เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 นี้และในโอกาส 46 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เมื่อตอนบ่ายวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน และ สมาคมมิตรภาพไทย-จีน เป็นต้น ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาเรื่อง "100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ 46 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน" ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ นายหยาง ซิน อุปทูต รักษาราชการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "100 ปีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและแผนการพัฒนาจีนตามแนวคิดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง" ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ซึ่งมีสาระน่าสนใจดังต่อไปนี้
ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาเข้าร่วมการประชุมสัมมนาในประเด็นครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและครบ 46 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทยภายใต้หัวข้อ “ร้อยปีกระบวนการพัฒนา ร้อยปีความร่วมมือในอนาคต” ก่อนอื่นข้าพเจ้าในนามสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ขอขอบคุณเจ้าภาพที่ได้จัดการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ขอแสดงความปรารถนาดีต่อแขกผู้มีเกียรติและมิตรทั้งหลายที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยในช่วงระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา
ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนพัฒนาเติบโตขึ้นจากพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเพียง 50 กว่าคนในช่วงเริ่มก่อตั้งใน ค.ศ. 1921 จนมาเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกกว่า 91 ล้านคนและมีองค์กรระดับพื้นฐาน 4.68 ล้านองค์กรในปัจจุบัน ได้ปกครองบริหารจีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในโลกนานกว่า 70 ปี อีกทั้งยังเป็นพรรครัฐบาลใหญ่ที่สุดในโลก ช่วง 100 ปี มานี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามัคคีนำประชาชนบรรลุความเป็นเอกราชของประชาชาติ ความเข้มแข็งเกรียงไกรของประเทศชาติ และความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน นอกจากนี้ยังได้บรรลุการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเสถียรภาพถาวรทางสังคม จีนใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีในการเสร็จสิ้นกระบวนการทำให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประเทศพัฒนาแล้วเคยใช้เวลาในด้านนี้นานถึงหลายร้อยปี ประชาชาติจีนได้ลุกขึ้น มั่งคั่งขึ้น และแข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้นับว่าเป็นปาฏิหาริย์ในประวัติการพัฒนาแห่งประชาชาติจีน วิวัฒนาการแห่งสังคมนิยมโลก และประวัติการพัฒนาของมวลมนุษยชาติ
1.ย้อนทบทวนประวัติศาสตร์
(1) ประวัติศาสตร์จีนสมัยโบราณรุ่งโรจน์ชัชวาล จีนเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดในโลก มีประวัติศาสตร์กว่า 5,000 ปี และวัฒนธรรมอันรุ่งโรจน์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดหุ่นม้าและทหารสมัยฉินซีฮ่องเต้ กำแพงเมืองจีน ลัทธิขงจื๊อ วิธีผลิตกระดาษ ดินปืน แท่นพิมพ์ และเข็มทิศ ก่อนศตวรรษที่ 19 มูลค่าและขนาดของเศรษฐกิจจีนสูงกว่าฝั่งยุโรปตะวันตกมาตลอด แม้ในปลายสมัยราชวงศ์ชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจจีนยังคิดเป็นราวหนึ่งในสามของโลก
(2) ประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้อันอัปยศอดสู ตั้งแต่เกิดสงครามฝิ่นใน ค.ศ. 1840 จนถึงช่วงก่อนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 จีนตกเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ตั้งแต่ ค.ศ. 1840 – 1919 ประเทศมหาอำนาจในลักษณะจักรวรรดินิยมต่างบังคับให้จีนทำสนธิสัญญาที่ไม่ยุติธรรมรวม 709 ฉบับ บังคับจีนให้ยกดินแดน 1.6 ล้านตารางกิโลเมตรแก่ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ บังคับจีนชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงิน 1,300 ล้านตำลึง บังคับจีนให้ต้องยอมรับความอัปยศอดสูต่าง ๆ เช่น ยอมให้ต่างชาติมีทหารประจำในประเทศ ตั้งเขตเช่าในจีน รวมทั้งมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เวลานั้นชาวจีนที่พลีชีพเพื่อชาติบ้านเมืองจำนวนนับไม่ถ้วนได้ต่อสู้เพื่อแสวงหาหนทางกู้ชาติแต่ล้วนไม่ประสบความสำเร็จ เช่น
