สวัสดีคะท่านผู้ฟัง จีนกับลาวเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกันมานานแล้ว โดยเฉพาะหลายปีมานี้ สองประเทศมีความร่วมมือทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง ทำให้การไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น จนกระทั่งมีชาวจีนกับชาวลาวแต่งงานกันหลายคู่ รายการวันนี้ ดิฉันจะนำเรื่องราวของครอบครัว ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
ที่ท่านได้ฟังอยู่นี้ คือเพลง ชื่อ "จินข่งชวู่ชิงชิงเที่ยว"แปลว่า"ระบำนกยูงทอง" ที่ขับร้องโดยเด็กหญิงจิงจิง เธอพูดภาษาจีนชัดเจน แต่แม่ของเธอเป็นชาวลาวแท้ๆ ชื่อ พูขาม อองวิชิด (Phukham ongvichit)
พูขามรู้จักกับนายเฉิน เสี่ยว หยาง สามีคนจีนของเธอ เมื่อ 13 ปีก่อนซึ่งก็คือเมื่อปี 1996 ที่จีนกับลาวดำเนินโครงการร่วมมือโครงการหนึ่ง นายเฉิน เสี่ยว หยางไปเป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจีนใทั้งคู่รู้จักกัน ด้วยการแนะนำจากเพื่อนของคุณแม่ของพูขาม อองวิชิด สองคนค่อยๆ สนิทสนมจนในที่สุดก็เป็นแฟนกัน แต่หลังจากนั้นไม่นาน เฉิน เสี่ยว หยางสำเร็จหน้าที่ต้องเดินทางกลับจีน ทำให้ทั้งสองคนต้องห่างกันหลายพันกิโลเมตร แต่ก็ยังติดต่อกันทางจดหมายตลอด จนถึงปี 1999 เฉิน เสี่ยว หยางที่เต็มไปด้วยความรักเดินทางกลับมายังประเทศลาวอีกครั้ง และขอแต่งงานกับพูขาม เมื่อย้อนทบทวนถึงความทรงจำในครั้งนั้น พูขามกล่าวด้วยความสุขว่า
"ครั้งที่สองที่เขามาลาว เพื่อขอแต่งงาน ดิฉันรู้สึกดีใจและมีความสุขมาก แต่การแต่งงานเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต ดิฉันเป็นลูกคนโต และยังมีน้องชายอีก 2 คนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ แต่ดิฉันรู้สึกว่า เขาเป็นคนดี มีความรับผิดชอบ กระทั่งเคยสัญญากับคุณแม่ว่า จะดูแลดิฉันไปตลอดกาล"
นายเฉิน เสี่ยว หยางไม่เคยเรียนภาษาลาวในโรงเรียน แต่สามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่ว เขาพูดทีเล่นว่า พลังที่กระตุ้นให้เขาเรียนภาษาลาวมาจากความรัก
"ผมพูดภาษาลาวได้จากการเรียนรู้เองในช่วง 2-3 ปีแรก ช่วงนั้น การทำงานของผมใช้แต่ภาษาจีนกับภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่หลังจากได้รู้จักกับพูขาม ผมพยายามขยันหัดพูดภาษาลาวอย่างเต็มที่ เพื่อคุยกับเธอและขอแต่งงาน "
ปี 1999 เฉิน เสี่ยว หยางกับพูขามแต่งงานกัน ต่อมา พูขามติดตามสามีกลับมายังประเทศจีนและตั้งหลักปักฐานที่กรุงปักกิ่ง พูขามทบทวนถึงชีวิตตอนแรกๆ มาถึงกรุงปักกิ่งว่า
"รู้สึกแปลกหูแปลกตาอย่างยิ่ง จำได้ว่า เราสองคนไปเที่ยวสวนสาธารณะ ตั้งแต่เดินเข้าไปจนเดินออกมาเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงที่เราเดินผ่าน มีคนแน่นหนาตลอด หากในลาว มีแต่ในช่วงวันงานหรือเทศกาลใหญ่ๆ เท่านั้นถึงจะผู้คนจำนวนมากเช่นนี้ เช่น เทศกาลถาดหลวง แต่ในกรุงปักกิ่ง จะเห็นผู้คนมากหน้าหลายตาตลอดทั้งวัน"
1 2
|