พรรคคอมมิวนิสต์จีนในสายตาของพลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)

2021-04-12 15:58:03 | CMG
Share with:

ด้วย ปี ค .ศ.2021 เป็นปีครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติของไทย ได้มีการไปมาหาสู่กันและแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับหน่วยงานของประเทศจีนมาเป็นเวลายาวนาน สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีนหรือ CHINA MEDIA GROUP (CMG) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อระดับชาติของจีน ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารสำคัญของจีนสู่โลก และข่าวสารสำคัญของโลกสู่จีน ได้มีภารกิจส่งเสริมความเข้าใจและสร้างมิตรภาพระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนทั่วโลก โดยในวาระอันสำคัญยิ่งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี จึงได้ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับมุมมองของบุคคลสำคัญในแวดวงต่าง ๆ ของต่างประเทศที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้สื่อข่าวภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน ได้ขอสัมภาษณ์ทางลายลักษณ์อักษรกับพลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)

พรรคคอมมิวนิสต์จีนในสายตาของพลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)_fororder_1

ผู้สื่อข่าว: ระหว่างการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ท่านได้สัมผัสเป็นเช่นไร ท่านเคยพบมั๊ยว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ระดับผู้นำจนถึงสมาชิกพรรคฯ ทั่วไปแตกต่างจากภาพลักษณ์ที่สื่อตะวันตกรายงานหรือมั๊ย ท่านเห็นว่าความแตกต่างนี้สะท้อนให้เห็นในด้านใดบ้าง?

พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง: ทั้งพรรคฯและสมาขิกพรรคฯ ต่างมีความเข้าใจ ทุ่มเทพลังในการศึกษา และเอาจริงเอาจังกับพัฒนาการทางทฤษฎีเกี่ยวกับสังคมนิยมแบบจีนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและมิเคยหยุดหย่อน และมีความต่อเนื่องในการส่งผ่านประสบการณ์ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ 3 ครั้งและ 3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ กล่าวคือ 1) การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1911 นำโดย ดร.ซุนยัดเซ็นและการก่อกำเนิดทางทฤษฎีการเมืองที่เรียกว่า “ลัทธิไตรราษฎร์- The Three People’s Principles)” 2) การปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ สู่การสถาปนารัฐสังคมนิยม ตั้งแต่เริ่มขบวนการประชาธิปไตย “4 พฤษภาคม”(ปี 1919) นำโดย เหมาเจ๋อตง และสรุปบทเรียนทางทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นทฤษฎีการปฏิวัติที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมจีน ซึ่งก็คือ “ความคิดเหมาเจ๋อตง- Mao Ze Dong Thought) และ 3) การปฏิรูปเปิดเสรีเพื่อบรรลุสังคมนิยมที่ทันสมัย ตั้งแต่ปี 1978-79 โดยเติ้งเสี่ยวผิงเสนอแนวทางใหม่ที่ว่า การสร้างสังคมนิยมจีนใหม่จะต้อง “ปลดปล่อยความคิด มองปัญหาและจัดการปัญหาตามสภาพความเป็นจริง” ซึ่งได้รับการยอมรับและบรรจุไว้ในธรรมนูญของพรรคฯและรัฐธรรมนูญของจีนที่เรียกว่า “ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง- Deng Xiao Ping Theory”

เกี่ยวกับการเรียนรู้และพบปะพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ระดับผู้นำจนถึงสมาชิกพรรคฯ ทั่วไปแตกต่าง

