9 - 11 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นำคณะผู้บริหารกระทรวง อว. เจรจาผลักดันความร่วมมือกับ 5 หน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และสังคมศาสตร์ ของจีน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences - CAS) องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration - CNSA) สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences - CASS) และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การรถไฟแห่งชาติจีน (China Academy of Railway Sciences - CARS)โดยมี นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เข้าร่วมด้วย
9 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ ประชุมหารือกับนายจาง เคอเจี้ยน (Zhang Kejian) ผู้อำนวยการองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration - CNSA) โดยฝ่ายไทยเสนอขอรับการสนับสนุนการส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อทดสอบระบบนำร่อง ระบบสื่อสารทางไกล และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการสำรวจอวกาศห้วงลึกที่ต้องเผชิญกับรังสีพลังงานสูงในระยะไกลจากโลก ไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งฝ่ายจีนยินดีสนับสนุนการส่งดาวเทียมของไทยร่วมไปกับภารกิจ ฉางเอ๋อ 7 (Chang'e 7) ในปี พ.ศ. 2569 นอกจากนี้ CNSA ยังยินดีให้การสนับสนุนหลักสูตรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ Sirindhorn Center for Geo-Informatics (SCGI) เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศของไทย ในรูปแบบของวิทยากร อาจารย์ที่ปรึกษา และการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาเป็นหลักสูตรนานาชาติในอาเซียน รวมถึงสนับสนุนทุนการศึกษาให้บุคลากรไทยและอาเซียน เพื่อศึกษาและวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ ณ มหาวิทยาลัยด้านอวกาศชั้นนำของจีน เช่น Beihang University
10 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ ได้พบหารือกับ ศ. เกา เผยหย่ง (Gao Peiyong) รองประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences - CASS) ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน โดยฝ่ายไทยเสนอการส่งนักวิจัยมาทำงานร่วมกับนักวิจัยของ CASS ในด้านศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และ CASS เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยจีนในประเทศไทย เพื่อขยายการรับรู้ถึงการพัฒนาวิทยาการและความเจริญของจีนไปยังประชาคมโลก ซึ่ง CASS ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยจีนแล้วใน 18 ประเทศ
ในวันเดียวกัน รมว.อว. และคณะ ได้พบกับ ศ.โฮว เจี้ยนกั๋ว (Prof. Hou Jianguo) ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences - CAS) นายจาง ย่าผิง (Zhang Yaping) รองผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือการพัฒนา วทน. ในหลายสาขาโดยเฉพาะด้านการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน (โทคาแมค) ดาราศาสตร์ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัยไทย-จีน และความร่วมมือผ่านศูนย์ความร่วมมือนวัตกรรม CAS-ICCB ณ กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่าย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้าน Joint Study of Space Weather at Low Latitude ระหว่าง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านอวกาศแห่งชาติ (National Space Science Center: NSSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน
11 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ พบหารือกับนายหวัง จื้อกัง (H.E. Mr. Wang Zhigang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องการยกระดับความร่วมมือเชิงนโยบาย ผลักดันกิจกรรมความร่วมมือด้าน วทน. ที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ในระดับอาเซียน โดยฝ่ายไทยยินดีเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสมาชิกอาเซียนกับจีน และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน ในปี 2568 ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 50 ปี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบการดำเนินความร่วมมือ 4 แนวทาง คือ (1) การจัดประชุมร่วม (Joint Meeting) ภายใต้กรอบข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ประเทศไทย (2) ความร่วมมือโครงการวิจัยด้านดิจิทัลเพื่อสุขภาพ (3) ความร่วมมือสร้างและพัฒนาห้องทดลอง การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอุทยานวิทยาศาสตร์ และ (4) การสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือพหุภาคี เช่น กรอบจีน-อาเซียน สหประชาชาติ แม่โขงล้านช้าง รวมถึงความร่วมมือในการขจัดความยากจนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างครบวงจร และความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Circular – Green)
นอกจากนี้ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ร่วมหารือกับนายเจียง ฮุ่ย (Jiang Hui) ประธานสถาบันวิทยาศาสตร์การรถไฟแห่งชาติจีน (China Academy of Railway Sciences - CARS) ในการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือด้านระบบราง ทั้งการวิจัยพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร โดยฝ่ายไทยเสนอขอรับการสนับสนุนการร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัวรถจักร (Overhead Catenary System: OCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ CARS ได้วิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้จริงแล้ว
อนึ่ง การเดินทางของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อว. ในครั้งนี้ นับเป็นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะไทยที่ใหญ่ที่สุด หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีนเริ่มคลี่คลาย และเป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงลึกระหว่างไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันต่อไป