ค.ศ. 2021 เป็นปีครบรอบ 100 ปี แห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ท่ามกลางกระบวนการปฏิวัติและการสร้างสรรค์จีนใหม่ของประชาชนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ดีเด่นที่ควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญจำนวนมากแจ้งเกิดสู่สายตาผู้คน ซึ่งรวมถึงนางจาง กุ้ยเหมยด้วย
เดือนธันวาคม 2020 ในวาระที่จีนบรรลุงานด้านการขจัดความยากจนในยุคใหม่ตามกำหนดเวลา ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกาศเผยแพร่เรื่องราวของจาง กุ้ยเหมย พร้อมยกย่องเธอเป็น “บุคคลต้นแบบแห่งยุคสมัย”
นางจาง กุ้ยเหมย เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนเผ่าแมนจู เกิดที่เมืองหมู่ตันเจียง มณฑลเฮยหรงเจียง ใน ค.ศ. 1957 เธอเคยเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมในเมืองต้าหลี่และอำเภอหวาผิง มณฑลยูนนานตามลำดับ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำโรงเรียนมัธยมปลายสตรีหวาผิง และผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์เด็กอำเภอหวาผิง เมืองลี่เจียง มณฑลยูนนาน
“คุณแม่ผอ.โรงเรียน” ของเด็กหญิงบนภูเขา
“หนูอย่าร้องไห้ มีอะไรลำบากบอกฉันซิ”
เที่ยงวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ขณะที่นักข่าวเพิ่งเดินผ่านประตูเข้าไปในโรงเรียนมัธยมปลายสตรีหวาผิง เมืองลี่เจียง ทันใดนั้นเขาก็ได้พบเห็นเด็กหญิงคนหนึ่งกำลังร้องไห้อยู่ในอ้อมกอดของผอ.จาง กุ้ยเหมยพอดี
เด็กคนนี้กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในท้องถิ่น เป็นน้องสาวของหลี่ น่า ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนหวาผิงในปีสุดท้าย จาง กุ้ยเหมยรู้จักเด็กหญิงคนนี้เมื่อครั้งไปเยี่ยมเยียนครอบครัวของเธอ จาง กุ้ยเหมยได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้เธอเรียนหนังสือมาโดยตลอด แต่เด็กคนนี้ไม่ได้ไปโรงเรียนมาแล้วหลายวันเพราะคิดถึงคุณพ่อที่จากไปแล้ว
“ถ้าคิดถึงพ่อก็ไปพูดคุยกับพ่อที่หลุมฝังศพได้นะ แต่ต้องตั้งใจเรียนหนังสือ อย่าให้คุณพ่อผิดหวัง”
ขณะพูดปลอบใจเด็กหญิง จาง กุ้ยเหมยหยิบซองจดหมายออกจากกระเป๋าแล้วใส่เข้าไปในมือของแม่เด็กหญิง
นักข่าวมาทราบภายหลังว่า ในซองจดหมายเป็นเงินปลอบขวัญ 10,000 หยวน ที่ทางกระทรวงการศึกษาจีนมอบแก่จาง กุ้ยเหมยเพื่อรักษาอาการป่วย แต่จาง กุ้ยเหมยรู้ว่าแม่ของเด็กหญิงต้องส่งลูกสองคนเรียนหนังสือ ขัดสนเรื่องเงินมาก อีกทั้งรายได้จากสวนมะม่วงของครองครัวก็ค่อยไม่ดีเพราะขาดแคลนน้ำ จาง กุ้ยเหมยจึงตัดสินใจมอบเงินส่วนตัวให้แม่ของเด็กหญิงเพื่อใช้สร้างบ่อเก็บน้ำ หลังจาง กุ้ยเหมยพยายามเกลี้ยกล่อม เด็กหญิงคนนี้จึงกลับไปเรียนหนังสือต่อในที่สุด