จากภาพลักษณ์ที่สื่อตะวันตกรายงานมาก โดยเฉพาะในทัศนะคติของสื่อตะวันตกที่สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นพรรคการเมืองเผด็จการ ไม่ฟังเสียงหรือไม่มีความเป็นตัวแทนของประชาชน หรือไม่ก็เป็นการดำเนินงานในทางการเมืองโดยพื้นฐานการใช้ความรุนแรง เป็นต้น (ในอดีต คนไทยส่วนมากจะจินตนาการว่า พรรคคอมมิวนิสต์คือกลุ่มคนทำลายสถาบันทางศาสนา ทำลายความเป็นสถาบันครอบครัว แม้แต่การทำลายสถาบันการศึกษา เป็นต้น) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกลับตรงข้ามภาพลักษณ์สื่อตะวันตกรายงานอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความแตกต่างนี้สะท้อนให้เห็น แนวคิดพื้นฐาน(paradigm) ของสื่อตะวันตกในด้านทัศนคติตั้งแต่อดีต คือ ข้อวิจารณ์ “ภัยเหลือง-Yellow Threat”ในปลายศตวรรษที่ 19 (ปี ค.ศ.1895) “ข้อวิจารณ์ว่าด้วยภัยคุกคามสีแดง”ในต้นและกลางศตวรรษที่ 20  “ข้อวิจารณ์ว่าด้วยภัยคุกคามจากจีน- The China Threat” และ “ข้อวิจารณ์ว่าด้วยจีนล่มสลาย ” และอาจมีมูลเหตุที่แท้จริง อาทิ การหลอกหลอนของสงครามเย็นยังหลงเหลืออยู่ การขัดกันซึ่งผลประโยชน์ระหว่างประเทศ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าว: จากสภาพว่างเปล่าเมื่อเริ่มแรกก่อตั้งประเทศจีนใหม่ จนพัฒนามาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่2 ของโลก ท่านเห็นว่า ในการพัฒนาและผลสำเร็จที่ได้รับของจีนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีบทบาทมากน้อยเพียงไร ท่านเห็นว่า   เหตุใดพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงสามารถนำพาประเทศก้าวสู่ความมั่งคั่งและความแข็งแกร่งได้

พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง:ในการพัฒนาและผลสำเร็จที่ได้รับของจีนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีบทบาทมากใน 2 ด้าน กล่าวคือ 1) ด้านการยึดมั่นในความคิดชี้นำของพรรคภายใต้การนำของผู้นำจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งยึดถือทฤษฎีของลิทธิมาร์กซ์เลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตง ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง ความคิดสามตัวแทน (3 ตัวแทนคือ: ตัวแทนแห่งความต้องการของพลังการผลิตที่ก้าวหน้า ตัวแทนแห่งการพัฒนาของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า และ ตัวแทนแห่งประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ) ในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศ ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาอย่างถูกหลักวิทยาศาสตร์ และความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีนในยุคใหม่ และ 2) ด้านการยกระดับทฤษฎีความคิดในการบริหารประเทศอีกระดับหนึ่งด้วยวิสัยทัศน์การพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (4 หลักการคือ: การพัฒนาโดยยึดหลัก “คน”เป็นปัจจัยรากฐาน การพัฒนาอย่างบูรณาการ การพัฒนาอย่างผสมผสานสอดคล้อง และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน)

สาเหตุหลักที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถนำพาประเทศก้าวสู่ความมั่งคั่งและความแข็งแกร่งได้น่าจะมาจากปัจจัยสำคัญ อย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ 1) พัฒนาการทางแนวความคิดการเมืองของพรรคและสมาชิกพรรคอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่องใน ทฤษฎีของลิทธิมาร์กซ์เลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตง ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง ความคิดสามตัวแทน ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาอย่างถูกหลักวิทยาศาสตร์ และความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีนในยุคใหม่ดังที่กล่าวแล้ว 2) การสร้างสังคมให้ประชาชนพออยู่พอกินอย่างทั่วถึง 3) การบริหารประเทศด้วยหลักธรรมาภิบาล

ผู้สื่อข่าว:จีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากร 1400 ล้านคน พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองประเทศมาแล้วกว่า 70 ปี จนถึงปัจจุบันยังคงครองอัตราการสนับสนุนที่สูงมากจากประชาชน ท่านเห็นว่า พรรคการเมืองใดก็ตามควรมีคุณสมบัตรอะไรบ้างจึงจะสามารถรักษาความมีชีวิตชีวาไว้อย่างถาวรได้

พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง:จีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากร 1400 ล้านคน พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองประเทศมาแล้วกว่า 70 ปี จนถึงปัจจุบันยังคงครองอัตราการสนับสนุนที่สูงมากจากประชาชน อย่างไรก็ตาม น่าพอสรุปได้ว่า ไม่ว่าประเทศใหญ่หรือเล็ก ประชากรมากหรือน้อย พรรคการเมืองใดก็ตามที่เข้าบริหารประเทศ ควรมีคุณสมบัติสำคัญ อย่างน้อย 3 ประการ จึงจะสามารถรักษาความมีชีวิตชีวาไว้อย่างถาวรได้ กล่าวคือ 1) เมื่ออำนาจได้มาจากประชาชน ต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้ประชาชน 2) เมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจ ต้องตอบสนองบุญคุณแก่ประชาชน 3) ผลประโยชน์ทุกอย่างที่เกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรคต้องทำเพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง

ผู้สื่อข่าว:จีนกับไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านฉันมิตรที่มีการไปมาหาสู่กันทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างต่อเนื่อง  ท่านเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ที่โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น จีนกับไทยควรร่วมมือกันในเรื่องอะไรและอย่างไรต่อไป

พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง:จีนกับไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านฉันมิตรที่มีการไปมาหาสู่กันทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างต่อเนื่องและมึการประกาศความสัมพันธ์ทางการระหว่างผู้นำระดับสูงสุดของทั้งสองประเทศว่าเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ต่อกันและกัน   ดังนั้น จีนกับไทยควรมีความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างใกล้ชิดและมีความเข้มข้นเชิงคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

1) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างความสำเร็จในอดีตและการแสวงหานวัตกรรมใหม่ อาทิ (1)แนวคิดการพัฒนารูปแบบใหม่ (New Development Pattern) (2) Health and Green Silk Road (3) การยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีนสู่คุณภาพด้วย BRI with Hearts and Minds (4) Digital Silk Road และ (5) The 21st-century Maritime Silk Road เป็นต้น

2) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคการตลาด อาทิ การเสริมสร้างและสนับสนุนโอกาสโครงการ Private Partnership Program(PPP) ให้มากขึ้น เป็นต้น

3) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตลาดภายในกับการค้าระหว่างประเทศทั้งในเชิงทวิภาคีและพหุภาคี  โดยต้องหากลไกให้ ตลาดภายในของจีนช่วย booster การค้าไทย-จีนมากยิ่งขึ้น

4) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนากับความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะความร่วมมือแบบความมั่นคงร่วม (cooperative defence) ด้านความั่นคงรูปแบบใหม่ทั้งในการสนับสนุนการฝึกร่วมด้านการบริการ การรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการวิจัยรูปแบบวิธีการและด้านอุปกรณ์หรือการปฏิบัติการ เป็นต้น

5) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์(เป้าหมาย)และยุทธวิธี(วิธีการ) กล่าวคือ ทั้งสองประเทศมีระบบการเมืองที่แตกต่างกัน ดังนั้นยุทธวิธี/วิธีการไปสู่ยุทธศาสตร์/เป้าหมายย่อมแตกต่างกัน การหารูปแบบวิธีการหรือแลกเปลียนบทเรียนจากปฏิบัติการต่างๆ (Lessons Learned) ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ชาวโลกว่า ความรัก-ความเข้าใจกัน ความมุ่งมั่นตั้งใจในการแสวงหาหรือการให้สิ่งที่ดีๆต่อกัน ทำให้ทั้งสองประเทศ(จีน-ไทย)ที่แม้จะมีระบบการเมืองที่แตกต่างกันและอีกหลายๆประเทศสามารถอยู่ในประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันได้อย่างสันติสุข

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดยภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน-CMG

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

陆永江