิดและความต้องการของผู้คนในดินแดนแห่งนั้น ทั้งยังต้องทำให้หมู่ชนนั้นเชื่อว่า การเสาะแสวงหาของตนมีหนทางเป็นจริงขึ้นได้ ศาสนานั้นจึงจะสามารถสร้างศรัทธาปสาทะขึ้นในหมู่ชนเหล่านั้นและเป็นที่ยอมรับในที่สุด

ครั้นเข้าสู่ยุคราชวงศ์เว่ย (ค.ศ.220 – 256 ยุคสามก๊ก) และจิ้น (ค.ศ.265 - 420) พุทธศาสนาก็เปลี่ยนจากอาศัยหวงเหล่าเสฺวียมาอาศัยเสฺวียนเสฺวียเป็นทุ่นเกาะ เพื่อเผยแพร่ตนเอง ทั้งนี้ เนื่องจากกระแสหลักแห่งวัฒนธรรมจีนในยุคนี้คือเสฺวียนเสฺวีย ในยุคนี้ เสวียนเสวียกับพุทธมีท่าทีถ้อยปรองดองกัน และรับเอาอิทธิพลของกันและกันไว้ โดยเฉพาะ เสฺวียนเสฺวียดูเหมือนจะเป็นฝ่ายรับอิทธิพลของพุทธมากกว่าจะเป็นฝ่ายส่งอิทธิพลกระทบพุทธ เข้าสู่ยุคนี้ แต่ละพุทธนิกายในจีน จะเผยแพร่พระคัมภีร์หมวดปรัชญา ปารมิตาสูตรเป็นหลัก และต่างก็เอาภาษาของเสฺวียนเสฺวียมาอรรถาธิบายคัมภีร์พุทธศาสนา พุทธศาสนาจึงแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ตรงกันข้ามกับเสฺวียนเสฺวียซึ่งกลับเสื่อมลง แต่มีข้อน่าสังเกตคือ ทฤษฎีของเสฺวียนเสฺวียที่ชาวพุทธอาศัยเป็นทุ่นเกาะในเวลานั้น ค่อนข้างจะสับสน ไม่เป็นระบบและมีความขัดแย้งในตัวของมันเองอยู่มาก จึงทำให้พระคัมภีร์หมวดปรัชญาปารมิตาสูตรเกิดความแปลกแยกและแตกแขนงออกไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง พุทธนิกายในจีนในเวลานั้นแตกแขนงออกเป็น "หกสำนัก เจ็ดนิกาย" ทั้งนี้ เนื่องด้วยแต่ละนิกายมีความเข้าใจในหลัก"สุญญตา"อันเป็นหัวใจสำคัญของพระคัมภีร์หมวดปรัช-ญาปารมิตาสูตรแตกต่างกันออกไป หลังอุบัติ "หกสำนัก เจ็ดนิกาย" แล้วก็เกิดทฤษฎี "ว่าด้วยสิ่งทั้งหลายทั้งปวงแท้คือมายานั้นเป็นสุญญตา"ของพระอาจารย์เซิงเจ้า พุทธศาสนาในสมัยนี้วิวัฒนา-การจากฝ่ายอาศัยเสฺวียนเสฺวียเป็นทุ่นเกาะ กลายมาเป็นฝ่ายเติมเต็มความไม่สมบูรณ์ของเสฺวียนเสฺวีย

