สาเหตุที่จีนยังคงยืนหยัดนโยบาย“โควิดเป็นศูนย์ ”อย่างต่อเนื่อง (ตอนจบ)

2021-12-13 10:45:17 | ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
Share with:

นโยบาย “ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์” ลดต้นทุนในการจัดการโควิดได้อย่างมาก นำมาซึ่งบรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดึงดูดผู้ประกอบการทั่วโลก  

ศาสตราจารย์เจิง กวง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงของจีนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า " ช่วงที่ผ่านมาสาเหตุที่จีนดำเนินการลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดให้เหลือเป็นศูนย์นั้นก็เป็นเพราะว่าด้านหนึ่งจีนมีเงื่อนไขในการบรรลุเป้าหมายนี้ และอีกด้านหนึ่งคือมีประโยชน์อย่างมากสามารถส่งเสริมเสถียรภาพทางสังคมและการพัฒนาทางอุตสาหกรรม"

มีคนจำนวนหนึ่งเห็นว่า การปิดโรงงานและตรวจกรดนิวคลีอิกอย่างครอบคลุมเมื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิดเพียงไม่กี่รายนั้นถือเป็นการสิ้นเปลือง เพราะ "ใช้เงินมาก เสียงานเสียการ และสุดท้ายก็ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่ราย" ศาสตราจารย์เจิงกวงกล่าวว่าไม่ควรมองเพียงด้านเดียว เขายกตัวอย่างเมื่อปี 2020 เกือบสิบล้านคนในเมืองอู่ฮั่นได้รับการตรวจกรดนิวคลีอิก มีค่าใช้จ่ายประมาณ 900 ล้านหยวน ซึ่งเทียบเท่ากับจีดีพี 5-6 ชั่วโมงในปี 2020 ของเมืองอู่ฮั่น และ "การกำจัดโควิดให้เป็นศูนย์" นั้นหมายความว่าผู้คนในเมืองฮั่นไม่จำเป็นต้องถูกกักตัวอีกเมื่อพวกเขาไปที่อื่น และหมายความว่าเมืองนี้สามารถหมุนเวียนได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งท้องถิ่นและแม้แต่เศรษฐกิจทั่วประเทศ

สาเหตุที่จีนยังคงยืนหยัดนโยบาย“โควิดเป็นศูนย์ ”อย่างต่อเนื่อง (ตอนจบ)

ในมุมมองของศาสตราจารย์เจียง ชิ่งอู่ นโยบาย "โควิด-19 เป็นศูนย์" มีส่วนช่วยควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อและลดต้นทุนในการจัดการการระบาดใหม่แต่ละครั้งได้อย่างมาก การตรวจกรดนิวคลีอิกและการปิดสถานประกอบการในขอบเขตที่จำกัดนั้น สามารถคาดการณ์และคำนวณต้นทุนล่วงหน้าได้ แต่หากผ่อนคลายการควบคุม กลุ่มคนและขอบเขตที่ได้รับผลกระทบจะขยายตัวอย่างไม่มีจำกัด ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบในการควบคุมโรคระบาดของทั้งจีนและทั่วโลก และค่าใช้จ่ายในการกอบกู้สถานการณ์ภายหลังจะสูงมาก กล่าวในแง่เศรษฐศาสตร์วิธีการจัดการโควิดของจีนถือว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว

ศาสตราจารย์เจียง ชิ่งอู่กล่าวว่าในบางประเทศเช่นสหรัฐฯที่ใช้นโยบาย “ป่วยแล้วค่อยรักษา” นั้น ค่าใช้จ่ายในระยะแรกนั้นต่ำมากจริง ตามกฏระเบียบของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ ผู้ป่วยต้องนัดตรวจเองตามอาการของตน หากผลเป็นบวก จำต้องกักตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วันจนกว่าจะไม่มีอาการ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลากักตัวเป็นเวลา 5-7 วันแล้ว หากได้รับผลการทดสอบกรดนิวคลีอิกอีกครั้งเป็นลบก็สามารถกลับไปทำงานได้  

แต่ปัญหาคือ "การกักตัวเอง" นั้นได้เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อแก่สมาชิกในครอบครัวและชุมชน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในระยะหลังเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อพลาดโอกาสควบคุมโรคในช่วงแรกเริ่ม รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากในการรักษาผู้ป่วย นอกจากนั้นการระบาดอย่างกว้างขวางและรุนแรงของโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อเนื่องยาวนานต่อระบบเศรษฐกิจ

