น้ำพระทัยกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงมีต่อเมืองอู่ฮั่น (2)

2020-03-18 10:11CRI

                                                                                   图片默认标题_fororder_1

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดกวีจีนโบราณ  โดยเฉพาะกวีสมัยราชวงศ์ถัง ยุคทองของกวีนิพนธ์จีน พระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีนเรื่อง “หยกใสร่ายคำ” ฉบับภาษาไทย ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.  1998 ได้คัดเลือกพระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีนจำนวน 34 บท

 

พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์คำนำ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๑ ของพระราชนิพนธ์ “หยกใสร่ายคำ” ว่า  กวีนิพนธ์ของทุกชนชาติเป็นผลึกหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ ปัญญาของชาตินั้น ๆ เป็นสมบัติภูมิปัญญาอันสืบเนื่องไม่สิ้นสุด แม้จะมีลักษณะเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรม แต่ก็เป็นภาษาใจอันเป็นภาษาสากล สัมผัสรับรู้ได้ด้วยใจ ไม่มีสิ่งใดมากีดขวางได้

 

ในพระราชนิพนธ์ “หยกใสร่ายคำ” มีบทกวีที่พรรณนาถึงหอกระเรียนเหลือง โบราณสถานที่มีชื่อเสียงของเมืองอู่ฮั่นด้วย นั่นก็คือบทกวีของหลี่ ไป๋ กวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ถัง ซึ่งแต่งให้เพื่อนชื่อ เมิ่ง เฮ่าหราน กวีผู้มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งแห่งราชวงศ์ถัง ผู้มีความสามารถโดดเด่นในการประพันธ์บทกวีที่พรรณนาความงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บทกวีบทนี้เป็นบทกวีประเภทบาทละ 7 คำ ชื่อบทคือ

图片默认标题_fororder_3

              หอกระเรียนเหลือง ส่งเมิ่งเฮ่าหรานไปก่วงหลิง

              เพื่อนเก่าอำลาหอกระเรียนเหลืองจากทิศตะวันตก

              ล่องไปเมืองหยางโจว เดือนสาม กลางหมอก ดอกไม้

              ใบเรือโดดเดี่ยวไกลลิบหายไปสุดฟ้าคราม

              เห็นแต่แม่น้ำฉางเจียงที่ไกลสุดขอบฟ้า

 

บทกวีของหลี่ ไป๋ บทนี้บรรยายความรู้สึกเศร้าเมื่อต้องลาจากเพื่อน  เป็นบทกวีที่กล่าวถึงหอนกกระเรียนเหลือง ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงในเมืองอู่ฮัน ส่วนเมืองหยางโจวนั้น ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซู เมื่ออ่านบทกวีนี้จะทำให้เรารู้สึกถึงความงดงามตระการตาและความยิ่งใหญ่ของทิวทัศน์แม่น้ำฉางเจียง หรือ แม่น้ำแยงซี ในฤดูใบไม้ผลิ ในขณะเดียวกันจะเกิดอารมณ์ความรู้สึกขึ้นหลายอย่าง คือ แม่น้ำที่ไหลไปไม่ขาดสายเปรียบประดุจมิตรภาพที่แม้อยู่ห่างไกลก็ยังมีเยื่อใยต่อกัน นอกจากนั้น ในแม่น้ำไม่น่าจะมีเรืออยู่เพียงลำเดียว เราอาจตีความว่า เมื่อคนมีใจจดจ่อกับใครหรืออะไรสักอย่าง ในที่นี้ คือ เรือของเพื่อน ก็จะเห็นสิ่งนั้นเพียงแค่อย่างเดียว

 

 “หวงเฮ่อโหลว” หรือ หอนกกระเรียนเหลือง มีประวัติว่า สร้างในสมัยสามก๊กเมื่อราว 1,800 ปีก่อน ซุนกวนเป็นผู้สร้างเพื่อเป็นหอเฝ้ายามข้าศึก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฉางเจียงในเมืองอู่ฮั่น หอนี้มีความสำคัญต่อเนื่องมาทุกราชวงศ์ ผ่านการบูรณะปรับปรุง รวมทั้งสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง หอที่เห็นในปัจจุบันสูง 5 ชั้น สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1981

 

 “หวงเฮ่อ” แปลตรงตัวตามภาษาไทยว่า นกกระเรียนเหลือง เป็นนกในตำนาน ไม่มีอยู่จริง จีนมีตำนานเรื่องเซียนขี่นกกระเรียนเหลือง เล่ากันว่า เฟ่ย เหวินอี เป็นชาวเมืองอู่ฮั่น ทำความดี ตายแล้วได้เป็นเซียน ขี่นกกระเรียนเหลืองมายังบริเวณที่ต่อมาเป็นหอนกกระเรียนเหลือง ชาวเมืองอู่ฮั่นจึงสร้างหอขึ้นที่นั่น และเรียกว่า “หอนกกระเรียนเหลือง” 

图片默认标题_fororder_4

ในประวัติศาสตร์ มีกวีหลายคนได้มาเยือนหอนกกระเรียนเหลือง  และประพันธ์บทกวีไว้ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์แปลบทกวีอีกบทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับหอนกกระเรียนเหลืองด้วย  ผู้แต่งชื่อ ซุย เฮ่า บทกวีนี้ได้รับยกย่องว่า แต่งได้ดีและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาพันกว่าปีแล้ว กวีบทนี้มีบาทละ 7 คำ มีทั้งหมด 8 บาท

                   หอกระเรียนเหลือง

              เซียนขี่นกกระเรียนเหลืองบินลับไป

              ที่นี่เหลือแต่หอกระเรียนเหลือง

              กระเรียนเหลืองบินลับไม่กลับมา

              มีแต่เมฆขาวลอย ลอย ชั่วพันปี

 

              ฟ้าโปร่ง  แม่น้ำ  ต้นไม้ เมืองฮั่นหยังแจ่มชัด

              ที่เกาะนกแก้ว  หญ้าหอม  เขียวเขียว

              อาทิตย์จะลับฟ้า  ประตูเมืองถิ่นเกิดอยู่หนใด

              หมอกและคลื่นในลำน้ำ ทำให้ใจคนเศร้า

 

ตอนที่กวีชุย เฮ่า ไปเยือนเมืองอู่ฮั่น ชมหอกระเรียนเหลือง เขา  ประทับใจความงามของหอและทิวทัศน์ของแม่น้ำฉางเจียงบริเวณนี้ จึงเขียนบทกวีหอกระเรียนเหลืองบทดังกล่าว    เกาะนกแก้ว หรือ “อิงอู่โจว” ในบทกวีนั้น เป็นเกาะกลางแม่น้ำฉางเจียงในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น

บทกวีสมัยโบราณของจีนใช้คำน้อย แต่มีความหมายมาก ต้องให้ผู้อ่านใช้จินตนาการและปัญญาในการกลั่นกรองตีความ จีนจึงมีสุภาษิตว่า ภาพจิตรกรรม คือ บทกวีที่ไม่มีเสียง ส่วนบทกวี คือ ภาพจิตรกรรมที่ไม่มีรูป

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
404 Not Found

404 Not Found


nginx