ปี้ ซูหมิ่น ชื่นชมผู้ที่มาพบจิตแพทย์โดยเห็นว่า พวกเขาย่อมเผชิญความยากลำบากครั้งใหญ่ในชีวิตจึงไว้เนื้อเชื่อใจที่จะมาขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อร่วมกันหาทางออกให้พ้นจากความยากลำบาก นอกจากนี้ผู้ที่มาขอคำปรึกษาทางจิตวิทยายังมีความมุ่งมั่นที่จะปรับตัว เป็นที่ทราบกันดีว่าการอยู่เป็นเพื่อนมีบทบาทสำคัญมาก ไม่ว่าใครเมื่อมีความรู้สึกไม่โดดเดี่ยวไม่วิตกกังวลก็สามารถหาทางออกด้วยตนเองได้ ในช่วงที่เปิดคลินิกจิตวิทยาเป็นเวลา 3 ปีนั้น ปี้ ซูหมิ่นช่วยผู้คนไปเป็นจำนวนมากมาย
ตามปกติ ปี้ ซูหมิ่นจะรักษาคนไข้ครั้งละ 50 นาทีแล้วหยุดพัก 10 นาที ขยันทำงานอย่างนี้ทั้งวัน บางครั้งให้คำปรึกษามากสุด 8 คน เท่ากับสัปดาห์ละ 40 คน แต่จำนวนผู้อยากมาขอคำปรึกษามีมากจึงเกิดปัญหาคิวยาว ครั้งหนึ่งสามีภรรยาวัยหนุ่มสาวคู่หนึ่งมีปัญหาด้านความสัมพันธ์จึงลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาจากปี้ ซูหมิ่นตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิแต่จนถึงฤดูใบไม้ร่วงก็ยังไม่ถึงคิวของทั้งคู่ เรื่องนี้ทำให้ ปี้ ซูหมิ่นหนักใจมาก เธอจึงคิดว่าหากเขียนหนังสือด้านจิตวิทยาสักเล่มหนึ่ง ปกติตีพิมพ์วางจำหน่ายอย่างน้อยหมื่นเล่ม แม้มีบางคนซื้อไปไม่มีเวลาอ่านแต่ก็ยังมีหลายพันคนได้อ่านซึ่งเท่ากับปริมาณการทำงานเป็นเวลาหลายปีของจิตแพทย์ นอกจากนี้ราคาหนังสือปกติเล่มละ 30 หยวน ผู้อ่านซื้อไปแล้วสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานถูกกว่าการมาพบแพทย์ที่คลินิกซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายเท่า ด้วยเหตุนี้ปี้ ซูหมิ่นจึงตัดสินใจปิดคลินิกและหันไปเขียนหนังสือต่อ จนถึงปัจจุบันนวนิยายเรื่อง “ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาหญิง” ของปี้ ซูหมิ่นได้รับการตีพิมพ์วางจำหน่ายแล้วกว่า 5 แสนเล่ม
ถึงแม้จะเปลี่ยนฐานะจากความเป็นแพทย์มาเป็นนักประพันธ์ก็ตาม แต่ปี้ ซูหมิ่นก็ไม่ลืมความมุ่งมั่นในการรักษาโรคให้ผู้ป่วย เธอถือสายใจ ความกระตือรือร้น และความเมตตาเป็นใบสั่งยา โดยใช้คุณธรรม วรรณกรรม และวิทยาศาสตร์อย่างบูรณการ ปี้ ซูหมิ่น ระบุว่า ไม่ว่าความเป็นแพทย์ นักประพันธ์ หรือ ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา ล้วนเป็นเรื่องที่ศึกษาวิจัยคน ความเป็นแพทย์ต้องวิจัยร่างกายคน วรรณกรรมเป็นมนุษยศาสตร์ นักประพันธ์ไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไร เรื่องสัตว์หรือเรื่องพฤกษชาติ ก็ต้องพิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดของคนก่อน ต้องพิจารณาโลกจากแง่มุมของคน ดังนั้น ความเป็นแพทย์ นักประพันธ์ และที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา จึงเสมือนเป็นห้อง 3 ห้องในห้องชุดเดียวกัน ขอให้เข้าออก 3 ห้องนี้อย่างอิสระเสรี