—— ตั้งแต่ทศวรรษ 1860 - 1890 กลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีความคิดก้าวหน้าในรัฐบาลราชวงศ์ชิงก่อการเคลื่อนไหวพัฒนากิจการประเทศตะวันตก โดยศึกษาเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยของประเทศตะวันตกเพื่อนำมาพัฒนาประเทศจีนให้มีความเข้มแข็งและมั่งคั่งขึ้น
—— กลุ่มสนับสนุนการปฏิรูประบอบการปกครองที่นำโดยนายคัง โหย่วเหวย และนายเหลียง ชีเชา ก่อการเคลื่อนไหวปฏิรูประบอบการปกครอง โดยมุ่งหวังที่จะสร้างระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในจีน แต่การเคลื่อนไหวครั้งนั้นประสบความล้มเหลวภายในร้อยวัน
—— ค.ศ. 1911 ดร.ซุนยัดเซน (ซุนจงซาน) และนายหวาง ซิง ทำการปฏิวัติ “ซินไฮ่” โค่นล้มการปกครองของราชวงศ์ชิง ตั้งสาธารณรัฐจีน โดยมุ่งหวังที่จะใช้ระบอบการปกครองของประเทศตะวันตกในจีน
—— หลังสาธารณรัฐจีนสถาปนาขึ้น กลุ่มการเมืองต่าง ๆ พากันออกมาแสดงบทบาทของตน โดยมีการทดลองใช้ระบบการปกครองต่าง ๆ เช่น ระบบประธานาธิบดี ระบบรัฐสภา ระบบหลายพรรคการเมือง และระบบรัฐบาลทหาร ซึ่งล้วนแต่ทำให้จีนตกอยู่ในภาวะเดือดร้อนและวุ่นวาย ช่วงเวลานั้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้น จุดอ่อนของลัทธิทุนนิยมในประเทศตะวันตกปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ดังนั้นชาวจีนจึงเริ่มค่อย ๆ ตระหนักว่า สำหรับประเทศจีน ระบบการปกครองของฝ่ายตะวันตกก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน
(3) ประวัติศาสตร์จีนในยุคปัจจุบันที่มีชีวิตเกิดใหม่ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชะตากรรมของจีนจึงเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ประวัติศาสตร์ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะแรก ช่วงการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยในยุคใหม่ (ตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 จนถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 ) ในช่วงเวลาดังกล่าวพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามัคคีและนำประชาชนหลั่งเลือดสู้รบเป็นเวลา 28 ปี จนในที่สุดสามารถเอาชนะจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น โค่นล้มอำนาจการปกครองของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง เสร็จสิ้นการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยในยุคใหม่ และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น
ระยะที่ 2 ช่วงการปฏิวัติและสร้างสรรค์สังคมนิยม (ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 จนถึงการจัดประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 11 ครั้งที่ 3 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978) ช่วงเวลาดังกล่าวพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามัคคีนำประชาชนสร้างระบบสังคมนิยมขั้นพื้นฐาน จีนไม่ได้เลียนแบบโมเดลของอดีตสหภาพโซเวียตแต่แสวงหาแนวทางด้วยตนเองในการสร้างสรรค์สังคมนิยม พร้อมทั้งขับเคลื่อนการสร้างความทันสมัยในประเทศที่มีประชากรมากและยากจน จากการมุมานะบากบั่นต่อสู้เป็นเวลากว่า 20 ปี จีนได้สร้างระบบอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจประชาชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ตลอดจนเป็นตัวของตัวเองในเบื้องต้น
ระยะที่ 3 ช่วงการปฏิรูปเปิดสู่ภายนอกและการสร้างสรรค์ความทันสมัยแห่งสังคมนิยมในยุคใหม่ (ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 จนถึงการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012) ช่วงเวลานี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการตัดสินใจเชิงประวัติศาสตร์โดยให้หลักการทำงานของพรรคฯ หันกลับมาพัฒนาเศรษฐกิจ ดำเนินนโยบายปฏิรูปเปิดสู่ภายนอก และมุ่งไปสู่หนทางสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน ทำให้เกิดปาฏิหาริย์เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สังคมมีเสถียรภาพถาวร และประเทศชาติพัฒนาขึ้นอย่างสันติ สาเหตุสำคัญที่จีนประสบความสำเร็จดังกล่าวอยู่ที่จีนได้นำหลักการทั่วไปของลัทธิมาร์กซ์มาประสานกับสภาพความเป็นจริงในประเทศ