นอกจากหวงเหล่าเสฺวียกับเสฺวียนเสฺวียแล้ว พุทธศาสนาเมื่อแรกแผ่เข้าสู่จีนนั้น ยังได้อาศัยแนวความคิดลัทธิขงจื๊อเป็นทุ่นเกาะเพื่อเผยแพร่พุทธธรรมอีกด้วย พูดถึงหลักปฏิบัติแล้ว แนวความคิดลัทธิขงจื๊อกับหลักธรรมของพุทธแตกต่างกันมาก เช่น หลักปรัชญาของขงจื๊อ จะเน้นให้เห็นถึงความถูกต้องในความเลื่อมล้ำต่ำสูงของความสัมพันธ์ในสังคมว่า"ผู้มีฐานะสูงกว่าสมควรที่จะได้ปกครองผู้มีฐานะต่ำกว่า ผู้มีฐานะต่ำกว่าสมควรที่จะต้องปฏิบัติตามความต้องการของผู้มีฐานะสูงกว่า" หลักความคิดเช่นนี้ ผิดกับหลักธรรมพุทธศาสนาที่ให้คนเราตั้งความสัมพันธ์อยู่บนความเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกัน แต่เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับศีลธรรมและมโนคติของชาวจีน ชาวพุทธที่เผยแผ่พุทธธรรมในสมัยนั้น เวลาแปลหรืออธิบายหลักธรรมของพุทธ ก็จะพยายามเลือกสรรและเพิ่มเติมเนื้อหาที่เห็นว่าชาวจีนสามารถรับได้เข้าไว้ และตัดทอนเนื้อหาที่เห็นจะรับไม่ได้ออกไป เช่น พระอาจารย์อันซื่อเกาในสมัยซีฮั่น เมื่อแปลพระคัมภีร์สิคาโลสูตรก็ได้เพิ่มเติมและดัดแปลงเนื้อความในพระสูตรนี้ให้เข้ากับหลักจริยธรรมของลัทธิขงจื๊อ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพระจักรพรรดิกับขุนนาง ระหว่างบิดากับบุตร สามีกับภรรยา พี่กับน้องและระหว่างเพื่อนฝูงด้วยกันเข้าไป เพื่อให้เป็นที่รับได้ของชาวจีนทั่วไป และเมื่อพระอาจารย์คังเซิงฮุ้ยแปลและเรียบเรียงพระคัมภีร์หมวดษฑปารมิตาสูตรได้นำเอาหลักเมตตาบารมีของมหายานผสมผสานเข้ากับมโน คติเกี่ยวกับ"เหยินอ้าย"หลักเมตตาการุญของลัทธิขงจื๊อ โดยการเสนอทัศนคติว่า "การปกครองอาณาประชาราษฎร์ เคารพผู้อาวุโสกว่า กตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้าและผู้มีพระคุณ ละเว้นจากการกระทำทุกข์ทรมานและเข่นฆ่าผู้อื่น ละเว้นจากความละโมบ เหล่านี้ล้วนเป็นมโนคติที่ประสานเข้ากันได้อย่างสนิทกับทฤษฎีทางการเมืองของลัทธิขงจื๊อ พระอาจารย์ฮุ้ยเหยี่ยนในสมัยตงจิ้นได้เสนอทัศนคติว่า "อันศาสนธรรมทั้งนอกและในนั้น หากรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้แล้วไซร้ ก็จะนำความสว่างรุ่งโรจน์มาสู่" คำว่า "ใน" ในที่นี้หมายถึงลัทธิขงจื๊อ อันเป็นสำนักปรัชญาที่ถือกำเนิดขึ้นในจีนเอง ส่วนคำว่า "นอก" นั้นหมายถึง "พุทธศาสนา" อันเป็นศาสนาที่แพร่เข้ามาจากอินเดีย

ระยะที่สอง เกิดภาวะขัดแย้งและปะทะกับวัฒนธรรมจีน

พุทธศาสนากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนโดยแก่นแท้แล้วผิดแผกแตกต่างกันมาก จึงขัดแย้งกันตั้งแต่แรกแผ่เข้าไป แต่ชาวฮั่นในสมัยนั้น รู้จักและเข้าใจพุทธศาสนาแต่พียงผิวเผิน ประกอบกับอิทธิพลของพุทธยังไม่เด่นชัดนัก และที่สำคัญคือชาวพุทธเองได้พยายามอาศัยวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเป็นทุ่นเกาะ เพื่อเผยแผ่ตัวเอง ดังนั้นความขัดแย้งต่าง ๆ เมื่อแรกแผ่เข้าไปนั้น จึงดูไม่โดดเด่น การปะทะกันซึ่งมีอยู่บ้างก็ไม่รุนแรงอะไร แต่พอล่วงเข้าสมัยราชวงศ์จิ้น มีการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาอย่างเป็นระบบและเป็นล่ำเป็นสัน จำนวนคัมภีร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้แปลมีความเข้าใจในพุทธปรัชญาและพุทธธรรมลึกซึ้งยิ่งขึ้น แปลได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจและมองเห็นความแตกต่างระหว่างพุทธกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนได้ชัดเจน ความ