เช่นเดียวกับการดูแลเด็กหญิงคนนี้ จาง กุ้ยเหมยนำพาโรงเรียนมัธยมปลายสตรีหวาผิงคุ้มครองอนาคตของนักเรียนทุกคน จาง กุ้ยเหมยในวัย 63 ปี ถูกบรรดานักเรียนเรียกกันจนติดปากว่า “คุณแม่จาง”
ความฝันที่ “ไร้เดียงสาอย่างยิ่ง”
โรงเรียนมัธยมปลายสตรีหวาเผิงตั้งอยู่บนเนินสูงขนาดเล็กแห่งหนึ่งในชานเมืองอำเภอหวาผิง ประตูใหญ่ของโรงเรียนไม่หรูหราแต่อย่างใด มีรอยจุดด่างดำตามผนังอาคารเรียน
โรงเรียนที่ดูธรรมดาแห่งนี้ เริ่มแรกเดิมทีเป็นเพียงความฝันที่ยากจะเนรมิตรให้เป็นจริงได้ของจาง กุ้ยเหมย
จาง กุ้ยเหมยกับสามีเดิมต่างก็เป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเมืองต้าหลี่ ปี 1996 หลังจากสามีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งได้ไม่นาน จาง กุ้ยเหมยในวัย 39 ปีได้ยื่นใบสมัครขอย้ายจากต้าหลี่ซึ่งเป็นเมืองคึกคัก ไปทำงานในอำเภอหวาผิง เมืองลี่เจียงที่อยู่ห่างไกล
หลังจากไปสอนหนังสือในอำเภอหวาผิง จาง กุ้ยเหมยได้พบปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เธอเล่าให้นักข่าวฟังว่า “มีนักเรียนหญิงหลายต่อหลายคนอยู่ ๆ ก็หายตัวไป จากการสอบถามถึงรู้ว่า นักเรียนบางคนออกไปหางานทำ บางคนแต่งงานทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในวัยเด็ก”
ค.ศ. 2001 สถานสงเคราะห์เด็กอำเภอหวาผิงก่อตั้งขึ้น องค์กรการกุศลที่ให้เงินบริจาคขอให้จาง กุ้ยเหมยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์เด็กแห่งนี้ หลังจากนั้น จาง กุ้ยเหมยได้รับรู้ชีวิตของเด็ก ๆ ทุกคนในสถานสงเคราะห์เด็ก เธอพบว่า มีเด็กหญิงหลายคนไม่ใช่เด็กกำพร้า แต่ถูกผู้ปกครองทอดทิ้งต่างหาก
เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่เคยพบโดยบังเอิญระหว่างทางไปเยี่ยมเยือนครอบครัวของนักเรียน ยิ่งทำให้จาง กุ้ยเหมยรู้สึกเจ็บใจยิ่ง
เด็กหญิงวัย 13-14 ปีคนหนึ่งนั่งซึมอยู่ข้างถนน สายตามองไปที่ไกลด้วยความเศร้าโศก พอจาง กุ้ยเหมยเดินเข้าใกล้สอบถามเกิดอะไรขึ้น เด็กหญิงเกิดร้องไห้โฮทันที พร้อมพูดคำหนึ่งซ้ำ ๆ ว่า “หนูอยากเรียนหนังสือ หนูไม่ต้องการแต่งงาน”
ที่แท้คือ พ่อแม่ของเด็กหญิงคนนี้ต้องการให้เธอเลิกเรียนหนังสือแล้วแต่งงาน เพื่อแลกกับค่าสินสอด 30,000 หยวน
จาง กุ้ยเหมยรุดไปบ้านของเด็กหญิงด้วยความโมโห บอกกับแม่ของเด็กหญิงว่า “ฉันจะพาน้องไป จะรับผิดชอบค่าเล่าเรียนให้” แต่แม่ของเด็กไม่ยอม อีกทั้งยังกดดันด้วยการฆ่าตัวตายจนจาง กุ้ยเหมยต้องยอมในที่สุด
