เภสัช จุฬาฯ ร่วมมือกับสถาบันชั้นนำประเทศออสเตรียพบสูตรสกัดลำไยแบบเข้มข้นด้วยกรรมวิธีพิเศษ (P80) สำหรับสมุนไพรพ่นลำคอและจมูก ลดปริมาณไวรัสที่เกาะติดเยื่อบุและลดปริมาณไวรัสที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสทุกชนิด รวมทั้งไวรัสโควิด-19 ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง
ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฎิบัติ ได้ร่วมมือกับ University of Innsbruck และ ADSI ประเทศออสเตรีย ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยการนำลำไยสกัดเข้มข้นด้วยกรรมวิธีพิเศษมาพัฒนาเป็นสูตรตำรับสมุนไพรพ่นลำคอและจมูก สามารถลดปริมาณไวรัสที่เกาะติดเยื่อบุและลดปริมาณไวรัสที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ เหมาะสำหรับการนำมาใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสทุกชนิด รวมทั้งไวรัสโควิด-19โดยลำไยสกัดเข้มข้นด้วยกรรมวิธีพิเศษ (P80) ได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถลดการยึดเกาะของเชื้อไวรัสที่เยื่อบุอ่อน ไม่ว่าจะเป็นที่โพรงจมูกและลำคอได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถลดการสร้าง complementary C3a ซึ่งเป็นสาร ก่อการอักเสบที่รุนแรงในปอดได้ นับเป็นสมุนไพรตัวแรกที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการลดการติดเชื้อที่โพรงจมูกและลำคอได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ผลการศึกษาพบว่าฤทธิ์ดังกล่าวสามารถอยู่ได้นานถึง 2 วัน ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพในผู้ป่วยจริงทางคลินิกโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
สมุนไพรพ่นจมูกและลำคอจากลำไยสกัดเข้มข้น
ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ อาจารย์นักวิจัยผู้พัฒนาสมุนไพรพ่นจมูกและลำคอจากลำไยสกัดเข้มข้นด้วยกรรมวิธีพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เปิดเผยถึงเหตุผลที่สนใจนำสารสกัดลำไยมาพัฒนาเป็นสูตรตำรับสมุนไพรดังกล่าว เนื่องจากลำไยเป็นผลไม้ที่เรานำมารับประทานเป็นอาหารอยู่แล้วจึงมีความปลอดภัยสูง เมื่อศึกษาตำราแพทย์แผนโบราณระบุว่าลำไยสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ จึงได้ศึกษาวิจัยสารสกัดลำไยจนพบว่าสามารถลดการยึดเกาะเชื้อไวรัสและมีฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสแทบทุกชนิด โดยได้ทำการทดสอบไปแล้วกับเชื้อไวรัสหลายประเภท เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเริม ฯลฯ ซึ่งได้ผลมีประสิทธิภาพดีกับเชื้อไวรัสทุกชนิดที่ทำการทดสอบ
การออกฤทธิ์ของสมุนไพรพ่นจมูกและลำคอจากลำไยสกัดเข้มข้น
สำหรับกระบวนการในการทำวิจัย ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ กล่าวว่าเริ่มจากการเลือกสารสกัดลำไยที่มีสารสำคัญในกลุ่มโพลีฟีนอลในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารสกัดลำไยที่ผ่านกระบวนการสกัดพิเศษ ด้วยอุณหภูมิต่ำภายใต้ความดันสูงและผ่านการกรองหลายครั้งจนได้สารสกัดที่มีความเข้มข้นของสารสำคัญ จากนั้นจึงนำมาตั้งสูตรตำรับสำหรับพ่นจมูกและลำคอเพื่อให้มีความหนืดและค่าความตึงตัวที่เหมาะสม เมื่อพ่นเข้าไปในโพรงจมูกและลำคอแล้วไม่ระคายเคือง ที่สำคัญต้องสามารถให้ขนาดละอองที่พอเหมาะ สามารถเข้าไปถึงอวัยวะที่ต้องการออกฤทธิ์ได้ ถ้าพ่นที่โพรงจมูก ต้องขนาดเล็กพอให้ทั่วโพรงจมูกแต่ไม่เล็กจนทำให้เข้าสู่ปอด ถ้าพ่นลำคอ ต้องให้สามารถให้ละอองถึงด้านในลำคอได้โดยไม่ติดที่ปาก ลิ้น และฟัน เมื่อศึกษาความคงตัวของสูตรตำรับแล้วจึงนำมาทดสอบทางคลินิกเพื่อดูประสิทธิภาพในผู้ป่วยจริง
ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณการใช้สารสกัดลำไยที่เข้มข้นสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสนั้นใช้เพียงปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น สามารถใช้สารสกัดนี้พ่นได้ทั้งลำคอและช่องจมูก วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ได้ทันที ทั้งการออกฤทธิ์ทางกายภาพคือป้องกันการยึดเกาะของเชื้อไวรัสต่อเยื่อบุผิว และการออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อป้องกันการเกิดสารก่อการอักเสบ ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องเดินทางไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ที่ๆ มีคนแออัด ก็สามารถใช้พ่นจมูกหรือลำคอก่อนเข้าสู่บริเวณดังกล่าวแล้วจึงสวมหน้ากากอนามัย
“เราทำวิจัยเรื่องนี้มาประมาณ 1 ปีครึ่งแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทดสอบกับเชื้อไวรัสอื่น เมื่อมีการระบาดของเชื้อโรคนี้ จึงเริ่มนำมาทดสอบกับเชื้อโควิด ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครจำนวน 62 ราย โดยมีความร่วมมือทางวิชาการกับโรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ คาดว่าอีก 3 เดือนผลิตภัณฑ์น่าจะออกสู่ท้องตลาดได้” ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ภาพแสดงเยื่อบุจมูกในภาวะปกติ
ภาพแสดงเยื่อบุจมูกที่ติดเชื้อไวรัสและมีสารก่อการอักเสบ
ภาพแสดงเยื่อบุจมูกติดเชื้อหลังได้รับสารสกัดลำไยเข้มข้น
***********************
หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ สามารถติดต่อเพื่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณฐนิตา หวังวณิชพันธุ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร โทร. (+66) 2218 3280 หรืออีเมล thanita.w@chula.ac.th
***********************
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021”