นางปี้ ซูหมิ่น นักประพันธ์หญิงผู้มีชื่อเสียงของจีน เธอเคยเป็นทหาร แพทย์ ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา และนักเดินทาง เธอเป็นนักประพันธ์ระดับเอกของชาติ รองประธานสมาคมนักประพันธ์ปักกิ่ง และได้รับรางวัลวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ มาแล้วกว่า 30 ครั้ง ผลงานของเธอหลายชิ้นถูกรวบรวมในตำราเรียนระดับชั้นต่าง ๆ หนังสือเรื่อง “ความสุขพอเหมาะพอดี” ที่เธอประพันธ์ขึ้นทำรายได้จากการตีพิมพ์ 4 ล้านหยวน หรือราว 18 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับที่ 22 ของรายชื่อนักเขียนที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี 2019 นอกจากนี้เธอยังเดินทางท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ มาแล้วกว่า 80 แห่งใน 7 ทวีปและ 4 มหาสมุทร ถือเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์จริง ๆ
ค.ศ. 1952 ปี้ ซูหมิ่น เกิดในครอบครัวทหารที่จังหวัดปกครองตนเองชนเผ่าคาซัคอีหลี เขตปกครองตนเองชนเผ่าอุยกูร์ซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นเขตชายแดนระหว่างจีน รัสเซีย มองโกเลีย และคาซัคสถาน พ่อของเธอเป็นทหารป้องกันชายแดน ขณะเป็นทารกอายุ 3 เดือน ปี้ ซูหมิ่นติดตามพ่อแม่ย้ายมาอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ต่อมา จึงเรียนหนังสือและเติบโตขึ้นที่นั่น เธอสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสังกัดสถาบันภาษาต่างประเทศปักกิ่งในปี ค.ศ. 1969 จากนั้นถูกเกณฑ์เป็นทหารไปป้องกันชายแดนตามรอยเท้าพ่อในวัย 17 ปี เธอประจำอยู่ที่เขตอาหลี่ในเขตทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมีพรมแดนติดกับเนปาลและอินเดีย เขตอาหลี่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 4,500 เมตร ได้รับการขนานนามว่า “หลังคาบนหลังคาโลก” “ขั้วโลกที่ 3” และ “แดนต้องห้ามของสิ่งมีชีวิต” เธอประจำอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 11 ปี โดยทำงานเป็นพยาบาล ผู้ช่วยแพทย์ทหาร และแพทย์ทหารตามลำดับ
อายุน้อยก็ถูกส่งไปเป็นทหารอยู่บนที่ราบสูงทุรกันดาร เห็นความกว้างใหญ่ของธรรมชาติ อยู่ใกล้กับภูเขาหิมะ แม่น้ำ และทะเลสาบ อันส่งผลกระทบต่อชีวิตของปี้ ซูหมิ่นอย่างมาก ในฐานะเป็นทหารเธอฝึกยิงปืนและขี่ม้า เคยแบกอาวุธ ธัญญาหาร และกระโจมผ้าใบเดินทางผ่านเขตปราศจากมนุษย์ในทิเบตคนเดียว เธอเคยขี่ม้าข้ามแม่น้ำที่จับตัวเป็นน้ำแข็งเพื่อไปส่งยาให้ชาวทิเบต ทหารที่เป็นสหายของเธอวัย 20 ปีเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ บนที่ราบสูงทิเบต เมื่อมีผู้เสียชีวิตศพจะถูกส่งไปยังยอดเขาเพื่อเป็นอาหารนกอินทรีซึ่งเป็นธรรมเนียมพื้นบ้าน คนท้องถิ่นเรียกว่า “เทียนจั้ง” หรือ งานศพสวรรค์ แพทย์รุ่นอาวุโสจะสอนกายวิภาคของมนุษย์ด้วยศพที่อยู่บนยอดเขา หลายวันผ่านไปเมื่อขนศพอีกศพหนึ่งไปบนยอดเขาก็พบว่า ศพคราวที่แล้วเหลือแต่เศษกระดูกชิ้นเล็ก ๆ เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ปี้ ซูหมิ่นเรียนรู้ความอ่อนแอและบอบบางของชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับธรรมชาติที่อยู่รอบข้างชีวิตมนุษย์ช่างเล็กจิ๋ว ซึ่งทำให้ปี้ ซูหมิ่นตระหนักถึงความสำคัญของการถนุถนอมและใช้ชีวิตให้ดี ช่วงนั้นสำหรับปี้ ซูหมิ่นแล้วทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่แน่นอน มีแต่ชีวิตเพียงอย่างเดียวที่เป็นของส่วนตัว ด้วยเหตุนี้การเป็นคนอย่างไรตลอดจนการใช้ทรัพยากรในชีวิตอย่างไรจึงมีความหมายเป็นพิเศษ ปี้ ซูหมิ่นยังระบุด้วยว่า การเป็นทหารรักษาชายแดนบนที่ราบสูง เธอได้เรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรถึงช่วยเหลือผู้อื่นได้
