อาหารพื้นเมืองของอำเภออันจี๋ มณฑลเจ้อเจียง

2020-08-08 11:48:33 | CRI
Share with:

อาหารพื้นเมืองของอำเภออันจี๋ มณฑลเจ้อเจียง_fororder_WechatIMG3

ไผ่ ไม่เพียงช่วยให้ประชาชนของอำเภออันจี๋มีความร่ำรวย และส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภออันจี๋เท่านั้น อีกทั้งยังได้เอามาใช้ในอาหารด้วย โดยชาวอันจี๋บอกว่า วันละ 3 มื้อจะต้องกินหน่อไม้ พ่อครัวที่อำเภออันจี๋ก็ชอบทำอาหารจากหน่อไม้ จนได้พัฒนามาเป็นอาหารหน่อไม้ร้อยชนิด (百笋宴)

ผู้พัฒนาอาหารหน่อไม้ร้อยชนิดชื่อ ฉาว เว่ยจุน อายุ 70 กว่าปีแล้ว แต่ยังทุ่มกำลังของตนในการพัฒนาอาหารหน่อไม้อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ วิธีการทำหน่อไม้มีเพียงการผัด หรือการต้มกับเนื้อเค็ม เมื่อ ค.ศ. 1993 นายฉาว เว่ยจุน กับพ่อครัวหลายคนได้เขียนหนังสือ “เมนูหน่อไม้” เล่ม 1 โดยได้แนะนำอาหารจากหน่อไม้ 121 อย่าง เมื่อปี 2001 เมนูหน่อไม้เล่มที่ 2 มีอาหารจากหน่อไม้ 211 อย่าง

แนวคิดที่จะทำอาหารหน่อไม้ร้อยชนิดของนายฉาว เว่ยจุน มาจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่เมืองหูโจวที่มีชื่อว่า “อาหารปลาร้อยชนิด” เขาจึงคิดว่า ถ้าปลาสามารถเปลี่ยนวิธีปรุงได้นับร้อยวิธี หน่อไม้ก็น่าจะทำได้

เมื่อกลับบ้าน นายฉาว เว่ยจุน จึงเริ่มบันทึกวิธีการปรุงหน่อไม้ และคิดค้นวิธีใหม่อย่างเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ก็ไปชิมอาหารไปท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีหน่อไม้ เพื่อเรียนรู้ข้อดีจากอาหารของพื้นที่อื่นๆ และชดเชยข้อเสียของตน เขามั่นใจว่า ถ้าถือการทำหน่อไม้เป็นอาชีพของตน ก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ในที่สุดเหมือนอาชีพอื่นๆ

ปัจจุบัน นายฉาว เว่ยจุน กลายเป็นผู้ชำนาญทางอาหารหน่อไม้ และมีลูกศิษย์หลายสิบคนเรียนทำอาหารหน่อไม้ด้วย เขามักใช้ 4-5 ชั่วโมงทำอาหารจานเดียว แม้ว่าอาหารหน่อไม้ที่ง่ายที่สุด เช่น ต้มหน่อไม้กับเนื้อเค็ม เขาก็มีวิธีทำต่างจากคนอื่น

เขาบอกว่า ปกติ ผู้คนจะใส่หน่อไม้และเนื้อเข้าในหม้ออัดแรงดันอย่างง่ายๆ แต่วิธีทำที่ถูกต้องคือ ต้มหนัง กระดูกกับหน่อไม้ 2-3 ชั่วโมง ทำให้ซุปเป็นสีขาว แล้วเอาหนังและกระดูกออกมา ผัดเนื้อเค็มแล้ว ใส่หน่อไม้และซุปสีขาวเข้าด้วยกัน และต้มอีก 20 นาที แม้ว่าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ต้มอย่างนี้หน่อไม้จะมีรสชาติเนื้อมากขึ้น

เมื่ออายุ 69 ปี เขาได้รับการยกย่องว่า เป็น “มาสเตอร์เชฟ” ของจีนด้วยอาหารหน่อไม้ ซึ่งถือว่าได้บรรลุความฝันของตน แม้ว่าได้รับรางวัลมากมายและเป็นที่นับถือในแวดวงการทำอาหารของจีน แต่นายฉาว เว่ยจุน ยังลงมือทำอาหารและสอนลูกศิษย์เองตลอดเวลา