จาง กุ้ยเหมยบอกนักข่าวว่า “หลังจากนั้นฉันไม่เคยหาน้องได้เจออีกเลย นี่คือความเสียใจตลอดชีวิตของฉัน” ภายหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ความฝันค่อย ๆ เกิดขึ้นในใจของจาง กุ้ยเหมย นั่นก็คือ สร้างโรงเรียนฟรีระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นมาแห่งหนึ่ง เพื่อให้บรรดาเด็กสาวในเขตเทือกเขาได้เรียนหนังสือกันทุกคน
แต่ความฝันของเธอถูกคัดค้านจากคนใกล้ตัวทันที นายหยาง เหวินหวา อดีตผู้อำนวยการสำนักการศึกษาอำเภอหวาผิงกล่าวว่า “ผมเป็นคนที่คัดค้านเธอมากที่สุด แม้เธอทำให้ผมรู้สึกตื้นตันใจ แต่ผมรู้ดีว่าการจะสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งมันยากลำบากเพียงใด”
ปี 2004 จาง กุ้ยเหมยเดินทางไปราชการยังต่างถิ่นพร้อมกับหยาง เหวินหวา ระหว่างทางเธอเล่าความฝันของตนซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อโน้มน้าวใจให้ท่านผู้อำนวยการยอมให้ความช่วยเหลือ
“คุณรู้ไหมว่าสร้างห้องปฏิบัติการต้องใช้เงินเท่าไร” หยาง เหวินหวาถาม
“คงต้องใช้สัก 2-3 หมื่นหยวนมั๊ง” จาง กุ้ยเหมยตอบอย่างไม่มั่นใจ
หยาง เหวินหวากล่าวว่า “เธอคิดง่ายเกินไป” เวลานั้น จาง กุ้ยเหมยแม้สุขภาพไม่ค่อยดีแต่ยังคงกัดฟันสู้สอนหนังสือต่อไป มีผลการเรียนการสอนที่โดดเด่น และได้รับเลี้ยงเด็กกำพร้าหลายคนในสถานสงเคราะห์เด็กหวาผิง เธอได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติหลายครั้ง เช่น “ผู้ทำงานดีเด่นแห่งชาติ” และ “ผู้นำหน้าคุณธรรมครู 10 อันดับแรกแห่งชาติ” แต่อย่างไรก็ตาม จาง กุ้ยเหมยเป็นครูสอนหนังสือในแนวหน้า ไร้ประสบการณ์ด้านการบริหาร ไม่มีความรู้อะไรเลยในเรื่องจัดตั้งโรงเรียน
แต่สิ่งที่หยาง เหวินหวาไม่ทราบมาก่อนเลยก็คือ ขณะนั้น จาง กุ้ยเหมยได้ใช้เวลาหยุดเรียนภาคฤดูร้อนไปดำเนินการรับบริจาคเงินบนท้องถนนเมืองคุนหมิงติดต่อกันหลายปีแล้ว เธอถ่ายสำเนารางวัลเชิดชูเกียรติที่ตนเองเคยได้รับเต็มประเป๋าถือ ควักออกมาให้ดูเมื่อเจอคนบนท้องถนนเพื่อขอบริจาคเงิน
แต่สิ่งที่เธอคาดคิดไม่ถึงเลยคือ ตัวเองลดศักดิ์ศรีลงมาขอบริจาคเงิน แต่กลับแลกมาด้วยความไม่เข้าใจและดูแคลน กระทั่งบางคนกล่าวหาเธอว่าเป็นนักต้มตุ๋น
เป็นเช่นนี้หลายปี จาง กุ้ยเหมยเกือบจะล้มเลิกความฝันก่อตั้งโรงเรียนแล้ว กระทั่งถึงปี 2007 จาง กุ้ยเหมยได้รับเลือกเป็นผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนระดับชาติของการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 17 ความฝันของเธอจึงพบโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง
ตามปกติ จาง กุ้ยเหมยซื้อเสื้อผ้าน้อยมาก เสื้อผ้าแต่ละตัวล้วนสวมใส่มาแล้วหลายปี จะยอมทิ้งก็ต่อเมื่อเสื้อผ้าเปลี่ยนสีและเกิดฉีกขาด ก่อนเธอเดินทางไปกรุงปักกิ่ง ทางอำเภอได้อุดหนุนเธอ 7,000 หยวนเพื่อซื้อชุดทางการที่เหมาะสมโดยเฉพาะ แต่จาง กุ้ยเหมยใช้เงินก้อนนี้ซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนใช้ ตัวเองยังคงใส่เสื้อผ้าเก่าไปเข้าร่วมการประชุมพรรคฯ ที่กรุงปักกิ่ง
