รู้จักปฏิทิน “น่ำเอี๊ยง” ปฏิทินไทย-จีนที่อยู่คู่คนไทยเชื้อสายจีนมากว่า 40 ปี

2022-12-15 12:36:35 | CMG
Share with:

ปฏิทินจีนสีแดง รูปเทพเจ้าซิ่วและเด็กๆ เป็นของคู่บ้านของชาวไทยเชื้อสายจีนหลายครอบครัวมานานกว่า 4 ทศวรรษ นอกจากจะบอกวันเดือนปีแล้ว เอกลักษณ์ของปฏิทินนี้คือ การบอกฤกษ์ยามมงคลและข้อควรระวังในการทำกิจกรรมต่างๆ ตามหลักโหราศาสตร์จีนโบราณ

ปฏิทินนี้ชื่อว่า “ปฏิทินน่ำเอี๊ยง” นิทรรศการโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง ที่จัดแสดงที่ The Art Book Shop  ให้ข้อมูลของปฏิทินน่ำเอี๊ยงว่า “น่ำ” หมายถึง ทิศใต้  “เอี๊ยง” หมายถึง พระอาทิตย์  “น่ำเอี๊ยง” จึงได้รับการนิยามว่า แสงอาทิตย์จากแดนใต้ที่เปี่ยมไปด้วยความดีงามและความเจริญรุ่งเรือง

นายเฮียง แซ่โง้ว หรือซินแสเฮียง ชาวจีนแต้จิ๋ว เดินทางจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อปีพ.ศ. 2482 มาตั้งรกรากที่อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  โดยนำความรู้ด้านโหราศาสตร์จีนมาประกอบอาชีพ ด้วยความเชื่อว่า โชคชะตาของมนุษย์ต่างกัน หากเข้าใจดวงชะตาตัวเอง ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม  นำไปสู่ความรุ่งเรืองได้

ซินแสเฮียงเชี่ยวชาญเรื่องการดูโหงวเฮ้ง  การขึ้นดวงด้วยวิธีปาจื้อ  การดูฤกษ์มงคลต่างๆ จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และย้ายมาอยูที่กรุงเทพฯ  ก่อตั้ง “สำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง”  ในปีพ.ศ. 2499

ซินแสเฮียงมีความตั้งใจอยากเผยแพร่โหราศาสตร์จีนให้กับชาวจีนโพ้นทะเล  จึงได้จัดทำตำราน่ำเอี๊ยงเพื่อเผยแพร่ใน ปีพ.ศ. 2516 ได้รับความนิยมอย่างมาก

ต่อมา ปีพ.ศ. 2529 ลูกชายของซินแสเฮียง ทายาทรุ่นที่ 2 ได้พัฒนาเนื้อหาโดยการนำโหราศาสตร์จีนผนวกกับเนื้อหาของปฏิทินไทย ปรับรูปแบบเป็นรายเดือน รายวัน และปฏิทินตั้งโต๊ะ เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

จนปัจจุบัน ปีพ.ศ. 2565 ทายาทรุ่นที่ 3 ของซินแสเฮียงยังคงสืบทอดความรู้เรื่องภาษาจีนและโหราศาสตร์จีน ควบคู่กับการเผยแพร่ปฏิทินน่ำเอี๊ยงในช่องทางแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้สนใจได้กว้างขวางขึ้น

ปฏิทินจีน ในอดีตคือตำราฤกษ์ยามสำหรับจักรพรรดิ เรียกว่า “หวงลี่” ระบบปฏิทินจีนสร้างขึ้นจากการสังเกต บันทึก การโคจรของดวงดาว  ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  เหตุการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างละเอียด  นำมาหาความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เป็นองค์ความรู้ยาวนานหลายพันปีที่นักปราชญ์จีนถ่ายทอดและพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น  กลายเป็นตำราโหราศาสตร์จีน มีการบอกวันเดือนปีผนวกกับดวงดาว และฤกษ์ยาม ต่อมาจึงพัฒนากลายเป็นปฏิทินในปัจจุบัน

