หอฟ้าเทียนถาน : สถานที่บูชาฟ้าของจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง

2022-02-17 12:46:57 | CRI
Share with:

หอฟ้าเทียนถาน : สถานที่บูชาฟ้าของจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง

หอฟ้าเทียนถาน สถานที่บูชาฟ้าของจักรพรรดิราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม  ในปี ค.ศ. 1998  เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในจีน

หอฟ้าเทียนถาน เริ่มก่อสร้างในปีที่จักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิงขึ้นครองราชย์ คือ ค.ศ.1403 และสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อค.ศ.1420 ในปีนั้น พระราชวังโบราณหรือวังต้องห้ามสร้างเสร็จเรียบร้อยเช่นกัน ปีเดียวกัน    จักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิงทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองหนานจิงที่อยู่ทางภาคใต้ของจีนมายังกรุงปักกิ่งที่อยู่ทางภาคเหนือของจีน  และเสด็จไปประกอบพิธีบูชาฟ้าและดินที่หอฟ้าเทียนถาน  

แม้เวลาได้ผ่านพ้นไปกว่า 600 ปีแล้ว  แต่ปัจจุบัน หอฟ้าเทียนถานที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงปักกิ่งยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์  ทุกวันนี้  หอฟ้าเทียนถานที่มีเนื้อที่เป็น 4 เท่าตัวของพระราชวังโบราณ และมีตำหนัก สิ่งปลูกสร้างมากมาย ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากมาเยี่ยมชม    หอฟ้าเทียนถานไม่เพียงแต่เป็นสถาปัตยกรรมสวยงามในสมัยโบราณของจีนเท่านั้น หากยังได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดของชาวจีนที่มุ่งมั่นแสวงหาความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับฟ้าด้วย

หอฟ้าเทียนถาน : สถานที่บูชาฟ้าของจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง

ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง จักรพรรดิจะเสด็จมาประกอบพิธีบูชาฟ้าที่หอฟ้าเทียนถานปีละสองครั้ง คือ ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูหนาว ตำหนัก “ฉีเหนียนเตี้ยน” หรือตำหนักบูชาฟ้า เป็นสถานที่จักรพรรดิและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บูชาฟ้าในฤดูใบไม้ผลิ ส่วนในวันที่ฤดูหนาวมาถึง  จักรพรรดิจะประกอบพิธีบูชาฟ้า ที่แท่นบูชา “หยวนชิว”  สิ่งปลูกสร้างอีกแห่งหนึ่งในหอฟ้าเทียนถาน  เพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณของฟ้าที่มีต่อโลกมนุษย์ ส่วนในปีที่ได้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง และอุทกภัย จักรพรรดิและข้าราชการทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ จะมาประกอบพิธีบูชาฟ้าที่หอฟ้าเทียนถานเช่นกัน เพื่อขอความเมตตากรุณาและความช่วยเหลือจากฟ้า

แม้ชาวจีนทั่วไปมีความเคารพศรัทธาต่อฟ้า แต่ในสมัยโบราณ  มีเพียงจักรพรรดิเท่านั้น ที่มีสิทธิ์นำข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าไปประกอบพิธีบูชาฟ้าภายในบริเวณหอฟ้าเทียนถาน  ประเพณีบูชาฟ้าของประชาชาติจีนมีประวัติศาสตร์มากกว่า 3,000 ปี ชาวจีนในสมัยโบราณเชื่อว่า ฟ้า หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทวดาฟ้า มีพลังลึกลับ สามารถกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์ได้ เช่น การเก็บเกี่ยวผลผลิต และชะตากรรมของแต่ละบุคคล ชาวจีนโบราณยังเชื่อว่า ฟ้าจะเป็นฝ่ายที่ถูกต้องตลอดไป ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกมีสาเหตุมาจากการกระทำความผิดของมนุษย์ และเป็นคำตักเตือนมนุษย์จากฟ้า  ดังนั้น เมื่อเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ชาวจีนในสมัยโบราณมักจะกล่าวว่า นี่เป็นการลงโทษจากฟ้า  

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จีนระบุว่า ในปีที่สองของจักรพรรดิกวงซี่ว์แห่งราชวงศ์ชิง  คือ ค.ศ.1876 หอฟ้าเทียนถานถูกไฟไหม้    เมื่อได้รับทราบเหตุการณ์ดังกล่าว จักรพรรดิกวงซี่ว์ตกพระทัยยิ่ง ขณะที่บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รู้สึกกังวลจนหน้าซีดไปหมด ทุกคนเชื่อว่า นี่เป็นลางบอกเหตุร้าย อย่างไรก็ตาม ชาวจีนสมัยโบราณมีความคิดเห็นว่า ฟ้ามีความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ การลงโทษมนุษย์จากฟ้าเป็นเพียงบางกรณีเท่านั้น  ดังนั้น  บรรพบุรุษของชาวจีนมีความสำนึกในบุญคุณของฟ้าโดยตลอด

สถาปัตยกรรมของสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณหอฟ้าเทียนถานสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของชาวจีนในสมัยโบราณที่มีความเคารพและศรัทธาต่อธรรมชาติ โดยตัวตำหนักหลักสีน้ำเงินเข้มสองแห่งล้วนตั้งอยู่บนฐานหินอ่อนสีขาวสามชั้นที่ลดหลั่นกันไปตามความสูง สีน้ำเงินทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกที่มีความบริสุทธิ์และความสูงส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวจีนถือว่าเป็นคุณสมบัติของฟ้า