นายหวาง เหมิ่ง นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของจีน ชื่นชมนางปี้ ซูหมิ่นว่าเป็นแพทย์อย่างแท้จริงและเป็นนางฟ้าในแวดวงวรรณคดี ประสบการณ์ความเป็นทหารบนภูเขาคุนหลุน บทบาทความเป็นแพทย์ บวกกับสัญชาติญาณความเป็นคนดีตั้งแต่วัยเด็กทำให้ปี้ ซูหมิ่นกลายเป็นตัวแทนใหม่ที่มีเอกลักษณ์ มีชีวิตชีวา และแข็งแกร่งในวงการวรรณคดี ข้าพเจ้าไม่ทราบจริง ๆ เลยว่า บนโลกนี้ยังมีหนทางความเป็นนักประพันธ์และนักวรรณคดีที่เรียบร้อยและยึดมั่นในระเบียบวินัยอย่างปี้ ซูหมิ่น ความเป็นปกติ เมตตา สงบ ใจเย็น ตลอดจนการปฏิบัติตามระเบียบของปี้ ซูหมิ่นหายากและล้ำค่าจริง ๆ เธอเขียนนวนิยายเรื่อง “คุนหลุนซาง” ซึ่งเป็นนวนิยายที่เคร่งขรึมสะเทือนใจ เธอยังคงสามารถรักษาความเมตตาและยุติธรรมต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน เธอสามารถปฏิบัติต่อความตายและความสูญเสียอย่างถูกต้อง งานเขียนของเธอมักทำให้ผู้อ่านสะเทือนใจ ตัวอย่างเช่น นวนิยายเรื่อง “จื่อเซ่อเหรินสิง” หรือ “รูปลักษณ์คนสีม่วง” และนวนิยายเรื่อง “ยวี่เยวสื่อหวาง” หรือ “การนัดหมายกับความตาย” ล้วนมีความมุ่งมั่นไปสู่ความสงบเรียบร้อยและกลมกลืน เธอหวังให้ผู้อ่านของเธอใช้ชีวิตให้ดี มีความรัก และทำงานต่อไป
ปี้ ซูหมิ่น มักทำบางสิ่งบางอย่างเหนือความคาดหมายของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นทหารบนที่ราบสูงทุรกันดารเป็นเวลา 11 ปี หรือการไปเรียนจิตวิทยาระดับปริญญาเอกในวัยเกือบ 50 ปี ทั้งยังจดทะเบียนเปิดคลินิกจิตวิทยาเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักประพันธ์ที่เดินทางรอบโลก ถือเป็นนักประพันธ์จีนคนแรกที่ได้ไปเยือนขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และขั้วโลกที่ 3 ขั้วสูงสุดของโลก ซึ่งก็คือที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต นานปีผ่านพ้นไป ปี้ ซูหมิ่น ยังคงถือการใช้ชีวิตแบบทหารบนที่ราบสูงเป็นการเดินทางล้ำค่าที่สุดในชีวิตเพราะเส้นทางสายนี้มีคนจำนวนน้อยนิดที่ไปถึงได้
ทุกครั้งที่กลับจากการเดินทาง ปี้ ซูหมิ่นมักจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อบันทึกสิ่งที่พบเห็นและความรู้สึกจากแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ค.ศ. 2008 ปี้ ซูหมิ่น ลงทุนกว่า 4 แสนหยวนโดยสารเรือสำราญชื่อว่า “สันติภาพ” เดินทางรอบโลกโดยมีลูกชายไปเป็นเพื่อน เธอเดินทางร่วมกับบรรดานักท่องเที่ยวนานาชาติโดยออกจากญี่ปุ่นใช้เวลา 114 วันเดินทางกว่า 50,000 กิโลเมตร จากการเดินทางครั้งนั้นเธอเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “สวรรค์สีคราม” ระบุว่า ดิฉันเชื่อว่าสวรรค์ไม่ได้อยู่บนท้องฟ้า สวรรค์อยู่บนโลก โลกมนุษย์น่าจะเป็นสวรรค์ตั้งแต่ต้น หากต้องการมีโลกทัศน์ก็ต้องท่องโลกก่อน