ระยะที่ 4 สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์จีนในยุคใหม่ (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012 จนถึงปัจจุบัน) ตั้งแต่จัดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ใน ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีสหายสี จิ้นผิง เป็นแกนนำได้สามัคคีนำประชาชนชนเผ่าต่าง ๆ ทั่วประเทศบากบั่นต่อสู้ เพื่อให้ความฝันจีนที่จะฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติอย่างยิ่งใหญ่ปรากฏเป็นจริงขึ้น จีนก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาใหม่ เริ่มกระบวนการใหม่ในการสร้างสรรค์ประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย จีนได้ปฏิบัติตามแนวความคิดใหม่ด้านการพัฒนาประเทศ เน้นผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีคุณภาพในระดับสูง จีนทุ่มเทกำลังสร้างวงจรการพัฒนาใหม่ที่ถือการหมุนเวียนภายในประเทศเป็นหลักและให้การหมุนเวียนทั้งภายในและระหว่างประเทศสนับสนุนซึ่งกันและกัน
2.ผลสำเร็จทางประวัติศาสตร์แห่งภารกิจอันยิ่งใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
—— ผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้นจาก 149,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดประเทศ (ครองสัดส่วน 1.7% ของโลก) มาเป็นเกือบ 14.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน ค.ศ. 2020 (ครองสัดส่วน 17% ของโลก)
—— จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างมั่นคง มีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกประมาณ 30%
—— GDP เฉลี่ยต่อหัวเกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ติดต่อกันเป็นเวลาสองปี
—— เป็นประเทศการค้าสินค้าใหญ่ที่สุดและมีปริมาณการสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลก
—— จีนยังเป็นประเทศที่มีซูเปอร์คอมพิวเตอร์มากที่สุดและมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์เร็วที่สุดในโลก
——ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจีนมีจำนวนคำร้องขอจดสิทธิบัตรเฉลี่ยต่อปี 1.4 ล้านรายการ มากที่สุดในโลก
—— ความยาวทางรถไฟความเร็วสูงทะลุ 35,000 กิโลเมตร ครองอันดับหนึ่งของโลก
—— จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม 30 ดวงและสร้างเครือข่ายทั่วโลกสำหรับระบบนำทาง “เป๋ยโต่ว”
—— 5G ปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรมได้รับการเร่งพัฒนาอย่างหลอมรวมเข้าด้วยกัน
3. พรรคคอมมิวนิสต์จีน: แสวงหาความสุขแก่ประชาชน แสวงหาการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ และแสวงหาความหลอมรวมกลมกลืนแก่โลก
(1) พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองที่แสวงหาความสุขแก่ประชาชน "การใฝ่หาชีวิตอันดีงามของประชาชน คือ เป้าหมายการต่อสู้ของพวกเรา" เป้าหมายอันดับแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปกครองประเทศ คือ เพื่อให้ประชาชนจีนมีชีวิตที่ดี
—— หลังผ่านการฟันฝ่าต่อสู้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี นับจนถึงปลาย ค.ศ. 2020 จีนได้บรรลุเป้าหมายและภาระหน้าที่ในการแก้ไขอุปสรรคและความยากลำบากเพื่อขจัดความยากจนในยุคใหม่ตามกำหนด ตามมาตรฐานปัจจุบันคนจนในชนบทจำนวน 98.99 ล้านคนได้หลุดพ้นความยากจนทั้งหมด อำเภอยากจน 832 แห่งและหมู่บ้านยากจน 128,000 แห่งถูกปลดออกจากบัญชีรายชื่ออำเภอหรือหมู่บ้านยากจน นำไปสู่การบรรลุภารกิจอันหนักหน่วงแห่งการขจัดความยากจนสุดขีดด้วยความสำเร็จ ประเทศจีนซึ่งมีประชากรเกือบหนึ่งในห้าของโลกประสบความสำเร็จในการขจัดความยากจนสุดขีดอย่างสิ้นเชิงและบรรลุเป้าหมายการบรรเทาความยากจนตาม “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030” ก่อนเวลาที่กำหนดถึง 10 ปี มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเจ้าหน้าที่กว่า 1,800 คนได้สละชีวิตอันมีค่าเพื่อภารกิจการบรรเทาความยากจน
—— อายุขัยเฉลี่ยของชาวจีนเพิ่มขึ้นจาก 35 ปี ใน ค.ศ. 1949 เป็น 77.3 ปี ใน ค.ศ. 2019
(2) พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองที่แสวงหาการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชาติ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่และกล้าหาญที่จะแบกรับภารกิจทางประวัติศาสตร์แห่งการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งใหญ่ของประชาชาติ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ที่สุดในโลกได้สร้างปาฏิหาริย์แห่งการพัฒนาที่ “สั่นสะเทือนฟ้าดิน” ในประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนาสังคมของมนุษยชาติ ประชาชาติจีนเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวาครั้งใหม่