หอฟ้าเทียนถานเป็นสถานที่ที่ถูกมองว่า อยู่ใกล้กับฟ้า นักท่องเที่ยวจะสังเกตเห็นได้ว่า สิ่งปลูกสร้าง 3 แห่งในหอฟ้าเทียนถาน  ได้แก่ ตำหนักฉีเหนียนเตี้ยน  ตำหนักหวงฉงอี่ว์ และแท่นบูชาฟ้าหยวนชิวมีทรงกลม  สถาปัตยกรรมในรูปลักษณะนี้ทำให้ผู้คนที่กำลังเดินขึ้นตามขั้นบันไดไปสู่ตัวตำหนัก และชั้นบนของแท่นบูชา เกิดความรู้สึกว่า กำลังก้าวสู่ฟ้า

แท่นบูชาหยวนชิวสร้างอยู่บนฐานหินอ่อนสามชั้น ตอนที่คนเราเดินขึ้นตามขั้นบันไดไปสู่ชั้นบน  ไม่ว่าจะขึ้นไปทางทิศไหนก็ตาม จะเกิดความรู้สึกว่า กำลังก้าวเข้าไปยังจุดศูนย์กลางของจักรวาล  เมื่อเดินขึ้นไปข้างบน จะพบแผ่นหินรูปกลมแผ่นหนึ่งตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลาง ล้อมด้วยแผ่นหินรูปทรงพัดชั้นแล้วชั้นอีก แผ่นหินรูปทรงกลมที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของแท่นบูชานั้นเป็นตัวแทนของหัวใจแห่งฟ้า ตอนจักรพรรดิประกอบพิธีบูชาฟ้าในวันที่ฤดูหนาวมาถึง   จะวางเครื่องบูชาบนแผ่นหินดังกล่าว    กระบวนการก้าวสู่แผ่นหินรูปทรงกลมดังกล่าวมีความหมายว่า กำลังก้าวเข้าใกล้ฟ้า   แท่นบูชาหยวนชิวไม่ได้มุงด้วยหลังคาที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่มุงด้วยท้องฟ้าที่ไม่มีขอบเขต

ชาวจีนในสมัยโบราณเชื่อว่า มนุษย์สามารถแลกเปลี่ยนกับฟ้าได้  และหอฟ้าที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ก็เป็นสถานที่มนุษย์แลกเปลี่ยนกับฟ้านั่นเอง   ปรากฏการณ์สะท้อนเสียงได้บนแท่นบูชาหยวนชิว และตำหนักหวงฉงอี่ว์เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ชาวจีนในสมัยโบราณเชื่อว่า มนุษย์แลกเปลี่ยนกับฟ้าได้

หากเรายืนอยู่บนแผ่นหินรูปทรงกลมที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของแท่นบูชาหยวนชิว  เมื่อเราพูดด้วยเสียงเบาๆ จะได้ยินเสียงสะท้อนกลับมาให้ได้ยินทันที ซึ่งมีความหมายว่า ฟ้าได้ตอบรับเสียงขอร้องของมนุษย์

เมื่อเรายืนอยู่ข้างในของกำแพงที่ล้อมตัวตำหนักหวงฉงอี่ว์ และพูดด้วยเสียงเบาๆไปยังตัวกำแพง เพื่อนอีกคนที่ยืนอยู่ในอีกฝั่งหนึ่งของกำแพงจะสามารถยินเสียงที่เราพูด ซึ่งคล้ายคลึงกับการพูดคุยโทรศัพท์  จากปรากฏการณ์ดังกล่าว กำแพงที่ล้อมตัวตำหนักหวงฉงอี่ว์จึงได้รับการเรียกขานว่า  เป็นกำแพงสะท้อนเสียง

หอฟ้าเทียนถาน:สถานที่บูชาฟ้าของจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง_fororder_WechatIMG625   

สรุปได้ว่า หอฟ้าเทียนถานเป็นสถานที่ให้จักรพรรดิมาทำพิธีการบวงสรวงฟ้า เพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ผลผลิตอุดมสมบูรณ์  ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนแล้ว ยังเป็นการสืบทอดธรรมเนียมประเพณีของประชาชาติจีนโบราณอีกด้วย  และด้วยความสำคัญของงานพิธีนี้เอง ทำให้หอฟ้าเทียนถานได้รับการดูแลรักษารวมถึงซ่อมแซมตลอดสมัยราชวงศ์หมิง เรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิงอันเป็นราชวงศ์ถัดมาที่สืบทอดธรรมเนียมนี้ไว้เช่นกัน

บทบาทของหอฟ้าเทียนถานในฐานะสถานที่ประกอบพิธีบูชาฟ้า คงอยู่มาจนถึงช่วงค.ศ. 1918 หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครองครั้งใหญ่ หอฟ้าเทียนถานได้กลายไปเป็นสวนสาธารณะที่ต้อนรับประชาชนและนักท่องเที่ยวมากมายที่เดินทางมาชมความงามของสถานที่แห่งนี้ และในที่สุดก็ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี 1998

(yim/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (25-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (24-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (24-04-2567)

周旭