ค.ศ. 2016 ปี้ ซูหมิ่น เขียนหนังสือเรื่อง “เดินทางสามหมื่นไมล์ข้ามทวีปแอฟริกา” ซึ่งสะท้อนประสบการณ์ที่เธอโดยสารขบวนรถไฟนามว่า “ภาคภูมิแห่งแอฟริกา” เธอซื้อตั๋วขาเดียวในราคา 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไปเยี่ยมผู้อดอยากในสลัม พบกับกษัตริย์ พระสงฆ์ สิงโต และทุ่งหญ้าแห่งแอฟริกา โดยระบุว่า เวลาดั่งเลือด ทุกหยดต่างมีรสเค็มและล้ำค่ามาก
ค.ศ. 2016 ปี้ ซูหมิ่น ในวัย 64 ปี โดยสารเรือตัดน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ออกเดินทางจากรัสเซียไปยังขั้วโลกเหนือ โดยมีสามีไปด้วย เธอเขียนหนังสือ “ทะลุน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ” โดยระบุว่า พอได้ย่ำลงบนขั้วโลกเหนือ จุดหมายปลายทางให้ความรู้สึกว่าชีวิตเป็นการเดินทางครั้งหนึ่งที่โดดเดี่ยว ความทุกข์ การไร้ความช่วยเหลือ ความโดดเดี่ยว และวิกฤตในชีวิตต่างมาจากมุมใดมุมหนึ่งที่ไม่รู้อยู่ตรงไหน ที่นั่นมีเด็กคนหนึ่งกำลังเดือดร้อนอยู่ ชีวิตเสมือนการเดินทาง ทุกคนเป็นนักเดินทาง
ค.ศ. 2017 ปี้ ซูหมิ่น เขียนหนังสือเรื่อง “Macrocosm แห่งทวีปอเมริกา” ความยาวกว่า 3 แสนคำ พาผู้อ่านไปปีนภูเขาไฟ ขึ้นพีระมิด และเล่นกิ้งก่าที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้ เธอบอกว่า เราเดินทางไกลแสนไกลและใช้เวลาอันยาวนานเพื่อกลายเป็นตัวของตัวเอง
ค.ศ. 2018 ปี้ ซูหมิ่นเขียนหนังสือเรื่อง “ทางใต้ของขั้วโลกใต้” เธอเขียนในบทปิดท้ายว่า ในฐานะเป็นคนจีนธรรมดาทำงานด้วยมือทั้งคู่และใช้เท้าคู่หนึ่งก้าวสู่โลก เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นถือเป็นการสร้างบุญคุณให้ตนเอง ชาตินี้นึกไม่ถึงเลยว่าดิฉันจะสามารถเดินทางได้ไกลขนาดนี้
ค.ศ. 2019 ปี้ ซูหมิ่น เขียนหนังสือเรื่อง “ขึ้นเครื่องบินเล็กไปยุโรป” โดยเดินทางร่วมกับบรรดากวี สถาปนิก นักการศึกษา และนักธุรกิจจำนวน 17 คน ซึ่งไม่ใช่การท่องยุโรปแบบธรรมดาแต่ถือเป็นการทัศนะศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม วรรณคดี การศึกษา สถาปัตยกรรม และ ระบบนิเวศของยุโรป
ค.ศ. 2020 หนังสือเรื่อง “กุญแจทองแดงบอลข่าน” ของปี้ ซูหมิ่นตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายโดยมีเนื้อหาระบุว่า ชมทัศนียภาพที่แตกต่างกัน พบบุคคลต่างกัน ปรับโลกทัศน์ และเปิดหูเปิดตา
จากหนังสือดังกล่าวพบได้ว่า การเดินทางท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในชีวิตของปี้ ซูหมิ่น เมื่อไม่นานมานี้เธอระบุว่า ปฏิทินชีวิตของดิฉันนับวันยิ่งบางลง มีอยู่วันหนึ่งจะถึงหน้าสุดท้ายที่โปร่งใส ทว่า ดิฉันจะแอบบอกให้ทราบว่า ตอนวัยยังสาวดิฉันเคยแอบดูหน้าสุดท้ายของชีวิตมาแล้ว ตั้งแต่นั้นมาดิฉันก็ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวอีก
ปี้ ซูหมิ่นใช้ช่วงเวลาที่งดงามที่สุดในชีวิตบนที่ราบสูง ที่นั่นมีคนน้อย ออกซิเจนต่ำ ซึ่งทำให้เธอได้เรียนรู้คุณค่าของกาลเวลาและการอยู่ใกล้กับความตาย ปี้ ซูหมิ่นมีประโยคเตือนใจว่า ดิฉันไม่เชื่อลวดลายบนฝ่ามือแต่เชื่อในพลังที่มาจากฝ่ามือบวกกับนิ้วมือ นี่คือความโดดเด่นและไม่ธรรมดาของปี้ ซูหมิ่น