ขัดแย้งต่าง ๆ ที่เคยแฝงเร้นอยู่ก็ปรากฏเด่นชัดออกมา ดังนั้น จึงเกิดปัญหาว่าจะยืนหยัดในหลักพุทธธรรม หรือจะยังคงอรรถาธิบายพุทธคัมภีร์และพระสูตรต่าง ๆ ตามครรลองความรับรู้ของคนจีนต่อไป ปัญหานี้จึงเป็นปัญหามูลฐานที่เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งอื่น ๆ ตามมา คัมภีร์ต่าง ๆ ที่แพร่เข้าไปเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ธรรมบางข้อก็เป็นที่ยอมรับของชาวจีนในสมัยนั้น บางข้อก็ไม่เป็นที่ยอมรับกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม ผลกระทบของพุทธศาสนาต่อสังคมยุคนั้น ก็แผ่กว้างและเติบใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การอาศัยวัฒนธรรมจีนเป็นทุ่นเกาะเพื่อเผยแผ่ตัวเองลดน้อยลง มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ความขัดแย้งและการปะทะกันจึงเป็นไปอย่างเปิดเผย และทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ และที่พิเศษออกไปอีกก็คือพุทธศาสนาในจีนนั้น ยังข้องเกี่ยวอยู่กับการเมืองและมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นเอกเทศจากบ้านเมือง ซึ่งเรียกกันว่า "เศรษฐกิจวัด" โดยวัดแต่ละวัดจะมีที่ดินเป็นของตนเองมากมายกว้างใหญ่ไพศาลและให้เช่า ทำรายได้ให้สูงมาก นอกจากนี้ วัดยังมีรายได้จากทางอื่นอีกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงเป็นเหตุให้เกิดขัดแย้งในด้านผลประโยชน์กับชนชั้นปกครองขึ้นอีกเปลาะหนึ่ง ทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวเพิ่มความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะนอกเหนือจากความขัดแย้งทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจแทรกรวมอยู่ด้วย ความขัดแย้งนี้ บางครั้งก็นำไปสู่การปะทะกันด้วยกำลังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในยุคหนานเป่ยเฉา (ราชวงศ์เหนือใต้ ค.ศ. 420 – 589) ดูจะดุเดือดรุนแรงยิ่งกว่ายุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์ ข้อขัดแย้งบางกรณีเรื้อรังจนถึงยุคราชวงศ์สุย (581 - 618) และถัง (618 – 907 ) จึงได้ยุติลง

ในหนังสือ "หงหมิงจี๋" และ "กว่างหงหมิงจี๋ " ซึ่งเป็นหนังสือที่พระภิกษุสมัยราชวงศ์หนานเฉา (ราชวงศ์ใต้ 420 – 589 )และราชวงศ์ถัง เรียบเรียงขึ้นเพื่อสดุดีพุทธศาสนา และบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับพุทธศาสนาในสองสมัยนั้น ช่วยให้ชนรุ่นหลังทราบถึงความขัดแย้งและการปะทะกันระหว่างพุทธกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนอย่างค่อนข้างละเอียด ความขัดแย้งต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ จะปรากฏในรูปของการปะทะกันระหว่างพุทธกับลัทธิขงจื๊อและพุทธกับเต๋า ซึ่งมีการขับเคี่ยวกันมาทั้งในด้านปรัชญา ในด้านศีลธรรมและในด้านการสถาปนาสถานะความเป็นหนึ่งใน ศาสนมณฑล ในด้านปรัชญานั้น มีการโต้แย้งกันด้วยปรัชญาว่าด้วย "การเกิด การตาย" "กายและจิต" และ "กฎแห่งกรรมมีจริงหรือไม่" ทัศนะของลัทธิขงจื๊อเห็นว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในสากลโลก ย่อมเกิดและตายไปตามธรรมชาติของมันเอง อันคนเรานั้นเมื่อตายไปแล้วจิตย่อมดับไปด้วย ส่วนทัศนะของเต๋านั้น แม้จะเน้นเรื่องทำอย่างไรคนเราจึงจะหลุดพ้นจากความตายไปได้ ทำอย่างไรจึงจะบำเพ็ญตนให้บรรลุเป็นเซียนได้ แต่เต๋าก็เห็นว่า กายและจิตนั้นจะแยกออกจากกันไม่ได้ ปรัชญาเหล่านี้ ตรงข้ามกับปรัชญาพุทธที่เห็นว่า สิ่งมีชีวิตทั้งมวลย่อมมีการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอันเป็นทฤษฎี"จิตไม่ดับตามสังขาร" ความขัดแย้งที่ตามมากับสองทฤษฎีนี้คือ ปัญหาว่าด้วยเรื่องกฎแห่งกรรมมีจริงหรือไม่ พุทธปรัชญาเห็นว่า สรรพชีวิตจะเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารตามกรรมที่ก่อไว้ มีแต่ผู้บรรลุนิพพานภาวะแล้วเท่านั้น จึงจะหลุดพ้นจากกฎนี้ได้ ดังนั้น กรรมใดที่สร้างไว้ ก็อาจตอบสนองได้ทั้งในชาตินี้ ชาติหน้าและชาติที่ไกลออกไป ความจริงทฤษฎีว่าด้วยกฎแห่งกรรมนี้ มีอยู่ในความเชื่อดั้งเดิมของจีนเหมือนกัน ผิดกันตรงที่ของจีนนั้น เชื่อว่ากรรมจะตามสนองให้เห็นทันตาในชาตินี้มิใช่ชาติหน้า เพราะถือคติความเชื่อที่ว่า ร่างกายเมื่อตายไปแล้ว จิตย่อมแตกดับไปด้วย แต่จะอย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารของปรัชญาพุทธนั้น มีอิทธิพลต่อจิตใจของชาวจีนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้คนหวาดกลัวการทำบาป และมุ่งมั่นในการทำความดี