เช้าวันหนึ่ง จาง กุ้ยเหมยกำลังเดินไปยังห้องประชุมอย่างเร่งรีบ ทันใดนั้น นักข่าวหญิงคนหนึ่งเข้ามาขวางเธอไว้พร้อมกระซิบว่า “ท่านลองใช้มือจับกางเกงดูซิค่ะ” จาง กุ้ยเหมยทำตามที่นักข่าวหญิงบอกแล้วถึงรู้ว่า กางเกงยีนส์ที่ใส่มาหลายปีเกิดฉีกขาดเป็นรูถึง 2 จุด
จาง กุ้ยเหมยบอกนักข่าวว่า “เวลานั้นฉันอยากมุดลงใต้ดินจริง ๆ” วันนั้นหลังเลิกประชุม เธอกับนักข่าวหญิงนัดคุยกันต่อสองคนทั้งคืน โดยเล่าอุปสรรคและความยากลำบากในการก่อตั้งโรงเรียนให้นักข่าวหญิงฟังอย่างหมดเปลือก
จากนั้นไม่นาน รายงานข่าวในหัวข้อ “ความฝันของฉัน—สัมภาษณ์จาง กุ้ยเหมย ผู้แทนพรรคฯ และคุณครูจากโรงเรียนมัธยมชนเผ่าส่วนน้อยอำเภอหวาผิงเมืองลี่เจียงมณฑลยูนนาน” ได้รับการเผยแพร่ ความฝันก่อตั้งโรงเรียนของจาง กุ้ยเหมยได้ดึงดูดความสนใจของสังคมจีนขึ้นมาทันที
เดือนกันยายน ปี 2008 ภายใต้การสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลหลายระดับ โรงเรียนมัธยมปลายสตรีหวาผิงลี่เจียง ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐสำหรับเด็กหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของจีนได้เปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ โดยรับนักเรียนหญิงรุ่นแรกเข้าเรียนฟรีรวม 100 คน
ในวันแรกของการเปิดภาคเรียน จาง กุ้ยเหมยยืนอยู่หน้าอาคารเรียนเดียวของโรงเรียน ในสภาพน้ำตาอาบหน้าด้วยความตื่นตันใจ
โรงเรียนที่เด็กหญิงทุกคนเรียนได้โดยไม่มีเงื่อนไข
สำหรับบรรดาเด็กหญิงในเขตเทือกเขาแล้ว โรงเรียนมัธยมปลายสตรีหวาผิงเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
นับตั้งแต่วันแรกของการเปิดโรงเรียน จาง กุ้ยเหมยได้กำหนดกฎระเบียบไว้ว่า โรงเรียนจะไม่เก็บค่าเล่าเรียนและที่พัก เก็บแต่เพียงค่าอาหารเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับนักเรียนจากครอบครัวยากจน แม้มีพื้นฐานความรู้อ่อนมากและคะแนนสอบเข้าเรียนต่อระดับมัธยมปลายไม่ถึงเกณฑ์ก็จะรับเข้าเรียนทุกคน ขณะที่นักเรียนรุ่นแรกเกือบทุกคนมีคะแนนทดสอบต่ำกว่าเกณฑ์
ไม่เพียงแต่นักเรียนมีพื้นฐานความรู้อ่อนเท่านั้น สภาพความพร้อมด้านการเรียนการสอนของโรงเรียนก็อยู่ในภาวะขัดสนด้วย เช่น ไม่มีรั้วรอบโรงเรียน ไม่มีโรงอาหาร แม้แต่ห้องน้ำก็ยังไม่มี มีเพียงแต่อาคารเรียนหลังเดียวกับเสาธงเท่านั้น ในลานกลางแจ้งของโรงเรียนเต็มไปด้วยวัชพืช นักเรียนเข้าเรียนในห้องห้องหนึ่ง และเข้านอนในห้องเรียนอีกห้องหนึ่ง เวลาทานข้าวและเข้าห้องน้ำก็ต้องไปโรงเรียนที่อยู่ข้าง ๆ
