FOR IMMEDIATE RELEASE
กลุ่มภารกิจนานาชาติสัมพันธ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก และ ดร.เดนนิส แคร์รอล ประธานโครงการ Global Virome Project ร่วมงานเปิดตัวการจัดตั้ง “สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ” ผ่านการถ่ายทอดสดทางแฟนเพจ Graduate Affairs Faculty of Medicine, Chulalongkorn University โดยได้รับเกียรติจาก Dr.Dennis Carroll ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน Leadership Board ของโครงการ Global Virome Project และเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการของสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “Preventing the Next Pandemic: The Power of Global Health Security and Collaboration”
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ระดมคณาจารย์และนักวิจัยในการทำงานเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์ปัญหาท้าทายในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดของ COVID-19 โดยได้จัดตั้งสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก (School of Global Health – SGH) ขึ้น ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้บุกเบิกการจัดตั้งสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก กล่าวว่า ปัจจุบันโลกต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ เรากำลังเผชิญกับภัยพิบัติรูปแบบที่มีความซับซ้อนและความไม่แน่นอน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งใจที่จะขับเคลื่อนต่อยอดความรู้และความเชี่ยวชาญของคณาจารย์และนักวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม และสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่พร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาสุขภาพโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยการทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าหมาย และต่อเนื่องกับผู้มีประสบการณ์ในศาสตร์ต่างๆ จากสถาบันพันธมิตรและทุกภาคส่วนทั่วโลก สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลกมุ่งมั่นที่จะเติมเต็มช่องว่างและสร้างความเชื่อมโยง บูรณาการข้ามศาสตร์ เปิดเวทีการจัดการและแบ่งปันความรู้ให้เกิดประโยชน์และสร้างความเท่าเทียมทางสุขภาพอย่างแท้จริง
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า นักวิชาการและมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญมาก เราต้องก้าวและเสริมกำลังไปด้วยกัน เพื่อช่วยประเทศเตรียมความพร้อมรองรับในทุกด้าน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศน์ของการทำงานและการสนับสนุน การวิจัย และการสร้างกำลังคนที่มีความรู้และทักษะตอบสนองกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และนี่เป็นเป้าหมายสำคัญของสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก
การจัดตั้งสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก มีเป้าหมายในการเป็นแพลตฟอร์มรวมการบริหารหลักสูตรนานาชาติ เพื่อยกระดับหลักสูตรบัณฑิตศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เสริมกำลังคนที่มีสมรรถนะ และศักยภาพสูงให้ตรงกับความต้องการของสังคมในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลสุขภาวะ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสร้างระบบและเครือข่ายทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากทุกภูมิภาคของโลก ในการตอบโจทย์ที่ท้าทายด้าน Global Health รวมทั้งความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ และยังเป็นแหล่งเชื่อมโยงเครือข่ายและองค์กรทั้งในระดับประเทศและนานาชาติที่เอื้อต่อการผลิตอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักสูตรและการเรียนการสอนต่างๆ ครอบคลุมความรู้ที่เป็นปรัชญาของสถาบัน คือ โรคอุบัติใหม่และโรคเขตร้อน โรคไม่ติดต่อ และนโยบายสาธารณสุข แบ่งเป็น
- ระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) เช่น สาขาวิชาเวชศาสตร์คลินิก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สาขาวิชาการพัฒนาสุขภาพ
- ระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) เช่น สาขาวิชาเวชศาสตร์คลินิก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และชีวเทคโนโลยี
โดยจะเปิดรับนิสิตนักศึกษาในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่สนใจเพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก เข้าหลักสูตรนานาชาติในแขนงต่างๆ ทางด้านสุขภาพโลก “รุ่นแรก” เดือนสิงหาคมปีนี้
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุณฑริกา พงษ์นิวัติเจริญ โทร. 0-2256-4475 ต่อ 15 อีเมล school.global.health@chula.md เว็บไซต์ https://sgh.md.chula.ac.th และรับชมคลิปวิดีโอ การเปิดตัวย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/grad.md.chula/videos/1057297041745026
ดร.เดนนิส แคร์รอล
***********************
หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ สามารถติดต่อเพื่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณฐนิตา หวังวณิชพันธุ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร โทร. (+66) 2218 3280 หรืออีเมล thanita.w@chula.ac.th
***********************
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021”