ความขัดแย้งในด้านศีลธรรมนั้น ขัดแย้งกันในปัญหาเรื่อง "สมณะควรจะกราบไหว้กษัตริย์หรือไม่"ซึ่งเป็นปัญหาที่โต้แย้งกันมาหลายร้อยปี ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ของจีน ถือว่า กษัตริย์เป็นโอรสแห่งสวรรค์ รับราชโองการจากสวรรค์ อันเป็นโองการที่ใครจะฝ่าฝืน ละเมิดหรือปฏิเสธไม่ได้เด็ดขาด การที่ภิกษุสงฆ์ไม่ยอมกราบไหว้กษัตริย์ จึงถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อศีลธรรมจรรยาอย่างร้ายแรง ความขัดแย้งที่สัมพันธ์โดยตรงกับปัญหานี้ คือ ความแตกต่างกันในด้านขนบประเพณีระหว่างพุทธกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน ลัทธิขงจื๊อและเต๋าพยายามทุกวิถีทางที่จะต่อต้านขนบประเพณีต่าง ๆ ของพุทธ ด้วยเห็นว่าเป็นประเพณีของชาวต่าง ชาติ ส่วนชาวพุทธนั้นก็พยายามยืนยันให้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สถิตเสถียรอยู่เหนือเทพเจ้าทั้งปวงและทรงคุณธรรมประเสริฐสุด

ส่วนทางด้านความขัดแย้งในการสถาปนาสถานะความเป็นหนึ่งในศาสนมณฑลนั้น เป็นการต่อสู้กันด้วยปรัชญาว่าด้วยโลกียะและโลกุตตระเป็นสำคัญ ปรัชญาลัทธิขงจื๊อเป็นปรัชญาทางสังคมศาสตร์ เน้นเรื่องหน้าที่ของบุคคลต่อสังคมปฏิเสธการตัดทางโลกหันเข้าหาทางธรรมของพุทธ ลัทธิขงจื๊อพยายามแสดงและยืนยันว่าการปลูกฝังจริยธรรมให้กับชนในชาติ และการปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขนั้น ปรัชญาลัทธิขงจื้อเพียงสำนักเดียวก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องอาศัยปรัชญาของพุทธ ส่วนพุทธก็ใช้วิธีปรองดองเข้าหา ด้วยการสร้างทฤษฎี "รวมเป็นหนึ่งเดียว" ในขณะเดียวกัน ก็พยายามเผยแพร่ปรัชญาความรับรู้เรื่อง"ไตรชาติ" (อดีตชาติ ปัจจุบันชาติและ

ปรชาติ) ว่าเหนือกว่าของลัทธิขงจื๊อที่ถือทฤษฎีเพียงชาติเดียว

ส่วนกับเต๋านั้น ชาวพุทธไม่เคยยอมปรองดองด้วย ไม่ว่าในด้านหลักทฤษฎีหรือหลักปฏิบัติ ลัทธิเต๋าวิวัฒนาการมาจากสำนักคิดขึ้นเป็นศาสนานั้น มีปัจจัยส่งเสริมหลายประการ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือ มีบุคคลจำนวนหนึ่ง อันประกอบด้วยนักบวช พวกผู้วิเศษและพ่อมดหมอผี มีความรู้สึกต่อต้านพุทธศาสนาอย่างรุนแรง จึงได้รวมตัวกันสถาปนาลัทธิเต๋าขึ้นเป็นศาสนา วัตถุประสงค์ก็คือต่อต้านพุทธศาสนานั่นเอง

ในการขับเคี่ยวระหว่างพุทธกับเต๋านั้น เต๋าได้เปรียบในด้านที่เป็นวัฒนธรรมของจีนเอง จึงพยายามเข้าครอบงำความรู้สึกในด้านชาตินิยมของชนในชาติด้วยการตอกย้ำว่า พุทธนั้นเป็นศาสนาต่างชาติต่างแดน นอกจากนี้ บางครั้งเต๋ายังยืมอำนาจพระจักรพรรดิอันเป็นอำนาจสูงสุดมากวาดล้างทำลายพุทธ ในประวัติศาสตร์ เคยมีเหตุการณ์กวาดล้างพุทธศาสนาหวังจะให้สิ้นสูญไปถึง