—— การจัดวางเชิงยุทธศาสตร์ "ก้าวไปข้างหน้าสามขั้นตอน" :
ขั้นตอนแรก คือ GDP ใน ค.ศ. 1990 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของ ค.ศ. 1980 ซึ่งแก้ไขปัญหาอาหารการกินและเครื่องนุ่งห่มของประชาชน
ขั้นตอนที่สอง คือ ภายในปลายศตวรรษที่ 20 GDP ของจีนจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า มาตรฐานการครองชีพของประชาชนถึงระดับ “มีกินมีใช้”
และขั้นตอนที่สาม คือ ภายในกลางศตวรรษที่ 21 จีนจะบรรลุความทันสมัยขั้นพื้นฐาน โดยมี GDP เฉลี่ยต่อหัวถึงระดับประเทศพัฒนาแล้วระดับปานกลาง ประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างมั่งคั่ง
อย่างไรก็ตามภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ในขณะนั้น ยุทธศาสตร์ "ก้าวไปข้างหน้าสามขั้นตอน" ที่ออกแบบโดยเติ้ง เสี่ยวผิงนั้นได้วางแนวทางเพียงคร่าว ๆ เกี่ยวกับขั้นตอนที่สาม
—— ปลายศตวรรษที่ 20 เราได้เสนอเป้าหมายการฟันฝ่าต่อสู้แห่ง "สองศตวรรษ" : ในวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน GDP และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวเมืองและชนบทของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของ ค.ศ. 2010 และจะเสร็จสิ้นกระบวนการสร้างสังคมมีกินมีใช้อย่างรอบด้าน ในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนจะได้รับการสร้างสรรค์ให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย มั่งคั่ง แข็งแกร่ง เป็นประชาธิปไตย มีอารยธรรม และกลมกลืน
—— ควบคู่ไปกับเป้าหมายสองขั้นแรกที่ได้รับการขับเคลื่อนอย่างราบรื่นและบรรลุผลสำเร็จก่อนเวลาที่กำหนด พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้วางแผนอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเป้าหมายและขั้นตอนของขั้นตอนที่สามอย่างทันท่วงที การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 19 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ "ก้าวไปข้างหน้าตามสองขั้นตอน" อย่างชัดเจน นั่นคือภายใน ค.ศ. 2035 จีนจะบรรลุความทันสมัยแห่งสังคมนิยมในขั้นพื้นฐาน และภายในกลางศตวรรษนี้จีนจะได้รับการสร้างสรรค์เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย มั่งคั่ง แข็งแกร่ง เป็นประชาธิปไตย มีอารยธรรม กลมกลืน และสวยงาม
(3) พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองที่แสวงหาความหลอมรวมกลมกลืนแก่โลก
“พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองที่แสวงหาความสุขแก่ประชาชนจีน ทั้งยังเป็นพรรคการเมืองที่ฟันฝ่าต่อสู้เพื่อภารกิจความก้าวหน้าแห่งมนุษยชาติอีกด้วย พรรคคอมมิวนิสต์จีนถือการสร้างคุณูปการใหม่มากยิ่งขึ้นแก่มวลมนุษยชาติเป็นพันธกิจของตนมาโดยตลอด"
—— จีนจะปกป้องลัทธิพหุภาคีและระบบระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นแกนกลางอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ สนับสนุนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและความเป็นหลายขั้วของโลก ขับเคลื่อนการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ
—— ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศจีนได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาอันหนักแน่นด้วยปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการให้วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะของทั่วโลก เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมาย "ทุกคนเข้าถึงวัคซีน" วัคซีนจีนได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้ในกว่า 80 ประเทศ จีนกำลังให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศกำลังพัฒนากว่า 80 ประเทศที่มีความต้องการเร่งด่วน และได้ส่งออกวัคซีนไปยังกว่า 50 ประเทศ เพื่อสร้างคุณูปการของจีนต่อการเข้าถึงและแบกรับค่าใช้จ่ายของวัคซีนได้ของประเทศกำลังพัฒนา
4. ความสัมพันธ์จีน-ไทย
—— เราทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้โรคระบาดด้วยกัน ผู้นำสองประเทศและทุกภาคส่วนของสังคมต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินความร่วมมืออันทรงประสิทธิภาพด้านการวินิจฉัยและการรักษาโรค วัคซีน การร่วมป้องกันควบคุมโรคโดยหลายฝ่าย และด้านอื่น ๆ จนถึงเดือนมิถุนายน ประเทศจีนได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประเทศไทยแล้วกว่า 10 ล้านโดส เราขอขอบคุณประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนและความร่วมมือในการดำเนิน " โครงการต้นกล้าในฤดูใบไม้ผลิ" ในไทย