สำหรับปฏิทินน่ำเอี๊ยง  เมื่อซินแสเฮียงทำตำราโหราศาสตร์แล้ว จึงเห็นว่าน่าจะมีปฏิทินชาวนาที่เห็นภาพรวมทั้งปี  จึงจัดพิมพ์แผ่นภาพที่มีทั้งฮวงจุ้ย  คำพยากรณ์การเกษตร  ทิศมงคล  สารทและวันมงคลต่างๆ การเทียบอายุของแต่ละนักษัตร แจกชาวไทยเชื้อสายจีนเพื่อสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีจีนต่อไป 

ต่อมาเมื่อมีความต้องการมากขึ้น จึงมีการพิมพ์ปฏิทินน่ำเอี๊ยงจำหน่ายทั้งแบบรายวัน รายเดือน และประยุกต์ให้มีความสวยงาม เข้ากับยุคสมัย

ปฏิทิน “น่ำเอี๊ยง” ถือเป็นปฏิทินที่มีเอกลักษณ์ตั้งแต่การออกแบบภาพปกปฏิทินโทนสีแดง มีรูปเทพเจ้าซิ่ว ค้างคาว 5 ตัว และเด็กแบกลูกท้อ ที่มีความหมายมงคล

เทพเจ้าซิ่ว เป็นผู้เฒ่าหนวดเคราขาว หน้าตาใจดี ถือไม้เท้ามังกร แขวนน้ำเต้า และมีอายุขัยยาวนาน ชาวจีนเชื่อว่าเป็นเทพที่บันดาลให้มีอายุยืนและสุขภาพดี  ภาพของเทพซิ่วจึงมีความหมายถึงการมีอายุมั่นขวัญยืน

ค้างคาว 5 ตัว เป็นสัญลักษณ์ของพร 5 ประการ  ค้างคาวในภาษาจีน คือ “ฝู” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าฝู ที่หมายถึงพรหรือความสุข 5 ประการ อู่ ฝู ซึ่งคติจีน เชื่อว่า หากใครได้รับพรทั้ง 5 ประกอบด้วย ฉางโซ่ว มีอายุยืนยาว ฟู่กุ้ย มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง  คังหนิง สุขภาพดี  ฮ่าวเต๋อ จิตใจสงบ และซ่านจง การตายอย่างสงบสุข นับว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์

เด็กแบกลูกท้อถือคฑายู่อี่  เด็กๆ คือตัวแทนแห่งวัยเยาว์และความมีชีวิตชีวา  ลูกท้อคือการมีอายุยืน  คฑายู่อี่ คือ ความสำเร็จดังหวัง ภาพนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการอวยพรให้สมปรารถนา  อายุยืน ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง

นอกจากการออกแบบแล้ว  สิ่งที่ทำให้ปฏิทินน่ำเอี๊ยงเป็นที่นิยมและอยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนมาหลายสิบปี คือ ข้อมูลตามหลักโหราศาสตร์จีนโบราณ  ที่มีข้อมูล ปี เดือน วัน ตามปฏิทินจันทรคติจีน  วันและเวลาการเปลี่ยนฤดูเพื่อวางแผนการเพาะปลูก  ฤกษ์มงคล  นักษัตรเฮงและชงประจำวัน  กิจกรรมที่ทำได้และควรเลี่ยง  ทิศที่เทพเจ้าสถิตอยู่  ทิศมงคลและอัปมงคลประจำปี  คำทำนายโดยรวมประจำวัน วันธงไชยและเหตุการณ์พิเศษ

ซึ่งตอบโจทย์ผู้ใช้ที่จะได้มีข้อมูลโหราศาสตร์ประกอบการใช้ชีวิตประจำวัน  ตามความตั้งใจของซินแสเฮียงและทายาทในการเผยแพร่ปฏิทินน่ำเอี๊ยงที่ว่า “หากเราดำเนินชีวิตตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม ย่อมส่งผลให้ชีวิตราบรื่นไร้อุปสรรค”


บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย

ข้อมูล : งานนิทรรศการโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง จัดแสดงที่ The Art Book Shop  ห้างเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ชั้น 6

ภาพประกอบ : ปฏิทินน่ำเอี๊ยง 2023

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)