ผลร้ายจากการไม่ควบคุมโควิดอย่างจริงจังกำลังแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็ว ๆ นี้ วิกฤตห่วงโซ่อุปทานในสหรัฐฯได้ทวีความรุนแรงขึ้น เรือสินค้าติดค้าง ตู้คอนเทนเนอร์ถูกกองไว้ที่ท่าเรือ และชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตว่างเปล่า วิกฤตห่วงโซ่อุปทานครั้งนี้เป็นผลจากการระบาดของโควิดในสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีวี่แววดีขึ้น นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด แต่กลับใช้มาตรการกระตุ้นการเงินและการคลังอย่างไม่มีการควบคุม เช่น "การพิมพ์ธนบัตร" และ "การแจกเงินสด" ซึ่งทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักในปัจจุบัน

หันมามองประเทศจีนซึ่งควบคุมโควิดอย่างจริงจัง เมื่อปี 2020 GDP ของจีนทะลุ 100 ล้านล้านหยวน จีนกลายเป็นเศรษฐกิจหลักเพียงหนึ่งเดียวที่รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal)เผยแพร่บทวิเคราะห์โดยระบุว่า การที่จีนควบคุมโรคระบาดภายในประเทศอย่างรวดเร็วนั้น ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นเท่านั้น หากยังเพิ่มแรงดึงดูดการเข้ามาลงทุนในจีนสำหรับบริษัทต่างชาติซึ่งได้เข้ามาลงทุนในจีนเพิ่มมากขึ้น และถือจีนเป็นฐานการผลิตและตลาดเติบโตที่สำคัญของสินค้า

การรับมือกับโควิด-19 ของจีนนับวันมีความแม่นยำและถูกหลักวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในทุกวันนี้ที่การป้องกันและควบคุมโควิด-19 ได้เข้าสู่ “ภาวะปกติใหม่” การรับมือกับโควิด-19 ของจีนนับวันมีความแม่นยำและถูกหลักวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงทั้งความรวดเร็ว ความเข้มงวด และ “ความอบอุ่น”

สาเหตุที่จีนยังคงยืนหยัดนโยบาย“โควิดเป็นศูนย์ ”อย่างต่อเนื่อง (ตอนจบ)

ศาสตราจารย์เจียง ชิ่งอู่แนะนำว่า คณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพแห่งชาติจีนได้ปรับปรุง "แผนป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19" มาแล้วหลายครั้ง เพื่อให้คำแนะนำอย่างมืออาชีพและละเอียดในการป้องกันและควบคุมโควิด

"แผนป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 8)" ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงข้อกำหนด 10 ประการสำหรับการรับมือกับโควิด ได้แก่ การควบคุมต้นตอเชื้อไวรัส การสำรวจระบาดวิทยาและการสืบค้นต้นตอ การกำหนดและบริหารผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การทดสอบกรดนิวคลีอิกแก่กลุ่มคนที่เข้าข่ายความเสี่ยง การขนย้าย การบริหารการกักตัว การควบคุมและบริหารชุมชนหรือหมู่บ้าน การฆ่าเชื้อ การให้บริการด้านสุขภาพจิต และการเผยแพร่ข้อมูลสถารการณ์โควิด โดยแต่ละขั้นตอนยังมีคำแนะนำที่ละเอียด เช่น ในขั้นตอนของการควบคุมต้นตอเชื้อไวรัส แผนฯได้แยกกำหนดมาตรการจัดการที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสำหรับผู้ป่วยโควิด ผู้ถูกสงสัยติดเชื้อ และผู้ติดเชื้อไม่มีอาการอย่างเฉพาะเจาะจงตามลำดับ”

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ท้องที่ต่างๆ ของจีนไม่เพียงแต่ต้องควบคุมความเสี่ยงจากโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น หากยังต้องขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและประกันชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นสำคัญ ถือเป็นการทดสอบระดับขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการของท้องถิ่น"

ศาสตราจารย์เจียง ชิ่งอู่ เชื่อว่านโยบาย “โควิดเป็นศูนย์”เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดไม่ว่ามองจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันหรือมองจากผลลัพธ์ทางสังคม และได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหนือกว่าของระบบจีนอย่างเต็มที่

“ความได้เปรียบด้านระบบของเราทำให้นโยบายโควิดเป็นศูนย์สามารถดำเนินการได้และมีประสิทธิผล คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนถือชีวิตและสุขภาพประชาชนสำคัญที่สุด นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์”

ผู้เชี่ยวชาญจีนหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าการยกระดับมาตรการด้านสาธารณสุขและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โควิด-19 อาจจะกลายเป็นโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ได้ในอนาคต ถึงเวลานั้นจีนก็จะปรับนโยบายป้องกันและควบคุมโควิดตามสถานการณ์จริง แต่ก่อนที่มนุษยชาติจะค้นพบวิธีการเอาชนะศัตรูตัวร้ายนี้อย่างเบ็ดเสร็จ จีนไม่มีวันที่จะเดิมพันด้วยความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนอย่างเด็ดขาด

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (25-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (24-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (24-04-2567)

晏梓