หยาง เหวินหวา กล่าวเสริมว่า “เธอร้อนใจมาก ถ้าให้รอจนถึงสร้างโรงเรียนเสร็จสมบูรณ์ ก็คงต้องเลื่อนรับนักเรียนออกไป 1 ปี จะทำให้เด็กหญิงพลาดโอกาสเรียนหนังสือเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง”
แต่หลังรับนักเรียนเข้าเรียนแล้ว จาง กุ้ยเหมยเกิดความรู้สึกหนักใจขึ้นมาทันที “นักเรียนบางคนมีคะแนนสอบเพียงไม่กี่คะแนน ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร” เธอคิดในใจว่า ต้องพยายามทำผลการเรียนการสอนให้ดี แม้อุทิศชีวิตตนเองก็ต้องยอม
ต่อมาที่โรงเรียนแห่งนี้ นักเรียนต้องตื่นขึ้นมาอ่านหนังสือรอบเช้าตั้งแต่ 5.30 น. โดยไม่มีวันหยุดพัก และจะเข้านอนได้ก็ต่อเมื่อเรียนหนังสือด้วยตัวเองรอบกลางคืนเสร็จในเวลา22.20น.แล้วเท่านั้น แม้กระทั่งเวลาพักทานอาหารก็กำหนดไว้ห้ามเกิน 15 นาที
จาง กุ้ยเหมยพกโทรโข่งอันเล็กไว้ติดตัวตลอดเวลา “เจ้าหนู เร็วหน่อยซิ” ภายในโรงเรียนเมื่อมีนักเรียนคนใดทำอะไรช้าไปสักหน่อยก็มักจะได้ยินเสียงตะโกนของจาง กุ้ยเหมยเช่นนี้ผ่านโทรโข่งของเธอ
ตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จาง กุ้ยเหมยไม่เพียงแต่อยู่เป็นเพื่อนนักเรียนที่ต้องอ่านหนังสือจนดึกดื่นเท่านั้น หากยังนอนในห้องเดียวกับนักเรียนด้วย เธอเคยเล่าว่า “ฉันห่างโรงเรียนไม่ได้เลยแม้เสี้ยววินาทีเดียว ไม่ว่าครูหรือนักเรียน ฉันต้องติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา”
ฤดูร้อน ค.ศ. 2011 นักเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายรุ่นแรกของโรงเรียนหวาผิงสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนได้ในคราวเดียวด้วยอัตราการสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษาถึง 100 เปอร์เซ็นต์ และมีนักเรียนจำนวนหนึ่งสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับชาติได้ด้วย
หยาง เหวินหวา กล่าวว่า “ถ้าเทียบกับคะแนนสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายหวาผิงถือว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์”
ค.ศ. 2016 โรงเรียนมัธยมปลายสตรีหวาผิงเสร็จสิ้นการก่อสร้างอย่างสมบูรณ์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โรงอาหาร อาคารที่พักของนักเรียน รวมถึงลานกีฬาปูพื้นที่ได้มาตรฐานด้วย ปัจจุบัน โรงเรียนมีนักเรียนหญิง 3 รุ่น รวม 9 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวนทั้งหมด 464 คน