สามครั้ง เรียกกันว่า " ภัยจากซันอู่" "ซันอู่" หมายถึงจักรพรรดิไท่อู่ตี้ในสมัยราชวงศ์เว่ย (ค.ศ. 220 - 265) จักรพรรดิโจวอู่ตี้ในสมัยราชวงศ์เป่ยโจว (ค.ศ. 557 - 581)และจักรพรรดิถังอู่ตี้ในสมัยราชวงศ์ถัง การกวาดล้างทั้ง 3 ครั้งนี้ นอกจากจะมีปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นมูลเหตุแล้ว ยังมีการต่อสู้ระหว่างพุทธกับเต๋าเป็นปัจจัยสำคัญรวมอยู่ด้วย

กล่าวโดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนา ลัทธิขงจื๊อและศาสนาเต๋าในระยะที่สองนี้ จะเป็นดังนี้ ลัทธิขงจื๊อกีดกันพุทธมากกว่าที่คิดจะปรองดอง ไม่กีดกันศาสนาเต๋าแต่ก็ไม่ยอมปรองดองด้วย เต๋ามีท่าทีปรองดองกับลัทธิขงจื๊อมากกว่ากีดกัน ส่วนพุทธนั้นก็พยายามที่จะปรองดองกับลัทธิขงจื๊อมากกว่ากีดกัน แต่ระหว่างพุทธกับเต๋านั้น มีแต่การกีดกัน ต่อต้านและปะทะกันตลอดมา ไม่เคยปรองดองกันเลย

ระยะที่สาม

เป็นที่ยอมรับและกลายเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งส่วนหนึ่งของจีน

ในยุคราชวงศ์หนานเป่ยเฉา เป็นยุคที่พุทธ ลัทธิขงจื๊อและเต๋าเกิดความขัดแย้งและปะทะกันอย่างรุนแรงที่สุด ชนชั้นปกครองในยุคนี้บ้างก็อุปถัมภ์พุทธ ทำลายเต๋า บ้างก็อุปถัมภ์เต๋า ทำลายพุทธ แต่ทั้งพุทธและเต๋าก็ไม่เคยถูกทำลายสิ้นไป ไม่นานก็กลับฟื้นตัวขึ้นใหม่ได้ทุกคราไป เมื่อล่วงเข้ารัชสมัยจักรพรรดิถังไท่จงของราชวงศ์ถัง พระองค์ทรงดำเนินนโยบายอุปถัมภ์ทั้งสามศาสนาให้อยู่ควบคู่กันไป ผิดกับพระจักรพรรดิองค์ก่อน ๆ ที่ยอมให้มีอยู่ได้เพียงศาสนาเดียว ถึงแม้ว่าในปลายรัชสมัยราชวงศ์ถัง จักรพรรดิถังอู่จงย้อนกลับมากวาดล้างพุทธอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงกระแสแห่งการปรองดองเพื่ออยู่ร่วมกันไปของสามศาสนาได้

นโยบายของจักรพรรดิถังไท่จง มีความสำคัญอย่างอเนกอนันต์ต่อการปรองดอง ประนี ประนอมเข้าหากันของสามศาสนา นโยบายนี้ได้ดำเนินต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งนี้ ก็เพราะชนชั้นปกครองส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องต้องกันว่า หลักปรัชญาของลัทธิขงจื๊อนั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการบริหารปกครองแผ่นดิน หลักพุทธธรรมมีคุณค่าประเสริฐเลิศล้ำในด้านปลูกฝังศีลธรรมและจริยธรรม ส่วนวิถีแห่งเต๋านั้น ดีสำหรับทำนุบำรุงร่างกายให้มีพลานามัยแข็งแรง อายุยั่งยืน