อาหารพื้นเมืองของอำเภออันจี๋ มณฑลเจ้อเจียง_fororder_WechatIMG4

ปัจจุบัน อำเภออันจี๋จะจัดการประกวดทำอาหารหน่อไม้ทุกปี ซึ่งหน่อไม้เป็นวัตถุดิบที่สามารถเข้ากับอาหารเกือบทุกชนิด โดยสามารถผัด ย่าง ต้ม และเมื่อต้มกับเนื้อ อาหารทะเลและอื่นๆ ก็สามารถได้กลิ่นและรสชาติเข้ามาด้วย

พ่อครัวของอำเภออันจี๋ยังทำหน่อไม้ให้เป็นรูปทรงต่างๆ เช่น มีอาหารชนิดหนึ่งคือ แกะสลักหน่อไม้ให้เป็นรูปหอยเป๋าฮื้อ และใช้เครื่องเทศต่างๆ ต้มมากกว่า 4 ชั่วโมง ทำให้เหมือนหอยเป๋าฮื๊อจริงทั้งทางรูปลักษณ์ภายนอกและทางรสชาติ

ไม้ไผ่ของอำเภออันจี๋นำมาซึ่งประโยชน์แก่ผู้คนมากมาย ชาวบ้านได้ประกอบธุรกิจทางการท่องเที่ยว หัตถกรรม และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม้ไผ่ และนำประสบการณ์มาแบ่งปันกับมณฑลต่างๆ ของจีน ประสบการณ์ของพวกเขาก็แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ทุกแห่ง หรือเราทุกคน มีทรัพยากรและลักษณะพิเศษของตน แต่ถ้าอยากประสบผลสำเร็จ ก็ต้องพยายามคิดค้นและรู้จักวิธีการใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์

และนอกจากอาหารหน่อไม้ อำเภออันจี๋ยังมีอาหารอร่อยอีกมากมาย อย่างเช่น ชาวอำเภออันจี๋ปลูกชาขาว และเป็นที่รู้จักทั่วโลก ชาวอันจี๋จึงใช้ใบชาผัดหรือต้มกับเนื้อ ให้เนื้อมีกลิ่นหอมของใบชา

ชาวจีนทางภาคใต้จะชอบกินข้าวเหนียว ชาวอันจี๋ก็ชอบด้วย โดยจะใช้ข้าวเหนียวทำเป็นขนมต่างๆ เช่น ขนมชิงถวน (青团) แต่ก่อนเป็นขนมของเทศกาลเชงเม้ง มีสีเขียวและกลิ่นหอมจากการต้มสมุนไพรชื่อว่า “อ้ายฉ่าว” กับก้อนข้าวเหนียว ซึ่งจะมีไส้ด้วย เช่น ถั่วแดง เนื้อและหน่อไม้ เป็นต้น ปัจจุบัน กลายเป็นขนมที่ได้รับความนิยมทั้งปี ไม่เพียงแต่ในช่วงเทศกาลเชงเม้ง

และในหมู่บ้านหลางชุน ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชนเผ่าเซอ (畲族) ผู้คนจะทำบ๊ะจ่างทองคำ โดยจะต้มผักป่าชนิดหนึ่งให้ออกสีเหลือง แล้วต้มกับข้าวเหนียว ทำเป็นบ๊ะจ่างที่มีสีเหลืองเหมือนทองคำ

ชาวอำเภออันจี๋ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ชาวอันจี๋พื้นเมือง เพราะว่าในประวัติศาสตร์ อันจี๋เคยเกิดภัยธรรมชาติและโรคระบาดหลายครั้ง ทำให้ชาวอันจี๋พื้นเมืองไม่มีจะกินหรือติดโรคระบาด และเสียชีวิตจำนวนมาก

ปัจจุบัน ประชาชนที่อยู่ในอันจี๋ส่วนใหญ่มาจากมณฑลเหอหนาน เมืองอันชิ่งและเมืองฮุยโจวของมณฑลอันฮุย มณฑลหูเป่ย เป็นต้น ดังนั้น รสชาติของอาหารอันจี๋ก็ได้ผสมผสานกับลักษณะพิเศษของพื้นที่ต่างๆ ไม่เหมือนกับที่อื่นของมณฑลเจ้อเจียงที่มีรสจืด 

ขณะเดียวกัน ชาวอันจี๋ก็ชอบใช้จานใหญ่ ซึ่งมีความหมายว่า ให้แขกผู้มีเกียรติรับประทานให้อิ่ม แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของชาวอันจี๋ด้วย

  • เสียงข่าวประจำวัน (23-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (23-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (23-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (22-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (22-04-2567)

周旭