—— เราทุ่มเทแก้ไขอุปสรรคและความยากลำบาก มีความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นแม้เผชิญสถานการณ์อันเลวร้าย ปีที่แล้วปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีน-ไทยมีมูลค่าถึง 98,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับ ค.ศ. 2019 จีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 164 โครงการในประเทศไทยและได้ลงทุน 31,500 ล้านบาทในไทย จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ส่วนไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของจีนในอาเซียน ปัจจุบันบริษัทหวาเหว่ยกำลังช่วยไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ใช้ประโยชน์จาก 5G เชิงพาณิชย์ บริษัทจงซิง (ZTE) ลงทุนพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ 5G ในประเทศไทย และบริษัทหุ้นส่วนยานยนต์ฉางเฉิงจำกัด (Great Wall Motor) ได้ลงทุนโครงการฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานใหม่ในประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างสองประเทศเปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนใหม่และมีความโดดเด่นอย่างหลากหลาย
—— อนาคตแห่งความร่วมมือจีน-ไทยกว้างไกล พวกเราควรดำเนินการดังต่อไปนี้
ประการแรก เสริมสร้างการเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ เดินหน้าร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ด้วยคุณภาพสูง เร่งการปรึกษาหารือโครงร่างของแผนงานความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ ผลักดันการเชื่อมโยงเชิงลึกระหว่างเขตอ่าวใหญ่กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า กับ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ของไทย ยืนหยัดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบรรเทาความยากจน การพัฒนาชนบท และด้านอื่น ๆ ระหว่างจีน-ไทยอย่างต่อเนื่อง
ประการที่สอง ขับเคลื่อนความร่วมมือต้านโรคระบาด จีนจะพยายามอย่างเต็มที่ต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการด้านวัคซีนของไทย พร้อมทั้งหวังว่าสองฝ่ายจะสนับสนุนให้บริษัทของตนเร่งปรึกษาหารือเกี่ยวกับการตั้งศูนย์บรรจุวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในไทย กระชับความร่วมมือจีน-ไทยด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาด การวินิจฉัยและรักษาโรค การแพทย์แผนโบราณ และด้านอื่น ๆ เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันด้านสุขภาพระหว่างสองประเทศ
ประการที่สาม กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เร่งการก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน เพื่อยกระดับการเชื่อมต่อโครงข่าย เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น กำลังการผลิตที่เหนือกว่า สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เมืองอัจฉริยะ และนวัตกรรมดิจิทัล ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจ "หมุนเวียน ชีวภาพ และสีเขียว" ของไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ “สีเขียว คาร์บอนต่ำ และหมุนเวียน” ของจีน
ประการที่สี่ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ใช้ความพยายามลดผลกระทบของโรคระบาด ดำเนินความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่อไป ขับเคลื่อนการแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการฝึกอบรม โดยเฉพาะการฝึกอบรมบุคลากรเฉพาะทางด้านการรถไฟ เทคโนโลยีการสื่อสาร รวมไปถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น
ประการที่ห้า ขยายความร่วมมือพหุภาคี จีนสนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำเอเปกในปีหน้า พร้อมทั้งชื่นชมฝ่ายไทยที่สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการยกระดับความสัมพันธ์จีน-อาเซียน จีนยินดีที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงกับกลไกลุ่มแม่น้ำสามสายให้คืบหน้าอย่างสอดประสานกัน ใช้ความพยายามเพื่อให้ "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ตลอดจนเสริมสร้างการประสานงานและความร่วมมือในสหประชาชาติ รวมทั้งองค์กรพหุภาคีอื่น ๆ
เรียบเรียงโดยภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน-CMG