นายจาง เจียซิน วัย 28 ปี เป็นอาจารย์คนหนุ่มของมหาวิทยาลัยการไปรษณีย์และโทรคมนาคมกรุงปักกิ่ง ผู้ได้รับรางวัล “คนต้นแบบของกรุงปักกิ่ง” เพราะทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2011 เขาริเริ่มโครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “ซีหยางไจ้เฉิน” โดยพาเจ้าหน้าที่จิตอาสาหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าไปยังชุมชนที่อยู่อาศัย ช่วยสอนผู้สูงอายุให้รู้จักใช้สมาร์ทโฟนอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ให้ผู้สูงอายุได้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ เช่น การคุย wechat การนัดพบหมอผ่านแอพลิเคชั่น (App) ของโรงพยาบาล การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการถ่ายวีดีโอแบบสั้นๆ เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงวัยได้ปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย
ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของนายจาง เจียซิน อาสาสมัครจากกว่า 100 มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลกว่างตง ส่านซี เหอหนาน ฯลฯ ทั้งหมด 19 เขตการบริหารระดับมณฑลของจีน ต่างมีส่วนร่วมในโครงการสาธารณประโยชน์ช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยี โดยจำนวนอาสาสมัครกว่า 100,000 คน ให้บริการกว่า 500 เขตชุมชน ทำให้ผู้สูงวัยกว่า 200,000 คนได้รับความช่วยเหลือทางตรง และอีก 800,000 คนได้รับประโยชน์ทางอ้อม ขณะนี้ โครงการ “ซีหยางไจ้เฉิน” กำลังรณรงค์นิสิตนักศึกษาจำนวนมาก นำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ไปดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ ในรูปแบบ “มหาวิทยาลัยจับมือกับเขตชุมชน” และ “วัยรุ่นอยู่เป็นเพื่อนกับสูงวัย” ซึ่งเป็นการบริการสังคมของคนหนุ่มสาวในด้านนวัตกรรม
นายจาง เจียซินบอกว่า ทุกครั้งที่เห็นผู้สูงอายุเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จนใช้เป็นแล้ว และแสดงความรู้สึกดีใจเหมือนเด็กน้อย เขาก็จะรู้สึกว่าความรู้สึกเหนื่อยจะหายไป แม้จะต้องสอนซ้ำๆ หลายครั้งก็ถือว่าคุ้ม เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่การได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ที่สำคัญกว่านั้นคือ การอยู่เป็นเพื่อนของอาสาสมัครวัยรุ่น ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงความอบอุ่นเหมือนได้มาจากสมาชิกในครอบครัว เขาเน้นว่า งานจิตอาสา แท้จริงแล้วก็คือการทำบุญและสร้างศีลธรรม จะทำให้โลกของเราสวยงามน่าอยู่ขึ้น
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การนัดพบหมอผ่านแอพลิเคชั่น (App) ของโรงพยาบาล การคุย wechat ฯลฯ กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน แต่ข้อมูลข่าวสารกับความรู้ที่จำเป็นเมื่อก่อน เดิมเคยเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็น อินเตอร์เน็ต บัญชี wechat สาธารณะ และแอพลิเคชั่น (App) ของหน่วยงานต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มคนวัยรุ่นและวัยกลางคนทั่วไปอาจจะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ไม่ยาก แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คงต้องเผชิญกับ “ช่องว่างดิจิตอล” ที่มองไม่เห็นในชีวิตประจำวัน
เมื่อปี 2011 จาง เจียซินตัดสินใจเริ่มโครงการจิตอาสาโดยใช้ชื่อว่า “ซีหยางไจ้เฉิน” (“ซีหยาง” หมายถึงดวงอาทิตย์ใกล้ตกดิน “ไจ้เฉิน” แปลว่าขึ้นท้องฟ้าใหม่) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุให้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย โดยจัดตั้งทีมนักศึกษาอาสาสมัครไปให้บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุในเขตชุมชน ใช้วิธีการสอนแบบตัวต่อตัว สอนให้ผู้สูงอายุเรียนรู้ทักษะในการท่องอินเตอร์เน็ต การใช้ wechat สื่อสาร การนัดพบหมอผ่านแอพลิเคชั่น (App) ของโรงพยาบาล การชำระเงินออนไลน์ ตลอดจนการถ่ายทำวีดีโอสั้นผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อให้ผู้สูงวัยได้รับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น
แรงบันดาลใจของโครงการ “ซีหยางไจ้เฉิน” เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2011 ตอนนั้น จาง เจียซินยังเป็นนักศึกษาปี 3 ในมหาวิทยาลัยการไปรษณีย์และโทรคมนาคมกรุงปักกิ่ง วันหนึ่งเขาเห็นโปสเตอร์แผ่นหนึ่งที่ทางเข้าหอพัก ซึ่งเขียนตัวอักษรตัวโตสะดุดตาบรรทัดหนึ่งว่า “แสวงหาเมล็ดพันธุ์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก” ปรากฏว่าเป็นคำขวัญของมูลนิธิพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศจีน รณรงค์ให้นักศึกษามีส่วนร่วมในงานอาสา อันที่จริง ตัวเขาเองก็มีความสนใจและมีส่วนร่วมในงานอาสามานานแล้ว คำขวัญบนโปสเตอร์แผ่นนี้ทำให้เขานึกถึงภาพหนึ่งนั่นก็คือ ทุกครั้งที่เขานัดคุณยายซึ่งอยู่ที่บ้านเกิดในมณฑลส่านซีพูดคุยทางผ่านทางวีดีโอคอล คุณยายใช้กล้องในคอมพิวเตอร์ไม่ถนัด โฟกัสไม่เป็นไม่เห็นหน้าหลานชายกว่าจะคุยกันได้สำเร็จ เรียกว่าเหงื่อแตกเกือบทุกครั้ง
จาง เจียซินมองว่าปัญหาดังกล่าวที่คุณยายพบนั้น คงเป็นปัญหาทั่วไปของผู้สูงวัยในสังคมจีน เขาจึงตัดสินใจอย่างหนักแน่นว่า จะเริ่มงานอาสาสอนผู้สูงอายุใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยเหลือพวกเขาให้ผ่าน “ช่องว่างดิจิตอล” ได้สำเร็จ หลังจากนั้นไม่นาน ทีมนักศึกษาอาสาสมัคร 13 คนที่มีจาง เจียซินเป็นหัวหน้าทีม ก็จัดประชุมหารือแผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรม ต่างคนต่างมีข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์ ในที่สุดก็มีความเห็นร่วมกันว่า สอนผู้สูงอายุใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่รู้สึกลำบากใจกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารเคลื่อนที่