ในส่วนสามศาสนาเองนั้น จากการที่ได้ขัดแย้ง ขับเคี่ยวกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงทำให้เกิดผลสะท้อนกลับถึงกันอย่างหยั่งลึก ทั้งพุทธ ลัทธิขงจื๊อและเต๋าต่างก็รับเอาอิทธิพลของอีกสองฝ่ายไว้ ในสังคมเกิดกระแสความคิดที่จะ "รวมสามให้เป็นหนึ่ง"ขึ้น ด้วยเห็นว่าทั้งสามศาสนานี้ มีรากฐานความคิดที่เป็นเอกฉันท์อยู่ข้อหนึ่งซึ่งอาจรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวได้ คือ "การเน้นการฝึกทางจิตและการปลูกฝังคุณธรรม"พุทธศาสนาในระยะนี้สามารถหลอมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนได้อย่างสนิท และสามารถผูกกระชับจิตใจและศีลธรรมของชาวจีนไว้อย่างเหนียวแน่น การประสานเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน เราอาจจะวิเคราะห์จากความเป็นจริง 2 ด้านคือ หนึ่งพุทธรับเอาแนวคิดของลัทธิขงจื๊อและศาสนาเต๋าไว้ในปรัชญาและทฤษฎีของตน สองลัทธิขงจื๊อและศาสนาเต๋ารับเอาหลักธรรมของพุทธไว้ในปรัชญาของตน

พุทธรับเอาแนวความคิดของลัทธิขงจื๊อและเต๋ามาเป็นของตน ทำให้เกิดพุทธนิกายที่เป็นลักษณะของจีนเองขึ้นกว่าสิบนิกาย นิกายที่สำคัญได้แก่ นิกายฮวาเอี๋ยนจงหรือที่เรียกว่านิกาย อวตังสกะ นิกายเทียนไถจงที่เรียกว่านิกายสัทธรรมปุณฑริก และนิกายฉันจงหรือนิกายเซนเป็นต้น พุทธนิกายที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ ส่งอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต่อปรัชญาของจีนในกาลต่อมา นิกายฮวาเอี๋ยนจงซึ่งนับถือและเผยแพร่พระคัมภีร์พุทธาวตสฺก มหาไวปุลฺยสูตร (Buddhã vatamฺska–Mahãvaipulya Sūtra) เป็นสำคัญนั้น ได้ผสมผสานเบญจจรรยา (เมตตา กตัญญู มารยาท ปัญญา สัจจะ) ของลัทธิขงจื๊อให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับเบญจศีลในพุทธศาสนา พุทธนิกายเทียนไถจงซึ่งนับถือและเผยแพร่พระคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นหลัก ได้เสนอทฤษฎีว่าด้วย "เวไนยสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีวิธีจะหลุดพ้นจากโอฆสงสารได้หลายวิถีด้วยกัน"โดยเนื้อแท้แล้ว ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่เปิดหนทางปรองดองระหว่างพุทธกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนขึ้น ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือนิกายฉันจง(เซน)ซึ่งนับถือคัมภีร์ลังกาวตารสูตร คัมภีร์มหายานศรัทโธฏปาทศาสตร์ เป็นต้น ได้เสนอทฤษฎีว่าคนเราอาจจะบรรลุโพธิสัตว์ภูมิได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดทางโลก ทฤษฎีนี้โดยเนื้อแท้แล้วก็คือการรับเอาอิทธิพลลัทธิธรรมชาติของลัทธิเต๋าและการทำตัวตามอารมณ์ของเสฺวียนเสฺวีย

นิกายทั้งสามนี้ เจริญรุ่งเรืองและเป็นที่ศรัทธาปสาทะในหมู่ชาวฮั่นมาก ตรงข้ามกับโยคะนิกายที่พระถังซำจั๋งนำเข้าไปในสมัยราชวงศ์ถัง แม้ว่าจะเคยเจริญมากในยุคหนึ่ง แต่ก็แพร่หลายอยู่เพียง 30 ปีเท่านั้น ภายหลังพระถังซำจั๋งแล้วก็เสื่อมลง ทั้งนี้ ก็เพราะนิกายนี้ไม่ได้ผสมผสานเอาวัฒนธธรรมดั้งเดิมของจีนเข้าไว้ เป็นพุทธศาสนาแบบอินเดียแท้ จึงไม่เป็นที่นิยมของชาวจีนทั่วไป

