สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลกับผลงานที่มากกว่าการสอนภาษา

2022-08-25 14:48:13 | CMG
Share with:

เนื่องในวาระครบรอบ 7 ปีการก่อตั้งสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ได้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายในทุกภาคส่วน  เพื่อให้คำว่า”เส้นทางสายไหมทางทะเล”มีความเชื่อมโยงเข้าสู่ผู้เรียนในทุกช่วงวัย ทุกความสนใจ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ขึ้นมา

สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี(ธงชัย ธมฺมธโช)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน โดยสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลมีที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นหน่วยงานดำเนินการ และเป็นสาขาที่ 1 ของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล 

ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2561 สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ได้แนะนำให้มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต้าหลี่ มณฑลยุนนาน ก่อตั้งสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครขึ้นมาเป็นสาขาที่ 2

ทั้งนี้สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ได้ดำเนินการภายใต้คำแนะนำของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมสอนภาษาและวัฒนธรรมจีน , การจัดการแข่งขันภาษาจีน , การมอบทุนการศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับการสอนภาษาจีนให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆทั่วประเทศไทย เช่น ศาลเยาวชนกลาง , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) , มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ,วิทยาลัยอาชีวศึกษาดรุณาราชบุรี , วิทยาลัยเทคโนโลยีดรุณาโปลีเทคนิค , วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ , โรงเรียนดรุณากาญจนบุรี , โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , โรงเรียนนานาชาตสิงคโปร์(SISB)

ซึ่งผลงานเชิงประจักษ์ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานสถาบันฯได้มีเมตตาต่ออนาคตของชาติ คือ สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลกับสำนักคณะกรรมการอาชีวศึกษาสภาการศึกษานครเทียนจิน เพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งหากนับตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันฯจนถึงวันนี้เป็นจำนวนมากกว่า 119 ทุน รวมมูลค่าทั้งสิ้น  133,000,000 บาท

และในส่วนของวัฒนธรรมนั้น สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ทั้งสองแห่ง มีกิจกรรมวัฒนธรรมที่โดดเด่นไม่น้อยไปกว่าด้านวิชาการ เช่น การจัดกิจกรรมหมากล้อมกระดาน 9 คูณ 9 ที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากที่สุดในประเทศไทย , การจัดกิจกรรมสอนวิทยายุทธจีนที่มีผู้เรียนมากที่สุดในประเทศไทย เป็นต้น

โดยในเดือนกันยายน 2565 ที่จะถึงนี้ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติจีนมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จัดการแสดงดนตรี “เส้นทางสายไหมใหม่ ธงชัยสู่ความสำเร็จร่วมกัน” ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่สถาบันขงจื่อจัดการแสดงดนตรีวงออเคสตรา ที่มีศิลปินชาวไทย ชาวจีน และ ชาวไทยเชื้อสายจีน ร่วมประพันธ์ กำกับ และแสดงในงานนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อถ่ายทอดบทเพลงที่เป็นที่นิยมของชาวไทยและชาวจีนร่วมกัน สมกับคำว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

และจุดสำคัญของงานนี้คือ การประพันธ์บทเพลงซิมโฟนีขึ้นมาใหม่ชื่อว่า New Silk Road Symphony (บทเพลงซิมโฟนีแห่งเส้นทางสายไหมใหม่) ประกอบการแสดงไทยจีนในรูปแบบต่างๆ โดยเป็นซิมโฟนีรูปแบบสังคีตลักษณ์ 4 ท่อน(Movement)  โดยแต่ละท่อนมีความคล้องจองกันทั้งภาษาไทยและภาษาจีนได้แก่ อารยธรรมวิถี(文明之路)  , ดนตรีวิศิษฐ์(音乐之雅) , วิจิตรยุทธศิลป์(武艺之美) และสองแผ่นดินวิวัฒน์(中泰之亲)  ซึ่งภายในทั้งสี่ท่อนนี้ จะนำเสนอการแสดงไทยจีนอันเป็นเอกลักษณ์ประกอบดนตรีไปควบคู่กัน โดยผู้จัดงานได้คัดเลือกนักประพันธ์ดนตรี , วาทยกร , นักดนตรี และนักแสดง ที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ จำนวนกว่า 70 คน ก่อตั้งเป็นวงดนตรีMaritime Silk Road Symphony Orchestra เพื่อการนี้

เส้นทางสายไหมทางทะเล จึงไม่ได้เชื่อมโยมแค่ภาษา แต่ยังนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยน วัฒนธรรม , จิตรกรรม , ศิลปกรรม และความงดงามของอารยธรรมของทั้งสองประเทศอีกด้วย


โดย อ.เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผอ.สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

  • เสียงข่าวประจำวัน (06-10-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (05-10-2567)

  • เกาะกระแสจีน (05-10-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (04-10-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (04-10-2567)