นักวิชาการสหรัฐฯชี้ ข้อกล่าวหา "การทูตกับดักหนี้" จีนไม่มีมูล

2023-05-08 11:30:17 | CMG
Share with:

ปัจจุบันจีนได้จัดหาเงินทุนจำนวนมากสำหรับโครงการพัฒนาในต่างประเทศ แต่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ กลับกล่าวหาว่าจีนกำลังดำเนิน "การทูตกับดักหนี้" และเตรียมจะยึดทรัพย์สินสาธารณะของประเทศลูกหนี้ในกรณีประเทศลูกหนี้ผิดนัดชำระ  

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยนโยบายการพัฒนาระดับโลกของมหาวิทยาลัยบอสตันได้เผยแพร่รายงานเรื่อง "ไขปริศนาการให้กู้ยืมเงินในต่างประเทศและการเงินเพื่อการพัฒนาของจีน" ซึ่งได้หักล้างสิ่งที่เรียกว่า "การทูตกับดักหนี้" จีน  

ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ 8 กรณีของสิ่งที่ตะวันตกเรียกว่า “การทูตกับดักหนี้” จีน แต่ไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเป้าหมายในการปล่อยเงินกู้ให้แก่ต่างประเทศสูงสุดของจีนคือยึดทรัพย์สินสาธารณะเชิงยุทธศาสตร์ หรือได้อำนาจเชิงยุทธศาสตร์ในกรณีที่ประเทศลูกหนี้ผิดนัดชำระ          

รายงานระบุว่า การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจากจีนในต่างประเทศเป็นผลที่เกิดจากหลายๆ ปัจจัย เช่น อุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นจากหลายๆ ประเทศ ได้แก่ ความจำเป็นในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน การตอบสนองความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก และนโยบายของประเทศผู้รับเงินกู้จากจีน  

ในขณะเดียวกัน จีนก็พร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ประเทศที่ต้องการ เพราะจีนเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลจีนมีนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อแก่ต่างประเทศ

ผู้เขียนรายงานระบุว่า การกล่าวหาจีนดำเนิน "การทูตกับดักหนี้" นั้นไม่มีมูล   ประการแรก จีนปล่อยสินเชื่อให้ต่างประเทศตามความต้องการของประเทศเหล่านั้น  ประการที่สอง   ประเทศผู้รับสินเชื่อมีความสามารถในการควบคุมทรัพย์สินสาธารณะเชิงยุทธศาสตร์ของตนอย่างมั่นคงและไม่มีประเทศใดยอมมอบทรัพย์สินเหล่านั้นให้แก่ประเทศเจ้าหนี้โดยเด็ดขาด       และประการสุดท้าย  วัตถุประสงค์ขององค์กรการเงินจีนในการปล่อยสินเชื่อ ก็เหมือนกับองค์กรการเงินทั่วโลก คือเน้นผลกำไรและพยายามหลีกเลี่ยงกรณีการผิดนัดชำระหนี้          

ผู้เขียนรายงานยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันการประสานงานด้านการเงินระหว่างประเทศขนาดใหญ่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน    แต่การกล่าวหาจีนดำเนิน "การทูตกับดักหนี้" นั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯทวีความตึงเครียดขึ้นในแง่การระดมเงินทุนสำหรับการพัฒนาทั่วโลก  

ขณะนี้ ประชาคมโลกควรมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในการจัดหาเงินทุนเพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศเหล่านี้มีความแข็งแกร่งขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ของสหประชาชาติ


(bo/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (25-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (24-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (24-04-2567)