ปัญหาเรื่อง"สมณะควรจะกราบไหว้กษัตริย์หรือไม่" ถูกนำมาถกเถียงอีกครั้งในยุคนี้ จักรพรรดิถังเกาจงเคยมีพระราชโองการให้พระภิกษุสงฆ์กราบไหว้พระจักรพรรดิและบิดามารดา แต่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากพระเถระทั้งปวง จึงจำต้องโอนอ่อนผ่อนปรนให้เป็นไหว้เฉพาะผู้บังเกิดเกล้าเท่านั้น แม้กระนี้ก็ดี ในสมัยราชวงศ์ถังตอนกลาง หนังสือที่พระเถระผู้ใหญ่มีถึงพระจักรพรรดิก็ได้เปลี่ยนสรรพนามที่ใช้เรียกขานตนเองว่า"ผินเซิง"(อาตมา) หรือ"ซาเหมิน"(สมณะ) เป็น"เฉิน"(ข้าพุทธเจ้า) และต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน เมื่อมีการชำระเรียบเรียงหนังสือ "ไป่จั้งชิงกุย" ขึ้นใหม่ ก็ได้นำบทถวายพระพรพระจักรพรรดิเป็นบทประณามพจน์ ติดตามด้วยบทฉลองคุณบิดรมารดา แล้วจึงถึงบทสดุดีพระพุทธคุณ สุดท้ายจึงเป็นบทอภิวาทน์เจ้านิกาย การขับเคี่ยวกันในปัญหานี้ ซึ่งเรื้อรังมาหลายร้อยปีก็เป็นอันยุติลงด้วยลักษณะนี้

การปรองดองกันของพุทธกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนในอีกด้านหนึ่งคือ ลัทธิขงจื๊อและศาสนาเต๋ารับเอาหลักพุทธธรรมและพุทธปรัชญาไว้เป็นของตนมากมายเช่นกัน จนกลายเป็นพลังผลักดันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของสองลัทธิดั้งเดิมของจีน

ลัทธิเต๋านับแต่วิวัฒนาการเป็นศาสนาขึ้นแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตาต่อต้านพุทธ แต่ถ้าว่าโดยระบบแนวคิดแล้ว เต๋าไม่อาจจะเทียบกับพุทธได้เลย ก่อนหน้านี้ เต๋าไม่มีคัมภีร์อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน ส่วนใหญ่ลัทธิขงจื๊อสืบทอดไว้เกือบทั้งหมด เต๋าจึงหันมารับและลอกเลียนเอาพุทธปรัชญาและทฤษฎีต่าง ๆ ของพุทธไว้มากมาย และนำมาดัดแปลงเป็นคัมภีร์ของตน จนอาจพูดได้ว่า คัมภีร์ต่าง ๆ ของเต๋าจำนวนมากรับอิทธิพลของพุทธไว้ แม้ว่าจุดแสวงหาในขั้นบั้นปลายของพุทธกับเต๋าจะเป็นคนละขั้วก็ตาม

เหยินจี้อี๋ นักพุทธศาสตร์ชื่อดังยุคปัจจุบันของจีน มีความเห็นว่า ตรรกวิทยาและจิตวิทยาของพุทธปรัชญานั้นลึกซึ้ง ละเอียดกว่าและมีความกระชับรัดกุมกว่าทั้งปรัชญาศักดินาของจีน และเทววิทยาของยุโรปกลางมาก การแพร่เข้าสู่จีนของพุทธมีผลทำให้ลัทธิขงจื๊อหันมาปรับปรุง ปฎิรูปตนเองอย่างแข็งขัน จากการเป็นสำนักคิดกลายเป็นศาสนา ในสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หมิง ซึ่งเรียกกันว่า"ซ่งหมิงหลี่เสฺวีย นี่คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนา ที่สามารถหลอมรวมตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน

อิทธิพลของพุทธที่มีต่อลัทธิขงจื๊อ จะเห็นได้จากการที่ลัทธิขงจื๊อเปลี่ยนจุดยืนจากการให้ความสำคัญด้านสังคมและการเมืองมาเป็นการให้ความสำคัญในด้านฝึกฝนจิตใจและปลูกฝังคุณ-ธรรม บนรากฐานนี้ ลัทธิขงจื๊อได้กำหนดหนังสือที่จะใช้เป็นคัมภีร์ของตนให้แน่ชัดลงไป อันได้แก่ "เหมิ่งจื๊อ ต้าเสฺวีย จงยง หลุนอฺวี่ รวมเรียกว่า "ซื่อซู"หรือ "หนังสือสี่เล่ม" หนังสือเหล่านี้กลายเป็นหนังสือคัมภีร์ของลัทธิขงจื๊อและต่อมาทางราชสำนักก็กำหนดให้หนังสือสี่เล่มนี้เป็นหนังสือที่เป็นบรรทัดฐานสำหรับปลูกฝังคุณธรรม ที่ผู้จะสอบเข้าเป็นขุนนาง ต้องเรียนรู้ให้ถ่องแท้ทุกคน

