ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่สิ้นสุดลงเมื่อไม่นานมานี้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ในอนาคตที่รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันอยากเห็น และเขาได้กล่าวเช่นนี้ด้วยความจริงใจ
แม้ประธานาธิบดี โจ ไบเดนจะกล่าวปราศรัยด้วยคำพูดที่อบอุ่น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีความจริงใจหรือไม่นั้นยังน่ากังขา ช่วงระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา สหรัฐฯ มุ่งแสวงหาความเป็นใหญ่ในโลก โดยใช้ความร่วมมือเป็นข้อข้าง รวมถึงจัดตั้งกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อยับยั้งการพัฒนาของจีน
สหรัฐฯ เลือกจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ในช่วงเวลานี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายบางอย่างของตัวเอง บทความล่าสุดในนิตยสาร Foreign Affairs ของสหรัฐฯ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในขณะที่สงครามโหมกระหน่ำในยูเครนเพื่อแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาไม่ได้สูญเสียความสนใจไปที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นิตยสาร Foreign Affairs ยังระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามที่จะทำให้สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีน
ในความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การแสวงหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียวของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้บ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงของโลกอย่างรุนแรง ทั้งยังส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้าย พร้อมทั้งก่อให้เกิดความกังวลด้านความมั่นคงในประชาคมระหว่างประเทศ
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ สหรัฐฯ ได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของประเทศอื่น ๆ อีกครั้ง ในระหว่างการประชุม เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แถลงว่า รัฐบาลของเขากำลัง “แสวงหาอนาคตที่ทุกคนอยากเห็น” ชาวโลกเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำพูดดังกล่าวนี้ทันทีว่า นั่นคือ สหรัฐฯ กำลัง “แสวงหาอนาคตที่มีแต่สหรัฐฯ เท่านั้นอยากเห็น”
ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อเดือนที่แล้ว 10 ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จึงงดออกเสียงในการลงคะแนนระงับสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มาเลเซียและอินโดนีเซียยังได้แสดงความกังวลต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงไตรภาคีของ AUKUS ที่มีออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรเข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ ขณะนี้ สหรัฐฯ กำลังปวดหัวกับปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาและความวุ่นวายทางสังคมที่ลุกลามท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ความสามารถของสหรัฐฯ ในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประเทศอื่น ๆ จึงถูกตั้งคำถามไม่น้อย
สรุปได้ว่า ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังคงอยากรักษาความเป็นใหญ่ในโลก วาจาและการกระทำของเขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะไม่นำมาซึ่งสันติภาพและความสงบสุขมาสู่ภูมิภาคนี้
ขณะนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนกำลังมุ่งเน้นไปที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 และยืนหยัดจะสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว พร้อมทั้งต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก เพื่อบรรลุเป้าหมายสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนา นักวิชาการหลายคนได้แนะให้กลุ่มประเทศอาเซียนต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังสหรัฐฯ ว่า อาเซียนจะยืนหยัดในความเป็นกลางและจะไม่เลือกข้างใครระหว่างประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความมุ่งหมายของสหรัฐฯ ที่จะแสวงหาการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ของตัวเองนั้น ก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ จึงกล่าวได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องหันมาใช้แนวทางความร่วมมือที่สร้างสรรค์และครอบคลุมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
(tim/cai)