วันที่ 15 เมษายน นายเจ้า ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นต้องร่วมมือกับจีน เกาหลีใต้ และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องในการประเมินผลจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล
นายเจ้า ลี่เจียน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน จีนและเกาหลีใต้ได้จัดการประชุมภายใต้กลไกการหารือและร่วมมือในกิจการทางทะเลครั้งแรก ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดให้ญี่ปุ่นต้องจัดการน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานที่มีการปรึกษาหารืออย่างเต็มที่กับองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งให้ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นี่เป็นจุดยืนร่วมกันของจีนและเกาหลีใต้
นายเจ้า ลี่เจียน กล่าวด้วยว่า ญี่ปุ่นตัดสินปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเลโดยลำพังฝ่ายเดียว ปัดความรับผิดชอบและความเสี่ยงให้แก่ประเทศอื่น ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวสุดโต่ง จีนและเกาหลีใต้ในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น และมีส่วนได้ส่วนเสียจากการตัดสินใจของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล ต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนประเทศตน และสภาพแวดล้อมทางทะเลระหว่างประเทศ จึงมีความกังวลและไม่พอใจยิ่งต่อการตัดสินใจที่ไม่มีความรับผิดชอบของญี่ปุ่น
นายเจ้า ลี่เจียนยังชี้ว่า ญี่ปุ่นบอกว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีมีความปลอดภัย โดยอ้างข้อมูลของตนฝ่ายเดียว จึงไม่มีความน่าเชื่อถือใดทั้งสิ้น มีรายงานข่าวและประจักษ์พยานจำนวนมากเปิดเผยว่า บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียวที่รับผิดชอบกำกับดูแลโรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะปลอมแปลงเอกสาร และปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำที่เลวร้ายดังกล่าว ข้อมูลญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นโดยไม่มีฝ่ายที่สามเข้าร่วม ประเมินและกำกับดูแลอย่างแท้จริงนั้น จะมีความน่าเชื่อถือหรือ? ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรของเยอรมนีชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีกระแสน้ำในมหาสมุทรที่ไหลเชี่ยวบริเวณริมฝั่งฟุกุชิมะ ถ้านับจากวันที่ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล สารกัมมันตรังสีจะลามไปถึงน่านน้ำส่วนใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิกภายใน 57 วัน และจะลามไปถึงน่านน้ำทั่วโลกภายใน 10 ปี
นายเจ้า ลี่เจียนกล่าวว่า นักการเมืองญี่ปุ่นหลายคนพยายามจะบอกว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีมีความปลอดภัย ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็ควรจะใช้น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีไปเป็นน้ำดื่ม ทำกับข้าว ซักเสื้อผ้า และการชลประทาน จีนเห็นว่า ญี่ปุ่นต้องประกันอาหารทะเลไม่ถูกปนเปื้อน ต้องรับข้อเสนอจากสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล(IAEA) ต้องร่วมมือกับจีน เกาหลีใต้ และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิค เพื่อทำการประเมิน
นายเจ้า ลี่เจียนยังชี้ว่า สหรัฐฯยกนิ้วให้ญี่ปุ่นด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งกลับสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ข้าวและปลาจากญี่ปุ่น และองค์การอาหารและยาสหรัฐฯได้เน้นว่า เนื่องจากมีปัญหาปนเปื้อนกัมมันตรังสี สหรัฐฯได้เสริมการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประเภทที่ถูกควบคุมจากญี่ปุ่น ขอถามว่า ญี่ปุ่นจะอธิบายนโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯอย่างไร ?
(yim/cai)