ค.ศ. 1980 ปี้ ซูหมิ่น ปลดประจำการจากกองทัพ เธอไปเป็นแพทย์ประจำโรงงานผลิตทองแดงแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ค.ศ. 1987 เธอใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ประพันธ์นวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกที่ชื่อว่า “คุนหลุนซาง” คำว่า “คุนหลุน” เป็นชื่อสถานที่ที่ปี้ ซูหมิ่นเคยเป็นทหารประจำการ ส่วนคำว่า “ซัง” หมายความว่า เสียชีวิตในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ ผู้เสียชีวิตเพื่อบ้านเมือง นวนิยายนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางซ้อมรบครั้งหนึ่ง ปี้ ซูหมิ่น พรรณนาว่า การปฏิบัติตามคำสั่งของทหารใหม่เหมือนต้นหญ้าอ่อน ส่วนการปฏิบัติตามคำสั่งของทหารอาวุโสเหมือนต้นไม้สูงใหญ่ จากนวนิยายเรื่องนี้เธอได้สื่อถึงความเคารพนับถืออันสูงส่งที่มีต่อธรรมชาติและชีวิต ผลงานชิ้นนี้สร้างชื่อเสียงให้ปี้ ซูหมิ่น ในวัย 35 ปี จนกลายเป็นนักประพันธ์ที่ชาวจีนรู้จักกันดี
ปี้ ซูหมิ่น ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมาคมนักประพันธ์จีน ค.ศ. 1989 เธอใช้เวลาว่างจากการทำงานศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่คณะภาษาจีน มหาวิทยาลัยฝึกหัดครูปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1991 หลังกลับมาใช้ชีวิตในเมืองอีกครั้ง ปี้ ซูหมิ่นสนใจเรื่องภาวะการดำรงอยู่และจิตสำนึกของชาวเมือง โดยรังสรรค์ผลงานเกี่ยวกับความรักของแม่และความเป็นความตายของผู้คน
ในปี ค.ศ. 2003 เกิดโรคซาร์สระบาดในจีน ปี้ ซูหมิ่นในฐานะแพทย์และนักประพันธ์ได้รับเชิญจากสมาคมนักประพันธ์จีนไปทำข่าวเกี่ยวกับการต้านโรคซาร์สตามโรงพยาบาล ฌาปนกิจสถาน สถาบันการแพทย์ทหาร สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ เทศบาลกรุงปักกิ่ง และกระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นต้น โดยสัมภาษณ์บรรดาบุคลากรการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลในแนวหน้าของการป้องกันและควบคุมโรค ต่อมา 8 ปีให้หลังเธอจึงเขียนนวนิยายเรื่อง “ฮวาก้วนปิ้งตู๋” หรือ “ไวรัสมงกุฎดอกไม้” และตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2012
นวนิยายเรื่องนี้มีใจความว่า ครั้งหนึ่งจีนเกิดโรคระบาดอย่างกะทันหันในเมืองที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน จากไวรัสที่ชื่อว่า “มงกุฎดอกไม้” ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรง ทำให้ทั่วทั้งเมืองต้องหยุดชะงัก มีนักประพันธ์คนหนึ่งซึ่งเคยเรียนจิตวิทยาถูกส่งไปทำข่าวเกี่ยวกับแนวหน้าของการต้านโรคระบาด นักประพันธ์ผู้นี้ใช้โอกาสดังกล่าวศึกษาเรียนรู้ความวิตกกังวลและความเดือดร้อนทางจิตใจของชาวบ้านเมื่อเผชิญโรคระบาดและความเป็นความตาย เนื่องจากไวรัสแพร่ระบาดต่อเนื่องสถานการณ์จึงเริ่มสูญเสียการควบคุม ยิ่งไม่มียาที่มีประสิทธิภาพเทศบาลก็ต้องสั่งปิดเมือง ชาวบ้านพากันอพยพหนีภัย กักตุนสินค้า จนมีแต่ความวุ่นวายเต็มไปหมด จากนวนิยายเรื่องนี้ปี้ ซูหมิ่นให้ข้อคิดว่า เมื่อเผชิญกับความท้าทายจากไวรัส นอกจากใช้ความพยายามทางการแพทย์ต่อสู้อย่างทรหดอดทนและหาญกล้าแล้ว มนุษย์ยังควรสร้างพลังทางจิตใจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย
อาจจะถือเป็นเรื่องบังเอิญที่หลังจากนวนิยายดังกล่าวตีพิมพ์ออกมาเป็นเวลา 8 ปี ในปี 2020 ทั่วโลกเผชิญไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่าล้านคน เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงป้องกันและควบคุมโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่พรรณนาในนวนิยายดังกล่าวของปี้ ซูหมิ่น ทำให้บรรดาผู้อ่านชื่นชมจินตนาการของเธอที่สามารถคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้