อนึ่ง พุทธนิกายต่าง ๆ ในจีน มักจะย้ำเรื่องจิตแท้ของคนว่า แก่นแท้ของจิตคนนั้นเป็นจิตบริสุทธิ์ แต่ต้องกลายมาไม่บริสุทธิ์เพราะถูกความเพ้อเจ้อ ความไร้แก่นสารครอบคลุม พูดง่าย ๆ ก็คือ เพราะไปรับเอากิเลส ตัณหาและอุปาทานเข้าไว้ ทำให้มัวหมอง ปรัชญาแนวนี้ แต่เดิมนั้นไม่มีในปรัชญาของขงจื๊อ แต่มารับเอาไว้ในสมัยราชวงศ์ซ่งและสร้างปรัชญาว่าด้วย "จิตแห่งธรรมและจิตแห่งวัตถุ"ขึ้น อันเป็นปรัชญาที่พูดถึงการดำรงอยู่อย่างตรงข้ามของศีลธรรมกับกิเลสตัณหาและอุปาทาน พุทธปรัชญาว่าด้วยจิตแท้จึงเป็นแม่บทของปรัชญาเกี่ยวกับจิตของลัทธิขงจื๊อในยุคหลัง

นอกจากจะส่งอิทธิพลต่อศาสนาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในจีนแล้ว พุทธศาสนายังส่งผลกระทบในด้านคีตศาสตร์ นาฏยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์และวรรณคดีจีนอย่างลึกซึ้งอีกด้วย

สรุปแล้ว การที่พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาต่างชาติต่างแดน ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเมื่อแรกแผ่เข้าไปนั้น สามารถแทรกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนได้สำเร็จ นับเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนา และผลสำเร็จนี้มาจากปัจจัย 2 ประการคือ หนึ่ง พุทธศาสนาเป็นศาสนาใหญ่และมีปรัชญาที่ละเอียดลึกซึ้งมาก"จิตแห่งธรรมและจิตแห่งวัตถุ" ในพุทธปรัชญานั้น มีหลาย ๆ สิ่งที่วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนไม่มี และในระหว่างที่เผยแผ่ตัวเองอยู่นั้น พุทธศาสนาสามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตนให้คงอยู่ได้อย่างมั่นคง มีบทบาทในการเติมเต็มสิ่งที่วัฒนธรรมจีนยังขาดตกบกพร่องอยู่ให้สมบูรณ์ สอง พุทธศาสนาสามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของสังคมจีน พูดง่าย ๆ คือ ไม่ใช่เรียกร้องให้ชาวท้องถิ่นปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอินเดียที่แพร่เข้าไป ตรงกันข้าม กลับปรับวัฒนธรรมอินเดียให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้ชาวท้องถิ่นยอมรับการดำรงอยู่ของตน แล้วจึงค่อย ๆแทรกซึมเข้าไป จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนและส่งผลกระทบต่อจีนจนตราบเท่าทุกวันนี้

เชิงอรรถ

1 ในจีนจะเรียกปรัชญาของขงจื๊อกับบรรดาสานุศิษย์ว่า สำนักหยูเจีย ไม่เรียกว่าลัทธิขงจื๊อ แต่เพื่อให้ผู้อ่านที่เป็น

ชาวไทยเข้าใจได้สะดวก บทความบทนี้จะใช้ว่า ลัทธิขงจื๊อแทน ตามความนิยมของไทย

2 .ชาวจีนที่กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ จะหมายเฉพาะชาวฮั่นเท่านั้น ไม่รวมไปถึงชนส่วนน้อยอื่น ๆ ของจีน

3 ปรัชญาสาขาหนึ่ง นักปราชญ์ในสาขานี้จะอธิบายคัมภีร์ของลัทธิขงจื๊อด้วยทัศนะของเต๋า

4 ศีลของนิกายฉันจงที่พระอาจารย์ไป่จั้งบัญญัติไว้

5 นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับทัศนะของ เหยินจี้อี๋ ที่ว่าปรัชญาขงจื๊อเป็นศาสนา

6 ปรัชญาลัทธิขงจื๊อในสมัยราชวงศ์ซ่ง และราชวงศ์หมิง

หนังสืออ้างอิง

เหยินจี้อี๋ ศาสตราจารย์ พุทธศาสนาจีน 3 เล่ม พิมพ์ ครั้งที่ 3 ปักกิ่ง สำนักพิมพ์สังคมวิทยาศาสตร์จีน 1988

ฟังลิเทียน ศาสตราจารย์ พุทธศาสนากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน เซี่ยงไฮ้ สำนักพิมพ์เหยินหมิน 1988

พุทธสมาคมจีน พุทธศาสนาจีน 4 เล่ม เซี่ยงไฮ้ สำนักพิมพ์จือสือ พิมพ์ครั้งที่ 2 1989

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040