เทศกาลชิงหมิง

2022-04-04 13:34:17 | ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
Share with:

เทศกาลชิงหมิง

เทศกาลชิงหมิงเป็นวันที่ 108 ของปี อยู่หลังเทศกาลตงจื้อ นับเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน สำหรับเทศกาลชิงหมิงในประเทศจีน เริ่มต้นประมาณ 4-5 เมษายน ไปจนถึง 19-20 เมษายน เป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะคลายความหนาวเย็น เริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอย ๆ มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง

เทศกาลชิงหมิง มีความหมายตรงตัวคือ “ชิง” หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และ “หมิง” หมายถึง สว่าง เมื่อนำมารวมกันจึงหมายความว่า ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใสรื่นรมย์ เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมอันดีงามที่เกิดขึ้นจากชาวจีนที่มีคุณธรรมและมีความกตัญญู ได้กำหนดให้ “วันชิงหมิง” เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานจะได้กลับบ้านมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ช่วยดูแลลูกหลานในวงศ์ตระกูลให้อยู่ดีมีสุข

ชิงหมิงเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะชาวจีนถือว่าบรรพบุรุษนั้นเป็นผู้มีพระคุณ สมควรยกย่องให้เกียรติ ส่วนใครที่เคารพและกตัญญู ก็จะพบแต่ความสุขความเจริญในชีวิตด้วยเช่นกัน

วันชิงหมิงปีนี้ ตรงกับวันที่ 5 เมษายน ในวันชิงหมิง ประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของชาวจีน คือ ไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน  โดยมีอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อ ที่เน้นเรื่องความกตัญญูเป็นสำคัญ แสดงถึงการมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และสะท้อนให้เห็นถึงความรักใคร่สามัคคีกัน นอกจากนั้นยังทำให้เหล่าเครือญาติได้มาร่วมพิธีกรรมนี้ได้พบปะสังสรรค์กินเลี้ยงกันหลังจากเสร็จพิธี เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ภายในครอบครัวและเหล่าเครือญาติ

เทศกาลชิงหมิง

เทศกาลชิงหมิงได้รวมประเพณีกินอาหารเย็นของเทศกาลหานสือเข้าไว้ด้วย ซึ่งเทศกาลหันสือเป็นวันรำลึกเจี้ยจื่อทุย ขุนนางผู้จงรักภักดี เล่ากันว่า  ในยุคชุนชิว องค์ชายฉงเอ่อร์แห่งแคว้นจิ้น ต้องหนีภัยออกนอกแคว้นไปมีชีวิตตกระกำลำบากนอกเมือง โดยมีเจี้ยจื่อทุยติดตามไปดูแลรับใช้

เจี้ยจื่อทุยมีจิตใจเมตตาถึงขนาดเชือดเนื้อที่ขาของตนเป็นอาหารให้องค์ชายเสวยเพื่อประทังชีวิต ภายหลังเมื่อองค์ชายฉงเอ่อร์เสด็จกลับเข้าแคว้นและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น พระนามว่า จิ้นเหวินกง ได้พระราชทานสิ่งตอบแทนให้ขุนนางทุกคนที่เคยให้ความช่วยเหลือตน แต่ลืมเจี้ยจื่อทุยไป นานวันเข้าจึงมีคนเตือนถึงบุญคุณเจี้ยจื่อทุย พระองค์จึงนึกขึ้นได้และพระราชทานบ้านหลังใหญ่ให้เขาและมารดาได้อยู่อย่างสุขสบายในเมือง แต่เจี้ยจื่อทุยได้ปฏิเสธพามารดาย้ายไปอาศัยที่ภูเขา

จิ้นเหวินกงได้คิดแผนเผาภูเขา โดยหวังว่าเจี้ยจื่อทุยจะพามารดาออกจากป่าเขา แต่ผลสุดท้ายกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด สองแม่ลูกกลับต้องเสียชีวิตในกองเพลิง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีคำสั่งให้วันนี้ของทุกปี ห้ามไม่ให้มีการก่อไฟ และให้รับประทานแต่อาหารสดๆเย็นๆ จนกลายเป็นที่มาของวันกินอาหารเย็น หรือเทศกาลหันสือเจี๋ย  ซึ่งจะมาก่อนวันชิงหมิง 1 วัน

เนื่องจากคนโบราณนิยมปฏิบัติตามประเพณีวันหันสือเจี๋ยต่อเนื่องถึงวันชิงหมิง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันชิงหมิงวันเดียว การไหว้เจี้ยจื่อทุยจึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นการไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษแทน

เทศกาลชิงหมิงมีธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญหลายอย่าง เช่น บูชาเซ่นไหว้และทำความสะอาดสุสานของบรรพบุรุษ   ในช่วงเทศกาลชิงหมิง  ชาวจีนมีประเพณีเซ่นไหว้ทำความสะอาดสุสานของบรรพบุรุษ  เพื่อรำลึกผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เชิดชูส่งเสริมประเพณีความกตัญญู ความรักในครอบครัว   และผนึกจิตวิญญาณของประชาชาติจีน

นอกจากนี้แล้ว การเหยียบสีเขียว ก็เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง ช่วงชิงหมิงเป็นฤดูกาลที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเริ่มการเจริญเติบโตอีกครั้ง และมีทัศนียภาพฤดูใบไม้ผลิที่งดงาม   คำว่า “ท่าชิง” หรือการเหยียบสีเขียว จึงหมายถึงการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ชานเมืองช่วงชิงหมิง เพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ โดยเป็นประเพณีที่มีประวัติศาสตร์กว่า 2,500 ปี

ชาวจีนโบราณเชื่อว่า ช่วงชิงหมิง หากเขียนชื่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ลงบนว่าวแล้วปล่อยออกไป   จะป้องกันภัยพิบัติได้ อีกทั้งยังเป็นการขอพรให้มีความสงบสุขในรอบหนึ่งปีข้างหน้าด้วย

ในสมัยโบราณ   ชาวจีนจะนำกิ่งหลิวมาเสียบประดับผมหรือทำ เป็นพวงสวมศีรษะ เพื่อขจัดสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร และขอให้มีความสุขความเจริญ อีกทั้งยังแฝงความหมายว่า  ทะนุถนอมช่วงเวลาแห่งวัยหนุ่มสาวด้วย        

เทศกาลชิงหมิง

เมื่อกล่าวถึงเทศกาลชิงหมิง มีขนมอย่างหนึ่งต้องเอ่ยถึงด้วย  ก็คือขนม ชิงถวน ชิงถวนเป็นขนมดั้งเดิมที่มีรสโอชาชนิดหนึ่ง การทานขนมชิงถวนในช่วงชิงหมิงเป็นประเพณีที่มีประวัติศาสตร์กว่า 1,000 ปี   ชิงถวนทำ จากแป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำสีเขียวจากใบอ้ายฉ่าว ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง เอาแป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำใบอ้ายฉ่าวแล้วปั้นเป็นก้อนกลม  ส่วนชาวจีนภาคเหนือ จะใช้พุทรากวนและแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม

  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (21-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (20-11-2567)

晏梓