2020-09-02 14:48CMG
ในกระบวนการขยายตัวของเมืองทั่วโลก การบริหารจัดการเรื่องน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนาเมือง จะแก้ปัญหา "ขาดแคลนน้ำ น้ำขังและมีน้ำสกปรก" ในเมืองได้อย่างไร? คำตอบของจีนคือการสร้าง "เมืองฟองน้ำ"
ในการประชุมสร้างสรรค์พัฒนาความเป็นเมืองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2013 นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคฯ เสนอว่า เมื่อต้องยกระดับระบบระบายน้ำในเมือง ควรให้ความสำคัญกับการกักเก็บน้ำฝนที่มีอยู่อย่างดี และให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานธรรมชาติมากขึ้นในการระบายน้ำ สร้างระบบเมืองฟองน้ำที่สะสม ดูดซับและกรองน้ำแบบธรรมชาติ หลังจากนั้นเป็นต้นมา "เมืองฟองน้ำ" ได้ก้าวสู่หลักวิสัยทัศน์ของจีน
"เมืองฟองน้ำ" หมายถึงเมืองที่มี "ความยืดหยุ่น" ที่ดีในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภัยธรรมชาติ สามารถดูดซับ กักเก็บและกรองน้ำให้บริสุทธิ์ในช่วงฝนตก และ “ปล่อย” น้ำออกมาใช้ประโยชน์เมื่อจำเป็น เพื่อปรับปรุงการทำงานของระบบนิเวศและลดการเกิดน้ำท่วมในเมือง
เมื่อปี 2015 รัฐบาลจีนออก “แนวคิดชี้นำสนับสนุนการสร้างเมืองฟองน้ำ” ระบุว่า การสร้างเมืองฟองน้ำ ควรลดผลกระทบของการพัฒนาและการก่อสร้างเมืองที่มีต่อระบบนิเวศ ดูดซับและใช้ 70% ของน้ำฝนให้เกิดประโยชน์ จวบถึงปี 2020 มีพื้นที่ในเมืองมากกว่า 20% เป็นไปตามเป้าหมาย และภายในปี 2030 จะมีพื้นในเมืองมากกว่า 80% เป็นไปตามเป้าหมาย หลายเมืองในจีนได้กำหนดแผนการก่อสร้างเมืองฟองน้ำแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ระบบ “ฟองน้ำ” ในเมืองไม่เพียงรวมถึงแม่น้ำ ทะเลสาบสระน้ำและระบบน้ำอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในเมืองเช่น พื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะและทางเดินที่ดูดซึมน้ำได้ รูปแบบการก่อสร้างในเมืองแบบดั้งเดิม ทางเดินแบบเก่า เมื่อฝนตกหนักส่วนใหญ่จะอาศัยสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ท่อระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ เพราะแนวคิดในอดีตคือ "กำจัดอย่างรวดเร็ว" และ "ไปรวมกันที่ปลายทาง" จึงมักเกิดปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งตามมาภายหลัง กระบวนการสร้างเมืองฟองน้ำจะให้ความสำคัญกับมาตรการ "สีเขียว" เช่น คูน้ำ ปลูกหญ้า อิฐซึมน้ำ สวนเก็บน้ำฝน และพื้นที่สีเขียวที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นทางเดิน ภายใต้แนวคิดหลักที่ว่า "ดูดซึมและปล่อยน้ำอย่างช้า ๆ ” และ "กระจายน้ำต้นทาง" ไม่เพียงหลีกเลี่ยงการเกิดน้ำท่วมขัง แต่ยังกักเก็บน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างเมืองฟองน้ำ คือ การปรับปรุงขนาดและคุณภาพของ "ตัวฟองน้ำ" อย่างต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างพัฒนาความเป็นเมืองนี้ “เนื้อฟองน้ำเดิม” เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ สระน้ำ คูน้ำ ฯลฯ ควรได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากการขยายเมือง ส่วน “ตัวฟองน้ำ” ที่เสียหายควรบูรณาการผ่านการใช้วิธีทางฟิสิกส์ หลักชีววิทยาและนิเวศวิทยา เก็บพื้นที่ระบบนิเวศไว้ การก่อสร้างอาคารในเมือง ต้องวางแผนตามเขตชุมชน ถนน พื้นที่สีเขียวและลานกว้าง สร้าง "ตัวฟองน้ำใหม่" เช่น การปลูกพืชและต้นไม้บนหลังคาดาดฟ้าอาคาร สามารถประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยมลพิษ ในขณะที่สามารถกักเก็บน้ำฝน และลดผลกระทบจากปรากฏการณ์ “เกาะร้อน”
สถิติแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2016 รัฐบาลจีนจัดสรรงบ 40,000 ล้านหยวน อุดหนุนงานทดลองสร้าง “เมืองฟองน้ำ” ทั้ง 2 ชุด โดยเมื่อปี 2019 โครงการนำร่องชุดแรกได้ข้อสรุปเรียบร้อย และทั้ง 16 เมืองผ่านการตรวจสอบ โดยมี 6 เมืองประสบผลงานยอดเยี่ยม อาทิ เมืองผิงเซียง มณฑลเจียงซีและเมืองหนานหนิง เขตกว่างซี ในช่วงกว่า 3 ปี ที่ผ่านมา ความจริงได้พิสูจน์แล้วว่า นี่เป็นวิธีที่ถูกต้อง น้ำขังได้บรรเทาลง สภาพแวดล้อมสวยงามยิ่งขึ้น และประชาชนต่างยกย่องชมเชย
“เมืองผิงเซียง” ตั้งอยู่ทางตะวันตกของมณฑลเจียงซี ภูมิประเทศและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่เหมือนใคร ทำให้ผิงเซียงเป็นเมืองที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้นอกจากโครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอแล้ว ยังเกิดน้ำท่วมในเมืองเกือบทุกปี การสร้าง "เมืองฟองน้ำ" ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้นำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ผิงเซียง
ยกตัวอย่าง “เขตชุมชนจินเตี่ยนเฉิง” ในใจกลางเมือง มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 1,100 ครัวเรือน ในปีก่อน ๆ ถนนเสียหายมีหลุมบ่อ ฝนตกเล็กน้อยจะมีน้ำขัง ถ้าเป็นฝนตกหนัก ผู้คนจำนวนมากต้องย้ายออกไป ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2016 เมืองผิงเซียงได้เริ่มโครงการทดลองสร้าง "เมืองฟองน้ำ" โดยวางโครงข่ายท่อใต้ดินใหม่ เปลี่ยนพื้นทางเดินจากทรายและหิน เป็นอิฐซึมน้ำและทางเท้าคอนกรีตที่ซึมน้ำได้ ทำให้เขตชุมชนนี้มีชีวิตชีวาขึ้นใหม่
ป้าแซ่พาน ชาวชุมชนดังกล่าว ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงว่า “ในอดีต พอฝนตกจะมีน้ำขังในเขตชุมชนหนักมาก ชาวบ้านต้องสวมรองเท้ากันฝนหรือต้องเดินถอดรองเท้าลุยน้ำกัน แต่ปัจจุบัน แม้มีฝนตกหนักก็แทบจะไม่มีน้ำท่วมขังในเขตชุมชนแล้ว”
หลังผ่านการทดลองสร้าง "เมืองฟองน้ำ" เป็นเวลากว่า 3 ปี เมืองผิงเซียง บรรลุเป้าหมายโดยรวมคือ "ไม่มีน้ำขังยามฝนตกเล็กน้อย ไม่เกิดน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ไม่มีแหล่งน้ำสกปรกกลิ่นเหม็น และปรากฏการณ์เกาะร้อนก็ลดลงบางส่วน” เมืองนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามจาก “เครือข่ายระบบฟองน้ำ” และยังมีการสร้างสวนสาธารณะและลานกว้างใหม่ขึ้นมาหลายแห่ง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การสร้าง "เมืองฟองน้ำ" สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีน ในด้านแนวคิดการบริหารจัดการเมือง ที่ไม่มุ่งเน้นจีดีพีเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่จะให้ความสำคัญกับการก่อสร้างเมืองน่าอยู่มากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงแนวคิดการพัฒนาที่เน้นการนวัตกรรม การประสานงาน และการพัฒนาแบบสีเขียวของจีน
Zhou/Yim/Lei/lu