4 เรื่อง ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน แสดงจุดยืนในเวทีเอเปค 2022

2022-11-21 13:59:07 | CMG
Share with:

ในเวทีการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิค (เอเปค) 2022 ที่กรุงเทพฯ  นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนแสดงวิสัยทัศน์และย้ำจุดยืนของจีน โดยกล่าวว่า ในสถานการณ์ที่โลกเผชิญกับความท้าทาย ทั้งเรื่อง               ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย  สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคควรร่วมสร้างชุมชุนเอเชียแปซิฟิกที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน  โดยมีข้อเสนอ 4 เรื่อง ได้แก่

1. เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยึดมั่นในความเป็นธรรมและความยุติธรรมระหว่างประเทศ ร่วมกันสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในเอเชียแปซิฟิก

สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะทุกฝ่ายให้ความสําคัญในการเคารพซึ่งกัน  มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ดังนั้น ทุกฝ่ายควรยึดมั่นในหลักการเรื่องความมั่นคงร่วมกัน ความร่วมมือที่ครอบคลุมและยั่งยืน และเคารพอธิปไตยและบูรณภาพในดินแดนของทุกประเทศ  โดยไม่ควรมีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่น และควรเคารพเส้นทางการพัฒนาและระบบสังคมที่ประชาชนของแต่ละประเทศเลือกอย่างเป็นอิสระ รวมถึงส่งเสริมการยุติความแตกต่างและข้อพิพาทระหว่างประเทศอย่างสันติด้วยการเจรจาและการปรึกษาหารือระหว่างกัน

2. ความมุ่งมั่นในการเปิดกว้างและครอบคลุม  เพื่อความเจริญรุ่งเรืองสําหรับทุกคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดยมีการประสานความร่วมมือ  ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สร้างห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมในภูมิภาคที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน รวมถึงการอํานวยความสะดวกและพัฒนาการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดเขตการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงของเอเชียแปซิฟิก  

ซึ่งจีนยินดีทํางานร่วมกับภาคีอื่น ๆ ในการดําเนินงานผ่านกลไกต่างๆ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) และจะดำเนินการเพื่อเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการของภูมิภาค

นอกจากนี้  จีนจะพิจารณาจัดการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3  ในปีค.ศ.2023 เพื่อเป็นเวทีที่จะผลักดันการพัฒนาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้โลก

3. การพัฒนาสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ 

ในเวลานี้มีความจําเป็นที่จะต้องยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล  การพัฒนาสีเขียวด้วยการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริโภค และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสีเขียว  โดยจีนให้การสนับสนุนการดําเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ  เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการปกป้องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างประสานกัน

4. ทําให้เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ทุกฝ่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ทุกฝ่ายควรพัฒนาความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิกในระยะยาว สนับสนุนบทบาทของเอเปคในฐานะเป็นช่องทางหลักในการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ดําเนินการตามวัตถุประสงค์และหลักการของเอเปค และกระชับความเป็นหุ้นส่วนในเอเชียแปซิฟิกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เหมือนผู้โดยสารในเรือลําเดียวกัน ช่วยกันทำให้ชุมชนเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำว่าข้อเสนอทั้ง 4 ข้อนี้ จะทำให้ความร่วมมือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความโดดเด่นขึ้น และเป็นขุมพลังที่สำคัญในการสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น และทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตต่อไป 


บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ขอบคุณภาพ : CGTN

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (27-03-2567)