จาง กุ้ยเหมยยังคงไปเยี่ยมครอบครัวนักเรียนตลอดทั้งปีอย่างสม่ำเสมอ โดยมีระยะทางรวมแล้วกว่า 110,000 กิโลเมตร ครอบคลุมนักเรียนกว่า 1,500 คน ในอำเภอหวาผิงและอำเภอใกล้เคียง นับจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนหวาผิงมีนักเรียนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายแล้ว 10 รุ่น โดยมีนักเรียน 1,804 คนสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยอัตราการสอบติดมหาวิทยาลัยระดับชาติสูงถึงกว่าร้อยละ 40 ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนยังสามารถคว้าลำดับแรกติดต่อกันหลายปีในการจัดอันดับผลคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยรวมของเมืองลีเจียง
ถัง หยุน ครูสอนภาษาจีน บอกกับผู้ข่าวว่า นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่สุขภาพร่างกายของจาง กุ้ยเหมยกลับย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว เธอติดพลาสเตอร์บรรเทาอาการปวดเต็มร่างกาย กระทั่งเดินขึ้นบันไดยังลำบากมาก
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านเพียงอย่างเดียว จาง กุ้ยเหมยรู้สึกเป็นห่วงการเรียนการสอนจึงตั้งเตียงพับได้ไว้ที่ด้านนอกห้องเรียนและนอนบนเตียงทุกวันเพื่อกำกับครูที่สอนนักเรียนทางออนไลน์
หวัง ซิ่วลี่ ผู้สื่อข่าวศูนย์สื่อมัลติมีเดียอำเภอหวาผิง เป็นเพื่อนสนิทมาหลายปีของจาง กุ้ยเหมย เป็นหนึ่งในบุคคลไม่กี่คนที่จาง กุ้ยเหมยมักระบายความในใจให้ฟัง
หวัง ซิ่วลี่ บอกกับนักข่าวว่า “เธอเป็นโรคหลายอย่าง เช่น มะเร็งกระดูก มะเร็งหลอดเลือด ถุงลมโป่งพอง... เมื่อก่อนเธอมักให้คนทายว่าเราสองคนใครมีน้ำหนักมากกว่ากัน แต่ปัจจุบันน้ำหนักเธอลดลงจากกว่า 65 กิโลกรัมเหลือเพียง 30 - 40 กิโลกรัม”
ภายหลังเรื่องราวของจาง กุ้ยเหมยได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง จึงเกิดเสียงสะท้อนอย่างมากในสังคมจีน ผู้คนมีความเห็นโดยทั่วไปว่า จาง กุ้ยเหมยยืนหยัดปักหลักทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่ชายแดนห่างไกลนานกว่า 40 ปี อุทิศตนอย่างไม่เห็นแก่ตัวเพื่อเปลี่ยนชีวิตของเด็กหญิงในพื้นที่ยากจนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เธอขับเคลื่อนการสร้างโรงเรียนมัธยมปลายที่รับเด็กหญิงยากจนเข้าเรียนฟรีด้วยความสำเร็จ เปลี่ยนชะตากรรมของเด็กหญิงในพื้นที่เขตเทือกเขาด้วยการให้ความรู้ เธอสอนหนังสือบ่มเพาะคน สร้างคนดีด้วยคุณธรรม โน้มน้าวนักเรียนให้มีอุดมการณ์ยาวไกลตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งเสริมให้สตรีเคารพตัวเอง มั่นใจในตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีความเข็มแข็งในตัวเอง เธอจุดประกายความฝันในชีวิตเด็กหญิงชนบทจำนวนมากด้วยความรักและสติปัญญา ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมของครูอันสูงส่งและความรับผิดชอบในฐานะคุณครูของประชาชนในยุคปัจจุบัน
TIM/LU